จะเลือกตั้งหรือลงประชามติ เพียงย่างก้าวเล็กๆ ของยูเครน

ไม่นานหลังจากเขตกึ่งปกครองตนเองไครเมียประกาศแยกตัวออกจากยูเครน และรัสเซียผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ กระแสการเคลื่อนไหวในหลายเมืองในภูมิภาคยูเครนตะวันออกก็เริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่นิยมชมชอบรัสเซียเข้าบุกยึดสถานที่ราชการหลายแห่ง พร้อมกับประกาศลงประชามติ
            ความจริงแล้ว กระแสการลงประชามติของหลายเมืองในยูเครนตะวันออกไม่ใช่เรื่องใหม่ เกิดพร้อมๆ กับกระแสการเคลื่อนไหวของไครเมีย แต่เนื่องจากสื่อในขณะนั้นให้ความสำคัญกับไครเมียมากกว่า กอปรกับการเคลื่อนไหวในไครเมียนั้นเข้มข้นและจริงจังกว่า ทำให้ข่าวไครเมียกลบการเคลื่อนไหวของยูเครนตะวันออก
            ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมไม่แตกต่างกัน คือ ต้องการลงประชามติเพื่อแยกตัวออกจากประเทศยูเครน และค่อนข้างชัดเจนว่าเพื่อเข้ารวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย แต่การเคลื่อนไหวของยูเครนตะวันออกไม่ราบรื่นเหมือนกรณีไครเมีย
            ถ้าย้อนกลับพิจารณากรณีไครเมีย การลงประชามติจนถึงการผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียดำเนินอย่างเป็นขั้นเป็นตอน รวดเร็วกระชับมาก หลังจาก (อดีต) ประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) หลบหนีออกนอกประเทศเพียง 1 สัปดาห์ กองกำลังรัสเซียหลายพันนายเข้าควบคุมจุดสำคัญของไครเมียทั้งหมด เช่น สถานที่ราชการ สนามบิน  โดยปราศจากการยิงต่อสู้ พร้อมกับการจัดตั้งรัฐบาลไครเมียชุดใหม่ท่ามกลางกองกำลังรัสเซียที่อยู่รายล้อมทำเนียบรัฐบาล 2 สัปดาห์ต่อมา ชาวไครเมียเกือบร้อยละ 97 ลงมติสนับสนุนการแยกตัวออกจากยูเครน จากผู้มีสิทธิ์มากกว่าร้อยละ 80 จากนั้นอีก 1 สัปดาห์ ประธานาธิบดีปูตินลงนามในกฎหมายผนวกสาธารณรัฐไครเมีย (Republic of Crimea) เป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) กระบวนการทั้งหมดจบสิ้นใน 1 เดือน
            ในระหว่างนี้ ชาติตะวันตกแสดงท่าทีแข็งกร้าว ขู่ว่ารัสเซียจะต้องจ่ายราคาจากการรุกรานไครเมีย ละเมิดอธิปไตยยูเครน แต่รัฐบาลปูตินขู่กลับว่าพร้อมตอบโต้ ทั้งยังให้กำลังทหารหลายแสนนายซ้อมรบตามแนวชายแดนอย่างต่อเนื่อง
            เมื่อเทียบกับกรณีของยูเครนตะวันออกในขณะนี้ จะเห็นว่าแม้รัฐบาลปูตินสนับสนุนการลงประชามติ แต่การเคลื่อนไหวไม่ได้รวดเร็วรุนแรงเหมือนกรณีไครเมีย กองกำลังรัสเซียไม่ได้เข้าควบคุมพื้นที่ กระบวนการลงประชามติยืดเยื้อ

หมากกลของรัสเซีย โจทย์ของชาติตะวันตก :
            ท่ามกลางกระแสเคลื่อนไหวของยูเครนตะวันออก รัฐบาลปูตินแสดงท่าทีต้องการให้ยูเครนแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประเทศปกครองแบบสหพันธรัฐ (federal state) ดำเนินนโยบายเป็นกลาง แต่ที่ผ่านมาชาติตะวันตกไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว เห็นว่าอนาคตของยูเครนต้องให้ยูเครนตัดสินใจเอง ผลการเจรจาดังกล่าวคงเป็นเหตุให้รัสเซียเดินเกมสนับสนุนให้ยูเครนตะวันออกเคลื่อนไหวยืดเยื้อ เพื่อขัดขวางการเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครน ซึ่งมีกำหนดการเลือกตั้งในวันที่ 25 พฤษภาคม กดดันชาติตะวันตกให้ยอมเข้าสู่กระบวนการเจรจา
            นาย Vladimir Chizhov ผู้แทนถาวรของรัสเซียประจำสหภาพยุโรป กล่าวว่าต้นตอปัญหาความยุ่งยากที่เกิดขึ้นทั้งหมด มาจาก “ความพยายามที่จะดึงยูเครนเข้าร่วมสหภาพยุโรป” โดยไม่ใคร่ครวญว่าการทำเช่นนี้จะทำให้สังคมยูเครนแตกแยก ผลที่ตามมาก็เป็นอย่างที่เห็นในขณะนี้ และเห็นว่ารัฐบาลยูเครน (ที่อิงตะวันตก) ไม่สนใจดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ฝั่งตะวันออกกับทางใต้ ที่สุดแล้วไม่ว่ายูเครนจะปกครองด้วยรูปแบบใด รัฐบาลกลางต้องกระจายอำนาจมากขึ้น ไม่อาจใช้รูปแบบรัฐเดี่ยวได้ เพราะพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลวตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอดีตสหภาพโซเวียตเมื่อ 23 ปีก่อน
            เมื่อเป้าหมายของรัสเซียไม่ใช่ต้องการให้ยูเครนตะวันออกแยกตัว แต่ต้องการให้ประเทศยูเครนเป็นสหพันธรัฐ หรือให้ท้องถิ่นมีอำนาจปกครองตนเอง (อาจเป็นเขตกึ่งปกครองตนเอง อย่างกรณีไครเมีย) การเดินเกมลงประชามติจึงยืดเยื้อ แต่หากชาติตะวันตกไม่ยอมรับข้อเสนอของรัสเซีย ที่สุดแล้วรัฐบาลปูตินอาจตัดสินใจสนับสนุนให้ยูเครนตะวันออกแยกตัวออกจากประเทศยูเครน เมื่อถึงขั้นนั้น ยังมีประเด็นทางเลือกตามมาอีก เช่น จะให้ยูเครนตะวันออกหรือสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์ (People's Republic of Donetsk) เป็นประเทศเกิดใหม่ หรือจะผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย
            ถ้าวิเคราะห์ตามแนวทางข้างต้น การปล่อยให้เป็นสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์ จะเป็นทางเลือกที่เกิดการเผชิญหน้าน้อยกว่า เพราะรัสเซียอาจไม่ต้องส่งทหารเข้าควบคุมพื้นที่ เพียงแต่สนับสนุนด้านเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ โดยได้รัฐกันชนตามที่ต้องการ ส่วนยูเครนที่เหลือตกอยู่ใต้อิทธิพลของชาติตะวันตก แนวทางนี้น่าจะเป็นเงื่อนไขที่ชาติตะวันตกยอมรับได้มากกว่า
            ประเทศยูเครนในอนาคตจึงอาจถูกแบ่งแยกดินแดนเช่นนี้ แม้ไม่ใช่ยุคสงครามเย็นในอดีต แต่การแข่งขันช่วงชิงอำนาจของบรรดาชาติมหาอำนาจยังดำรงต่อเนื่อง ยูเครนคือเหยื่อของการช่วงชิงล่าสุด

            สถานการณ์ในขณะนี้ จึงเป็นเรื่องที่ชาติตะวันตกต้องแก้ไขโจทย์หรือหมากกลที่รัสเซียตั้งไว้อีกครั้ง ชาติตะวันตกอยู่ในภาวะเช่นเดิม คือมีเครื่องมือดำเนินนโยบายน้อย (หรือมีกำลังน้อย) เพราะรัฐบาลโอบามากับรัฐบาลชาติสมาชิกสหภาพยุโรปไม่คิดทำสงคราม ได้แต่ส่งเรือรบ เครื่องบินไปเวียนวนรอบๆ เพียงเล็กน้อย ในขณะที่กองทัพรัสเซียนับหมื่นนับแสนกำลังซ้อมรบตามแนวชายแดน ไม่ต่างจากแนวทางการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจการเมือง ที่พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก จนไม่แน่ใจว่าเป็นเพียงคำขู่หรือไม่ ส่วนที่ดำเนินการแล้วก็ไม่ได้ผลแล้ว (พิสูจน์ได้จากการที่รัสเซียยังคงเดินหน้าเรื่อยๆ) ทั้งยังต้องตระหนักว่าการคว่ำบาตรไม่ได้ส่งผลทางเดียว ยิ่งคว่ำบาตรรัสเซียรุนแรงเพียงใด ผลสะท้อนกลับต่อประเทศตนจะยิ่งรุนแรงเพียงนั้น ดังทฤษฎีกลศาสตร์ที่บอกว่า “action = reaction
            ในขณะเดียวกัน แม้รัสเซียมีเครื่องมือและพร้อมใช้เครื่องมือของตนเอง แต่ในทางการเมืองระหว่างประเทศ รัสเซียย่อมตระหนักว่าไม่ควรใช้กำลังเพื่อผนวกดินแดนของประเทศอื่นเข้าเป็นของตนเอง ไม่ว่ารัฐบาลรัสเซียจะอ้างเหตุผลใดๆ ก็ตาม ผลต่อรัสเซียในระยะสั้นอาจไม่มาก แต่ในระยะยาวแล้ว ไม่มีชาติใดในโลกอยากเห็นประเทศที่ใช้กำลังรุกรานอธิปไตยประเทศอื่นๆ

ภาวะชะงักงันในปัจจุบัน :
            สถานการณ์การเมืองยูเครนในขณะนี้คือ มีเหตุให้ประชาชนเข้าคูหา 2 อย่าง คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครนในวันที่ 25 พฤษภาคม ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วประเทศ กับการลงประชามติแยกตัวของหลายเมืองในภูมิภาคยูเครนตะวันออก
            ท่ามกลางความวุ่นวายในยูเครนตะวันออก การปะทะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมกับกองกำลังยูเครนเสียชีวิตรวมกันหลายสิบราย รัฐบาลสหรัฐกับพันธมิตรยุโรปขอให้ยูเครนเดินหน้าจัดเลือกตั้งในวันที่ 25 พฤษภาคม ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าการเลือกตั้งจะไม่สมบูรณ์ และไม่อาจประกาศผลการเลือกตั้ง หรือได้ผลการเลือกตั้งที่ผู้ชุมนุมประท้วงไม่ยอมรับ
            ล่าสุด ประธานาธิบดีปูตินขอให้เลื่อนการลงประชามติในวันที่ 11 พฤษภาคมไปก่อน เป็นไปได้ว่า ฝ่ายรัฐบาลยูเครนกับชาติตะวันตกขอเวลาตัดสินใจอีกเล็กน้อย เนื่องจากชาติตะวันตกประกอบด้วยหลายชาติ โครงสร้างตัดสินใจซับซ้อน ประธานาธิบดีปูตินจึงเห็นสมควรเลื่อนการลงประชามติไปก่อน
            และในอีกมุมหนึ่งคือ การแยกตัวไม่ใช่เป้าหมายที่รัสเซียต้องการในขณะนี้
            แต่ไม่ว่าเหตุผลเบื้องหลังคืออะไร การเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 25 พฤษภาคมคงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทางออกมีทางเดียว คือ เจรจา

ปัญหายูเครนไม่ใช่การลงประชามติหรือเลือกตั้ง :
            การเลือกตั้งประธานาธิบดีหรือการลงประชามติแยกตัว เป็นขั้นตอนหนึ่งเพื่อให้ประเทศยูเครนเดินหน้าต่อ (หรือสร้างปัญหามากขึ้น) แต่เป็นเพียงกระบวนการเล็กๆ กระบวนการหนึ่งเท่านั้น ยังมีเรื่องที่สังคมยูเครนต้องไตร่ตรอง ต้องทำอีกมาก เช่น ถ้าได้ประธานาธิบดีคนใหม่ รัฐบาลชุดใหม่ แต่ยังคอร์รัปชันเหมือนเดิม การเลือกตั้งเท่ากับให้โอกาสนักการเมืองเข้ากอบโกย กดขี่ขูดรีดประชาชน ซ้ำรอยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอด 23 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ลำพังการเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบของประเทศ

            การพูดแบบง่ายๆ ว่าหากเข้าเป็นสมาชิกอียู ปัญหาประเทศจะได้รับการแก้ไข ควรพิจารณาความจริงว่า ณ ขณะนี้อียูมีปัญหาเรื้อรังเช่นกัน ชาติสมาชิกหลายประเทศยังไม่ได้แก้ไขรากปัญหาเศรษฐกิจสังคมของตน เป็นระเบิดเวลาที่พร้อมจะระเบิดทุกเมื่อ
            เมื่อเดือนก่อน ประธานาธิบดีปูตินออกจดหมายถึงผู้นำประเทศยุโรป 18 ประเทศ (ทั้งยุโรปตะวันออกกับยุโรปตะวันตกบางประเทศ) บรรยายว่า “เศรษฐกิจยูเครนเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมาย่ำแย่ลงต่อเนื่อง ภาคอุตสาหกรรมกับก่อสร้างทรุดตัวอย่างรวดเร็ว ขาดดุลงบประมาณมากขึ้น” กระทบต่อค่าเงิน เงินทุนไหลออกจากประเทศ ทั้งหมดนี้ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่วิกฤต “ผลผลิตลดลง คนตกงานมากขึ้น” การที่เศรษฐกิจยูเครนเป็นเช่นนี้ เนื่องจากความไม่สมดุลทางการค้ากับรัฐสมาชิกอียู อียูใช้ยูเครนเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เป็นตลาดระบายสินค้ามูลค่าสูง การค้าที่ไม่สมดุลทำให้เมื่อปีที่แล้วยูเครนเสียดุลการค้าถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 2 ใน 3 ของการขาดดุลทั้งหมด
            การเข้าเป็นสมาชิกอียูจึงไม่ใช่ยาวิเศษแต่ประการใด และสังคมยูเครนควรพิจารณาโดยรอบคอบว่าการเข้าเป็นสมาชิกอียูในขณะนี้จะเป็นประโยชน์มากน้อยเพียงใด เช่นเดียวกับที่ต้องพิจารณานโยบายอื่นๆ ที่นักการเมืองเสนอด้วยถ้อยคำสวยหรู ไม่ลืมว่าวันนี้ที่ประเทศอยู่ในภาวะถังแตกก็ด้วยนโยบายต่างๆ ที่เคยเสนอมามิใช่หรือ

            ส่วนการลงประชามติของยูเครนตะวันออก ชาวยูเครนที่สนับสนุนการลงประชามติครั้งนี้ควรตระหนักว่า ไม่อาจเปรียบเทียบกรณีของตนเองเหมือนอย่างไครเมีย หนทางข้างหน้ายังไม่แน่นอน ท่าทีของรัฐบาลปูตินนั้นชัดเจนอยู่แล้ว

            ถ้าตั้งแต่เมื่อ 23 ปีก่อน ประชาชนยูเครนสนใจมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่มัวเห็นแต่ปากท้องของตนเอง มีกลุ่มพลังทางสังคมที่เข้มแข็ง ร่วมตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล สังคมมีเอกภาพ พยายามอยู่ร่วมเป็นคนชาติเดียวกัน ไม่ปล่อยให้ความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ ภาษาเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแบ่งแยก ดึงเป็นฐานเสียง ดำเนินนโยบายต่างประเทศเป็นมิตรกับทั้งรัสเซียและชาติตะวันตก วันนี้ยูเครนคงไม่ประสบชะตากรรมถูกแบ่งแยกทั้งจากอำนาจภายในกับภายนอกประเทศ ประเทศถังแตก เกิดเหตุจลาจลวุ่นวาย กลายเป็นรัฐล้มเหลวอย่างที่เห็นในขณะนี้
            เป็นอีกหนึ่งบทเรียนเตือนสติแก่ประเทศอื่นๆ มิใช่หรือ
11 พฤษภาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6396 วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2557)
------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง: 
รัฐบาลรักษาการยูเครนดำเนินนโยบายที่อิงฝ่ายชาติตะวันตกอย่างเต็มที่ ใช้ข้ออ้างสารพัดเพื่อดึงให้ชาติตะวันตกเข้ามาปกป้องอธิปไตย ช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่าชาติตะวันตกได้ประโยชน์จากการนี้ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ฝ่ายที่ได้ประโยชน์แน่นอนคือพวกของอดีตนายกฯ ทีโมเชงโก ที่สามารถยืมมือชาติตะวันตกมาอยู่กับพวกตน
2. เกมรุกของปูตินกับข้อวิพากษ์ต่อสถานการณ์ในยูเครน
รัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีปูติน ได้ควบคุมไครเมียและพร้อมส่งกองทัพข้ามพรมแดนไปยังฝั่งยูเครนตะวันออก เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลตะวันตกคาดการณ์มานานแล้ว เพราะในมุมมองของรัสเซียประเทศยูเครนเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางด้านความมั่นคงที่สำคัญ สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้จึงเป็นการให้บทเรียนแก่ชาติตะวันตก ว่ารัสเซียจะไม่ยอมปล่อยยูเครนให้อยู่ใต้อิทธิพลฝ่ายตะวันตกอย่างง่ายๆ และควรรู้ว่าอะไรคือ “เส้นต้องห้าม”
3. เบี่ยงปัญหายูเครน เบนจากทางออกสู่ทางตัน
วิกฤตยูเครนเป็นมากกว่าเรื่องการเมืองภายในประเทศ การผนวกไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย แต่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สหรัฐต่อรัสเซีย นโยบายขยายสมาชิกสู่ตะวันออกของนาโต อียู และยุทธศาสตร์รัฐกันชนของรัสเซีย การแก้ปัญหายูเครนที่ถูกจุดจึงเกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้
4. ความล้มเหลวของการปกครองและรัฐบาลคือภัยร้ายของยูเครน
ยูเครนได้รับเอกราชและเปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตยในสภาพที่ไม่มีการเตรียมตัวใดๆ นำสู่การบริหารประเทศที่ฝ่ายบริหารกับรัฐสภาเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจนโยบายสำคัญๆ โดยปราศจากระบบหรือกลไกควบคุม การล้มเหลวของรัฐบาลมือใหม่สร้างปัญหาเศรษฐกิจการเมืองก่อให้เกิดการเมืองแบบ 2 ขั้วที่ไม่อาจร่วมมือกันเพื่อสร้างชาติ กลายเป็นปัญหาซ้อนปัญหา การปกครองล้มเหลว
5. ท่าที การดำเนินนโยบายของ G7 ต่อวิกฤตยูเครนและผลลัพธ์ที่ได้
ถ้ามองในแง่ดี คือ กลุ่ม G7 ระมัดระวังไม่ให้สถานการณ์บานปลาย ไม่ต้องการให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างชาติมหาอำนาจอย่างรุนแรง แต่ในอีกมุมหนึ่งอาจวิพากษ์ว่ากลุ่ม G7 เกรงว่ามาตรการคว่ำบาตรอย่างจริงจังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของพวกตน ท้ายที่สุดแล้ว กรณียูเครนที่เป็นตัวอย่างล่าสุดที่เตือนใจองค์การระหว่างประเทศของประเทศเล็กๆ ทั้งหลายว่าจำต้องมีเอกภาพ ไม่สร้างเงื่อนไขให้ชาติมหาอำนาจเข้ามา “แบ่งแยกแล้วปกครอง”

บรรณานุกรม:
1. Crimea official says 96.8 percent of voters support joining Russia. (2014, March 17). Fox News/AP. Retrieved from http://www.foxnews.com/world/2014/03/17/crimea-official-says-66-percent-voters-support-joining-russia/
2. Crisis in Ukraine result of wrong EU policy - Russian envoy. (2014, April 9). ITAR-TASS. Retrieved from http://en.itar-tass.com/russia/727116
3. Putin signs laws on reunification of Republic of Crimea and Sevastopol with Russia. (2014, March 21). ITAR-TASS. Retrieved from http://en.itar-tass.com/russia/724785
4. Ukraine crisis: President Putin gets Russian parliament's nod to send military into Crimea. (2014, March 1). Hindustan Times. Retrieved from http://www.hindustantimes.com/world-news/russian-parliament-allows-putin-to-use-military-in-ukraine/article1-1189678.aspx
5. Ukraine crisis: US-Russia deadlock despite 'frank' talks. (2014, March 30). BBC. Retrieved from http://www.bbc.com/news/world-europe-26814651
6. Ukraine Steadfastly Heading Toward Default – Putin. (2014, April 10). RIA Novosti. Retrieved from http://en.ria.ru/world/20140410/189148157/Ukraine-Steadfastly-Heading-Toward-Default--Putin.html
7. U.S. And EU Back Ukraine Ballot as Russia Calls for Delay. (2014, May 7). Bloomberg. Retrieved from http://www.bloomberg.com/news/2014-05-07/u-s-presses-ukraine-to-hold-vote-as-russian-seeks-delay.html
---------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก