ยุทธศาสตร์ปรับสมดุลกับความขัดแย้งระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น
เกาหลีใต้กับญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรทางทหารที่สำคัญของสหรัฐฯ ตั้งแต่สมัยสงครามเย็น สหรัฐฯ มีฐานทัพของตนตั้งอยู่ใน 2 ประเทศดังกล่าว พร้อมกองกำลังอเมริกันหลายหมื่นนายประจำการอยู่ เมื่อสิ้นสงครามเย็นความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ได้หมดไป กลับยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเมื่อจีนเติบโตทางเศรษฐกิจ มีพลังอำนาจทางทหารเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ แม้ว่าประธานาธิบดีโอบามาจะพยายามพูดว่าสหรัฐฯ ไม่ต้องการปิดล้อมจีน แต่จากยุทธศาสตร์ Pivot to Asia หรืออีกชื่อคือยุทธศาสตร์ปรับสมดุลให้ความสำคัญกับเอเชียแปซิฟิก นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่ามีเป้าประสงค์เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของจีนเป็นหลัก
ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว สหรัฐฯ จำต้องมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งในภูมิภาค สามารถต่อกรกับจีน ประเทศที่เข้าข่ายมากที่สุดคือญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ เนื่องจากสหรัฐฯ มีสนธิสัญญาความมั่นคงกับทั้ง 2 ประเทศ มีกองกำลังอเมริกันหลายหมื่นคนประจำการอยู่ และมีความขัดแย้งด้านความมั่นคงกับจีนและเกาหลีเหนือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน รวมความแล้ว เกาหลีใต้กับญี่ปุ่นคือ 2 ประเทศหลักที่ต้องร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อความมั่นคงทางทหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
แต่ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้เสื่อมทรุดอย่างรวดเร็ว เมื่อนายชินโซ อาเบะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเมื่อปลายปี 2012 ดำเนินนโยบายตามแนวทางของฝ่ายขวาจัด ไปสักการะศาลเจ้ายาสุกุนิ (Yasukuni Shrine) ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนกับเกาหลีใต้ตีความว่า เป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์ชี้ว่าสนับสนุนลัทธิจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ในเวลาไล่เลี่ยงกัน นายกฯ อาเบะสั่งทบทวนเรื่องหญิงบำเรอ (comfort women) ใหม่อีกครั้ง ก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลอาเบะกำลังจะปฏิเสธเรื่องดังกล่าวหรือไม่ เพราะนายอาเบะครั้งดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยแรกในปี 2007 เคยกล่าวว่าไม่มีหลักฐานชี้ว่าเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นบังคับสตรีให้เป็นหญิงบำเรอ ต่อมาให้อธิบายเพิ่มว่าหมายถึงไม่เคยบังคับแบบฉกชิงตัวมา
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นข้อพิพาทการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะด็อกโด (Dokdo) หรือเกาะทาเคชิมา (Takashima) ที่รัฐบาลอาเบะให้แก้ไขการเรียนการสอนเพื่อชี้ว่าเป็นดินแดนของญี่ปุ่น ทำให้รัฐบาลปาร์ค กึน-เฮ (Park Geun-hye) แห่งเกาหลีใต้แสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อญี่ปุ่นอย่างชัดเจน
หลายเดือนที่ผ่านมารัฐบาลอาเบะพยายามเจรจากับรัฐบาลเกาหลีใต้เพื่อกระชับความสัมพันธ์ แต่ประธานาธิบดีปาร์คยืนยันหลายครั้งว่าจะไม่พูดคุยกับนายกฯ อาเบะไม่ว่าจะเป็นที่เวทีใดๆ สถานการณ์ดังกล่าวกระทบต่อภาพลักษณ์การแสดงบทบาทนำของญี่ปุ่นในภูมิภาค กระทบต่อยุทธศาสตร์ Pivot to Asia เป็นเหตุให้ประธานาธิบดีบารัก โอบามาต้องออกโรงทำหน้าที่เป็นบุคคลที่ 3 เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ 2 ประเทศ
การแก้ปัญหาความขัดแย้ง :
แนวทางที่ประธานาธิบดีโอบามาใช้คือ ขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นลดท่าทีแข็งกร้าว พร้อมกับเป็นคนกลางเชื่อมสัมพันธ์ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ด้วยการสร้างกลไกไตรภาคี อันประกอบด้วย สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เพื่อปรึกษาหารือในเรื่องต่างๆ ความพยายามดังกล่าวได้ผลพอสมควร สองสามเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ลดการใช้วาจาแข็งกร้าว และล่าสุดคือนายกฯ อาเบะไม่ไปสักการะศาลเจ้าสุกุนิด้วยตัวเอง เพียงแต่ส่งเครื่องเซ่นไหว้แก่ศาลเจ้า ช่วยลดการวิพากษ์วิจารณ์ได้ระดับหนึ่ง
ในการเยือนเกาหลีใต้เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโอบามาได้กล่าวถ้อยคำอันชาญฉลาดว่า “ใครก็ตามถ้ามองย้อนประวัติศาสตร์เรื่องหญิงบำเรอในเกาหลีใต้ ก็จะตระหนักถึงความโหดร้าย การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมหันต์” และควรที่จะชำระเรื่องราวให้ถูกต้องกระจ่างชัด “ข้าพเจ้าคิดว่านายกรัฐมนตรีอาเบะ รวมทั้งชาวญี่ปุ่น ตระหนักว่าเรื่องที่แล้วมาคือบางสิ่งที่จำต้องรับรู้อย่างสัตย์ซื่อและยุติธรรม แต่ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นผลประโยชน์ของทั้งประชาชนญี่ปุ่นกับเกาหลีที่จะมองไปข้างหน้า เช่นเดียวกับมองย้อนหลัง เพื่อหาทางชำระความปวดใจ การบาดเจ็บจากเรื่องราวในอดีต” พร้อมกับพูดทิ้งท้ายว่า ทั้งเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น “ต่างเป็นพันธมิตรอันเข้มแข็งของสหรัฐฯ”
จะเห็นได้ว่า ประธานาธิบดีโอบามารับรู้เรื่องหญิงบำเรอของเกาหลี และเห็นว่าเป็นเรื่องโหดร้ายมาก แต่ท่านไม่ได้ฟันธงว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เท่ากับว่าไม่ได้สรุปว่าใครเป็นฝ่ายถูกผิด แต่ขอให้มีการตรวจสอบเพื่อหาข้อสรุปที่แท้จริง
ประเด็นที่สำคัญกว่าการค้นหาข้อเท็จจริง คือ ประธานาธิบดีโอบามาพูดเป็นนัย หวังว่าปัญหาบางอย่างในอดีตจะได้รับการแก้ไข แต่ต้องมุ่งเล็งถึงประโยชน์ในอนาคตของประชาชนทุกฝ่ายด้วย ประโยคสำคัญที่สุดที่ท่านต้องการเน้นย้ำคือ ให้เห็นแก่ความร่วมมือในอนาคตระหว่างเกาหลีกับญี่ปุ่นจะดีกว่า ซึ่งอาจตีความได้ว่า ไม่ควรให้เรื่องหญิงบำเรอเป็นเหตุให้เกาหลีกับญี่ปุ่นมองหน้ากันไม่ติด หรือเป็นเหตุให้สองประเทศไม่อาจร่วมมือกัน
ท่าทีของประธานาธิบดีโอบามาสอดรับกับคำพูดของนาย Katsunobu Kato รองหัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น (Deputy Chief Cabinet Secretary) ที่กล่าวในช่วงเวลาใกล้เคียงว่า นายกฯ อาเบะ รู้สึกเจ็บปวดอย่างสุดซึ้งเมื่อคิดถึงประชาชนผู้เคยผ่านความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส แต่ “ไม่ควรนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทางการเมืองหรือการทูต”
จะเห็นว่าได้คำพูดของรองหัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น มีแนวทางสอดคล้องกับคำพูดของประธานาธิบดีโอบามา คือ นายกฯ อาเบะเห็นด้วยกับการที่สตรีผู้เป็นหญิงบำเรอได้รับความทุกข์ยากอย่างยิ่ง แต่ที่สุดแล้วขอให้มองถึงผลประโยชน์ของคนในรุ่นปัจจุบันกับอนาคต เนื่องจากเกาหลีใต้ควรร่วมมือกับญี่ปุ่น ไม่ควรนำเรื่องดังกล่าวให้เป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ (ทั้งๆ ที่เรื่องหญิงบำเรอเป็นประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศมานานแล้ว มีการตอบโต้กันไปมาโดยตลอด)
จากท่าทีของสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น ประธานาธิบดีปาร์ค ตอบว่า เกาหลีใต้กับญี่ปุ่นมีผลประโยชน์ร่วมหลายอย่าง และก็มีความขัดแย้งต่อมุมมองประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันบางประเด็น นับจากนี้ แนวทางแก้ไขความขัดแย้งเหล่านี้จะอาศัยการประชุมสุดยอดผู้นำไตรภาคี (สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น) ที่ผ่านมา 3 ประเทศได้อาศัยเวทีดังกล่าวเป็นที่ประชุมและบรรลุจุดยืนร่วมต่อโครงการนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ และมีการพูดคุยเรื่องหญิงบำเรอด้วย ตนเชื่อว่าประเด็นดังกล่าวจะได้รับการสานต่อ
ที่สุดแล้วประเด็นความขัดแย้งระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น และประเด็นความมั่นคงอื่นๆ เช่น กรณีเกาหลีเหนือ จะได้รับการแก้ไข ปรึกษาหารือ ผ่านกลไกไตรภาคี แทนการตอบโต้ไปมาผ่านสื่อ นับว่าเป็นวิธีการที่ชาญฉลาดคือ ไม่ให้ความขัดแย้งระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นเป็นประเด็นสาธารณะ และแสดงให้เห็นภาวะผู้นำของประธานาธิบดีโอบามา ที่สามารถทำให้ทุกฝ่ายอยู่ในภาวะสงบ อย่างน้อยสักระยะหนึ่ง
วิเคราะห์องค์รวม :
วิเคราะห์องค์รวม :
เรื่องหญิงบำเรอเป็นเพียงประเด็นหนึ่งที่บางประเทศหยิบยกขึ้นมา เพื่อบรรยายถึงความโหดร้ายของกองทัพญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี ขึ้นกับว่ารัฐบาลญี่ปุ่นแต่ละชุดจะตอบสนองอย่างไร หากเป็นเช่นอย่างรัฐบาลอาเบะก็จะเกิดวิวาทะระหว่างประเทศ เนื่องจากนักการเมืองญี่ปุ่นฝ่ายขวาบางคนแสดงท่าทีไม่ยอมรับ หรือพูดในทางที่รัฐบาลเกาหลีใต้รับไม่ได้
แต่เรื่องหญิงบำเรอไม่ได้จำกัดเฉพาะระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นเท่านั้น ข้อมูลบางแหล่งชี้ว่ากองทัพญี่ปุ่นจัดตั้งสถานีบริการหญิงบำเรอในทุกประเทศที่กองทัพญี่ปุ่นยาตราทัพเข้าไป มีเอกสารระบุว่าสถานบริการหญิงบำเรอแห่งแรกของญี่ปุ่นตั้งอยู่บนหมู่เกาะชวา (Java Island) ประเทศอินโดนีเซีย และยังมีข้อมูลใหม่ๆ ที่เปิดเผยออกมาเรื่อยๆ
ล่าสุด ในช่วงที่ประธานาธิบดีโอบามาเยือนญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ หน่วยงานรัฐบาลจีนแสดงเอกสารสมัยสงครามจำนวน 89 ชิ้น ทางการจีนอ้างว่าเอกสารดังกล่าวเป็นของกองทัพญี่ปุ่นสมัยที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เอกสาร 25 ชิ้นที่นำมาเปิดเผยครั้งนี้ พูดถึงเรื่องราวของหญิงบำเรอ บางชิ้นกล่าวถึงสัดส่วนระหว่างจำนวนหญิงบำเรอกับทหาร ระบุว่า ช่วงวันที่ 1-10 กุมภาพันธ์ ที่เมือง Xiaguan ซึ่งตั้งอยู่ทิศทางออกของนานกิง อัตราส่วนหญิงบำเรอเท่ากับ 6 คนต่อทหาร 1,200 นาย หรือเท่ากับ 1 ต่อ 200 และหลังจากวันที่ 20 กุมภาพันธ์ มีหญิงบำเรอเพิ่มเป็น 11 คน หรือคิดเป็นอัตราส่วนเท่ากับ 1 ต่อ 71
หญิงเกาหลีบางส่วนถูกบังคับด้วยกำลังให้มาเป็นหญิงบำเรอแก่ทหารญี่ปุ่นในสถานบริการที่ฝั่งประเทศจีน เช่น ที่เมือง Heihe ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑล Heilongjiang และที่เมือง Wuhu ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของมณฑล Anhui บางชิ้นบรรยายถึงเหตุการณ์ข่มขืน พูดถึงทหารญี่ปุ่นใช้เงินหลวงจัดตั้งสถานบริการ บังคับลักพาหญิงชาวจีนด้วยกำลังเพื่อนำมาเป็นหญิงบำเรอ
เอกสารหลายฉบับเป็นจดหมายเขียนด้วยทหารญี่ปุ่น แต่ถูกทางการอายัดไว้ บรรยายว่าทหารญี่ปุ่นข่มขืนประชาชน จดหมายฉบับหนึ่งเขียนว่า “ทหารญี่ปุ่นข่มขืนสตรีนับหมื่นในนานกิง รวมถึงเด็กหญิงวัย 12 ปี หลายคนถูกสังหาร เป็นอาชญากรรมที่น่าขนลุก”
การเปิดเผยเอกสารชุดล่าสุด คงเป็นวิธีการที่รัฐบาลจีนต้องการพูดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นหรือรัฐบาลใดๆ ก็ตามไม่อาจปกปิดหรือบิดเบือนประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์โลกชี้ว่าบรรดาประชาชาติทำสงครามกันเรื่อยมา ต่างฝ่ายต่างฆ่าทำลายคนของอีกฝ่าย ในหลายภูมิภาคมีลักษณะผลักกันแพ้ชนะ ผลักกันเป็นเจ้า ต่างเคยกระทำการโหดร้ายข่มเหงอีกฝ่ายหนึ่ง และแม้ว่าคนรุ่นปัจจุบันอาจไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของคนในอดีต แต่ก็ได้รับผลไม่มากก็น้อย และส่งผลถึงลูกหลานในอนาคตด้วย นี่เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งของโลก
อันที่จริงแล้ว การปรับความสัมพันธ์ใดๆ ต้องใช้วิธีการ “ให้อภัย” แก่กันและกัน เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างได้เริ่มต้นกันใหม่ด้วยความสัมพันธ์อันดี แต่ละฝ่ายอาจเริ่มต้นทำความดีแก่อีกฝ่ายด้วยการ “ชดเชย” ความผิดที่ตนได้กระทำ ในกรณีของหญิงบำเรอคือให้การเยียวยาทั้งทางร่างกายจิตใจแก่ผู้ที่เคยได้รับทุกข์ทรมานอย่างเหมาะสม
แต่ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีความซับซ้อนกว่านั้น เพราะผู้นำประเทศต้องดำเนินนโยบายภายใต้ประชาชนของตนที่มีหลากหลายความคิดเห็น รัฐบาลปาร์คต้องระวังชาวเกาหลีที่ยังเดือดดาล ระวังไม่ให้รัฐบาลเกาหลีเหนือใช้เป็นข้ออ้างปฏิเสธนโยบายรวมชาติ ส่วนรัฐบาลอาเบะต้องดำเนินตามค่านิยมของพวกฝ่ายขวา ที่ยังยึดมั่นความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของญี่ปุ่นในอดีต
และเมื่อการให้อภัยยังไม่เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์และประวัติศาสตร์ไม่อาจเขียนขึ้นมาใหม่ เพราะอย่างน้อยมีรัฐบาลจีนที่พยายามขัดขวาง ทางออกที่ดีที่สุดจึงเป็นการเลือกที่จะไม่ต่อความยาวสาวความยืดในที่สาธารณะ รัฐบาลปาร์คเลือกที่จะใช้กลไกไตรภาคีเป็นเวทีพูดคุยระหว่างหมู่ผู้นำประเทศ และเชื่อว่าประธานาธิบดีโอบามาคงสามารถปรามรัฐบาลอาเบะไม่ให้กระทำการยั่วยุเกาหลีมากเกินไป แต่นั่นแสดงให้เห็นว่าสัมพันธภาพระหว่างรัฐบาลเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นเป็นเรื่องอ่อนไหว เปราะบาง ความขัดแย้งเรื่องหญิงบำเรออาจปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อไหร่ก็ได้
อีกประเด็นสำคัญคือเรื่องที่รัฐบาลญี่ปุ่นปรับการเรียนการสอนว่าเกาะด็อกโดหรือเกาะทาเคชิมา ว่าเป็นดินแดนของญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่ 2 ประเทศอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อน (ทำนองเดียวกับกรณีหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุ) ในแง่กฎหมายแล้ว เรื่องนี้มีความสำคัญยิ่งกว่าเรื่องหญิงบำเรอ เพราะเกี่ยวข้องกับการรักษาอธิปไตยของชาติ และไม่ว่าจะรัฐบาลใดย่อมไม่สามารถอ่อนข้อให้แก่กันได้
แต่ช่วงการเยือนดังกล่าว ทั้ง 3 ผู้นำไม่ยอมเอ่ยถึงเรื่องนี้ต่อหน้าสาธารณะเลย
หลังจากความขัดแย้งหลายเดือนนับจากนายอาเบะเป็นนายกฯ ญี่ปุ่นสมัยที่ 2 และสร้างความขัดแย้งทางการทูตกับเกาหลีใต้อย่างรุนแรง ทั้งเรื่องหญิงบำเรอกับกรรมสิทธิ์เหนือเกาะด็อกโด/ทาเคชิมา ท้ายที่สุดแล้ว ผู้นำทั้ง 3 คนเลือกใช้วิธีไม่ต่อความยาวสาวความยืดกับวิธีไม่เอ่ยถึงในที่สาธารณะ นับว่าเป็นวิธีการอันชาญฉลาด เพราะอย่างน้อยไม่ก่อความขัดแย้งจนบานปลายและบดบังความร่วมมือ แต่ในอีกด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความร่วมมือไตรภาคีเป็นความร่วมมือที่อ่อนไหวเปราะบางพร้อมจะเกิดปัญหาได้ทุกเมื่อ ทั้งหมดนี้เป็นภาพสะท้อนความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น และเป็นอีกปัจจัยหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่ายุทธศาสตร์ปรับสมดุลของสหรัฐฯ ว่ามีพลังมากน้อยเพียงใด
8 พฤษภาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ได้รับการเผยแพร่ผ่าน ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2557, http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1343)
----------------------
สงครามทำลายล้างนานกิง
เป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วเกือบ 8 ทศวรรษ
แต่ด้วยการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างเข้มข้นของจีนกับญี่ปุ่นในปัจจุบัน
เรื่องราวในอดีตจึงถูกรื้อฟื้น ประชาชน 2 ฝ่ายถูกดึงเข้ามามีส่วนร่วม
กลายเป็นสมรภูมิทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น ‘สงครามนานกิงในศตวรรษที่ 21’
2. รอยร้าวญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ รอยด่างPivot to Asia (Ookbee)
การวิพากษ์ Pivot to Asia หรือยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียสามารถทำได้หลายรูปแบบ มองในหลายแง่มุม งานเขียนชิ้นนี้ชี้จุดอ่อนของยุทธศาสตร์ผ่านประเด็นความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ เป็นความขัดแย้งจากผลพวงของประวัติศาสตร์ กลายเป็นรอยร้าวที่ยากจะแก้ไขภายใต้บริบทปัจจุบัน เนื่องจากเป็นเรื่องที่ยอมให้กันไม่ได้ ต้องตอบสนองความคาดหวังจากการเมืองภายในของแต่ละประเทศ เกิดการแก้เกมแบบชิงไหวชิงพริบ นำสู่คำตอบว่าทำไมยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียจึงอ่อนกำลัง ไม่ได้ผลตามเป้าหมาย ในอนาคตจะต้องปรับแก้ยุทธศาสตร์หากรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการหวังผลอย่างจริงจัง ประเด็นสำคัญอยู่ที่จะต้องหาพันธมิตรเพิ่ม หรือทำให้ประเทศเหล่านั้นถอยห่างจากจีนมากขึ้น ซึ่งในกรอบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็มีเพียงไม่กี่ประเทศดังปรากฏบนแผนที่
บรรณานุกรม:
2. รอยร้าวญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ รอยด่างPivot to Asia (Ookbee)
การวิพากษ์ Pivot to Asia หรือยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียสามารถทำได้หลายรูปแบบ มองในหลายแง่มุม งานเขียนชิ้นนี้ชี้จุดอ่อนของยุทธศาสตร์ผ่านประเด็นความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ เป็นความขัดแย้งจากผลพวงของประวัติศาสตร์ กลายเป็นรอยร้าวที่ยากจะแก้ไขภายใต้บริบทปัจจุบัน เนื่องจากเป็นเรื่องที่ยอมให้กันไม่ได้ ต้องตอบสนองความคาดหวังจากการเมืองภายในของแต่ละประเทศ เกิดการแก้เกมแบบชิงไหวชิงพริบ นำสู่คำตอบว่าทำไมยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียจึงอ่อนกำลัง ไม่ได้ผลตามเป้าหมาย ในอนาคตจะต้องปรับแก้ยุทธศาสตร์หากรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการหวังผลอย่างจริงจัง ประเด็นสำคัญอยู่ที่จะต้องหาพันธมิตรเพิ่ม หรือทำให้ประเทศเหล่านั้นถอยห่างจากจีนมากขึ้น ซึ่งในกรอบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็มีเพียงไม่กี่ประเทศดังปรากฏบนแผนที่
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป |
1. Archives reveal "comfort women" official actions of Japan. (2014, April 26). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-04/26/c_133291951.htm
2. Japan may review study on WWII sex slavery. (2014, February 21). Japan Today/AP. Retrieved from http://www.japantoday.com/category/politics/view/japan-may-review-study-on-wwii-sex-slavery
3. Japan says comfort women issue not a diplomatic topic after Obama comments. (2014, April 26). The Korea Herald/AFP. Retrieved from http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20140426000117
4. Joint Fact Sheet: The United States-Republic of Korea Alliance: A Global Partnership. (2014, April 25). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/04/25/joint-fact-sheet-united-states-republic-korea-alliance-global-partnershi
5. Kingston, Jeff. (2013). Contemporary Japan: History, Politics, and Social Change since the 1980s (2nd ed.). USA: John Wiley & Sons Ltd.
7. Lyle, Amaani. (2013, March 12). National Security Advisor Explains Asia-Pacific Pivot. Retrieved from http://www.defense.gov/news/newsarticle.aspx?id=119505
8. Murayama says 1995 sex slavery apology review not in Japan's interest. (2014, February 28). Japan Today/AFP. Retrieved from http://www.japantoday.com/category/politics/view/murayama-says-1995-sex-slavery-apology-review-not-in-japans-interest
9. Press Conference with President Obama and President Park of the Republic of Korea. (2014, April 25). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/04/25/press-conference-president-obama-and-president-park-republic-korea
10. Wartime documents show details of Japanese atrocities. (2014, April 25). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-04/25/c_126436070.htm
--------------------------