ความร่วมมือคู่ความอ่อนไหวในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลโอบามากับนาจิบ
ในการเยือนประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกของประธานาธิบดีโอบามาเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโอบามาใช้โอกาสดังกล่าวกระชับความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น เกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ ตามยุทธศาสตร์ Pivot to Asia มาเลเซียเป็นเพียงประเทศเดียวใน 4 ประเทศที่ไม่อยู่ในฐานะเป็นพันธมิตร มิตรประเทศใกล้ชิดกับสหรัฐ จึงมีลักษณะแตกต่างออกไป และมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
เดิมมาเลเซียไม่ค่อยแสดงบทบาทในทะเลจีนใต้มากเท่ากับฟิลิปปินส์และเวียดนาม แต่ในเดือนมีนาคม 2013 เมื่อเรือจีนเริ่มแล่นลาดตระเวนรอบๆ แนวหินโสโครกเซิงมู่ (Zengmu Reef) ทางการมาเลเซียประกาศตั้งฐานทัพเรือทางตะวันออกของเมือง Bintulu ห่างจากแนวหินโสโครกดังกล่าว 60 ไมล์ทะเลทันที มาเลเซียจึงเป็นอีกประเทศที่รู้สึกังวลต่ออิทธิพลจีนที่กำลังขยายตัวในทะเลจีนใต้
ในประเด็นดังกล่าว ผู้นำทั้ง 2 ท่านเห็นพ้องว่าทะเลจีนใต้จะต้องเป็นเส้นทางเดินเรือเสรี แก้ไขข้อพิพาทเรื่องดินแดนกับอาณาเขตทางทะเลโดยสันติ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งการยึดมั่นในกฎหมายทะเลขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Convention on the Law of the Sea หรือ UNCLOS) ปฏิบัติตาม “ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้” (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea หรือ DOC) อีกทั้งยังเห็นร่วมในการจัดทำ “แนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้” (code of conduct for the South China Sea หรือ COC) ที่หารือกันแล้วหลายปีแต่ยังไร้ข้อสรุป
อันที่จริง เมื่อกล่าวถึงยุทธศาตร์ Pivot to Asia หรือเรื่องทะเลจีนใต้ ประธานาธิบดีโอบามาจะเอ่ยถึงเรื่องการเดินเรือเสรีอยู่เสมอ ส่วนท่าทีของนายกฯ นาจิบ ราซัค (Najib Razak) (เท่าที่ปรากฎต่อสาธารณชน) ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ท่าทีหลักเป็นไปตามแนวทางของอาเซียน
ในระหว่างแถลงข่าวร่วม มีเนื้อหาตอนหนึ่งที่น่าสนใจ นายกฯ นาจิบ กล่าวอย่างชาญฉลาด เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ปรับสมดุลของประธานาธิบดีโอบามาที่ให้ความสำคัญต่อเอเชีย พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่าเพราะเป็นยุทธศาสตร์เพื่อเสริมสร้างสันติภาพ ความมั่นคงและความมั่งคั่งแก่ภูมิภาค และขอบคุณที่รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนแนวทางดังกล่าว
ท่าทีของรัฐบาลมาเลเซียในปัจจุบันแตกต่างจากสมัยสงครามเย็น เมื่อมาเลเซียเผชิญหน้ากับจีนและอินโดนีเซีย ในช่วงนั้นนโยบายป้องกันประเทศอิงชาติตะวันตก สนับสนุนสหรัฐในการทำสงครามเวียดนาม ส่วนในปัจจุบัน แม้จีนเป็นหนึ่งในความกังวล แต่การสัมพันธ์กับจีนในสมัยนี้แตกต่างจากยุคสงครามเย็น มาเลเซียไม่หวังอิงชาติตะวันตกแบบยุคสงครามเย็นอีกต่อไป
หากพิจารณาอาวุธหลักที่ใช้ในกองทัพมาเลเซีย จะพบว่ายุทโธปกรณ์จากเดิมที่อิงสหรัฐเป็นหลัก ปัจจุบันกลายเป็นความหลากหลายจากหลายประเทศ เช่น ใช้รถถังหลัก PT-91M43 ที่ออกแบบและผลิตจากประเทศโปแลนด์ ใช้เครื่องบิน FA-18 ของสหรัฐ MIG-29N กับ SU30MKM42 ของรัสเซีย Hawk MK108 ของอังกฤษ และสั่งต่อเรือดำน้ำ Scorpene จากฝรั่งเศส
ส่วนความร่วมมือทางทหารกับสหรัฐที่มีอยู่และน่าจะโดดเด่น คือ กลไกการหารือทวิภาคี Malaysia – U.S. Strategic Talks (MUSST) กับความร่วมมือ Bilateral Training and Consultative Group (BiTACG) การเยือนของประธานาธิบดีโอบามารอบนี้ไม่มีข้อตกลงความมั่นคงทางทหารใดๆ เป็นพิเศษ ได้แต่ระบุว่าในอนาคต 2 ประเทศจะเพิ่มความร่วมมือด้านการเดินเรือ สหรัฐเสนอให้การฝึกอบรมและสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือแก่มาเลเซีย
จะเห็นได้ชัดว่ากองทัพมาเลเซียในยุคนี้ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐมากเท่าสมัยสงครามเวียดนามอีกต่อไป
สนใจคลิกที่รูป
สนใจคลิกที่รูป
ประเด็นเศรษฐกิจ :
ในขณะที่กองทัพมาเลเซียไม่พึ่งพาอาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐเพียงประเทศเดียว แต่ในทางด้านเศรษฐกิจ สหรัฐมีบทบาทต่อเศรษฐกิจมาเลเซียไม่ใช่น้อย
ในปี 2012 มาเลเซียเป็นคู่ค้าลำดับที่ 2 ของสหรัฐในบรรดากลุ่มชาติสมาชิกอาเซียน สหรัฐเป็นคู่ค้ารายใหญ่ลำดับที่ 4 ของมาเลเซีย โดยที่มาเลเซียเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาตลอดและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ สหรัฐเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย ในปี 2013 สหรัฐลงทุนราว 1.9 พันล้านดอลลาร์ ช่วยเพิ่มการจ้างงาน 8 พันตำแหน่ง ธุรกิจที่ลงทุนได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต ธนาคาร น้ำมันกับก๊าซธรรมชาติ ในทางเศรษฐกิจรัฐบาลมาเลย์จึงควรต้อนรับขับสู้รัฐบาลสหรัฐอย่างดี
แต่เหตุผลหลักของการเยือนรอบนี้ คือ การหารือเรื่องความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement หรือ TPP) ซึ่งประธานาธิบดีโอบามาหวังว่าจะเป็นผลงานเศรษฐกิจระหว่างประเทศชิ้นโบว์แดงของท่าน ในการแถลงข่าวร่วม ทั้ง 2 ผู้นำต่างยืนยันสนับสนุน TPP เห็นว่าที่สุดแล้วจะเป็นประโยชน์มากกว่า เชื่อในปรัชญาการค้าเสรี สิ่งที่รัฐบาลมาเลย์ต้องทำคือให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนที่ยังไม่เห็นด้วย
อันที่จริงแล้ว มาเลเซียเคยเจรจาตกลง FTA ทวิภาคีกับสหรัฐแต่ล้มเหลว เหตุผลสำคัญคือ ทางการมาเลย์อุดหนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศหลายอย่าง รัฐบาลมาเลเซียปฏิเสธยกเลิกนโยบายเกื้อหนุนพวกเชื้อสายมาเลย์ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐ กังวลว่าการเปิดเสรีเต็มที่จะกระทบผลประกอบการของอุตสาหกรรมเหล่านั้น กระทบต่อรายได้ของประเทศ รวมทั้งมีผลต่อนักการเมือง
เมื่อปีก่อน นายกฯ นาจิบ แสดงความเห็นว่า TPP จะต้อง “ยืนหยุ่นมากกว่านี้” และจะต้องนำเรื่องให้รัฐสภาพิจารณา เนื่องจาก TPP เป็นมากกว่าข้อตกลงเขตการค้าเสรีและพันธมิตรการลงทุนดังเช่นมาเลเซียได้ทำข้อตกลงกับประเทศอื่นๆ ข้อตกลง TPP กระทบต่อหลักอธิปไตยจากประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา กระบวนการระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับรัฐ การจัดซื้อภาครัฐ-รัฐวิสาหกิจ (state-owned enterprises) ประเด็นแรงงานและสิ่งแวดล้อม
ความตอนหนึ่ง ประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่า TPP เป็นข้อตกลงการค้าที่ต้องการความโปร่งใสและตรวจสอบได้มากขึ้น ข้าพเจ้าคิดว่ามาเลเซียกกำลังเดินไปในทิศทางนี้
ความตอนหนึ่ง ประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่า TPP เป็นข้อตกลงการค้าที่ต้องการความโปร่งใสและตรวจสอบได้มากขึ้น ข้าพเจ้าคิดว่ามาเลเซียกกำลังเดินไปในทิศทางนี้
แต่ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลนาจิบพร้อมจะปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานาธิบดีโอบามาหรือไม่ และอาจเห็นว่าสภาพการค้าการลงทุนในปัจจุบันก็ดีอยู่แล้ว เว้นเสียแต่ TPP จะให้ประโยชน์แก่มาเลเซียอย่างเป็นกอบเป็นกำ
ประเด็นสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน :
ในการเยือนครั้งนี้ ประธานาธิบดีโอบมาใช้หลายวาระกล่าวถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน เรื่องเสรีภาพทางการเมือง ในงานหนึ่งประธานาธิบดีโอบามาพูดประเด็นสังคมพหุภาคีว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลาย ความหลากหลายก่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ที่มีลักษณะเฉพาะ อันเนื่องจากประชาชนมีหลายชาติพันธุ์ มีพื้นฐานศาสนาและความเชื่อทางการเมืองแตกต่างกัน นี่เป็นโอกาสให้มาเลเซียได้พิสูจน์ดังที่อเมริกาได้พยายามพิสูจน์มาโดยตลอดว่า ชาติจะเข้มแข็งและประสบความสำเร็จมากขึ้นถ้าคนในชาติยึดถือสิทธิพลเรือน สิทธิทางการเมืองและมนุษยชน
เมื่อไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ชาติเอเชียหลายประเทศได้ปกครองตนเองหลากหลายแนวทาง แต่เราต้องตระหนักว่าประชาธิปไตยไม่ได้หยุดอยู่แค่การเลือกตั้ง ต้องมีสถาบันทางการเมืองที่เข็มแข็ง มีประชาสังคมที่มีพลัง เปิดพื้นที่แก่การแสดงออกทางการเมือง อดทนต่อผู้ที่เห็นต่างจากตนเอง และเอ่ยถึงสหรัฐว่าได้สร้างบริบทที่สิทธิของพลเมืองทุกคน ทุกเผ่าพันธุ์ ทุกเพศ ทุกศาสนา “ไม่เพียงแค่ได้รับการปกป้องแต่ได้รับการเคารพ”
ประธานาธิบดีโอบามากล่าวถึงประวัติศาสตร์อเมริกาว่า การสร้างชาติเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาเรื่องคนต่างเชื้อชาติ สีผิวที่แตกต่าง อเมริกาเคยผ่านสงครามการเมืองมาแล้ว และผ่านการรณรงค์ทางสังคมอย่างต่อเนื่องหลายชั่วอายุ จนวันนี้ข้าพเจ้าสามารถมายืนต่อหน้าพวกท่านในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐผู้มีเชื้อสายแอฟริกัน อย่างไรก็ตาม ปัญหายังไม่จบสิ้น สังคมยังต้องแก้ไขเรื่องนี้ต่อไป
นับวันดูเหมือนว่าโลกที่เราอาศัยจะแคบลง แต่เดิมที่มนุษย์อาศัยอยู่กับชนเผ่าหรือหมู่บ้านของตน มาวันนี้ โลกมีอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน วัฒนธรรมกำลังเคลื่อนเข้าหากัน “มาเลเซียจะไม่ประสบความสำเร็จหากคนไม่ใช่มุสลิมไม่ได้รับโอกาส”
“เราทุกคนควรภาคภูมิใจในตัวเองและพื้นภูมิของตน และเราควรชื่นชมภาษาและอาหารที่แตกต่าง การนมัสการพระเจ้าที่แตกต่างเป็นสิ่งที่ควรภูมิใจด้วยเช่นกัน ไม่ควรเป็นเครื่องมือดูถูกดูแคลนคนอื่น ไม่ควรมีเหตุผลที่จะปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไม่เท่าเทียม” และถ้าท่านเป็นผู้นำก็ควรอยู่ในฝ่ายการเมืองที่นำประชาชนเข้ามาร่วมเป็นพวกไม่ใช่ขับไล่เขาไป ดังคำสอนที่ว่า “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” ปฏิบัติต่อผู้เหมือนอย่างที่ท่านอยากได้รับ หากไม่ปฏิบัติตามหลักการนี้สังคมจะถอยหลังมากกว่าก้าวไปข้างหน้า
บิดาของข้าพเจ้ามาจากประเทศเคนยา ที่ซึ่งเต็มด้วยความขัดแย้งระหว่างเผ่า อันที่จริงแล้วประเทศนี้มีศักยภาพมหาศาล น่าจะเติบโตได้แต่กลับใช้เวลาส่วนใหญ่โต้เถียงกัน จัดตั้งกลุ่มการเมืองที่ประกอบด้วยคนในเผ่าหรือเชื้อสายของตนเท่านั้น และเมื่อใครสักคนขึ้นเป็นผู้นำ คนอื่นก็จะสงสัยและกังวลว่าผู้นำที่มาจากเผ่านี้จะเอาเปรียบพวกเขาที่อยู่คนละเผ่า และเมื่ออำนาจเปลี่ยนมือไปอยู่กับอีกฝ่าย ก็จะเกิดการเอาคืน เรื่องทำนองนี้มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย การแก้ปัญหาจะต้องเริ่มที่การเปลี่ยนทัศนคติความคิดก่อน คือเคารพซึ่งกันและกัน ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเท่าเทียมตามหลักกฎหมาย
ประเทศมาเลเซียมีศักยภาพสูง ประชาชนมีการศึกษา มาเลเซียสามารถไปอย่างก้าวกระโดดถ้าระบบเศรษฐกิจเปิดโอกาสแก่ทุกคน ไม่ว่าคนนั้นจะเริ่มต้นที่พื้นที่ใดก็ประสบความสำเร็จได้ และพลังนั้นจะถูกปล่อยออกมา ข้าพเจ้าคิดว่านายกฯ นาจิบเข้าใจเรื่องเหล่านี้
ด้านนายกฯ นาจิบกล่าวว่า “ข้าพเจ้ายึดมั่นต้องการสันติสุข ความมีเสถียรภาพและสมานฉันท์ นั่นคือเรื่องที่สำคัญที่สุด และทุกคนต้องระวังความอ่อนไหวทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยกับชนกลุ่มใหญ่ เพราะต่างก็มีประเด็นอ่อนไหวด้วยกันทั้งสองฝ่าย” นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลมาเลย์ได้บริหารจัดการ และจะเห็นว่ามาเลเซียในขณะนี้เป็นประเทศที่ค่อยข้างสงบและสมานฉันท์
ในการเยือนครั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐกับรัฐบาลมาเลเซียได้ตกลงยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีสู่ระดับ “ความเป็นหุ้นส่วนรอบด้าน” (comprehensive partnership) แต่ความรอบด้านมีความอ่อนไหวที่แฝงอยู่มากมาย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่มาเลเซียจะเป็นพันธมิตรสหรัฐ เว้นเสียแต่รัฐบาลสหรัฐจะยอมปิดตาข้างหนึ่ง ยอมให้รัฐบาลมาเลย์บริหารประเทศตามที่เห็นสมควร รวมทั้งเรื่องที่ประธานาธิบดีโอบามาพยายามพูดถึงเรื่องพหุสังคมนิยม อธิบายหลากหลายแง่มุม ขาดแต่เอ่ยคำว่า “ภูมิบุตร” เท่านั้นเอง
4 พฤษภาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6389 วันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2557)
----------------------------
สังคมมาเลเซียมีการถกเถียงอย่างต่อเนื่องว่ารัฐบาลดูแลเอาใจใส่พลเมืองทุกเชื้อสายอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ เป็นเหตุของการแข่งขันทางการเมือง สังคมแบ่งแยก ทั้งๆ ที่รัฐบาลยืนยันมาโดยตลอดว่ามีนโยบายส่งเสริมความเท่าเทียมแก่ทุกคน
1. Joint Press Conference with President Obama and Prime Minister Najib of Malaysia. (2014, April 27). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/04/27/joint-press-conference-president-obama-and-prime-minister-najib-malaysia
2. Joint Statement By President Obama And Prime Minister Najib Of Malaysia. (2014, April 27). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/04/27/joint-statement-president-obama-and-prime-minister-najib-malaysia-0
3. Lee Hock Guan. (2008). Malaysia in 2007: Abdullah Administration under Siege. Southeast Asian Affairs, Vol. 2008, pp.187-206.
4. Mohamad Faisol Keling, Mohd Na’eim Ajis, Md. Shukri Shuib, Muhammad Fuad Othman, & Hishamudin Md.Som. (2011, July). The Malaysian Government’s Efforts in Managing Military and Defence Development. Retrieved from http://www.ijbssnet.com/journals/Vol._2_No._12%3B_July_2011/20.pdf
5. Obama to court Southeast Asia from Malaysia. (2014, April 27). AFP. Retrieved from http://timesofindia.indiatimes.com/world/us/Obama-to-court-Southeast-Asia-from-Malaysia/articleshow/34267419.cms
6. Remarks by President Obama at Young Southeast Asian Leaders Initiative Town Hall. (2014, April 27). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/04/27/remarks-president-obama-young-southeast-asian-leaders-initiative-town-ha
7. TPP pros touted, challenges raised. (2013, October 8). The Brunei Times. Retrieved from http://www.bt.com.bn/business-national/2013/10/08/tpp-pros-touted-challenges-raised
8. US counts on Malaysian role to aid pivot. (2014, April 24). Global Times. Retrieved from http://www.globaltimes.cn/content/856676.shtml
9. US Relations With Malaysia. (2014, Januray 31). US BUREAU OF EAST ASIAN AND PACIFIC AFFAIRS. Retrieved from http://www.state.gov/r/pa/ei/bgn/2777.htm
--------------------------