ในช่วงเวลาเดียวกับการประชุมสุดยอดอาเซียน
ครั้งที่ 24 ณ เนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เกิดเหตุการณ์อันน่าตื่นเต้นสำหรับอาเซียน
2 เรื่อง เรื่องแรกคือ ลูกเรือประมงชาวจีนถูกทางการฟิลิปปินส์จับกุมในน่านน้ำที่ทั้งฟิลิปปินส์กับจีนต่างอ้างว่าเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ
200 ไมล์ทะเลของตน
อีกเรื่องที่มีความสำคัญมากกว่า
คือ เรื่องที่จีนติดตั้งแท่นขุดเจาะ Haiyang Shiyou-981 (HYSY981) ที่รัฐบาลเวียดนามอ้างว่าอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ200
ไมล์ทะเลและอยู่ในเขตไหล่ทวีป (continental shelf)
ตามนิยามของกฎหมายทะเลขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Convention on
the Law of the Sea หรือ UNCLOS) ฉบับปี 1982 จึงเป็นการลุกล้ำอธิปไตยเวียดนาม
ละเมิดปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the
Conduct of Parties in the South China Sea หรือ DOC) แต่ทางการจีนตอบว่าบริเวณดังกล่าวอยู่ในเขตอธิปไตยของจีน และไม่ใช่พื้นที่พิพาทแต่อย่างไร
มีรายงานข่าวว่า ในระหว่างการประชุม
เวียดนามกับฟิลิปปินส์พยายามผลักดันให้แถลงการณ์ใช้ถ้อยคำที่รุนแรง
ในขณะที่ชาติสมาชิกอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนแสดงท่าทีลังเลใจ
หลังการประชุม อาเซียนได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่าอาเซียนกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ตึงเครียดที่เกิดขึ้นในขณะนี้
แต่เนื้อหาสาระไม่แตกต่างจากแถลงการณ์ฉบับก่อนๆ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตาม
DOC อย่างเคร่งครัด ให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจ ไม่ใช้ความรุนแรง
แก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติ ยึดหลักกฎหมาย UNCLOS พร้อมกับเรียกร้องขอให้ทุกฝ่ายเร่งจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้
(Code of Conduct in the South China Sea หรือ COC) และให้มีข้อสรุปเบื้องต้น (an early conclusion)
ความพยายามของอาเซียนในเรื่องนี้นับว่าเป็นสิ่งดี
หากมองว่า COC จะช่วยสร้างสันติภาพในภูมิภาค แต่ประเด็นสำคัญคือ
ข้อเสนอเร่งจัดทำไม่ระบุกำหนดเวลาแล้วเสร็จ
การติดตั้งแท่นขุดเจาะของจีนน่าจะเกิดจากหลายเหตุผลด้วยกัน เหตุผลง่ายๆ
อาจเป็นเพียงต้องการขุดสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ อาจต้องการทดสอบท่าทีของอาเซียน
ท่าทีของเวียดนาม ว่าจะตอบโต้อย่างไร และอาจเกี่ยวข้องกับเจรจาต่อรองร่าง COC
เหตุผลที่มากกว่า “อาเซียน” :
สถานการณ์ตึงเครียดที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับอาเซียนแน่นอน
แต่จำต้องมองกรอบที่กว้างกว่าอาเซียน นั่นคือ อาจเป็นการตอบสนองท่าทีของสหรัฐกับญี่ปุ่น
ที่รัฐบาลอาเบะเพิ่งประกาศต้องการแสดงภาวะผู้นำเหนือภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ต้องการแสดงให้เห็นว่าสหรัฐกับญี่ปุ่นไม่อาจเป็นที่พึ่งของประเทศใดๆ
อย่างที่บางประเทศคาดหวัง เป็นการประกาศว่าจีนไม่สนใจการก้าวเข้ามาพัวพันของรัฐบาลอาเบะแต่อย่างไร
และจีนพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสหรัฐถ้าจำเป็น ดังที่นาย Richard Javad
Heydarian แสดงความเห็นอย่างน่าสนใจว่า
เป้าหมายหนึ่งของจีนคือการทดสอบว่ารัฐบาลโอบามาจะตอบโต้อย่างไร
จะทำจริงอย่างที่พูดหรือไม่ว่าต้องการรักษาการเดินเรือเสรีในทะเลจีนใต้
ที่ผ่านมารัฐบาลโอบามากับอาเบะพยายามดึงชาติสมาชิกอาเซียน
(โดยเฉพาะเวียดนามที่พยายามจะไม่อิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง) เข้าเป็นพวกมากขึ้น ใช้เหตุการณ์ต่างๆ
เพื่อดึงอาเซียนให้ถอยห่างจากจีน เช่น กรณีจีนประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ
(Air Defense Identification Zone หรือ ADIZ) เหนือน่านฟ้าทะเลจีนตะวันออกเมื่อปลายปีที่แล้ว
ในสถานการณ์ล่าสุด
รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามแสดงบทบาท นายฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น
กล่าวว่าการสำรวจขุดเจาะของจีนเป็น “การยั่วยุ”
ความมั่นคงของภูมิภาค จีนควรชี้แจงต่อเวียดนามและประชาคมนานาชาติเมื่อจะกระทำการดังกล่าว
ด้านกระทรวงการต่างประเทศจีนโต้ว่า ญี่ปุ่นพยายามหาประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
และเหมือนเช่นหลายครั้งที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์ว่า ประเด็นความขัดแย้งไม่ใช่
“ปัญหาระหว่างจีนกับอาเซียน” แต่ชาติสมาชิกบางประเทศพยายามสร้างวาทกรรม
พยายามขยายความขัดแย้ง ประเทศที่จีนอ้างถึงน่าจะหมายถึงฟิลิปปินส์กับเวียดนาม
“จีนพยายามต้านบางประเทศที่พยายามใช้ประเด็นในทะเล (จีน)
ใต้เพื่อทำลายมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียน"
แถลงการณ์ของของจีนมีส่วนถูก บางประเทศพยายามดึงชาติมหาอำนาจนอกภูมิภาคเข้ามาเกี่ยวข้อง
ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งกว่าเดิม แต่ในขณะเดียวกันพฤติกรรมของจีนสร้างความหวาดวิตกแก่ชาติสมาชิกอาเซียนไม่น้อย
เป็นเหตุให้บางประเทศต้องพึ่งหวังพลังอำนาจนอกภูมิภาค
ในความสัมพันธ์จีนกับอาเซียน
จีนประกาศซ้ำหลายครั้งว่าต้องการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีกับชาติสมาชิกอาเซียน ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-จีนครั้งที่
16 เมื่อปีที่แล้ว นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนประกาศว่า จีนยึดมั่นสร้างความสัมพันธ์เป็นเพื่อนบ้านที่ดีกับอาเซียน
และต้องการยกระดับความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เมื่อวิเคราะห์ท่าทีดังกล่าวร่วมกับปัจจัยอื่นๆ
จีนคงไม่ต้องการให้แท่นขุดเจาะน้ำมันกลายเป็นเหตุผลักให้ชาติสมาชิกอาเซียนถอยห่างออกจากจีนเพื่อไปร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาค
อีกทั้งจีนมีผลประโยชน์อื่นๆ
กับชาติสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียน
และอาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับสามของจีน สิ้นปี 2012 การค้าระหว่างสองฝ่ายสูงถึงกว่า
4 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็นห้าเท่าของเมื่อ 10 ปีก่อน ทางการจีนหวังยกระดับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน
(China-ASEAN Free Trade Area หรือ CAFTA) เพิ่มขยายการค้าการลงทุนระหว่างกัน กำหนดเป้าหมายปริมาณการค้าระหว่างกันถึง
1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2020
ดังนั้น ไม่ว่าจะมองในเชิงการเมืองระหว่างประเทศหรือเศรษฐกิจ
จีนในปัจจุบันและอนาคตไม่อาจอยู่ตามลำพังหรืออยู่อย่างโดดเดี่ยว จำต้องแสวงหาพันธมิตร
มิตรประเทศให้มากที่สุด หากจีนเลือกที่จะเป็นปรปักษ์กับอาเซียน 10 ประเทศ
เท่ากับ “เข้าทาง” สหรัฐกับญี่ปุ่นทันที
แต่กับประเทศที่ไม่ยอมเป็นมิตรหรือตั้งตนเป็นศัตรูอยู่ร่ำไปนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ใช้หลักคิดอีกอย่างที่แตกต่างออกไป
การอธิบายในเชิงภัยคุกคาม :
หลักภัยคุกคามสามารถตอบโจทย์สนับสนุนการวิเคราะห์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
หากวิเคราะห์ตามแนวทางนี้จะพบว่า ต่อให้ชาติสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศทั้งหมดรวมกัน
ก็ไม่อาจเป็นภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงต่อจีนได้เลย โอกาสที่อาเซียนจะมีศักยภาพดังกล่าวก็ต่ำมากเช่นกัน
ที่สำคัญคือนับจากสิ้นสงครามเย็นเป็นต้นมา อาเซียนไม่เคยแสดงท่าทีเป็นภัยคุกคามต่อจีนเลย
เนื่องจากอาเซียนพยายามวางตัวเป็นมิตรกับทุกฝ่าย ชาติสมาชิกอาเซียนมีความหลากหลาย มีความเห็นต่อนโยบายความมั่นคงแตกต่างกัน
เมื่อเทียบกับภัยคุกคามจากสหรัฐกับญี่ปุ่น
2 ประเทศหลังเป็นภัยคุกคามลำดับ 1 กับ 2 ของจีนในขณะนี้ ทั้ง 2
ประเทศแสดงท่าทีทั้งทางตรงทางอ้อมเป็นปรปักษ์กับจีนอย่างชัดแจ้ง
เป็นที่รับทราบกันทั่วไป การประกาศแสดงบทบาทผู้นำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของนายกฯ
อาเบะร่วมกับประธานาธิบดีโอบามาเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา
จีนย่อมมองว่านี่คือการประกาศเผชิญหน้ากับจีนต่อหน้าสาธารณะอีกครั้ง
ลำพังสหรัฐเพียงประเทศเดียวก็มีพลังอำนาจการรบสูงกว่าจีนหลายช่วงตัว
สหรัฐกับญี่ปุ่นมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ 1 กับ 3 ของโลก
ส่วนจีนอยู่ในลำดับที่ 2 แต่ที่สำคัญกว่า 2 ด้านนี้คือเจตนารมณ์ของทั้ง 2
ประเทศที่ต้องการต้านอิทธิพลของจีน และอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐ
ผู้นำการวางโครงสร้าง จัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตลอดหลายสิบปีนับจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่
2 เป็นต้นมา ระเบียบความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญเอื้อประโยชน์แก่สหรัฐกับพันธมิตรอย่างมหาศาลเรื่อยมา
ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐกล่าวเสมอว่า
ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้โดยตรง
แต่มีผลประโยชน์เรื่องการเดินเรือเสรี ยุทธศาสตร์ของสหรัฐในระยะนี้คือ
การเข้าพัวพันภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยอาศัยประเทศพันธมิตรในภูมิภาคเป็นหัวหอก
อันได้แก่ ญี่ปุ่นกับฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์
เกี่ยวข้องโดยตรงกับข้อพิพาททะเลจีนใต้
เกี่ยวข้องกับการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนสู่ทะเลหลวง ส่วนญี่ปุ่นเกี่ยวข้องกับคาบสมุทรเกาหลีโดยตรง
และพยายามขยายบทบาทสู่ทะเลจีนใต้ โดยอาศัยความสัมพันธ์กับฟิลิปปินส์
และอ้างเรื่องการเดินเรือเสรีเหมือนสหรัฐ
ในมุมของจีน รัฐบาลจีนย่อมไม่อาจทนนิ่งเฉย ปล่อยให้ฝ่ายสหรัฐเดิมเกมสร้างอิทธิพล
แสวงหาผลประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว เมื่อสหรัฐ “เขยิบ” จีนจึงต้อง “ขยับ”
ถ้ามองในเชิงรับ การป้องกันประเทศจีนจำต้องต่อต้านระเบียบโลกเดิม ไม่ยอมรับสภาพที่เป็นผู้เสียประโยชน์หรืออยู่ในฐานะถูกกดดัน
ถ้ามองในเชิงรุก การก้าวขึ้นมาของจีน
คือการเผชิญหน้าระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเดิม คือการทำลายของเก่าที่สหรัฐกับพันธมิตรเป็นฝ่ายได้ประโยชน์สูงสุด
พร้อมกับการสร้างระเบียบโลกใหม่
ผลลัพธ์สุดท้าย
คือ ต่างฝ่ายต่างต้องสร้างสถานการณ์เพื่อแสดงพลังอำนาจ ประกาศบารมีของตน
รวมความแล้ว
ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นล่าสุดอาจเป็นวิธีการที่จีนใช้เพื่อแสดงให้เห็นผลลัพธ์และเตือนเวียดนามที่ยังลังเลใจว่าควรใกล้ชิดสหรัฐกับญี่ปุ่นหรือไม่
ในระดับภูมิภาค
จีนคงต้องการเตือนอาเซียนว่าอาเซียนควรร่วมมือกับจีน อยู่ร่วมกับจีนอย่างฉันท์มิตรมากกว่าที่จะเข้าพวกกับสหรัฐ
ญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในแนวทางต่อต้านยุทธศาสตร์ Pivot to Asia และดูเหมือนว่าสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าไม่ควรกระตุ้นเร้าให้สถานการณ์ตึงเครียดกว่าเดิม
การเดิมเกมเจรจาในทางลับเพื่อคลายความตึงเครียด น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า ส่วนการที่รัฐบาลเวียดนามจะแสดงท่าทีแข็งกร้าว
พยายามขัดขวางแท่นขุดเจาะของจีนนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้
และสำหรับพฤติกรรมของรัฐบาลอากีโนนั้นหาได้แปลกประหลาดแตกต่างจากเดิมแต่ประการใด
และอาจเป็นการร่วมมือกับรัฐบาลปูตินแห่งรัสเซียเพื่อบ่อนทอนอิทธิพลของสหรัฐกับพันธมิตร
สร้างระเบียบโลกใหม่ที่ให้ประโยชน์ต่อพวกเขามากขึ้น
18 พฤษภาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6403 วันอาทิตย์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2557)
------------------------------
การปรับความสัมพันธ์ใดๆ ต้องใช้วิธีการ
“ให้อภัย” แก่กันและกัน
เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างได้เริ่มต้นกันใหม่ด้วยความสัมพันธ์อันดี
แต่ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีความซับซ้อนกว่านั้น
เพราะผู้นำประเทศต้องดำเนินนโยบายภายใต้ประชาชนของตนที่มีหลากหลายความคิดเห็น
2. โอบามาปรับสมดุล อาเบะถอยหนึ่งก้าว? ร่วมเดินหน้าจัดระเบียบเอเชียแปซิฟิก
ในด้านหนึ่งประธานาธิบดีโอบามาได้เตือนนายกฯ อาเบะว่าไม่ควรก่อความตึงเครียด ควรเจรจาและสร้างความไว้วางใจมากกว่า แต่ในอีกด้านหนึ่งประธานาธิบดีโอบามาช่วยเบี่ยงเบนพฤติกรรมการรุกคืบของญี่ปุ่น เช่น การเพิ่มงบประมาณกลาโหม การจัดตั้งหน่วยนาวิกโยธิน การปรับยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติให้ญี่ปุ่นแสดงบทบาทเชิงรุกมากขึ้น การแก้ไขตำราเรียนและการเรียนการสอนที่อ้างว่าหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุ และเกาะด็อกโด/ทาเคชิมา เป็นดินแดนของญี่ปุ่น
บรรณานุกรม:ในด้านหนึ่งประธานาธิบดีโอบามาได้เตือนนายกฯ อาเบะว่าไม่ควรก่อความตึงเครียด ควรเจรจาและสร้างความไว้วางใจมากกว่า แต่ในอีกด้านหนึ่งประธานาธิบดีโอบามาช่วยเบี่ยงเบนพฤติกรรมการรุกคืบของญี่ปุ่น เช่น การเพิ่มงบประมาณกลาโหม การจัดตั้งหน่วยนาวิกโยธิน การปรับยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติให้ญี่ปุ่นแสดงบทบาทเชิงรุกมากขึ้น การแก้ไขตำราเรียนและการเรียนการสอนที่อ้างว่าหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุ และเกาะด็อกโด/ทาเคชิมา เป็นดินแดนของญี่ปุ่น
ความขัดแย้งจากการเยือนศาลเจ้ายุสากุนิไม่ใช่เรื่องใหม่
อดีตผู้นำญี่ปุ่นหลายท่านที่เคยเยือนศาลเจ้าจะตามมาด้วยการวิวาทะกับประเทศเพื่อนบ้าน
ดังนั้น นายกฯ อาเบะเยือนศาลเจ้าก็เพราะได้คิดไตร่ตรองรอบคอบแล้วว่า “ได้มากกว่าเสีย” อาจต้องการชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นภายใต้การบริหารของตนกำลังฟื้นตัว
ไม่เกรงกลัวแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากจีน ญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ กระชับความเป็นพันธมิตร
และมั่นใจว่าความขัดแย้งอยู่ภายใต้การควบคุม
1. Aquino pushes for rule of law in resolving territorial.
(2014, May 10). Philippine Daily Inquirer. Retrieved from
http://www.gmanetwork.com/news/story/360479/news/world/asean-calls-on-china-to-speed-up-maritime-security-talks
2. Chairman's Statement of the 24th
ASEAN Summit: "Moving forward in Unity to a Peaceful and Prosperous
Community". (2014, May 11). Association of Southeast Asian Nations.
Retrieved from http://www.asean.org/images/documents/24thASEANSummit/24th%20ASEAN%20Summit%20Chairman's%20Statement.pdf
3. China Acting Dangerously in Sea Dispute Vietnam Tells
ASEAN Summit. (2014, May 12). Reuters. Retrieved from http://www.irrawaddy.org/asia/china-acting-dangerously-sea-dispute-vietnam-tells-asean-summit.html
4. China Focus: China urges Vietnam to respect its sovereign
rights over Xisha Islands. (2014, May 9). Xinhua. Retrieved from
http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-05/09/c_133322583.htm
5. Heydarian, Richard Javad. (2014, May 14). T Sea strife
follows Obama in Asia. Retrieved from http://www.atimes.com/atimes/Southeast_Asia/SEA-01-140514.html
6. Joint Statement of the 16th ASEAN-China Summit on
Commemoration of the 10th Anniversary of the ASEAN-China Strategic Partnership.
(2013, October 10). Association of Southeast Asian Nations. Retrieved
from http://www.asean.org/images/archive/23rdASEANSummit/7.%20joint%20statement%20of%20the%2016th%20asean-china%20summit%20final.pdf
7. Li raises seven-pronged proposal on promoting China-ASEAN
cooperation. (2013, October 10). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/china/2013-10/10/c_125503874.htm
8. PNP seizes Chinese boat in Spratlys. (2014, May 8).
Manila Bulletin/Reuters. Retrieved from http://www.mb.com.ph/pnp-seizes-chinese-boat-in-spratlys/
9. VN: China must withdraw oil rig. (2014, May 7). VNS.
Retrieved from http://vietnamnews.vn/politics-laws/254480/vn-china-must-withdraw-oil-rig.html
-------------------