ท่าที การดำเนินนโยบายของ G7 ต่อวิกฤตยูเครนและผลลัพธ์ที่ได้
นับจากเหตุการณ์เขตกึ่งปกครองตนเองไครเมียลงประชามติเพื่อขอแยกตัวจากประเทศยูเครน พร้อมกับเกิดกองกำลังไม่ทราบสังกัดซึ่งในขณะนี้เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่าคือกองกำลังของรัสเซียเข้าควบคุมไครเมียเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชาติสมาชิกกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือที่นิยมเรียกกันว่า กลุ่ม G7 อันประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น คือฝ่ายที่ออกมาต่อต้านไครเมียกับรัสเซียอย่างแข็งขัน เพราะประเทศเหล่ามีความเกี่ยวข้องได้รับผลกระทบโดยตรง และเป็นกลุ่มประเทศผู้ทรงอิทธิพลของโลก มีบทบาทสำคัญทั้งต่อเศรษฐกิจการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ
บทความที่เกี่ยวข้อง:
บรรณานุกรม:
จากการพบปะของผู้นำกลุ่ม G7 รวมทั้งประธานสภาผู้นำยุโรป (President of the European Council) และประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (President of the European Commission) เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ออกแถลงการณ์ล่าสุดต่อสถานการณ์ยูเครนในขณะนี้ มีสาระสำคัญและมีประเด็นวิเคราะห์วิพากษ์ที่สำคัญ ดังนี้
แถลงการณ์ล่าสุดยืนยันจุดยืนสนับสนุนอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดนและเอกราชของยูเครน ชี้ว่าการผนวกไครเมียเป็นของรัสเซียขัดต่อรัฐธรรมนูญยูเครน ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ กลุ่ม G7 ไม่ยอมรับการประกาศเอกราชของไครเมีย และการผนวกรวมกับรัสเซีย
ประเด็นเรื่องการปกป้องอธิปไตยยูเครนเป็นเรื่องสำคัญที่กลุ่ม G7 ไม่อาจละเลย แต่กลับไม่เอ่ยถึงต้นเหตุของเรื่องที่รัฐบาลรักษาการณ์ยูเครนชุดปัจจุบันมีนโยบายอิงฝ่ายตะวันตก ต้องการเป็นสมาชิกนาโตกับอียู ทำให้รัสเซียเห็นว่าตนกำลังถูกคุกคาม เพราะอาจกระเทือนถึงฐานทัพเรือรัสเซียที่เช่าพื้นที่ในไครเมีย และหากยูเครนเป็นสมาชิกนาโต เท่ากับว่ากองกำลังนาโตได้ประชิดพรมแดนรัสเซีย เป็นเรื่องที่รัสเซียยอมไม่ได้โดยเด็ดขาดและชาติตะวันตกทราบดี
รัสเซียละเมิดอธิปไตยยูเครนนั้นผิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน แถลงการณ์กลุ่ม G7 เรียกร้องให้รัฐบาลรัสเซียปรึกษาหารือเพื่อแก้ปัญหากับรัฐบาลยูเครน ทำให้เกิดข้อกังขาจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ได้อย่างไร เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชี้อยู่แล้วว่ารัฐบาลปูตินไม่ฟังเสียใคร
ประเด็นที่สอง ยกระดับคว่ำบาตรหากรัสเซียยังดำเนินนโยบายทำลายเสถียรภาพยูเครน
แถลงการณ์ฉบับล่าสุดย้ำว่า จะยกระดับคว่ำบาตรรัสเซียถ้าประธานาธิบดีปูตินยังดำเนินนโยบายทำลายเสถียรภาพของยูเครน มาตรการคว่ำบาตรต่อจากนี้จะเป็นการคว่ำบาตรเฉพาะเจาะจงต่อภาคส่วนที่จะกระทบเศรษฐกิจรัสเซีย ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นภาคพลังงาน การเงินการธนาคาร และความร่วมมือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์
เมื่อพิจารณาแถลงการณ์ฉบับก่อนหน้านี้ คือ ฉบับวันที่ 12 มีนาคม กลุ่ม G7 ได้เตือนรัสเซียว่าจะมีมาตรการเพิ่มเติม หากรัสเซียผนวกไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย ผลลัพธ์เป็นที่ทราบกันคือรัสเซียไม่สนคำขู่ ผนวกไครเมียอย่างรวดเร็วทันทีที่ประชาชนไครเมียลงประชามติขอแยกตัวเป็นอิสระจากยูเครนและขอรวมกับประเทศรัสเซีย สิ่งที่กลุ่ม G7 ตอบโต้คือการคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่รัสเซียกับไครเมียไม่กี่คน ด้วยการไม่อนุมัติวีซ่า อายัดทรัพย์สินของบุคคลเหล่านี้ที่อยู่ในประเทศต่างๆ บริษัทบัตรเครดิต Visa กับ MasterCard ระงับการให้บริการบัตรเครดิตแก่ธนาคารรัสเซีย 2 แห่ง
จะเห็นได้ว่าบทโทษเหล่านี้เบาบางเหลือเกินเมื่อเทียบกับประเทศยูเครนที่ต้องสูญเสียดินแดนไครเมียที่มีประชากรราว 2 ล้านคน
ถ้ามองในแง่ดี คือ กลุ่ม G7 ระมัดระวังไม่ให้สถานการณ์บานปลาย ไม่ต้องการให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างชาติมหาอำนาจอย่างรุนแรง แต่ในอีกมุมหนึ่งนักวิเคราะห์บางคนวิจารณ์ว่ากลุ่ม G7 เกรงว่ามาตรการคว่ำบาตรอย่างจริงจังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของพวกตน
ถ้ามองในแง่ดี คือ กลุ่ม G7 ระมัดระวังไม่ให้สถานการณ์บานปลาย ไม่ต้องการให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างชาติมหาอำนาจอย่างรุนแรง แต่ในอีกมุมหนึ่งนักวิเคราะห์บางคนวิจารณ์ว่ากลุ่ม G7 เกรงว่ามาตรการคว่ำบาตรอย่างจริงจังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของพวกตน
คำกล่าวอย่างขึงขังของประธานาธิบดีบารัก โอบามาที่พูดว่า “ยุโรปกับอเมริการวมเป็นหนึ่งเพื่อสนับสนุนรัฐบาลยูเครนและประชาชนยูเครน ... เรารวมใจเพื่อให้รัสเซียจ่ายราคาในสิ่งที่ได้กระทำ” กลายเป็นเพียงคำขู่ที่ไร้ราคา ไม่อาจปกป้องอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน
ผลลัพธ์สุดท้าย ฝ่ายที่สูญเสียมากที่สุดคือประเทศยูเครน
ประเด็นที่สาม นโยบายลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย
ประเด็นพลังงานเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดเป็นเรื่องแรกๆ เนื่องจากพลังงานเป็นสินค้าส่งออก และเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัสเซีย ในขณะที่หลายประเทศในยุโรปพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียในสัดส่วนที่สูง เกิดข้อวิพากษ์มากมายว่าชาติตะวันตกควรคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียหรือไม่ แถลงการณ์ฉบับล่าสุดเป็นครั้งแรกที่ระบุว่ากลุ่ม G7 จะทบทวนนโยบายพลังงาน ซึ่งหมายถึงลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย
การประกาศทบทวนนโยบายพลังงานจึงเป็นการรุกครั้งใหญ่ แต่เพียงการพูดนั้นเป็นเรื่องง่าย การปฏิบัติเป็นเรื่องยาก เพราะหลายประเทศในยุโรปที่เป็นฝ่ายชาติตะวันตกล้วนพึ่งพานำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ทั้งน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติ การจะยกเลิกนำเข้าโดยทันทีจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แม้กระทั่งประเทศคู่กรณีอย่างยูเครน ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียถึงร้อยละ 50 ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เพื่อสร้างความอบอุ่นแก่บ้านเรือน และที่น่าประหลาดใจคือนายอาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค (Arseny Yatsenyuk) รักษาการนายกรัฐมนตรียูเครน ยืนยันว่าประเทศยังต้องซื้อพลังงานจากรัสเซียอีกต่อไป เป็นท่าทีที่ไม่แตกต่างจากกลุ่มประเทศยุโรปอื่นๆ
ที่ผ่านมามีการพูดถึงการนำเข้าทดแทนจากประเทศอื่นๆ เช่น จากประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางหรือจากสหรัฐฯ แต่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของแผนระยะยาวที่ยังต้องดำเนินการเชิงโครงสร้างอีกมาก อันหมายถึงต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการก่อสร้างโครงสร้างเหล่านี้ รวมทั้งราคาที่ผู้บริโภคอาจต้องแบกรับเพิ่มขึ้น
เป็นไปได้หรือไม่ว่า รัฐบาลหลายประเทศอาจนึกในใจว่าที่สุดแล้วการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียยังเป็นวิธีการที่ประเทศได้ประโยชน์มากที่สุด นโยบายลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียจึงเป็นเพียงคำขู่ในระยะนี้เท่านั้นเอง
วิเคราะห์องค์รวม :
เมื่อวิเคราะห์แถลงการณ์ของกลุ่ม G7 ทั้ง 3 ฉบับนับจากเกิดวิกฤตยูเครน พบว่า 2 ท่าทีสำคัญของกลุ่ม G7 คือ แสดงจุดยืนว่ารัสเซียได้ละเมิดอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน กับขอให้รัสเซียยับยั้งชั่งใจ ไม่ยั่วยุหรือดำเนินการใดๆ อันจะเป็นเหตุให้สถานการณ์วิกฤตกว่าที่เป็นอยู่
ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อพิจารณาเนื้อหาจากแถลงการณ์ล่าสุดกับแถลงการณ์ก่อนหน้านี้อีก 2 ฉบับ พบว่าเนื้อหาใจความใกล้เคียงกัน แถลงการณ์ฉบับล่าสุดเพิ่มเติมเรื่องยกระดับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเท่านั้น
ในแง่หนึ่งอธิบายได้ว่า กลุ่ม G7 เสมอต้นเสมอปลาย รักษาจุดยืนของตน ในอีกมุมหนึ่งมองได้ว่า ทางกลุ่มไม่สามารถหรือไม่ยอมแสดงบทบาทเพิ่มเติมใดๆ ทั้งๆ ที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ ไครเมียประกาศเอกราชจากยูเครน และผนวกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย
ตลอดเดือนเศษที่ผ่านมา รัฐบาลยูเครนใช้วาจาแข็งกร้าวต่อรัสเซีย แต่รัฐบาลยูเครนไม่สามารถทำอะไรมากกว่านี้ ได้แต่ร้องขอให้ชาติตะวันตก ประชาคมโลกช่วยกันใช้ทุกมาตรการเพื่อให้รัสเซียคืนดินแดน ชาติสมาชิกกลุ่ม G7 หลายประเทศตอบสนองด้วยคำขู่คำเตือนมากมาย แต่ไม่มีประเทศใดดำเนินมาตรการที่มีน้ำหนักมากเพียงพอ และเมื่อพิจารณาจากแถลงการณ์ล่าสุดของกลุ่ม G7 ที่มุ่งหวังไม่ให้สถานการณ์บานปลายกว่านี้ จึงคาดว่าประเทศยูเครนคงจะเสียพื้นที่เขตไครเมียแก่รัสเซียอย่างถาวร
หากเทียบกับกรณีอิรักบุกยึดคูเวตเมื่อปี 1990 ในครั้งนั้น ประชาคมโลกได้ผนึกกำลัง คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติอนุมัติให้ใช้กำลังต่ออิรัก ถ้าอิรักไม่ยอมถอนตัวจากคูเวต สงครามเพื่อขับไล่อิรักเริ่มขึ้นในเดือนมกราคม 1991 ประกอบด้วยกองทหารสหประชาชาติเกือบ 7 แสนนาย ในจำนวนนี้กว่า 4 แสนนายเป็นทหารสหรัฐฯ กองกำลังสหประชาชาติภายใต้การนำของสหรัฐฯ ประสบชัยชนะอย่างง่ายดาย กองทัพอิรักถอยออกจากการยึดครองคูเวต และยอมรับการหยุดยิงในเดือนเมษายน 1991
ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างกรณีอิรักยึดครองคูเวตกับกรณีรัสเซียควบคุมไครเมีย คือ รัสเซียเป็นชาติมหาอำนาจ มีอาวุธนิวเคลียร์จำนวนมาก เป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ อีกทั้งเศรษฐกิจรัสเซียเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจยุโรปและอีกหลายประเทศทั่วโลก ทั้งหมดนี้ ก่อให้เกิดข้อสรุปว่า เมื่อรัสเซียรุกรานควบคุมดินแดนประเทศเล็กๆ อย่างยูเครน กฎหมายระหว่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ กลายเป็นสิ่งที่แทบจะไร้ความหมาย ไม่อาจปกป้องอธิปไตยยูเครนได้เลย
นี่คือความจริงของโลกในยุคโลกาภิวัตน์
ถ้าจะวิเคราะห์ให้ครบถ้วน วิกฤติยูเครนนั้นซับซ้อนกว่าการที่รัสเซียผนวกไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ เนื่องจากต้นตอวิกฤตเกิดจากการแทรกแซงก้าวก่ายของชาติมหาอำนาจ ยูเครนกลายเป็นประเทศที่อยู่ระหว่างการช่วงชิง การแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจที่หวังจะมีอิทธิพลต่อยูเครน เป็นผลจากนโยบายของนาโตที่ต้องการขยายสมาชิกสู่ตะวันออก อันหมายถึงต้องการให้ประเทศที่แตกตัวออกจากอดีตสหภาพโซเวียต รวมทั้งประเทศยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นพันธมิตรของโซเวียต เข้าเป็นสมาชิกนาโต ส่วนรัสเซียนั้นหวังใช้ประเทศยูเครนเป็นรัฐกันชน ไม่ต้องการให้กองกำลังนาโตมาประชิดพรมแดนของตนโดยตรง
การแข่งขันช่วงชิงอิทธิพลระหว่างมหาอำนาจจึงเป็นต้นเหตุของวิกฤตยูเครนในขณะนี้ นักวิชาการบางคนเห็นว่าการแก้รากปัญหาจึงอยู่ที่การระวังไม่ให้ประเทศตกเป็นพื้นที่ของการแทรกแซง ประเทศด้อยอิทธิพลควรวางตัวเป็นกลาง วางระยะห่างจากชาติมหาอำนาจต่างๆ อย่างเหมาะสม ไม่อิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
นอกจากนี้ ประเทศเล็กหรือมีอิทธิพลน้อยต้องรวมกลุ่มเพื่อต้านการแทรกแซงจากประเทศที่ใหญ่กว่า การรวมตัวเป็นกลุ่มระดับภูมิภาคหรืออนุภูมิภาคจึงมีประโยชน์ในหลายด้าน ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรอง ช่วยปกป้องอธิปไตย เสริมความมั่นคงทางทหาร กรณียูเครนที่เป็นตัวอย่างล่าสุดที่ย้ำเตือนความสำคัญของเรื่องเหล่านี้ ทั้งยังเป็นข้อเตือนใจแก่องค์การระหว่างประเทศของประเทศเล็กๆ ทั้งหลายว่าจำต้องมีเอกภาพ ไม่สร้างเงื่อนไขให้ชาติมหาอำนาจเข้ามา “แบ่งแยกแล้วปกครอง” (Divide and Rule)
2 เมษายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ได้รับการเผยแพร่ผ่าน ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2557, http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1334)
----------------------------
รัฐบาลรักษาการยูเครนดำเนินนโยบายที่อิงฝ่ายชาติตะวันตกอย่างเต็มที่ ใช้ข้ออ้างสารพัดเพื่อดึงให้ชาติตะวันตกเข้ามาปกป้องอธิปไตย ช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่าชาติตะวันตกได้ประโยชน์จากการนี้ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ฝ่ายที่ได้ประโยชน์แน่นอนคือพวกของอดีตนายกฯ ทีโมเชงโก ที่สามารถยืมมือชาติตะวันตกมาอยู่กับพวกตน
2. เกมรุกของปูตินกับข้อวิพากษ์ต่อสถานการณ์ในยูเครน
2. เกมรุกของปูตินกับข้อวิพากษ์ต่อสถานการณ์ในยูเครน
รัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีปูติน ได้ควบคุมไครเมียและพร้อมส่งกองทัพข้ามพรมแดนไปยังฝั่งยูเครนตะวันออก เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลตะวันตกคาดการณ์มานานแล้ว เพราะในมุมมองของรัสเซียประเทศยูเครนเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางด้านความมั่นคงที่สำคัญ สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้จึงเป็นการให้บทเรียนแก่ชาติตะวันตก ว่ารัสเซียจะไม่ยอมปล่อยยูเครนให้อยู่ใต้อิทธิพลฝ่ายตะวันตกอย่างง่ายๆ และควรรู้ว่าอะไรคือ “เส้นต้องห้าม”
3. เบี่ยงปัญหายูเครน เบนจากทางออกสู่ทางตัน
วิกฤตยูเครนเป็นมากกว่าเรื่องการเมืองภายในประเทศ การผนวกไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย แต่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สหรัฐต่อรัสเซีย นโยบายขยายสมาชิกสู่ตะวันออกของนาโต อียู และยุทธศาสตร์รัฐกันชนของรัสเซีย การแก้ปัญหายูเครนที่ถูกจุดจึงเกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้
4. ความล้มเหลวของการปกครองและรัฐบาลคือภัยร้ายของยูเครน
ยูเครนได้รับเอกราชและเปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตยในสภาพที่ไม่มีการเตรียมตัวใดๆ นำสู่การบริหารประเทศที่ฝ่ายบริหารกับรัฐสภาเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจนโยบายสำคัญๆ โดยปราศจากระบบหรือกลไกควบคุม การล้มเหลวของรัฐบาลมือใหม่สร้างปัญหาเศรษฐกิจการเมืองก่อให้เกิดการเมืองแบบ 2 ขั้วที่ไม่อาจร่วมมือกันเพื่อสร้างชาติ กลายเป็นปัญหาซ้อนปัญหา การปกครองล้มเหลว
3. เบี่ยงปัญหายูเครน เบนจากทางออกสู่ทางตัน
วิกฤตยูเครนเป็นมากกว่าเรื่องการเมืองภายในประเทศ การผนวกไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย แต่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สหรัฐต่อรัสเซีย นโยบายขยายสมาชิกสู่ตะวันออกของนาโต อียู และยุทธศาสตร์รัฐกันชนของรัสเซีย การแก้ปัญหายูเครนที่ถูกจุดจึงเกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้
4. ความล้มเหลวของการปกครองและรัฐบาลคือภัยร้ายของยูเครน
ยูเครนได้รับเอกราชและเปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตยในสภาพที่ไม่มีการเตรียมตัวใดๆ นำสู่การบริหารประเทศที่ฝ่ายบริหารกับรัฐสภาเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจนโยบายสำคัญๆ โดยปราศจากระบบหรือกลไกควบคุม การล้มเหลวของรัฐบาลมือใหม่สร้างปัญหาเศรษฐกิจการเมืองก่อให้เกิดการเมืองแบบ 2 ขั้วที่ไม่อาจร่วมมือกันเพื่อสร้างชาติ กลายเป็นปัญหาซ้อนปัญหา การปกครองล้มเหลว
1. Cipkowski, Peter. (1992). Operation Desert Storm: Understanding The Crisis in The Persian Gulf. New York: John Wiley & Sons.
2. Cohen, Stephen F. (2009). Soviet fates and lost alternatives : from Stalinism to the new Cold War. New York: Columbia University Press.
3. G7 sanctions will strike hard on Russia’s economy, finance and armory. (2014, March 25). Charter'97. Retrieved from http://www.charter97.org/en/news/2014/3/25/91793/
4. G-7 Leaders Statement. (2014, March 2). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/03/02/g-7-leaders-statement
5. Help from Germany: Firms Could Soon Provide Gas to Ukraine. (2014, March 11). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/germany/german-companies-prepare-plans-to-supply-ukraine-with-gas-a-957988.html
6. Joint G7 statement from The Hague. (2014, March 24). Horseed Media . Retrieved from http://horseedmedia.net/2014/03/24/joint-g7-statement-hague/
7. Marr, Phebe. (2012). The Modern History of Iraq. USA: Westview Press.
8. Obama Finds Cold War Echoes in Face-Off With Putin. (2014, March 24). Bloomberg. Retrieved from http://www.bloomberg.com/news/2014-03-23/obama-finds-cold-war-echoes-in-face-off-with-putin.html
9. Statement of G-7 Leaders on Ukraine. (2014, March 12). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/03/12/statement-g-7-leaders-ukraine
10. Yatsenyuk: Ukraine will have to buy Russian gas even at $500 per 1,000 cubic meters. (2014, March 22). ITAR-TASS. Retrieved from http://en.itar-tass.com/economy/724884
--------------------------