เยือนศาลเจ้ายาสุกุนิ เส้นทางที่นายกฯ อาเบะเลือกเดิน

วันที่ 26 ธันวาคม 2013 ในโอกาสที่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ครบ 1 ปี นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิ (Yasukuni Shrine) เพื่อสักการะทหารผู้เสียชีวิตจากสงครามราว 2.5 ล้านคน โดยเฉพาะทหารผู้เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ รัฐบาลหลายประเทศได้กล่าวโจมตีอย่างรุนแรง โดยเฉพาะจากจีน เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เห็นว่านายกฯ อาเบะกำลังรื้อฟื้นลัทธิทหารนิยม ชาตินิยม และเป็นภัยคุกคามต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ดังเช่นก่อนสมัยมหาสงครามเอเชียบูรพา
            สื่อจีนหลายฉบับพากันเขียนบทความโจมตีอย่างต่อเนื่อง บทความของนายหลิว เจียงหยง (Liu Jiangyong) วิพากษ์อย่างเผ็ดร้อนว่าประชาคมโลกจะคิดอย่างไรหากผู้นำเยอรมันปัจจุบันทำความเคารพอดีตจอมเผด็จการนาซี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) มันต้องเป็นเรื่องร้ายแรงและขยะแขยงมาก
อดีตการเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิ :
            หากตรวจสอบประวัติศาสตร์ย้อนหลังจะพบว่า ไม่ใช่ผู้นำญี่ปุ่นทุกคนที่ไปเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิ แต่ที่ผ่านมานายกฯ หลายท่านได้ไปเยือน
            นายมิกิ ทะเกะโอะ (Miki Takeo) คือนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ไปสักการะศาลเจ้าเมื่อปี 1975  โดยอ้างว่าเป็นการเยือนส่วนตัว 3 ปีต่อมาอัฐิของบุคคลสำคัญ 14 คนที่เป็นอาชญากรสงครามระดับ A (Class A) ก็ปรากฏในศาลเจ้าอย่างลึกลับ ทั้ง 14 คนได้รับการยกย่องว่าเป็น เจ้า ของลัทธิชินโต ซึ่งผูกโยงกับการบูชาจักรพรรดิ ส่งเสริมให้ประชาชนจงรักภักดีต่อรัฐบาลและสนับสนุนการทำสงคราม ศาลเจ้าแห่งนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายขวานับจากนั้นเป็นต้นมา
            ในปี 1985 นายยาสุฮิโระ นากาโซเนะ (Yasuhiro Nakasone) เป็นนายกฯ คนแรกที่ไปสักการะอย่างเป็นทางการ แม้ว่าที่สิ่งทำคือเพียงใช้เงินชำระค่าดอกไม้ ไม่ทำการสักการะตามแบบชินโต แต่ส่งผลให้ประเทศจีน เกาหลีใต้และอีกปลายประเทศประท้วงอย่างรุนแรง รัฐบาลนากาโซเนะแก้ด้วยการประกาศว่าจะไม่ไปสักการะอีก
            ในปี 1996 นายกฯ ริวทาโร ฮาชิโมโตะ (Ryutaro Hashimoto) เดินทางไปเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิในวันเกิดของเขา ด้วยความคิดว่าจะไม่ถูกตีความว่าเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการ แต่ก็ถูกหลายประเทศประท้วงเช่นเคย สถานการณ์ยุติหลังรัฐบาลประกาศว่านายกฯ ฮาชิโมโตะ จะไม่ไปเยือนศาลเจ้าอีก ตามรอยอดีตนายกฯ นากาโซเนะ

            ผู้ที่ไปเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิมากที่สุดคือ นายกฯ จุนอิชิโร โคอิซูมิ (Junichiro Koizumi) ไปเยือนศาลเจ้าเป็นประจำทุกปี รวมถึง 6 ครั้ง ขณะดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2001–6 กลายเป็นช่วงที่ปัญหาการเยือนศาลเจ้ายืดเยื้อต่อเนื่องยาวนานที่สุด นายกฯ โคอิซูมิให้เหตุผลที่ไปสักการะว่าเพื่อแสดงเจตนาว่าเขายึดมั่นในสันติภาพและต้องการมีความสัมพันธ์อันราบรื่นกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่รัฐบาลจีน เกาหลีใต้และอีกหลายประเทศไม่เชื่อเช่นนั้น
            การเยือนของนายกฯ อาเบะเป็นการกลับมาเยือนอีกครั้งในรอบ 7 ปี หลังการเยือนครั้งล่าสุดคือเมื่อปี 2006 โดยนายกฯ โคอิซูมิ

            ในอีกฝากหนึ่ง นักการเมืองญี่ปุ่นหลายคนไม่เห็นด้วยกับการไปสักการะศาลเจ้ายาสุกินิ เช่น ในปี 2009 นายกฯ ยูกิโอะ ฮาโตยามะ (Yukio Hatoyama) จากพรรค Democratic Party of Japan ประกาศว่าตัวท่านและคณะรัฐมนตรีจะไม่ไปสักการะ นอกจากนี้กลุ่ม New Komeito ประกาศจะไม่ไปศาลเจ้า เช่นเดียวกับพรรค Japan Communist Party และ Social Democratic
            ทางด้านประชาชนญี่ปุ่นนั้นมีทั้งฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้านและฝ่ายที่ไม่สนใจ ข้อมูลบางแหล่งชี้ว่า มีชาวญี่ปุ่นราว 1 ล้านครอบครัวที่อยู่ในสมาคมผู้สูญเสียจากสงครามญี่ปุ่น สนับสนุนนายกฯ ญี่ปุ่นให้ไปสักการะศาลเจ้า สมาคมนี้มีความเชื่อมโยงกับพรรค Liberal Democratic Party (นายกฯ อาเบะสังกัดพรรคดังกล่าว)
            ฝ่ายที่ต่อต้านเห็นว่าการไปเยือนศาลเจ้า คือการย้ำเตือนว่านโยบายชาตินิยมในอดีตต้องจ่ายราคามากเพียงใด นอกจากนี้ ยังมีชาวญี่ปุ่นอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ใช่ทั้งฝ่ายสนับสนุนหรือฝ่ายต่อต้าน พวกเขาไม่สนใจไม่ใส่ใจกับเรื่องทำนองนี้ บ้างก็เห็นว่าเป็นเพียงการไปเคารพทหารผู้สละเสียชีวิตจากสงครามเท่านั้น อันเป็นพิธีการที่หลายประเทศทำกันทั่วไป ไม่มีผลต่อความคิดทางการเมืองของพวกเขา
            การไปเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิจึงเป็นเรื่องของพวกฝ่ายขวา ไม่ใช่เรื่องที่ชาวญี่ปุ่นทุกคนจะเห็นดีเห็นงาม

ข้อได้เปรียบของนายกฯ อาเบะ :
            นายกฯ อาเบะให้เหตุผลเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิว่าเพื่อรำลึกถึงทหารผู้เสียชีวิตในสงครามเท่านั้น ไม่มีความหมายอย่างอื่น คำตอบของท่านไม่แตกต่างจากอดีตนายกฯ หลายคนที่ไปเยือนศาลเจ้า และถูกหลายประเทศประท้วงอย่างรุนแรง
            จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งจากการเยือนศาลเจ้าไม่ใช่เรื่องใหม่ อดีตผู้นำญี่ปุ่นหลายท่านที่เคยเยือนศาลเจ้าจะตามมาด้วยการวิวาทะกับประเทศเพื่อนบ้าน บางกรณีถึงกับที่ผู้นำญี่ปุ่นต้องประกาศว่าจะไม่ไปเยือนอีก ดังนั้น นายกฯ อาเบะย่อมเข้าใจเรื่องเหล่านี้ สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าหากตนเยือนศาลเจ้าจะมีผลอย่างไร หากวิเคราะห์ภายใต้กรอบคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล นายกฯ อาเบะเยือนศาลเจ้าก็เพราะได้คิดไตร่ตรองรอบคอบแล้วว่า “ได้มากกว่าเสีย”

            ถ้าจะวิเคราะห์เรื่องนี้ผ่านความสัมพันธ์กับจีน อาจอธิบายได้ว่า ก่อนการเยือนศาลเจ้า รัฐบาลอาเบะกับรัฐบาลจีนมีประเด็นข้อพิพาทหลายเรื่องอยู่แล้ว เช่น เรื่องหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยู การเพิ่มงบประมาณกลาโหมและการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของญี่ปุ่น การปรับการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น  การประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (Air Defense Identification Zone) ของจีนเหนือน่านฟ้าทะเลจีนตะวันออก ฯลฯ ลำพังเรื่องเหล่านี้มีเหตุสร้างความขัดแย้งมากพออยู่แล้ว
            ภายใต้กรอบคิดดังกล่าว ถ้านายกฯ อาเบะจะเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิก็ไม่ช่วยขยายความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศมากนัก หรือถ้านายกฯ อาเบะไม่เยือนศาลเจ้าก็ไม่ช่วยลดการเผชิญหน้าเช่นกัน และที่สำคัญกว่านั้น นายกฯ อาเบะมีข้อได้เปรียบเหนืออดีตนายกฯ ที่ผ่านมาใน 2 ประการหลัก ได้แก่

            ประการแรก ข้อได้เปรียบเรื่องความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ
            ในอดีตที่ผ่านมา การเยือนศาลเจ้าแต่ละครั้ง จะมีนักธุรกิจญี่ปุ่นบางคนบางกลุ่มออกมาแสดงความกังวลต่อการค้าการลงทุนระหว่างญี่ปุ่นกับจีนเสมอ เป็นแรงกดดันหนึ่งที่ไม่ต้องการให้นายกฯ เดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุกุนิ
            เรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจจึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่ง แต่ภายใต้แนวทางการบริหารเศรษฐกิจของนายกฯ อาเบะ หรือที่บางคนเรียกว่า “Abenomics” ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ ใช้มาตรการทั้งการเงิน การคลัง ในเวลาเพียงปีเดียว เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวอย่างชัดเจน นักธุรกิจนักลงทุนมีความเชื่อมั่น นับเป็นความมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง กลายเป็นจุดแข็งของรัฐบาลชุดนี้ นายกฯ อาเบะไม่ต้องกังวลว่าหากทะเลาะกับจีนแล้วจะสั่นสะเทือนระบบเศรษฐกิจ
            เป็นไปได้ว่านายกฯ อาเบะอาจต้องการเป็นนายกฯ ญี่ปุ่นคนแรกที่ไม่เกรงว่าการเยือนศาลเจ้าจะกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ ต้องการชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นภายใต้การบริหารของตนกำลังฟื้นตัว ญี่ปุ่นไม่เกรงกลัวอิทธิพลเศรษฐกิจของจีนที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก แซงหน้าญี่ปุ่นไปแล้ว ช่วยลดกระแสความหวาดวิตกของญี่ปุ่นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทางการเมืองระหว่างประเทศของจีน

            ประการที่สอง นโยบายความมั่นคงร่วมญี่ปุ่น-สหรัฐฯ
            นโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายทางด้านความมั่นคงระหว่างประเทศของนายกฯ อาเบะเชื่อมโยงโดยตรงกับนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ สองปีที่ผ่านมา รัฐบาลโอบามาใช้ยุทธศาสตร์ Pivot to Asia ให้ความสำคัญต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากเห็นว่าจากนี้ไปภูมิภาคนี้จะมีผลต่อเศรษฐกิจประเทศ และจะกลายเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศ สหรัฐฯ จึงต้องเข้าไปมีส่วนจัดแจงเรื่องราวในภูมิภาค
            และภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว รัฐบาลโอบามาได้กระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรในย่านนี้ ญี่ปุ่นคือหนึ่งในประเทศพันธมิตรที่สำคัญที่สุด
            ตลอดปีที่ผ่านมา ภายใต้ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นกับจีน รัฐบาลโอบามายืนยันหลายครั้งว่าพร้อมปกป้องญี่ปุ่นตามสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม (Mutual Security Treaty) และชี้ว่ามีผลครอบคลุมหมู่เกาะเซนกากุ
            การที่รัฐบาลโอบามายืนยันว่าสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นมีผลครอบคลุมหมู่เกาะพิพาท เป็นหลักฐานสำคัญชี้ว่ารัฐบาลโอบามาไม่เพียงสนับสนุนความมั่นคงของญี่ปุ่นโดยรวมเท่านั้น นัยยะที่สำคัญกว่าคือการสนับสนุนการเผชิญหน้าระหว่างญี่ปุ่นกับจีนผ่านข้อพิพาทดังกล่าว (รวมทั้งประเด็นความขัดแย้งอื่นๆ) นายจอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่าสหรัฐฯ พร้อมจะปกป้องญี่ปุ่นหากถูกโจมตี พร้อมกับย้ำว่ายุทธศาสตร์ Pivot to Asia จำต้องอาศัยความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งระหว่าสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น
            ดังนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นในปัจจุบันจึงดำเนินนโยบายความมั่นคงระหว่างประเทศบนความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับรัฐบาลสหรัฐฯ 2 ประเทศประสานการดำเนินนโยบายต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างมีชั้นเชิง รัฐบาลอาเบะมีชาติมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกหนุนหลังอยู่

            การเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิของนายกฯ อาเบะสามารถอธิบายได้ในหลายรูปแบบหลายแง่มุม ที่แน่นอนคือ รัฐบาลอาเบะได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์แม่บทจาก “passive pacifism” มาเป็น “proactive pacifism” อธิบายเบื้องต้นได้ว่าญี่ปุ่นจะมีบทบาทด้านความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างกระตือรือร้นมากกว่าในอดีต เช่น มีบทบาทช่วยเสริมสร้างความมั่นคงโลกในที่ต่างๆ มีบทบาทเพิ่มขึ้นในองค์กรระหว่างประเทศด้านความมั่นคง และใช้แนวคิด “Dynamic Joint Defense Force” อันหมายถึงการร่วมรักษาความมั่นคงกับกองกำลังประเทศต่างๆ
            ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ญี่ปุ่นตระหนักว่าจำต้องเผชิญหน้ากับจีนที่กำลังมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งกระแสการต่อต้านจากประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ที่หวั่นเกรงอิทธิพลของญี่ปุ่น ที่เพิ่มบทบาทความมั่นคงในภูมิภาค
            แต่หากญี่ปุ่นจะต้องเผชิญหน้าเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ เพื่อความมั่นคงของประเทศ การเผชิญหน้าดังกล่าวย่อมเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ขอเพียงให้ความขัดแย้งและการตอบโต้อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างรัดกุม ไม่ให้บานปลายจนสร้างความสูญเสียเกินขนาด
            นี่คือเส้นทางที่นายกฯ อาเบะเลือกเดิน หรือ “จำต้อง” เลือกเดิน
มีนาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ได้รับการเผยแพร่ผ่าน ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2557, http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1323)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
1. อาเบะเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิมุมมองของฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้าน
ทุกคนทุกชาติต่างมีความเชื่อศาสนาของตนเอง ทหารญี่ปุ่นหลายคนเข้าทำสงครามด้วยความเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่านี่คือสงครามศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่คนชาติอื่นย่อมมีความคิดเห็นของตนเอง เป็นอีกภาพความจริงของโลกที่ยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งภายในประเทศญี่ปุ่นนั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะคิดเห็นตรงกัน ชาวญี่ปุ่นที่ไปสักการะศาลเจ้ายาสุกินิก็ใช่ว่าจะไปด้วยความหมายเดียวกัน หรือมีความรู้สึกที่เข้มข้นตรงกัน 
2. สงครามนานกิง สมรภูมิจีน-ญี่ปุ่นในศตวรรษที่21
สงครามทำลายล้างนานกิง เป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วเกือบ 8 ทศวรรษ แต่ด้วยการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างเข้มข้นของจีนกับญี่ปุ่นในปัจจุบัน เรื่องราวในอดีตจึงถูกรื้อฟื้น ประชาชน 2 ฝ่ายถูกดึงเข้ามามีส่วนร่วม กลายเป็นสมรภูมิทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น สงครามนานกิงในศตวรรษที่ 21

บรรณานุกรม:
1. ธเนศ ฤดีสุนันท์. (2553). ปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาตินิยมจีนกับญี่ปุ่นในประเด็นสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 (1937-1945). (วิทยานิพนธ์). Retrieved from http://digi.library.tu.ac.th/thesis/po/1296/04chapter3.pdf
2. Breen, John., & Teeuwen, Mark. (2010). A New History of Shinto. UK: Blackwell Publishing.
3. China Voice: Abe's Yasukuni Shrine visit a dangerous step. (2013, December 26). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/china/2013-12/26/c_132998040.htm
4. Jiangyong, Liu. (2014, February 11). History reveals Abe's ploy. Retrieved from http://www.chinadaily.com.cn/opinion/2014-02/11/content_17275775.htm
5. Kingston, Jeff. (2013). Contemporary Japan: History, Politics, and Social Change since the 1980s (2nd ed.). USA: John Wiley & Sons Ltd.
6. Russel, Daniel R. (2014, January 13). Transatlantic Interests In Asia. Retrieved from http://www.state.gov/p/eap/rls/rm/2014/01/219881.htm
7. Takahashi, Kosuke. (2014, February 13). Shinzo Abe’s Nationalist Strategy. Retrieved from http://thediplomat.com/2014/02/shinzo-abes-nationalist-strategy/
8. U.S. vows to defend Japan if conflict erupts in East China Sea. (2014, February 8). The Japan Times. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2014/02/08/national/u-s-vows-to-defend-japan-if-conflict-erupts-in-east-china-sea/#.Uvc_xWKSwRk
----------------------------