เบี่ยงปัญหายูเครน เบนจากทางออกสู่ทางตัน

วิกฤตยูเครนในขณะนี้ หากพูดตามเรื่องราวที่ปรากฏทางสื่อ เมื่อเริ่มต้นเป็นการชุมนุมประท้วงรัฐบาลยานูโควิช เนื่องจากรัฐบาลไม่ยอมลงนามข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรป (Association Agreement) ฝ่ายต่อต้านกดดันอย่างรุนแรง ถึงขั้นเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก การชุมนุมลงเอยด้วยมีการยิงต่อสู้ มีมือที่ 3 ปรากฏกาย ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน
            ความวุ่นวายในยูเครนทำท่าเหมือนจะจบ เมื่อรัฐบาลยานูโควิชบรรลุข้อตกลงกับขั้วฝ่ายค้าน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ แต่ปรากฏว่านายยานูโควิชหนีเข้ามาในรัสเซีย พร้อมกับมีกองกำลังไร้สังกัด ซึ่งขณะนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าคือกองกำลังรัสเซีย เข้าควบคุมเขตกึ่งปกครองตนไครเมีย และรวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย
รากปัญหา :
            เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีปูตินกล่าวหลังไครเมียประกาศแยกตัวออกจากยูเครนว่า ในอดีตที่ผ่านมาชาติตะวันตกคดโกงรัสเซียหลายครั้ง ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาโดยไม่สนใจว่าถูกกฎหมายหรือไม่ มาบัดนี้ ถึงเวลาแล้วที่ชาติตะวันตกจะยอมรับว่ารัสเซียก็มีผลประโยชน์และมีวาระระหว่างประเทศของตนเช่นกัน ที่ชาติตะวันตกต้องให้ความเคารพ และกล่าวอีกว่าการขยายตัวของนาโตเข้ามาใกล้พรมแดนรัสเซีย ท่าทีคุกคามทางทหาร เป็นเรื่องที่รัสเซียยอมไม่ได้ รัสเซียยินดีร่วมมือกับนาโต แต่ต้องดำเนินบนผลประโยชน์ร่วมกัน
            อันที่จริงแล้ว รากปัญหายูเครนไม่ใช่เรื่องซับซ้อนแต่ประการใด สิ่งที่รัสเซียต้องการคือ ยูเครนจะต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของตน ในขณะที่ชาติตะวันตกพยายามดึงยูเครนออกจากรัสเซีย
            ผลประโยชน์หลักที่รัสเซียหวังจากยูเครนมี 2-3 อย่าง ข้อแรกคือ ได้ยูเครนเป็นรัฐกันชน เป็นแนวป้องกันไม่ให้ต่างชาติรุกเข้าเขตอธิปไตยรัสเซียโดยตรง นี่เป็นยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศอย่างหนึ่งของรัสเซีย มาจากประสบการณ์อันขมขื่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ชาวรัสเซียกว่า 30 ล้านคนต้องเสียชีวิต เมืองสำคัญๆ หลายเมืองพังพินาศ การสร้างแนวรัฐกันชนเป็นยุทธศาสตร์เก่าแก่หลายทศวรรษแต่ยังใช้ในปัจจุบัน
            ข้อสองคือ รัสเซียแม้เป็นประเทศใหญ่ มีชายทะเลยาวหลายพันกิโลเมตร แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ติดขั้วโลกเหนือและเป็นน้ำแข็ง ไม่เหมาะจะเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือ ฐานทัพเรือที่เซวาสโตโพล (Sevastopol) ในเขตไครเมีย เป็นท่าเรือน้ำอุ่นของรัสเซียเพียงแห่งเดียวที่อยู่ในฝั่งยุโรปที่รัสเซียขอเช่า
            สัญญาเช่าล่าสุดที่ทำเมื่อปี 2010 รัฐบาลยูเครนได้ลงนามขยายสัญญาให้รัสเซียเช่าฐานทัพเซวาสโตโพลเพิ่มเติมจากสัญญาเดิมอีก 25 ปี แม้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอ้างว่ารัฐบาลรักษาการยูเครนในขณะนี้จะรักษาสัญญาเช่า ไม่มีเหตุที่รัสเซียต้องกังวล แต่สัญญายกเลิกได้ในอนาคต หรือไม่ขยายสัญญาอีกต่อไป เรื่องนี้แม้เป็นเรื่องระยะยาว แต่เป็นประเด็นที่รัสเซียกังวลเนื่องจากไม่สามารถหาสถานที่ใดมาทดแทน

            ชาติตะวันตกเข้าใจเรื่องเหล่านี้ดี ทันทีที่สหภาพโซเวียตแตกออก ประเทศยูเครนเป็นเอกราช รัฐบาลสหรัฐก็มีนโยบายต้องการให้ยูเครนเข้าร่วมองค์การนาโต ทั้งๆ ที่รัสเซียมีจุดยืนว่าจะไม่ยอมให้ยูเครนเข้ากลุ่มนาโตเด็ดขาด ถือว่าเป็น “เส้นต้องห้าม”
            การที่ยูเครนจะเป็นสมาชิกนาโต หรืออิงชาติตะวันตกทางใดทางหนึ่ง จึงเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นพร้อมกับที่ยูเครนได้รับเอกราชหลังสิ้นสุดสงครามเย็น หรือราว 23 ปีแล้ว เป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวของชาติตะวันตก เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปเรื่อยๆ ตามบริบทแวดล้อม ช้าบ้างเร็วบ้าง ดังที่ดำเนินมากว่า 2 ทศวรรษแล้ว

ผลจากการเบี่ยงเบนปัญหา :
            ประการแรก พูดกันคนละเรื่อง มองกันคนละทาง
            ชาติตะวันตกมองว่า รัสเซียเป็นต้นเหตุวิกฤตยูเครน ละเมิดอธิปไตยยูเครน ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ด้านรัสเซียอ้างว่าตนกำลังทำหน้าที่ปกป้องชาวยูเครนเชื้อสายรัสเซียที่ถูกพวกหัวรุนแรงข่มขู่คุกคาม เห็นว่าวิกฤตยูเครนเกิดจากปัญหาภายในยูเครน รัสเซียไม่ได้เป็นผู้ก่อ
            ประธานาธิบดีปูตินเชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐอยู่เบื้องหลังการล้มรัฐบาลยานูโควิช ด้วยการฝึกฝนกองกำลังติดอาวุธ สนับสนุนการชุมนุมประท้วงล้มรัฐบาล เป็นวิธีการเดิมที่เคยทำในสมัย Orange Revolution เมื่อปี 2004 ทำให้ขั้วการเมืองยูเครนตะวันตกได้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ดังนั้น รัฐบาลรักษาการในขณะนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

            ประการที่สอง ข้อเสนอทางออกไม่เป็นที่ยอมรับของอีกฝ่าย
            ทางการสหรัฐไม่เชื่อว่าคนเชื้อสายรัสเซียในยูเครนถูกคุกคาม และชี้ว่าสถานการณ์ในขณะนี้คืนสู่ภาวะปกติแล้ว จึงเสนอทางออกด้วยการให้ทีมตรวจสอบนานาชาติลงพื้นที่เพื่อหาข้อสรุปว่าคนไครเมียเชื้อสายรัสเซียถูกคุกคามดังที่รัฐบาลปูตินกล่าวอ้างหรือไม่ ด้านรัสเซียไม่ยอม ได้แต่ยืนกระต่ายขาเดียวว่าชาวยูเครนเชื้อสายรัสเซียกำลังถูกคุกคามทำร้าย และอ้างว่าการที่รัสเซียส่งทหารเข้าไครเมียเพื่อปกป้องคนท้องถิ่นที่พูดรัสเซียนั้นเป็นการกระทำที่ถูกกฎหมาย เพราะได้รับการร้องขออย่างเป็นทางการจาก (อดีต) ประธานาธิบดียานูโควิช
            ประธานาธิบดีโอบามากล่าวต่อประธานาธิบดีปูตินว่า รัสเซียจะต้องถอนทหารออกจากไครเมีย ไม่เช่นนั้น การเจรจาจะไม่มีทางประสบความสำเร็จ ส่วนฝ่ายรัสเซียยืนยันว่าต้องคงกองกำลังไว้ จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

            ประการที่สาม มีแนวโน้มขัดแย้งกันมากขึ้น
            ตลอดเวลาที่ผ่านมา ชาติตะวันตกประกาศว่าจะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรให้รุนแรงขึ้นตามลำดับ หากรัสเซียไม่ตอบสนองในทางที่ดี แต่รัฐบาลปูตินชี้ว่าการคว่ำบาตรจะสร้างความเสียหายแก่ทั้ง 2 ฝ่าย และขู่กลับว่าจะตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรเช่นกัน
            สถานการณ์ความมั่นคงทางทหาร เป็นอีกประเด็นที่กำลังเข้มข้นขึ้น เนื่องจากขั้วยูเครนตะวันตกเรียกร้องให้ต่างชาติแทรกแซง นายอาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค (Arseny Yatsenyuk) รักษาการนายกรัฐมนตรียูเครน ร้องขอให้ชาติตะวันตกและประชาคมโลกช่วยปกป้องอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน
            เช่นเดียวกับนางยูลิยา ทีโมเชงโก (Yulia Tymoshenko) อดีตนายกฯ และเป็นแกนนำขั้วยูเครนตะวันตกเรียกร้องให้ชาติตะวันตกร่วมกันต่อต้านประธานาธิบดีปูติน ชี้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น “ไม่เพียงเป็นอันตรายต่อประเทศยูเครนเท่านั้น ส่วนอื่นๆ ของยุโรปตะวันออกจะตกอยู่ในอันตรายด้วย” ย้ำว่า “จะเรียกร้องต่อบรรดาผู้นำโลกประชาธิปไตยใช้มาตรการขั้นรุนแรงที่สุดเพื่อหยุดผู้รุกราน”
            ถ้อยคำอันขึงขังของนางทีโมเชงโก ถ้ามองในแง่ชาตินิยม ย่อมต้องชมเชยว่านางทีโมเชงโกเป็นผู้รักชาติรักบ้านเมือง แสดงบทบาทของผู้นำประเทศ แต่ในอีกมุมหนึ่งเป็นการยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้า ให้เกิดสงครามระหว่างชาติมหาอำนาจ

            แต่ดูเหมือนว่าคำเตือนคำขู่ใดๆ จะไม่ค่อยเป็นผล ประธานาธิบดีปูตินพูดเป็นนัยว่าอาจส่งทหารควบคุมพื้นที่ยูเครนให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะหลังไครเมียประกาศแยกตัวเป็นอิสระ รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย ก็มีกระแสว่ายูเครนตะวันออกจะทำประชามติขอแยกตัวเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นเหตุให้มีกองกำลังไร้สังกัดเข้าควบคุมพื้นที่เหมือนกรณีไครเมียก็เป็นได้

วิเคราะห์เชิงลึก บนโต๊ะเจรจา :
            วิกฤตยูเครนมีลักษณะที่โดดเด่นอีกประการคือ มีการเจรจาทั้งระดับผู้นำประเทศ ระดับรัฐมนตรี ทั้งแบบทางตรงทางลับอย่างต่อเนื่อง มองในแง่ดีคือสถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุม ถ้อยแถลงที่ปรากฏทางสื่อมักเป็นสิ่งทุกฝ่ายได้คิดรอบคอบแล้ว มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก การเดิมเกมของของรัสเซียหลายอย่างเป็นเรื่องที่รับรู้ล่วงหน้า ส่วนข้อเสียคือ พูดคุยกันมากมายแต่ยังไม่ได้ทางออก มีแต่บีบให้สถานการณ์เข้าสู่มุมอับมากขึ้น จึงคาดการณ์ได้ว่าการเผชิญหน้ามีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ระหว่างที่ 2 ฝ่ายกำลังพูดคุยถึงรากปัญหา ซึ่งสาธารณชนอาจจะได้รับรู้หรือไม่ก็เป็นไปได้
            หากรัสเซียเตรียมถอนกองกำลังออกจากไครเมีย และถอนกองทัพออกจากแนวพรมแดนยูเครนตะวันออก จะเป็นสัญญาณว่าเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว

            ถ้าจะวิเคราะห์วิกฤตยูเครนอย่างซับซ้อน โจทย์มีอยู่ว่าชาติตะวันตกรู้ดีว่ารัสเซียต้องการอะไร รู้ดีว่าอะไรคือรากปัญหา คำถามจึงอยู่ที่ทำไมจึงยังไม่ลงมือแก้ปัญหาให้ตรงจุด
            ถ้าเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เริ่มจากการชุมนุม การเกิดเหตุวุ่นวายจนรัฐบาลยานูโควิชต้องลาออก และได้รัฐบาลรักษาการที่อิงฝ่ายตะวันตก ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่ชาติตะวันตกเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง จะพออธิบายต่อได้ว่า ณ ขณะนี้ชาติตะวันตกได้บรรลุเป้าหมายมาครึ่งทางแล้ว ดังนั้น จึงย่อมไม่อาจหยุดหรือถอดใจหันหลังกลับเพียงเท่านี้อย่างง่ายๆ
            ข้อผิดพลาดสำคัญของฝ่ายตะวันตก คือ ไม่คิดว่าประธานาธิบดีปูตินจะตัดสินใจอย่างเด็ดขาด รวดเร็ว ส่งกองกำลังเข้าควบคุมไครเมียทันที พร้อมกับสนับสนุนให้ไครเมียแยกตัวออกจากยูเครน มารวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย

            นอกจากนี้ รัสเซียยังเตรียมกำลังรบไว้ที่แนวชายแดนยูเครนตะวันออกนับแสนนาย ทำการซ้อมรบไปมา โจทย์ใหญ่ในขณะนี้ จึงไม่ใช่เรื่องการหามาตรการคว่ำบาตร โดดเดี่ยวรัสเซีย หรือกองทัพรัสเซียเตรียมเคลื่อนกำลังควบคุมพื้นที่มากขึ้น แต่อยู่ที่จะให้เรื่องนี้ยุติอย่างไร ซึ่งอาจหมายถึงการปรับยุทธศาสตร์สหรัฐต่อรัสเซีย นโยบายขยายสมาชิกสู่ตะวันออกของนาโต อียู และยุทธศาสตร์รัฐกันชนของรัสเซีย
            ดังนั้น แท้ที่จริงแล้วสถานการณ์ยูเครน การประกาศเอกราชของไครเมีย และการรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย จึงเป็นเพียงฉากหนึ่งของเหตุการณ์ที่อยู่ใต้เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่ลึกซึ้งกว่ามาก มีผลประโยชน์มหาศาลรองรับอยู่ มีผู้เสนอทางออกหลายแบบ แต่คงต้องเจรจาต่อรองอีกหลายรอบ ประชาคมโลกได้แต่เฝ้ามองว่าเมื่อไหร่จะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และหวังว่าประเทศที่เกี่ยวข้องจะไม่เบี่ยงประเด็น เพราะจะเบนจากทางออกสู่ทางตัน
23 มีนาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6347 วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2557)
-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
รัฐบาลรักษาการยูเครนดำเนินนโยบายที่อิงฝ่ายชาติตะวันตกอย่างเต็มที่ ใช้ข้ออ้างสารพัดเพื่อดึงให้ชาติตะวันตกเข้ามาปกป้องอธิปไตย ช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่าชาติตะวันตกได้ประโยชน์จากการนี้ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ฝ่ายที่ได้ประโยชน์แน่นอนคือพวกของอดีตนายกฯ ทีโมเชงโก ที่สามารถยืมมือชาติตะวันตกมาอยู่กับพวกตน
รัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีปูติน ได้ควบคุมไครเมียและพร้อมส่งกองทัพข้ามพรมแดนไปยังฝั่งยูเครนตะวันออก เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลตะวันตกคาดการณ์มานานแล้ว เพราะในมุมมองของรัสเซียประเทศยูเครนเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางด้านความมั่นคงที่สำคัญ สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้จึงเป็นการให้บทเรียนแก่ชาติตะวันตก ว่ารัสเซียจะไม่ยอมปล่อยยูเครนให้อยู่ใต้อิทธิพลฝ่ายตะวันตกอย่างง่ายๆ และควรรู้ว่าอะไรคือ “เส้นต้องห้าม”

บรรณานุกรม:
1. Crisis in Ukraine caused by internal factors, not by Russia — Putin. (2014, March 13). ITAR-TASS. Retrieved from http://en.itar-tass.com/russia/723400
2. Cohen, Stephen F. (2009). Soviet fates and lost alternatives : from Stalinism to the new Cold War. New York: Columbia University Press.
3. Judah, Ben. (2013). Fragile Empire: How Russia Fell in and Out of Love with Vladimir Putin. UK: Yale University Press.
4. Lee, Mathew. (2014, March 16). US rejects Crimea vote, warns Russia on new moves. Retrieved from http://www.businessweek.com/ap/2014-03-16/white-house-urges-putin-to-back-down-in-crimea
5. Longworth, Philip. (2005). Russia: The Once and Future Empire From Pre-History to Putin. New York: St. Martin’s Press.
6. Office of the Spokesperson. (2014, March 5). President Putin's Fiction: 10 False Claims About Ukraine. Retrieved from http://www.state.gov/r/pa/prs/ps/2014/03/222988.htm
7. Putin: Crimea similar to Kosovo, West is rewriting its own rule book. (2014, March 18). RT. Retrieved from http://rt.com/news/putin-address-parliament-crimea-562/
8. Putin: Deploying Russian troops in Ukraine not necessary now, but possible. (2014, March 4). Pravda.Ru. Retrieved from http://english.pravda.ru/news/russia/04-03-2014/127014-putin_russian_troops_ukraine-0/
9. Putin warns West against sanctions, says Ukraine interim leader 'not legitimate. (2014, March 4). Fox News/AP. Retrieved from http://www.foxnews.com/world/2014/03/04/putin-blames-unconstitutional-overthrow-yanukovych-for-crimea-crisis/
10. Russian forces expand control of Crimea. (2014, March 3). The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/world/currencies-of-russia-ukraine-fall-monday/2014/03/03/5f3af2c2-a2c9-11e3-a5fa-55f0c77bf39c_story.html
11. Russia FM tells US sanctions 'unacceptable'. (2014, March 19). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/europe/2014/03/russia-fm-tells-us-sanctions-unacceptable-201431915733488478.html
12. Russia tightens grip on Crimea as West scrambles to respond. (2014, March 3). Fox News/AP. Retrieved from http://www.foxnews.com/world/2014/03/03/russia-tightens-grip-on-crimea-as-west-scrambles-to-respond/
13. Russia's Black Sea Fleet. (2014, February 28). ITAR-TASS. Retrieved from http://en.itar-tass.com/russia/721411
14. Samuels, Richard J. (Ed.). (2006). Cold War. In Encyclopedia Of United States National Security. (pp.135-138). California: Sage Publications, Inc.
15. Tymoshenko urges hard Western line against Russia. (2014, March 16). AFP. Retrieved from http://news.yahoo.com/tymoshenko-urges-hard-western-line-against-russia-111425447.html
16. Ukraine crisis upends West's view of Russian President Vladimir Putin. (2014, March 6). Los Angeles Times. Retrieved from http://www.latimes.com/world/asia/la-fg-ukraine-putin-20140307,0,2724923.story#axzz2vEeVYRkO
---------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก