เมื่อประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาแสดงสุนทรพจน์ที่เกี่ยวข้องนโยบายต่างประเทศมักจะมีการเอ่ยถึงAmerican
exceptionalism หรือหลักการที่อยู่ภายในลัทธิหรือแนวคิดดังกล่าว
แม้เป็นคำที่มีการพูดถึงแต่ในทางวิชาการเป็นที่ถกเถียงในความหมาย การตีความ
การนำไปใช้ เนื่องจากลัทธิหรือแนวคิดนี้ขาดการพัฒนาอย่างเป็นระบบ
อีกทั้งพบว่าบ่อยครั้งผู้ใช้แต่ละคนจะใช้ในความหมายที่แตกต่างกันด้วยเหตุผลเฉพาะเจาะจง
ในที่นี้จะอธิบายความหมาย การนำไปใช้ ผลที่เกิดขึ้นทั้งด้านบวกด้านลบ และข้อวิพากษ์
American
exceptionalism คือ ลัทธิความเชื่อว่าคนอเมริกันนั้นมีความพิเศษเหนือชนชาติอื่น
มีรากฐานมาจากสองแนวคิดคือ อเมริกาเป็นประเทศที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ
กับอเมริกาเป็นประเทศที่พิเศษกว่าประเทศอื่นๆ
คำว่า
‘แตกต่าง’ หมายถึงการแตกต่างจากชาติชนชาติอื่นๆ
แม้บรรพบุรุษชาวอเมริกันคือชนชาติที่สืบเชื้อสายจากยุโรป แต่คนเหล่านี้ได้พัฒนาค่านิยมวัฒนธรรมของตนเองแตกต่างจากชาวยุโรป
ชาวอเมริกันมีจุดเริ่มต้นที่ต้องการเป็นเสรีชน ชนชาติที่ไร้ชนชั้น สังคมปราศจากการแบ่งแยกหรือการต่อสู้เรื่องแนวคิดทางการเมือง
ชาวอเมริกันทุกคนต่างร่วมใจปกป้องเสรีภาพของประชาชน
พัฒนาประเทศให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี
ส่วนคำว่า
‘พิเศษ’
หมายถึงการมีเสรีภาพหรือโอกาสที่จะมีเสรีภาพ และเป็นชาติที่มีพันธกิจ (mission) มีหน้าที่เป็นเสาหลักแห่งเสรีภาพของโลก ความเป็นมหาอำนาจของอเมริกาเป็นประโยชน์ต่อประชาคมโลกเนื่องจากเป็นชาติประชาธิปไตยแตกต่างจากมหาอำนาจอื่นๆ
ในประวัติศาสตร์
นิยามดังกล่าวเป็นนิยามที่เกิดจากการรวมรวบข้อมูลหลากหลายแหล่งที่นิยมใช้กันทั่วไป
ไม่มีนิยามสากลอันเป็นที่ยอมรับทั่วไป (หรือยังถกเถียงกันอยู่)
มีแต่นิยามที่เกิดจากการตีความและนำมาใช้ตามความต้องการ
จากการศึกษาพบว่ามีหลายอย่างที่มักปรากฏหรือใช้ควบคู่กับ American
exceptionalism ดังนี้
1.
ศาสนา
ศาสนาคริสต์มีส่วนเกี่ยวข้องผูกพันโดยตรง ข้อมูลหลายชิ้นอ้างหลักฐานจากประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าจุดเริ่มต้นของแนวคิดดังกล่าวมาจากหลักศาสนา
ในปี ค.ศ. 1630 นายจอห์น วินธรอป (John Winthrop) คริสเตียนผู้หนึ่งกล่าวถึงการบุกเบิกสร้าง
“เมืองที่ตั้งอยู่บนเขา” อันเป็นประโยคที่หยิบยกมาจากพระคัมภีร์ไบเบิล กลุ่มผู้ก่อตั้งอาณานิคมใหม่ในทวีปอเมริกาเหนือปรารถนาสร้างเมืองนิวอิงแลนด์
(New England) เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เมืองอื่นๆ ดังคำกล่าวว่า
“สายตาของคนทั้งหลายจับจ้องมองที่เรา”
ความคิดของนายวินธรอปเป็นตัวอย่างบุคคลแรกๆ
ที่นำหลักศาสนามาเกี่ยวข้องกับการสร้างเมืองใหม่ในโลกใหม่ (อเมริกา) มีอีกหลายคนที่วางรากฐานแนวคิดการสร้างเมืองสร้างชาติ
และแนวคิดเหล่านั้นได้รับการพัฒนาต่อยอดจากคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า
ในอดีตยุคที่คนอเมริกันส่วนใหญ่เชื่อเรื่องศาสนาอย่างเคร่งครัดจะยึดถือ American
exceptionalism อย่างเคร่งครัดด้วย ในเวลาต่อมาแนวคิดของลัทธิดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม
สังคมที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง และเป็นลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของผู้นับถือศาสนาคริสต์บางกลุ่ม
2.
การชี้ว่าผู้อื่นด้อยพัฒนากว่า จำต้องเข้าไปช่วยเหลือเปลี่ยนแปลง
พวกคนผิวขาวมีความเชื่อว่ามานานแล้วว่าประเทศของตนมีวัฒนธรรมสูงส่งกว่า
เห็นว่าผู้อื่นเป็นคนป่าเถื่อน ไร้อารยธรรมหรือโบราณคร่ำครึ ความเชื่อนี้เป็นส่วนผสมในแนวคิดว่าพวกคนผิวขาวหรือชาวตะวันตกจำต้องช่วยเหลือชนชาติอื่นที่ด้อยพัฒนากว่าให้มีความเจริญตามแบบของตน
เห็นว่าการนำความเปลี่ยนแปลงสู่ประเทศอื่นๆ เป็นเรื่องถูกต้องสมควรกระทำ
ประโยคที่ได้รับการเอ่ยถึงอยู่เสมอคือสุนทรพจน์ของวุฒิสมาชิกโธมัส
ฮาร์ท เบนตัน (Thomas Hart Benton) ที่กล่าวเมื่อปี ค.ศ.
1846 “ในอนาคต
(อเมริกา) จะพัฒนาการค้า ใน (ดินแดนย่านแปซิฟิก) ที่กว้างใหญ่และหลากหลาย
ซึ่งเป็นส่วนที่มีดินแดนกว้างใหญ่กว่าประเทศอเมริกา ... ดูเหมือนว่าพวกชนผิวขาว (White
race)
เท่านั้นที่ได้รับบัญชาจากสวรรค์ให้ครอบครองแผ่นดินโลกนี้ทั้งสิ้น
เพราะเป็นชนชาติเดียวเท่านั้นที่เชื่อฟังบัญชา (ของพระเจ้า) และชนชาติเดียวเท่านั้นที่ออกแสวงหาดินแดนใหม่ที่ห่างไกล”
3.
การเผยแพร่ลัทธิเศรษฐกิจและการเมือง
ในปี
ค.ศ. 1776 นายโธมัส เพน (Thomas Paine) นักปฏิวัติเสรีประชาธิปไตยชี้ว่าอเมริกาเปรียบประดุจกระโจมไฟที่จะส่องสว่างแห่งเสรีภาพแก่โลก
ในยามที่ “ทุกหนแห่งทั่วโลกแสวงหาเสรีภาพ” ไม่ว่าจะเป็นที่เอเชีย แอฟริกาหรือยุโรป
ในสมัยของนายเพนการเผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตยยังจำกัดอยู่ในยุโรปกับอเมริกาเป็นหลัก
สหรัฐฯ เริ่มเผยแพร่ประชาธิปไตยอย่างจริงจังเมื่อเข้าสู่ยุคสงครามเย็น พร้อมกับที่
American exceptionalism ได้พัฒนาตัวเองเป็นการส่งเสริมการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย
กลายเป็นรากเหตุผลหนึ่งที่ประกาศว่าประชาชนทุกคนทั่วโลก รัฐบาลทุกประเทศทั่วโลกจะต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
ให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ และสหรัฐฯ มีพันธกิจที่จะต้องทำหน้าที่นี้ให้สำเร็จ
ในปี
ค.ศ. 1961 ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี กล่าวว่าชาวอเมริกัน “แบกรับภาระกับความเสี่ยงที่ประเมินขนาดและระยะเวลาไม่ได้
[ในการรักษาและปลดปล่อยคนทั่วโลกให้มีเสรีภาพ] ไม่ใช่เพื่อพวกเราเองเท่านั้นแต่เพื่อคนทั้งหลายที่ปรารถนาเป็นไท”
ปัจจุบันการเผยแพร่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม
การปกครองแบบประชาธิปไตยมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบในหลายรูปแบบ สหรัฐฯ พยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบเดียวกับตน
และผลักดันให้ประเทศต่างๆ เป็นประชาธิปไตย
4. การเสริมสร้างกำลังทหาร การทำสงคราม การขยายขอบเขตอิทธิพล
การจะมีอิทธิพลต่อประเทศอื่นๆ จำต้องมีอำนาจทางทหารสนับสนุน การช่วยเหลือประเทศอื่น
ช่วยปลดปล่อยประเทศอื่นจากการถูกยึดครอง หรือการปกป้องประเทศจากการถูกรุกรานจำต้องมีกำลังรบที่เพียงพอ
รัฐบาลอเมริกันบางชุดตั้งงบกลาโหมไว้น้อยบางชุดตั้งไว้มากขึ้นกับปัจจัยแวดล้อมในขณะนั้น
รวมทั้งนโยบายของรัฐบาล มีหลักฐานชัดเจนว่าในสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) เพิ่มงบประมาณกลาโหมมหาศาล
เร่งเสริมสร้างกองทัพให้เข้มแข็งทั้งกำลังรบในรูปแบบ พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เช่น
โครงการผลิตเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์แบบ B-1 โครงการพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์รุ่น
MX ประกาศว่าประเทศอยู่ในภาวะอ่อนแอเกินไปจำต้องสร้างกองทัพให้เข้มแข็งโดยเชื่อมโยงกับแนวคิด
American Exceptionalism
ในทางการเมืองการอ้างสหรัฐฯ ที่แตกต่างพิเศษกว่าชนชาติอื่นๆ
มักเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกองทัพให้เข้มแข็งอยู่เสมอเพราะเป็นส่วนสนับสนุนซึ่งกันและกัน
ทุกวันนี้สหรัฐฯ ยังเป็นประเทศที่มีงบประมาณด้านกลาโหมสูงสุดในโลก มีพลังอำนาจการรบสูงที่สุด
เมื่อพูดถึงการทำสงคราม
ตลอดประวัติศาสตร์อเมริกามีการทำสงคราม ขยายดินแดนหลายครั้ง ในช่วงที่ประเทศในยุโรปกำลังออกล่าอาณานิคมทั่วโลก
(เนื่องจากยุโรปในสมัยนั้นปราศจากพื้นที่ไร้คนจับจอง การขยายดินแดนหากไม่ทำสงครามกับเพื่อนบ้านก็ต้องออกล่าอาณานิคมนอกยุโรป
และหลายประเทศกำลังแข่งขันแสวงหาอำนาจ)
ในขณะที่ชาวยุโรปที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในทวีปอเมริกาเหนือซึ่งกลายเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมาทำสงครามขับไล่ชนพื้นเมืองออกจากพื้นที่
คนเหล่านี้ที่เป็นบรรพบุรุษของอเมริกาในปัจจุบันขึ้นฝั่งทางด้านตะวันออกของทวีปอเมริกาแล้วเคลื่อนตัวยึดครองดินแดนเรื่อยมาทางตะวันตก
จนสุดท้ายมาติดฝั่งมหาสมุทรแปซิกฟิก และกลายเป็นประเทศสหรัฐฯ ในปัจจุบัน
นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่บางคนตีความว่านี่คือลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกาอันเป็นผลจาก
American exceptionalism
ต่อมาในช่วงปีค.ศ.
1898-99 สหรัฐฯ ได้ผนวกหมู่เกาะฮาวาย ยึดครองเปอร์โตริโก (Puerto Rico) กับฟิลิปปินส์หลังรบชนะสเปน เข้าครอบครองเกาะกวมและบางส่วนของเกาะโซมัวซึ่งปัจจุบันยังเป็นของสหรัฐฯ
เรียกว่าอเมริกันซามัว (American Samoa) และเข้าซื้อหมู่เกาะเวอร์จิน
(Virgin Islands) ในช่วงเวลาเพียง 18
เดือนอเมริกากลายเป็นมหาอาณาจักรในย่านแคริเบียนและแปซิฟิก
อย่างไรก็ตาม สงครามใหญ่ใช้งบประมาณทรัพยากรมหาศาลจึงส่งผลกระทบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 และสงครามเวียดนาม รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก การทำสงครามเต็มรูปแบบจึงไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้บ่อยครั้งตามต้องการ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดเรื่องอื่นๆ อีกมาก รัฐบาลอเมริกันในปัจจุบันจึงเน้นแนวทางอื่นๆ เช่น สนับสนุนให้เกิดปฏิวัติรัฐประหารเปลี่ยนแปลงการปกครอง เปลี่ยนผู้นำประเทศที่เป็นมิตรกับอเมริกา ใช้ soft power การขยายอิทธิพล ดึงให้ประเทศทั้งหลายต้องแสดงความเป็นมิตรกับอเมริกา
อย่างไรก็ตาม สงครามใหญ่ใช้งบประมาณทรัพยากรมหาศาลจึงส่งผลกระทบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 และสงครามเวียดนาม รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก การทำสงครามเต็มรูปแบบจึงไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้บ่อยครั้งตามต้องการ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดเรื่องอื่นๆ อีกมาก รัฐบาลอเมริกันในปัจจุบันจึงเน้นแนวทางอื่นๆ เช่น สนับสนุนให้เกิดปฏิวัติรัฐประหารเปลี่ยนแปลงการปกครอง เปลี่ยนผู้นำประเทศที่เป็นมิตรกับอเมริกา ใช้ soft power การขยายอิทธิพล ดึงให้ประเทศทั้งหลายต้องแสดงความเป็นมิตรกับอเมริกา
5.
แบ่งแยกศัตรูกับพันธมิตร
การประกาศทำสงครามครั้งใหญ่หรือการต่อต้านศัตรูตัวฉกาจมักจะมีพันธมิตรเข้ามาเกี่ยวข้อง
มีการแบ่งแยกฝักฝ่าย เช่น การทำสงครามกับฮิตเลอร์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองมีการแบ่งแยกเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรกับฝ่ายอักษะ
การต่อสู้กับสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น (Cold War) มีการแบ่งแยกว่าเป็นขั้วโลกเสรีกับขั้วสังคมนิยม
ประเทศอิสราเอลเป็นกรณีตัวอย่างความร่วมมือที่ยาวนาน
สองประเทศจับมือเป็นพันธมิตรตั้งแต่ทศวรรษ 1960
เมื่ออิสราเอลต้องเผชิญหน้าประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นชาติอาหรับ มีการรบกันหลายครั้ง
มีแรงกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง ทั้งสองประเทศต่างได้รับผลประโยชน์จากความร่วมมือดังกล่าว
สำหรับอเมริกาแล้วผลประโยชน์หนึ่งที่สำคัญคือมีเหตุเข้าไปมีบทบาทต่อภูมิภาคตะวันออกกลางกับแอฟริกาเหนือ
การทำสงครามต่อต้านลัทธิก่อการร้ายในสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ
ดับเบิ้ลยู. บุช เป็นตัวอย่างยุคปัจจุบันที่รัฐบาลอเมริกันใช้ American
exceptionalism เพื่อขยายอำนาจอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศ ในแง่มุมหนึ่งการต่อต้านลัทธิก่อการร้ายจำต้องได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลประเทศต่างๆ
เนื่องจากผู้ก่อการร้ายสามารถแฝงตัวอยู่ในทุกประเทศ
ในอีกมุมหนึ่งรัฐบาลบุชใช้โอกาสดังกล่าวในการแบ่งแยกมิตรกับศัตรู
ขยายอิทธิพลอเมริกาด้วยการประกาศว่า “ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝ่ายเราหรือผู้ก่อการร้าย
สหรัฐฯ จะถือว่ารัฐบาลของประเทศใดๆ
ที่ยังให้ที่พักพิงหรือสนับสนุนลัทธิก่อการร้ายเป็นศัตรู”
กรณีอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ จับมือกับอังกฤษส่งกองทัพนับแสนเข้าทำลายระบอบซัดดัม
ฮุสเซน (Saddam Hussein) แห่งประเทศอิรักในปี 2003 กรณีเมื่อไม่นานนี้สหรัฐฯ
อังกฤษและฝรั่งเศสพยายามหาทางโจมตีกองทัพของรัฐบาลอัสซาดแห่งซีเรีย เนื่องจากเชื่อว่าเป็นผู้ใช้อาวุธเคมีเมื่อวันที่
21 สิงหาคม 2013
จะเห็นได้ว่าข้อมูลจากแหล่งวิชาการจำนวนมากต่างบ่งชี้ว่าศาสนากับการสถาปนาประเทศในยุคแรกๆ
คือสิ่งที่คู่กับ American exceptionalism และตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมามักเกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงทางทหารและการเผยแพร่ประชาธิปไตย
การใช้ประโยชน์จาก American exceptionalism
การใช้ประโยชน์จาก American exceptionalism
การใช้ประโยชน์มีหลายด้านขึ้นกับบริบท
เป้าหมายในแต่ละยุคสมัยดังนี้
1.
การสร้างอัตลักษณ์และการประกาศเอกราช
ชาวยุโรปที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาบุกเบิกตั้งถิ่นอาศัยใหม่ในทวีปอเมริกาคือผู้ที่ประสงค์จะตั้งรกรากบนพื้นที่ใหม่
หลีกพ้นจากถิ่นฐานเก่า วัฒนธรรมค่านิยมเดิม เมื่อมาถึงจำต้องสร้างคุณค่าแห่งการดำรงอยู่
คุณค่าแห่งการสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นใหม่ หนึ่งในวิธีที่ทรงพลังคือการเชื่อมโยงกับศาสนาว่าถิ่นที่อยู่ใหม่นั้นเป็นที่ๆ
ได้การอวยพรเป็นพิเศษจากพระเจ้าและบางคนเชื่อเช่นนั้นจริงๆ ดังที่นายจอห์น วินธรอปกล่าวถึงการสร้างเมืองที่โดดเด่นโดยอ้างอิงศาสนา
ในเวลาต่อมาการให้คุณค่ากับความเป็นเสรีชนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการประกาศเอกราชจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ
เพราะคือจุดเริ่มต้นปลุกใจประชาชนให้ร่วมมือร่วมใจเห็นด้วยกับการแยกตัวเป็นอิสระสถาปนาประเทศอเมริกาในที่สุด
การอธิบายตามแนวทางดังกล่าวข้างต้นชี้ว่าสำหรับคนอเมริกันแล้ว
American exceptionalism สร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศมหาศาล
เป็นรากฐานของการสร้างประเทศสร้างสังคมที่น่าภาคภูมิใจ เช่นเดียวกับนานาประเทศที่จะต้องมีประวัติศาสตร์การสร้างชาติอันน่าภาคภูมิน่าจำจด
ทุกวันนี้ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับศาสนาดังเช่นคนในยุคก่อน
แต่ยังคงยึดมั่นใน American exceptionalism
ด้วยเหตุผลที่ว่าลัทธิดังกล่าวสนับสนุนความเป็นเสรีชน
คอยตอกย้ำว่าเป็นชนชาติที่พิเศษแตกต่างอันเป็นรากฐานแนวคิดแห่งความภาคภูมิใจ
ความเชื่อมั่นของชาวอเมริกัน
2.
การต่อสู้ทางการเมือง การขยายและรักษาอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศ
ในช่วงสงครามเย็นช่วงแห่งการต่อสู้อย่างเข้มข้นระหว่างสองขั้วมหาอำนาจ
พวกอนุรักษ์นิยมใหม่ (neoconservatives) ในสหรัฐฯ อาศัย American
exceptionalism ประกาศว่าประเทศอเมริกาเป็นประเทศที่มีศีลธรรมสูงกว่า
(ตรงข้ามกับลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ปฏิเสธศาสนา)
และเห็นว่าตนเองมีพันธกิจระดับโลกที่จะต้องต่อสู้ช่วยเหลือโลกให้พ้นภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์
ในสมัยนั้นสหรัฐฯ
ได้ดำเนินนโยบายหลายอย่างเพื่อส่งเสริมลัทธิประชาธิปไตยด้วยหลากหลายวิธี
ทั้งการโฆษณาชวนเชื่อ ใช้องค์กรช่วยเหลือทางสังคมเป็นเครื่องมือ เฉพาะระหว่างปี
1955-1961 รัฐบาลอเมริกันใช้งบประมาณกว่า 1
พันล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและการทหารแก่เวียดนามใต้ ครู
ข้าราชการพลเรือน
ตำรวจอเมริกันที่ส่งไปช่วยเหลือต่างสอน/ดำเนินในแนวทางของอเมริกันทั้งสิ้น แม้กระทั่งช่วยร่างรัฐธรรมนูญตามแบบตะวันตก
การต่อต้านลัทธิใดๆ
ที่ขัดขวางต่อสู้ระบอบประชาธิปไตยและการแผ่ขยายลัทธิประชาธิปไตยทั่วโลกในปัจจุบันยังดำเนินต่อเนื่อง
เป็นความใฝ่ฝันที่ว่าทั่วทั้งโลกจะต้องเป็นประชาธิปไตยทั้งหมด นโยบายส่งเสริมประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางให้เป็นประชาธิปไตยเป็นตัวอย่างหนึ่ง
นายริชาร์ด ฮาซซ์ (Richard Haass)
เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวในปี 2002 ว่าเป็นเวลานานหลายทศวรรษแล้วที่สหรัฐฯ
ดำเนินนโยบายส่งเสริมให้โลกมุสลิมเป็นประชาธิปไตย
ดังเช่นที่ทำกับภูมิภาคอื่นประเทศอื่นๆ ลักษณะเช่นนี้ยังสามารถเห็นเด่นชัดในปัจจุบันที่รัฐบาลอเมริกันสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย
สนับสนุนรัฐบาลในภูมิภาคตะวันออกกลางที่เป็นประชาธิปไตย
ถือเกณฑ์ความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเป็นเงื่อนไขรับการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจการเมืองจากอเมริกา
ประธานาธิบดีจอร์จ
ดับเบิ้ลยู. บุช (George W. Bush) กล่าวสุนทรพจน์ในงานองค์กรส่งเสริมประชาธิปไตยแห่งชาติ
(National Endowment for Democracy) “เราเชื่อว่าเสรีภาพที่เราให้ความสำคัญไม่ได้มีเพื่อพวกเรา
(ชาวอเมริกัน) เท่านั้นแต่เป็นสิทธิและมีเพื่อมนุษยชาติ”
ประธานาธิบดีบารัก โอบามากล่าวถึงนโยบายนี้เช่นกันว่า
“เพราะชนชาติทั้งหลายสมควรที่จะเดินอยู่บนวิถีประชาธิปไตย
ไม่ว่าจะเป็นประเทศในยุโรปหรือเอเชีย แอฟริกาหรืออเมริกา
เพื่อจะมีความมั่งคั่งมากขึ้น มีสันติภาพมากขึ้น
และสามารถเพิ่มการลงทุนเพื่อความมั่นคงร่วมกัน เพื่อผลประโยชน์ของมนุษยชาติร่วมกัน
และข้าพเจ้าเชื่อว่าเจตจำนงนี้จะกลายเป็นจริงในโลกอาหรับ”
มีตัวอย่างอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุชปราศรัยในช่วงหาเสียงปี 2000 ว่านโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ นั้นควร “ถ่อมตนแต่เข้มแข็ง” ไม่มีประเทศใดต้องกังวลหากสหรัฐฯ ดำเนินตามทิศทางนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะมีความแตกต่างระหว่างอำนาจกับสิทธิอำนาจ อำนาจคือความสามารถในการใช้กำลังและการคว่ำบาตร ส่วนสิทธิอำนาจคือความสามารถในการนำ แต่หากสหรัฐฯ ไม่ดำเนินการตามทิศทางดังกล่าวอเมริกาจะสูญเสียความพิเศษแตกต่างและกลายเป็นนักเลงโตข้างถนน
มีตัวอย่างอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุชปราศรัยในช่วงหาเสียงปี 2000 ว่านโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ นั้นควร “ถ่อมตนแต่เข้มแข็ง” ไม่มีประเทศใดต้องกังวลหากสหรัฐฯ ดำเนินตามทิศทางนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะมีความแตกต่างระหว่างอำนาจกับสิทธิอำนาจ อำนาจคือความสามารถในการใช้กำลังและการคว่ำบาตร ส่วนสิทธิอำนาจคือความสามารถในการนำ แต่หากสหรัฐฯ ไม่ดำเนินการตามทิศทางดังกล่าวอเมริกาจะสูญเสียความพิเศษแตกต่างและกลายเป็นนักเลงโตข้างถนน
ประธานาธิบดีบุช กล่าวในปี 2002 ว่า
“เวลาพูดเรื่องความถูกผิดบางคนอาจกังวลการพูดที่ไม่เข้ากับหลักการทูตหรือไม่สุภาพ
ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย [กับความกังวลเหล่านั้น] สถานการณ์ที่ต่างกันจำต้องใช้วิธีการที่แตกต่างแต่หลักศีลธรรมไม่เปลี่ยนแปลง
ความจริงในหลักศาสนาไม่เปลี่ยนแปลงตามวัฒนธรรม กาลเวลาหรือสถานที่
การมุ่งเป้าสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นความผิดเสมอไม่ว่าเกิดขึ้นที่ใด
การกระทำทารุณต่อสุภาพสตรีนั้นผิดเสมอไม่ว่าเกิดขึ้นเมื่อใดเวลาใด
ไม่มีความเป็นกลางระหว่างความยุติธรรมกับความโหดร้าย
ระหว่างความบริสุทธิ์กับการกระทำผิด และอเมริกาจะเรียกความชั่วร้ายตามชื่อของมัน
เราไม่ได้สร้างปัญหา เราเพียงเปิดโปงปัญหาด้วยการเผชิญหน้ากับความชั่วร้าย ระบอบที่ไม่ยึดถือหลักนิติธรรม
และเราจะนำโลกต่อต้านความชั่วร้ายนี้”
อเมริกาจึงต้องต่อสู้กับการปกครองที่ชั่วร้ายทั่วโลกเพื่อรักษาความดีให้คงอยู่นิรันดร์
3.
การทำสงคราม การขยายดินแดน
สังคมที่ยึดมั่นในความคิดเห็นเสรีของประชาชน
การจะประกาศทำสงครามเต็มตัวจำต้องขับเคลื่อนให้ประชาชนเห็นร่วม
บางครั้งผู้นำประเทศ นักการเมืองอาศัย American exceptionalism เพื่อ ดึงประชาชนให้มีส่วนร่วม
สร้างความฮึกเหิมและเป็นความชอบธรรมที่สหรัฐฯ จะเข้าทำสงครามกับต่างชาติ
สงครามเวียดนามกับสงครามอิรักเป็นกรณีตัวอย่างว่ารัฐบาลต้องยกเหตุผลทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงหรือด้านความชอบธรรมตามหลักศาสนา
ด้วยหลักเหตุผลซ้ำเดิมแม้จะไม่พูดด้วยประโยคเดิมๆ การทำสงครามกับอิรักจะยกเปรียบเทียบประธานาธิบดีซัดดัม
ฮุสเซน (Saddam Hussein) แห่งอิรักว่าไม่แตกต่างจากฮิตเลอร์
พวกอนุรักษ์นิยมใหม่บางครั้งถึงกับเรียกกองทัพประเทศว่าเป็น ‘กองทัพของพระเจ้า’ ด้วยเหตุฉะนี้จึงมีความชอบธรรมในการจัดการกับรัฐบาลประเทศต่างๆ
และแตกต่างจากลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism)
ที่มักรุกรานประเทศอื่นชนชาติอื่นให้มาอยู่ใต้บังคับของตน
ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช กล่าวว่า “อเมริกาไม่เคยเป็นจักรวรรดิ
เราเป็นเพียงชาติมหาอำนาจที่มีประวัติศาสตร์ว่ามีโอกาส [ที่จะเป็นจักรวรรดิ]
แต่เราปฏิเสธ” ในขณะที่นายเม็กซ์ บูท (Max Boot) เห็นว่าสหรัฐฯ ไม่ต้องอายที่จะเป็นจักรวรรดินิยมหากเป็นจักรวรรดิที่ทำลายล้างความชั่ว
พร้อมกับอธิบายว่าด้วยความที่สหรัฐฯ เป็นกองทัพคุณธรรม ในอดีตที่ผ่านมาจึงได้ต่อสู้กับสิ่งชั่วร้ายอย่างลัทธิคอมมิวนิสต์
ลัทธินาซี หรือสิ่งที่ชั่วร้ายรองลงมาอย่างพวกตอลีบัน (Taliban) ผู้สนับสนุนลัทธิก่อการร้าย ชาวเซอร์เบีย (Serbian) ที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนชาติอื่นอย่างเหี้ยมโหด
นักวิเคราะห์ที่เชื่อว่ามีจักรวรรดินิยมอเมริกาอธิบายเหตุผลที่มาของลักษณะจักรวรรดินิยมอเมริกากับความแตกต่างจากจักรวรรดินิยมอังกฤษว่า
สหรัฐฯ ในทวีปอเมริกาเหนือมีอาณาเขตกว้างใหญ่มหาศาล ยังมีที่ดินทรัพยากรรองรับประชากรได้อีกมาก
ต่างจากอังกฤษที่มีพื้นที่จำกัด เผชิญแรงกดดันจากการทำสงคราม
การแข่งขันกับเพื่อนบ้านหลายประเทศ
ด้วยแรงกดดันเหล่านี้ผลักดันให้อังกฤษจำต้องมีอาณานิคม
เมื่อมาถึงยุคสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกากลายเป็นชาติอภิมหาอำนาจ
มีอำนาจครอบงำเศรษฐกิจโลก ปราศจากคู่แข่งทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงสามารถตักตวงผลประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกได้มากเพียงพอโดยไม่ต้องเข้ายึดครองอาณานิคมแต่อย่างไร
ในอีกด้านหนึ่ง นักวิเคราะห์ที่เชื่อมั่นว่ามีจักรวรรดิอเมริกาชี้ว่าสังคมอเมริกาพยายามหลงลืมประวัติศาสตร์ส่วนนี้
และที่น่าทึ่งคือชาวอเมริกันจำนวนมากเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าไม่มีจักรวรรดิดังกล่าวแต่อย่างไร
ลักษณะดังกล่าวกลายเป็นความแตกต่างพิเศษอีกประการของอเมริกา
รวมความแล้ว ทุกวันนี้ยังมีการใช้ประโยชน์จาก American
exceptionalism ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างประเทศหรือเพื่อการทำสงคราม
แต่มักอยู่ในลักษณะเป็นแนวคิดแฝง
ดังจะเห็นว่าทุกรัฐบาลจะประกาศนโยบายเรื่องการส่งเสริมเสรีภาพ การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย
ปกป้องอธิปไตยความมั่นคงต่างๆ โดยไม่ได้เอ่ยถึง American exceptionalism โดยตรงอย่างพร่ำเพรื่อ แต่แนวคิดนี้คือรากฐานและแฝงตัวอยู่ในนโยบายหลักเหล่านั้น
ผู้นำประเทศหรือสังคมจะกล่าวถึงแนวคิดนี้อย่างตรงไปตรงมาในยามที่เผชิญภัยคุกคามร้ายแรง
เป็นภาวะที่รัฐบาลต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาด
ต้องการการสนับสนุนจากประชาชนอย่างสุดกำลัง หรือในมุมกลับกันเป็นภาวะที่แนวคิด American
exceptionalism
ส่งผลผลักดันให้รัฐบาลต้องจัดการอย่างจริงจังหลังจากที่ลังเลใจเรื่อยมา
หลายคนอาจต่อต้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ
แต่ต้องยอมรับว่าอเมริกาได้ฟันฝ่าอุปสรรคมาแล้วมากมาย ผ่านสงครามใหญ่หลายครั้ง
แต่จนทุกวันนี้ยังสามารถรักษาอธิปไตย
เป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่ประวัติศาสตร์โลกต้องจารึก
มกราคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน รัฐสภาสาร ปีที่ 62 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม พ.ศ. 2557, http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/download/article/article_20140127150327.pdf)
---------------------------
American exceptionalism กับนโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (3)