การเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐไต้หวันกับจีน อีกก้าวของการรวมชาติ
เป็นเวลา 65 ปีหลังจากที่ฝ่ายเจียง ไคเช็ค
พ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองต่อสู้กับพวกคอมมิวนิสต์จีน
และได้ถอนร่นมาปักหลักที่ไต้หวัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีนกับไต้หวันได้ร่วมกันประชุมอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก
การประชุมครั้งนี้มี นายจาง จื้อจวิน (Zhang Zhijun) หัวหน้าทีมฝ่ายจีนได้ประชุมกับนายหวัง
อวี้ฉือ (Wang Yu-chi) ประธานฝ่ายไต้หวัน
ประการแรก
เปิดช่องทางการเสื่อสารระหว่าง 2 ฝ่าย
ตัวแทนจาก
2 ฝ่ายได้ตกลงเปิดช่องทางการเสื่อสารระหว่างกัน ทำให้เจ้าหน้าที่ 2 ฝ่ายสามารถติดต่อกันโดยตรงง่ายขึ้น
ตัวแทนฝ่ายไต้หวันพูดว่า “สามารถใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อพูดคุยกันได้เลย”
ไม่จำต้องมีสายด่วนพิเศษแต่อย่างไร ความสำเร็จของช่องทางการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ
2 ฝ่าย ในมุมหนึ่งอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในอีกมุมคือมาบัดนี้ เจ้าหน้าที่รัฐ
2 ฝ่ายสามารถติดต่อกันและกันได้ทันที
ประการที่สอง
ไต้หวันแสดงท่าทีต้องการเข้าร่วม TPP RCEP
นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า เรื่องสำคัญที่ไต้หวันต้องการคือ การได้สิทธิ์เข้าร่วม
Trans-Pacific Partnership (TPP) กับ Regional
Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ที่กำลังประชุมอยู่ในขณะนี้
ส่วนจีนต้องการให้ข้อตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Economic Cooperation
Framework Agreement) ระหว่างจีนกับไต้หวันดำเนินต่อจนเสร็จสมบูรณ์
และต้องการเห็นว่าไต้หวันยังยึดติดกับนโยบายจีนเดียวก่อนที่จะยอมให้ไต้หวันไปเจรจาเข้ากลุ่มความร่วมมือการค้าอื่นๆ
การแสดงท่าทีของเจ้าหน้าที่ไต้หวันดังกล่าวน่าจะเป็นเพียงการหยั่งเชิง
ดูปฏิกิริยาของฝ่ายจีน เนื่องจากข้อเรียกร้องของไต้หวันคือต้องการมีส่วนร่วมในองค์กรระหว่างประเทศ
กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่าง RCEP ซึ่งจำต้องได้รับความเป็นชอบจากรัฐบาลจีน
นอกจากนี้ การพบปะครั้งนี้เป็นเพียงครั้งแรกของระดับเจ้าหน้าที่ ความสัมพันธ์ทั้ง
2 ฝ่ายจำต้องพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ
ประการที่สาม เรื่องการดูแลสุขภาพนักเรียนนักศึกษา
ประเด็นหนึ่งที่พูดคุยคือการอนุญาตให้นักศึกษาชาวจีนในไต้หวันได้รับบริการตามระบบประกันสุขภาพของไต้หวัน
เช่นเดียวกับนักเรียนไต้หวันที่จะได้รับบริการตามระบบประกันสุขภาพของประเทศจีน แต่การประชุมไม่มีข้อสรุปเรื่องนี้
ผลลัพธ์ทั้ง 3 ข้อรวมทั้งประเด็นอื่นๆ เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน
เป็นไปตามที่ตัวแทนทั้ง 2 ฝ่ายได้เอ่ยปากก่อนแล้วว่าการพบปะรอบนี้จะไม่มีการลงนามในเอกสารใดๆ
ทั้งสิ้น เนื่องจากเป็นการประชุมครั้งแรก และทุกอย่างก็เป็นไปตามคำกล่าว
ทั้งนี้เนื่องจากผลการประชุมเจรจาหลายอย่างน่าจะเป็นผลลัพธ์ที่ได้ตกลงล่วงหน้าแล้ว
ผลลัพธ์หลายอย่างที่ปรากฏจึงเป็นเรื่องของพิธีการ
การแสดงออกให้สาธารณชนเห็นอย่างเป็นทางการ
ประการที่สี่
ทางการจีนปฏิเสธการพบปะระหว่างผู้นำประเทศทั้ง 2 ฝ่าย
ก่อนการประชุมเจ้าหน้าที่จีนกล่าวว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นการปูทางสำหรับกลไกการสื่อสารระหว่างกัน
รวมทั้งการพบปะระหว่างประธานาธิบดีของทั้ง 2 ฝ่าย
นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่าเมื่อปีที่แล้ว
หัวหน้าตัวแทนฝ่ายจีนกับไต้หวันได้พบปะเป็นการส่วนตัวในเวทีการประชุมเอเปก ที่บาหลี
อินโดนีเซีย ในปีนี้จีนจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุม
(จะจัดงานประชุมสุดยอดประจำปีในเดือนตุลาคม) จึงมีเสียงจากฝ่ายไต้หวันที่เห็นว่าเป็นโอกาสที่ประธานาธิบดีของทั้งสอง
2 ฝ่ายจะได้พบปะพูดคุย ซึ่งฝ่ายจีนยังลังเลใจ
เพราะการพบปะจะเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ว่ารัฐบาลจีนยอมรับรัฐบาลไต้หวัน
อุปสรรคการพบปะระหว่างผู้นำ
2 ฝ่ายคือ จะพบปะในฐานะใด เป็นการยอมรับอธิปไตยของไต้หวันหรือไม่
เนื่องจากฝ่ายจีนยังไม่ยอมรับอธิปไตยของไต้หวัน ดังนั้น
การพบปะจึงต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว
แต่ฝ่ายไต้หวันคงอยากให้พบปะในฐานะระหว่าง 2 “ประธานาธิบดี”
ในอีกมุมหนึ่ง
วันที่ 2 ประธานาธิบดีพบปะอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ตาม
คงเป็นวันที่ความสัมพันธ์ของ 2 ฝ่ายได้พัฒนาอย่างแนบแน่นมากแล้ว
และน่าจะเป็นการพบปะเพื่อเจรจาเรื่องสำคัญ เป็นวันประวัติศาสตร์
เพราะประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาพูดนั้นต้องเป็นเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องอธิปไตยของไต้หวัน
สิ่งใดที่ฝ่ายหนึ่งต้องการ
อีกฝ่ายย่อมต้องเรียกร้องกลับด้วยผลประโยชน์ระดับเท่ากันหรือใกล้เคียง
เรื่องไม่จบลงเท่านี้
เพราะประเด็นไต้หวันไม่ใช่เรื่องระหว่างรัฐบาลจีนกับไต้หวันหรือชาวไต้หวันเท่านั้น
ยังต้องมองในมุมกว้างกว่านี้ โดยเฉพาะผลประโยชน์ของสหรัฐที่คอยดูแลเรื่องความมั่นคงให้กับไต้หวันมาตลอด
ต้องมองยุทธศาสตร์ภาพกว้างในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ดังนั้น
บริบทอันสุกงอมที่จะเอื้อให้ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายได้มาพบปะกันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำตามความต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
มีความเป็นไปได้ว่าประธานาธิบดีหม่า
อิงจิ่ว ซึ่งสนับสนุนนโยบายรวมชาติ อาจต้องการพบปะกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เพียงเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ว่าตนคือผู้นำไต้หวันคนแรกที่ได้พบปะผู้นำจีน
และช่วยปูทางสู่การรวมชาติในอนาคต แต่ผลสรุปคือ ทางการจีนปฏิเสธการพบปะดังกล่าวในการประชุมเอเปกปีนี้
นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่ามาจากเหตุผลพื้นฐานว่าจีนยังไม่ยอมรับอธิปไตยของไต้หวัน
จึงไม่อาจพบกันในเวทีการประชุมระหว่างประเทศ มีข้อสังเกตว่าตลอดเวลาของการหารือ
ฝ่ายจีนจะเรียกประธานาธิบดีหม่าว่า “นายหม่า” (Mister Ma)
หรือ “ผู้นำหม่า” (Leader Ma)
การประชุมเอเปกปีนี้
ประธานาธิบดีหม่าอาจไม่ไปร่วมงาน คงส่งตัวแทนไปเท่านั้น
การเยือน “ระดับเจ้าหน้าที่รัฐ”
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ :
เมื่อพวกชาตินิยมพ่ายแพ้ได้พากลุ่มผู้สนับสนุนราว
2 ล้านคนอพยพย้ายมาอยู่ที่เกาะไต้หวัน และจัดตั้งรัฐบาลของตนเอง ในทศวรรษ 1990 รัฐบาล
2 ฝ่ายเริ่มการติดต่อซึ่งกันและกัน
ในอดีตที่ผ่านมา
รัฐบาลปักกิ่งไม่ยอมเจรจากับรัฐบาลไทเป เนื่องจากรัฐบาลปักกิ่งไม่ยอมรับรัฐบาลไทเปว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรม
มองว่าเป็นพวกกบฏที่หนีออกไปตั้งมั่นที่เกาะไต้หวันซึ่งจีนถือว่าเป็นมณฑลหนึ่งของจีนมาโดยตลอด
มีนโยบายห้ามไต้หวันประกาศว่าเป็นรัฐอธิปไตย
ตลอดเวลาที่ผ่านมา 2 ฝ่ายจะพูดคุยผ่านบุคคลที่ไม่นับว่าข้าราชการหรือคนของทางการเต็มตัว
แต่ด้วยการติดต่อสัมพันธ์ ทั้ง 2
ฝ่ายได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ดังนั้นจะว่าไปแล้ว
หากจะใช้ช่องทางเดิมดำเนินต่อไปก็ย่อมทำได้ แต่ครั้งนี้เกิดปรากฎการณ์ใหม่ที่สำคัญยิ่ง
นั่นคือเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการ “ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ “ของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งมีค่าเท่ากับรัฐบาลปักกิ่งยอมรับรัฐบาลไทเปในระดับหนึ่ง
แม้ว่าสื่อ Xinhua กับสื่ออื่นๆ ของจีน
จะเรียกนายหวัง อวี้ฉือ เจ้าหน้าที่รัฐ ตัวแทนฝ่ายไต้หวันว่าเป็น “ประธานคณะกรรมการกิจการจีนแผ่นดินใหญ่ของฝ่ายไต้หวัน”
(head of the Mainland Affairs Council on the Taiwan side) การเรียกเช่นนี้ชี้ว่ารัฐบาลจีนยังไม่ได้ยอมรับอธิปไตยของไต้หวัน
ซึ่งมีชื่อประเทศอย่างเป็นทางการว่าสาธารณรัฐจีน (Republic of China)
อย่างไรก็ตาม
การยอมรับฐานะ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ไต้หวัน นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่รัฐบาลจีนเริ่มแสดงท่าทีบางอย่างที่
“ยอมรับ” รัฐบาลไทเปมากขึ้น และเมื่อมีการพบปะอย่างเป็นทางการครั้งแรกย่อมน่าจะมีในครั้งต่อๆ
ไป กลายเป็นการติดต่อระหว่าง “ฝ่ายราชการ” กับ “ฝ่ายราชการ”
ดังนั้น การเจรจาหารือรอบนี้ แม้ไม่ได้ประสบผลสำเร็จที่เป็นชิ้นเป็นอันมากนัก
แต่ในเชิงสัญลักษณ์ชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่ายได้ก้าวหน้าไปอีกขั้นแล้ว
วิเคราะห์องค์รวม : 2
ฝ่ายเห็นว่าปากท้องเรื่องสำคัญ
หลังการปฏิวัติสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
และจีนได้เปลี่ยนผู้นำประเทศจากประธานเหมา เจ๋อตง เป็นประธานเติ้ง เสี่ยวผิง จีนก็เริ่มดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ เริ่มใช้กลไกตลาด เปิดเศรษฐกิจบางส่วนให้เชื่อมต่อกับตลาดโลก
หลังจากที่ปิดประเทศไม่ติดต่อค้าขายกับประเทศที่ไม่ใช่สังคมนิยม
เนื่องจากเริ่มตระหนักแล้วว่าประชาชนให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องไม่แพ้เรื่องการเมืองการปกครอง
เช่นเดียวกับรัฐบาลไต้หวัน
หลังจากที่มัวครุ่นคิดเรื่องการยกกองทัพข้ามช่องแคบไต้หวันเพื่อกลับไปกอบกู้เอาดินแดนมาตุภูมิคืนจากพรรคคอมมิวนิสต์อยู่นานหลายปี
ก็เริ่มตระหนักว่าชาวไต้หวันให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี
ไม่น้อยกว่าเรื่องการเมืองการปกครอง
ด้วยความที่
2 ฝ่ายเห็นพ้องต้องกันเช่นนี้
และด้วยแรงผลักดันของนักธุรกิจหัวใสที่เห็นช่องทางทำธุรกิจ ที่สุดแล้ว 2
ฝ่ายก็หันเข้าหากันด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อปากท้องของประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย เก็บเรื่องความขัดแย้งในยุคที่ความเห็นต่างทางอุดมการณ์การเมืองเป็นความขัดแย้งรุนแรง
ให้เป็นเพียงประวัติศาสตร์ ที่รุ่นหลานรุ่นเหลนจะได้ศึกษาต่อไป
เป็นเวลา
65 ปีแล้วนับจากฝ่ายชาตินิยมถอยร่นมาปักหลักที่เกาะไต้หวัน ณ วันนี้
ผลจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ยังเป็นมรดกตกทอดจนถึงคนรุ่นปัจจุบัน เรื่องความแตกต่างทางการเมืองการปกครองยังเป็นประเด็นที่ต้องถกกันต่อไป
ทางออกที่ดีอาจเป็นการปล่อยให้คนรุ่นหลานรุ่นเหลนในอนาคตเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย
เมื่อถึงเวลานั้นการตัดสินใจอาจเป็นเรื่องง่าย เพราะอยู่ภายใต้บริบทที่เอื้ออำนวย
คนไต้หวันกับคนจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ใช่ใครอื่นไกล ตามหลักรัฐชาติ (Nation-state) สมัยใหม่ถือว่าคนชาติ (nation) เดียวกัน
การรวมตัวแล้วแยกออก การแยกออกแล้วรวมตัวกันใหม่
เป็นเรื่องปกติของความเป็นไปในโลกนี้
ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการเมืองการปกครอง
คือ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ที่ผู้คนทั้ง 2 ฝ่ายจำนวนนับสิบนับร้อยล้านคน
“กำลังดิ้นรนทุกวัน” เพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ
ทำอย่างไรจึงจะได้ชีวิตความเป็นอยู่อย่างอารยชน นี่ควรเป็นงานหลักของผู้ปกครองจีน
ไม่ว่าจะจีนไต้หวัน จีนแผ่นดินใหญ่ หรือจีนใดๆ ก็ตาม
16 กุมภาพันธ์ 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6312 วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557)
-----------------
บรรณานุกรม:
1. (Cross-Strait affairs chiefs hold first formal meeting.
(2014, February 11). People’s Daily/Xinhua. Retrieved from http://english.peopledaily.com.cn/90785/8533026.html)
(Pu Zhendong and Zhao Shengnan. (2014, February 11). Meeting
heralds 'new model' for cross-Straits talk. Retrieved from
http://www.chinadaily.com.cn/china/2014-02/11/content_17276099.htm)
(China, Taiwan hold first direct talks since 1949 split.
(2014, February 11). The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/world/china-taiwan-hold-first-direct-talks-since-1949-split/2014/02/11/beea8a92-92f3-11e3-b3f7-f5107432ca45_story.html)
(EDITORIAL:
Wang-Zhang: What lies beneath? (2014, February 13). Taipei Times.
Retrieved from
http://www.taipeitimes.com/News/editorials/archives/2014/02/13/2003583371)
(Taiwan's mainland affairs chief pays Sun Yat-sen tribute.
(2014, February 12). Xinhua. Retrieved from
http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-02/12/c_133109252.htm)
(Wang-Zhang meeting gets on the way in Nanjing. (2014,
February 11). Taiwan News. Retrieved from http://www.taiwannews.com.tw/etn/news_content.php?id=2410296)
(DPP ex-leader cautions about direct China contacts. (2014,
February 14). Taiwan News. Retrieved from
http://www.taiwannews.com.tw/etn/news_content.php?id=2413416)
(Beijing rejects Ma-Xi meeting at APEC. (2014, February 15).
Central News Agency. Retrieved from
http://www.taipeitimes.com/News/front/archives/2014/02/15/2003583541)
(Wang-Zhang meeting gets on the way in Nanjing. (2014,
February 11). Taiwan News. Retrieved from http://www.taiwannews.com.tw/etn/news_content.php?id=2410296)
(Talk of the Day -- Interpreting Wang's historic visit.
(2014, February 13). Central News Agency. Retrieved from
http://www.taiwannews.com.tw/etn/news_content.php?id=2412555)
(Shirk, Susan L. (2007). China: Fragile Superpower: How
China's Internal Politics Could Derail 8Its Peaceful Rise. New York: Oxford
University Press.)
----------------------