อาเบะเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิ มุมมองของฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้าน
เกือบ 2 เดือนเต็มหลังจากที่นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิ
(Yasukuni Shrine) เมื่อปลายปีที่แล้ว กลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศกับหลายประเทศอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะทางการจีน เกาหลีใต้และเกาหลีเหนือที่ออกมาประท้วง เกิดการตอบโต้ไปมา
และลุกลามไปสู่ประเด็นความขัดแย้งอื่นๆ
ความขัดแย้งอันเนื่องจากศาลเจ้ายาสุกุนิไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยเกิดขึ้นซ้ำหลายรอบแล้ว
แต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจและยังเป็นประเด็นร้อนในปัจจุบัน การจะเข้าใจดังกล่าวจำต้องเอ่ยถึงเรื่องราวของศาลเจ้าก่อนดังนี้
ความหมายโดยนัยของศาลเจ้ายาสุกุนิ :
ศาลเจ้ายาสุกุนิเป็นศาลเจ้าของลัทธิชินโต
(Shinto) สร้างขึ้นเมื่อค.ศ.1869
ตามพระราชดำริของสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิให้เป็นสถานที่สถิตดวงวิญญาณของวีรชน เป็นที่เก็บอัฐิ
ตั้งอยู่ใจกลางกรุงโตเกียว เพื่อให้ชาวญี่ปุ่นได้สักการะทหารหาญผู้พลีชีพ
ปัจจุบันมีรายชื่อถึง 2.47 ล้านคน ในจำนวนนี้ราว 2 ล้านคนเป็นผู้เสียชีวิตจากช่วงปี
1931-1945 หรือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ตามความเชื่อของลัทธิชินโต
วีรชนเหล่านี้จะได้รับการสักการะในฐานะ “เจ้า”
ผู้ปกปักษ์รักษาและอำนวยพรแก่คนรุ่นหลัง
ในอีกด้านหนึ่ง
ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นศูนย์รวมสัญลักษณ์ยุคลัทธิจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น ลัทธิทหารนิยม
ประวัติศาสตร์สงคราม หลายเรื่องราวที่ยังเป็นข้อถกเถียงระหว่างประเทศ
ประเด็นปมขัดแย้งหลักอยู่ตรงที่การเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิ มีค่าเท่ากับให้ความเคารพต่อทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่
2 รวมทั้งบุคคลสำคัญ 14 คนที่ถือว่าเป็นอาชญากรสงครามระดับ A
(Class A) หลายคนเกี่ยวข้องกับการทำลายล้างนานกิง
(ช่วงเดือนธันวาคม 1937-กุมภาพันธ์ 1938) ที่กองทัพญี่ปุ่นละเมิดกฎหมายสงคราม (Law
of War) และสนธิสัญญาอื่นๆ ที่ญี่ปุ่นได้ลงนาม ใจความหลักคือ การทำสงครามรุกราน
(Aggressive War) เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แห่งชาตินั้นเป็นความผิด
มีบทลงโทษต่อบุคคลผู้กระทำการในนามของรัฐ ซึ่งใช้สงครามรุกรานชาติอื่นเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบาย
เพื่อตอบสนองผลประโยชน์แห่งชาติ
เฉพาะกรณีการทำลายล้างนานกิง
มีคำพิพากษาว่าบุคคลสำคัญระดับผู้นำ รวมทั้งนายฮิเดกิ โตโจ (Hideki
Tojo) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในสมัยนั้น
ได้สมรู้ร่วมคิดและรู้เห็นการละเมิดกฎหมายสงครามในช่วง 6
สัปดาห์แรกของการยึดครองนานกิง ทหารญี่ปุ่นได้สังหารเชลยศึกและพลเมืองไม่ต่ำกว่า 2
แสนคน และข่มขืนสตรีมากกว่า 2 หมื่นราย
แต่นับจากปี
1978 เป็นต้นมา ทั้ง 14 คนได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘เจ้า’ ของลัทธิชินโต ซึ่งผูกโยงกับการบูชาจักรพรรดิ ส่งเสริมให้ประชาชนจงรักภักดีต่อรัฐบาลและสนับสนุนการทำสงคราม
นอกจากการเป็นศูนย์รวมสัญลักษณ์ยุคลัทธิจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น ศาลเจ้ายาสุกุนิยังมีเป้าหมายให้คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่ไม่ผ่านประสบการณ์สงคราม และไม่มีคนในครอบครัวที่เสียชีวิตจากสงครามได้เรียนรู้ซึมซับเรื่องราวในอดีต ซึ่งได้ผลพอสมควร กิจกรรมในหลายเทศกาลได้ดึงดูดผู้เข้าสักการะครั้งละนับแสนคน เช่น ช่วงปีใหม่ เทศกาลเฉลิมฉลอง ‘Summer all Souls’ (Obon) มีประชาชนผู้เข้าร่วมงาน 2-3 แสนคน
นอกจากการเป็นศูนย์รวมสัญลักษณ์ยุคลัทธิจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น ศาลเจ้ายาสุกุนิยังมีเป้าหมายให้คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่ไม่ผ่านประสบการณ์สงคราม และไม่มีคนในครอบครัวที่เสียชีวิตจากสงครามได้เรียนรู้ซึมซับเรื่องราวในอดีต ซึ่งได้ผลพอสมควร กิจกรรมในหลายเทศกาลได้ดึงดูดผู้เข้าสักการะครั้งละนับแสนคน เช่น ช่วงปีใหม่ เทศกาลเฉลิมฉลอง ‘Summer all Souls’ (Obon) มีประชาชนผู้เข้าร่วมงาน 2-3 แสนคน
ศาลเจ้ายาสุกุนิจึงมีอิทธิพลต่อการเมืองการปกครองของประเทศ
มุ่งส่งเสริมลัทธิชาตินิยม ให้รู้สึกรักประเทศ มีอิทธิพลต่อชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก
เพราะคนส่วนใหญ่นับถือลัทธิชินโต (ปัจจุบันญี่ปุ่นมีประชากรราว 127.2 ล้านคน
(ข้อมูลปี 2013) ร้อยละ 83.9 นับถือลัทธิชินโต ร้อยละ 71.4 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ
2 นับถือศาสนาคริสต์ ที่เหลือร้อยละ 7.8 นับถือศาสนาอื่นๆ
เหตุที่จำนวนเปอร์เซ็นต์รวมเกิน 100 เนื่องจากหลายคนนับถือทั้งลัทธิชินโตกับศาสนาพุทธพร้อมกัน)
ญี่ปุ่นมีศาลเจ้าจำนวนมาก
แต่ศาลเจ้ายาสุกุนิมีความพิเศษแตกต่าง เป็นที่เก็บอัฐิของวีรชน
เป็นศูนย์รวมสัญลักษณ์ยุคลัทธิจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น เป็นที่ซึ่งบุคคลสำคัญของประเทศจะไปเคารพสักการะ
โดยไปทั่ว
การที่ผู้นำประเทศคนหนึ่งไปวัดไปโบสถ์ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นเรื่องที่ผู้นำนานาประเทศกระทำเป็นปกติ
แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิ มีทั้งผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้าน แต่ละฝ่ายมีเหตุผลของตนเอง
ในที่นี้ขอนำเสนอเหตุผลสำคัญและข้อโต้แย้งบางประการ ดังนี้
ศาลเจ้าเป็นตัวแทนของแนวคิดการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์เพื่อจักรพรรดิ
:
ฝ่ายที่สนับสนุนเห็นว่าศาลเจ้าเป็นตัวแทนของแนวคิดการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์เพื่อจักรพรรดิญี่ปุ่น
เป็นความเชื่อบนพื้นฐานที่ว่าจักรพรรดิญี่ปุ่นเป็นผู้ปกครองโลก ชาวญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่เหนือกว่าชนชาติใดในโลก
สมควรจะเป็นผู้ปกครองเอเชีย การที่ชาวญี่ปุ่นสมัครเป็นทหารเข้าทำสงครามจึงเป็นเรื่องที่มีเกียรติ
สมควรยกย่อง เช่นเดียวกับที่ตัวสงครามได้รับการสดุดีว่าเป็น “สงครามศักดิ์สิทธิ์”
ด้วยเหตุผลดังกล่าว
ทหารญี่ปุ่นจึงทำสงครามโดยพื้นฐานของความเชื่อ หลายคนเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ
เห็นว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องดีงาม กำลังช่วยชาวเอเชียให้ได้รับสิ่งดีที่มาจากญี่ปุ่น
แต่ในมุมของผู้ถูกรุกราน ไม่ว่าจะเป็นชาวจีนหรือเกาหลีย่อมไม่เห็นด้วยกับความเชื่อเช่นนั้น
หากมองในภาพกว้างจะเห็นได้ว่า
ในยุคล่าอาณานิคม ลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกอ้างการสร้างความเจริญแก่พวกผิวเหลือง
ผิวดำ ส่วนลัทธิจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นอ้างเรื่องปลดปล่อยชาวเอเชียจากลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก
และสร้างความไพบูลย์ของชาวเอเชียร่วมกัน
แม้ว่าความเชื่อดังกล่าวจะขัดแย้งกับความคิดเห็นของคนชาติอื่น
ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากรวมทั้งบุคคลผู้มีตำแหน่งระดับสูงหลายคนในปัจจุบัน ยังคงมองการทำสงครามของญี่ปุ่นในแง่การปลดปล่อยชาวเอเชีย
เช่น ในปี 1994 นายชิน ซากุไร รัฐมนตรีทบวงสิ่งแวดล้อม กล่าวอย่างชัดเจนว่า
“การทำสงครามของญี่ปุ่นไม่ใช่การรุกราน
แต่เป็นการช่วยปลดปล่อยประเทศในเอเชียจากการตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก
และยังเป็นการช่วยให้ประเทศในเอเชียสามารถพัฒนาประเทศในภายหลัง”
ข้อมูลบางแหล่งชี้ว่า
จนถึงทุกวันนี้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากสนับสนุนนายกฯ ญี่ปุ่นให้ไปสักการะศาลเจ้า เฉพาะสมาชิกของสมาคมผู้สูญเสียจากสงคราม
1 ล้านครอบครัวให้การสนับสนุนเต็มที่
ในขณะเดียวกัน ใช่ว่าชาวญี่ปุ่นทุกคนจะเห็นด้วย อดีตนายกรัฐมนตรี ยาสึฮิโร
นากาโซเนะ (Yasuhiro Nakasone) เคยกล่าวเตือนไว้อย่างชัดเจนว่า
การรื้อฟื้นชาตินิยมญี่ปุ่น “จะสร้างความรู้สึกเผชิญหน้าระหว่างผู้นำรัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้อง
ดังที่ได้แสดงให้เห็นในความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีนและเกาหลีใต้ในปัจจุบัน”
นายกรัฐมนตรีไปเยือนศาลเจ้าส่อนัยยะอะไร :
ประเทศที่คัดค้านการเยือนอย่างรุนแรง
เช่น จีน จะตั้งคำถามว่าการที่ผู้นำประเทศญี่ปุ่นเยือนศาลเจ้ามีความหมายอย่างไร
คำถามที่เจาะจงกว่านี้คือ ทหารผู้เสียชีวิตเหล่านั้นประกอบด้วยอาชญากรสงครามระดับ
A ที่วางแผน ก่อการรุกรานประเทศอื่น
ทำให้พลเรือนประเทศอื่นบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก เกิดคำถามว่านายกฯ
ญี่ปุ่นไปบูชาเทิดทูนอาชญากรสงครามด้วยเหตุผลใด อะไรคือเป้าหมายเบื้องหลัง
The Rodong
Sinmun สื่อของทางการเกาหลีเหนือชี้ว่า การที่ผู้นำประเทศเยือนศาลเจ้าคือการประกาศว่าอาชญากรสงครามเหล่านั้นเป็น
“วีรบุรุษ” เป็น “ผู้รักชาติ” เป็นการประกาศว่าการทำสงครามรุกรานประเทศอื่นๆ
ในสมัยนั้นเป็นการกระทำที่น่ายกย่อง แสดงให้เห็นว่านายกฯ อาเบะฝักใฝ่ลัทธิทหารนิยม
และพยายามชักชวนให้ชาวญี่ปุ่นเป็นเช่นนั้นด้วย
ฝ่ายต่อต้าน โดยเฉพาะจีน เกาหลี จึงพยายามชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นฝ่ายขวาส่อเจตนาใฝ่สงคราม
ต้องการยึดครองประเทศอื่นๆ เป็นผู้สร้างความหายนะแก่ประเทศของพวกเขา และมักจะหยิบยกประวัติศาสตร์บางตอนขึ้นมาเพื่อบรรยายความโหดร้ายของสงครามสมัยนั้น
เช่น การทำลายล้างนานกิง การบังคับหญิงต่างชาติให้เป็นหญิงบำเรอ (comfort
women) การใช้แรงงานเยี่ยงทาส การนำมนุษย์มาทดลองอาวุธเคมีกับชีวภาพ
ข้อมูลเหล่านี้ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยไม่เคยรับรู้มาก่อน
เนื่องจากไม่อยู่ในตำราเรียนของพวกเขา
ประวัติศาสตร์ยุคนี้ที่พวกเขาได้อ่านได้ฟังจากในประเทศไม่พูดทำนองนั้น
นายเจฟ
คิงส์ตัน (Jeff Kingston) ผู้ศึกษาเรื่องราวศาลเจ้ายาสุกุนิ ชี้ว่าตัวศาลเจ้ากับพิพิธภัณฑ์ยูชูกัง
(Yushukan) ที่อยู่ติดกัน เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ
มีเป้าหมายให้ผู้เข้าชมเข้าใจประวัติศาสตร์เพียงบางแง่มุมที่เชิดชูลัทธิชาตินิยม
ลัทธิทหารญี่ปุ่น โดยไม่ยอมรับเรื่องการทำลายล้างนานกิง เรื่องหญิงบำเรอ อธิบายว่ากองทัพญี่ปุ่นเป็นผู้ปลดปล่อยชาวนานกิงให้สามารถอยู่อย่างสงบสุข
ไม่มีเจ้าหน้าที่หรือทหารญี่ปุ่นคนใดที่เข้าสนามรบเพื่อปล้นสะดม
แต่เป็นการต่อสู้อย่างบริสุทธิ์เพื่อประโยชน์ของครอบครัวและประเทศที่พวกเขารัก
นายคิงส์ตันเชื่อว่าเป้าหมายสูงสุดของศาลเจ้ายาสุกุนิกับพิพิธภัณฑ์ยูชูกัง
คือการสร้างความชอบธรรมให้กับการทำสงคราม เป็นความชอบธรรมของผู้ชนะ
ไม่ว่าศาลเจ้ากับพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวมีเป้าหมายอย่างไร คนญี่ปุ่นที่ไปสักการะใช่ว่าจะเห็นตรงกันหมด
ผู้ไปที่สักการะอาจไปด้วยหลายความหมาย บางคนอาจเป็นเพียงการให้เกียรติแก่ผู้เสียชีวิตในสงคราม
ไม่มีความหมายอื่น คนเหล่านี้เห็นว่าการแสดงความเคารพต่อทหารผู้เสียชีวิตในสงครามเป็นเรื่องที่สมควร
เป็นเรื่องที่นานาประเทศกระทำ และไม่เห็นด้วยหากการไปสักการะที่ศาลเจ้ายาสุกุนิจะมีความหมายสนับสนุนอาชญากรสงคราม
หรือสนับสนุนแนวคิดของฝ่ายขวาจัด
เรื่องความเชื่อทางศาสนาเป็นประเด็นละเอียดอ่อน
ทุกคนทุกชาติต่างมีความเชื่อของตนเอง
ทหารญี่ปุ่นหลายคนเข้าทำสงครามด้วยความเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจ
ในขณะที่คนชาติอื่นย่อมมีความคิดเห็นของตนเอง
เป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ไม่จบสิ้น แต่สะท้อนอีกภาพความจริงของโลกที่ยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน
แม้กระทั่งภายในประเทศญี่ปุ่นนั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะคิดเห็นตรงกัน ชาวญี่ปุ่นที่ไปสักการะศาลเจ้ายาสุกินิก็ใช่ว่าจะไปด้วยความหมายเดียวกัน
หรือมีความรู้สึกที่เข้มข้นตรงกัน นี่ก็เป็นอีกความจริงของโลกเช่นกัน
การเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิของนายกฯ
อาเบะ กลายเป็นตัวจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องศาลเจ้ายาสุกุนิและประเด็นอื่นๆ
ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เป็นเรื่องยาวและวิเคราะห์ได้อย่างซับซ้อน
หลายแง่มุมหลายมิติ จะขอนำเสนอเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป
23 กุมภาพันธ์ 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6319 วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557)
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6319 วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557)
---------------------
บรรณานุกรม:
1. ธเนศ ฤดีสุนันท์. (2553). ปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาตินิยมจีนกับญี่ปุ่นในประเด็นสงครามจีน-ญี่ปุ่น
ครั้งที่ 2 (1937-1945). (วิทยานิพนธ์).
Retrieved from http://digi.library.tu.ac.th/thesis/po/1296/04chapter3.pdf
2. Aides give Abe a headache on
history, U.S. alliance. (2014, February 21). Japan Today/Reuters.
Retrieved from
http://www.japantoday.com/category/politics/view/aides-give-abe-a-headache-on-history-u-s-alliance-2
3. Breen, John., & Teeuwen, Mark. (2010). A New
History of Shinto. UK: Blackwell Publishing.
4. Central Intelligence Agency. (2014, February 2). The
World Factbook. Retrieved from
https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/ja.html
5. Challenge of Militarist Fanatic. (2014, February 4). The
Rodong Sinmun. Retrieved
http://www.rodong.rep.kp/en/index.php?strPageID=SF01_02_01&newsID=2014-02-04-0013&chAction=T
6. Kingston, Jeff. (2013). Contemporary Japan: History,
Politics, and Social Change since the 1980s (2nd ed.). USA: John Wiley
& Sons Ltd.
------------------