วิกฤตสงครามกลางเมืองซีเรีย ความขัดแย้งที่ยังไร้ทางออก
ในรอบปี 2013 องค์กรสิทธิมนุษยชน (Human Rights Watch หรือ HRW) จัดให้ซีเรียเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งที่ใช้อาวุธสงครามเข้าห้ำหั่นรุนแรงที่สุดของโลก ความขัดแย้งที่เริ่มในเดือนมีนาคม 2011 จากกลุ่มผู้ประท้วงจำนวนเพียงเล็กน้อย ตามกระแสอาหรับสปริง ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นความขัดแย้งในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ การที่เป็นเช่นนี้ต้นเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการที่รัฐปราบปรามด้วยความรุนแรงและการแทรกแซงจากกองกำลังต่างชาติ ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด (Bashar Al Assad) ออกคำสั่งปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ระบุว่าเป็นพวกกบฏกับผู้ก่อการร้ายทั้งจากคนในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพิทักษ์รักษาอธิปไตยแห่งชาติ ความมั่นคงเสถียรภาพของประเทศ
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
แทนที่จะต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย
กองกำลังติดอาวุธของฝ่ายต่อต้านเท่านั้น
กองกำลังของรัฐบาลอัสซาดโจมตีพลเรือนที่อยู่ในเขตควบคุมของฝ่ายต่อต้านโดยไม่ยับยั้งชั่งใจ
เห็นได้ชัดว่าเป้าหมายคือต้องการขับไล่พลเรือนออกให้มากที่สุดเพื่อว่ากองกำลังฝ่ายต่อต้านจะได้อยู่ในพื้นที่อย่างโดดเดี่ยว
ขาดกิจกรรมทางสังคมเศรษฐกิจที่จะเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายต่อต้าน
อีกสาเหตุหนึ่งคือ รัฐบาลอัสซาดหวังใช้การลงโทษหมู่ประชาชนเพื่อให้คนเหล่านั้นต่อต้านฝ่ายต่อต้าน
และเพื่อเตือนคนในประเทศที่เหลือว่าชีวิตจะยากลำบากเพียงใดหากมีคนของฝ่ายต่อต้านอาศัยอยู่ในพื้นที่ของพวกเขา
ผลลัพธ์คือ มีพลเรือนอพยพลี้ภัยออกจากถิ่นฐานของตนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี มีผู้อพยพจากภัยสงครามกลางเมืองซีเรียเกือบ 8 ล้านคน
และอีก 10 ล้านคนอยู่ในสภาพที่จำต้องได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
ฝ่ายรัฐบาลใช้ทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางการส่งความช่วยเหลือเหล่านี้
ไม่สนใจคำทักท้วงจากคณะมนตรีความมั่นคงที่ขอให้รัฐบาลซีเรียยุติพฤติกรรมดังกล่าว
จำนวนผู้เสียชีวิตจากวิกฤตสงครามกลางเมืองกลายเป็นโศกนาฏกรรม
มีผู้คาดว่าในแต่ละเดือนจะมีผู้เสียชีวิตจากอาวุธสงครามราว 5 พันคนต่อเดือน
เป็นที่มาของยอดผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นราว 130,000 - 150,000
คนจากความขัดแย้งในเวลาไม่ถึง 3 ปี ในจำนวนนี้ร้อยละ 35 เป็นพลเรือน ผู้เสียชีวิตเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นฝีมือจากกองกำลังฝ่ายรัฐบาล
ที่ใช้อาวุธสงครามนานาชนิด ทั้งขีปนาวุธ จรวด ปืนใหญ่ ระเบิดลูกปราย (cluster
bombs) อาวุธระเบิดอากาศเชื้อเพลิง (fuel-air explosives) การทิ้งระเบิดปูพรมทางอากาศ รวมทั้งการใช้อาวุธเคมี ที่โจมตีเป้าหมายทุกประเภท
รวมทั้งเป้าหมายพลเรือนอย่างร้านขนมปัง โรงเรียน โรงพยาบาล ไม่เว้นแม้กระทั่งแพทย์พยาบาลเป็นเป้าหมายของการโจมตีด้วย
กองกำลังรัฐบาลกระทำทารุณต่อพลเรือนและกองกำลังฝ่ายต่อต้านที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ
มีเรื่องราวความโหดร้ายทารุณมากมายที่กองกำลังรัฐบาลกระทำต่อคนเหล่านั้น
รวมถึงการสังหารหมู่อย่างเป็นระบบ
ในอีกฝ่ายหนึ่ง
กองกำลังฝ่ายต่อต้านมีส่วนในความโหดเหี้ยมนี้เช่นกัน โดยเฉพาะในหมู่มุสลิมสุดโต่ง
(Islamist extremists) บางกลุ่มมีความเชื่อมโยงกับพวกอัลกออิดะห์
ทางออกที่ยังเป็นทางตัน:
การเจรจาเพื่อหาทางออกเป็นแนวทางที่นานาชาติพูดถึงตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุ
ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าปัญหาซีเรียต้องแก้ไขด้วยวิถีทางการเมืองเท่านั้น
ตลอดเกือบ
3 ปีที่ผ่านมา หลายฝ่ายได้พยายามพูดคุยหาทางออก เคยเชิญบุคคลที่โลกยกย่องอย่างนายโคฟี่
อานัน เป็นตัวแทนจากนานาชาติเพื่อเป็นคนกลางเจรจา แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยประสบความสำเร็จแม้แต่เพียงครั้งเดียว
แม้กระทั่งการขอให้สองฝ่ายหยุดยิงชั่วคราวก็ยังไม่เป็นผล
การประชุมเจนีวา
2 (Geneva II) หรือการประชุมนานาชาติเพื่อยุติสงครามกลางเมืองซีเรียที่ดำเนินเมื่อปลายเดือนมกราคมนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่
มีความพยายามประชุมตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว
แต่ต้องเลื่อนแล้วเลื่อนอีกเพราะบางกลุ่มบางฝ่ายไม่ยอมเข้าร่วมประชุม
เหตุผลสำคัญที่การเจรจาไม่ประสบผลคือ
ต่างฝ่ายต่างยึดมั่นในจุดยืนของตน ประธานาธิบดีอัสซาดเห็นว่ารัฐบาลกำลังทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติ
รักษาความสงบเรียบร้อยจากพวกกบฏและผู้ก่อการร้ายซึ่งมีทั้งพวกที่เป็นชาวซีเรียกับชาวต่างชาติ
รัฐบาลพร้อมเจรจากับประชาชนหากพวกเขาวางอาวุธ และอาจแก้ปัญหาด้วยการเลือกตั้ง การปราบปรามอย่างหนักชี้ชัดว่าประธานาธิบดีอัสซาดสู้ไม่ถอย
ยังใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง พร้อมเผชิญหน้าแรงกดดันจากนานาชาติ
ส่วน
Syrian National Coalition ซึ่งเป็นแนวร่วมฝ่ายต่อต้านรัฐบาลตั้งเงื่อนไขว่าประธานาธิบดีอัสซัดจะต้องก้าวลงจากอำนาจและไม่มีส่วนทางการเมืองอีกต่อไป
ด้านประชาคมโลก มีทั้งฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้านอย่างชัดเจนเช่นกัน 11
ประเทศที่เรียกตัวว่า Friends of Syria อันประกอบด้วยประเทศอังกฤษ
อียิปต์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี จอร์แดน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี
สหรัฐอาหรับเรมิเรตส์ และสหรัฐฯ เป็นผู้ให้การสนับสนุนแนวร่วมฝ่ายต่อต้าน
แสดงจุดยืนว่าประธานาธิบดีอัสซาดกับบริวารจะต้องไม่มีส่วนในรัฐบาลเฉพาะกาล (Transitional
Governing Body หรือTGB) ตามแถลงการณ์เจนีวา (Geneva
communiqué) เมื่อปี 2012 เพื่อยุติความขัดแย้ง ประธานาธิบดีบารัก โอบามาขอให้ประธานาธิบดีอัดซาดก้าวลงจากตำแหน่ง
ถ่ายโอนอำนาจแก่ประชาชนโดยสันติ เปลี่ยนจากระบอบอำนาจนิยมเป็นประชาธิปไตย เช่นเดียวกับที่รัฐบาลกาตาร์ตั้งเงื่อนไขว่าจะต้องไม่มีประธานาธิบดีอัสซาดและบริวารของตนใน
TGB และประธานาธิบดีอัสซาดมีความผิดในเรื่องที่ก่อไว้
ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลอัสซาดแห่งซีเรียอย่างชัดเจนคือรัสเซียกับอิหร่าน
นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวว่าจุดยืนของรัสเซียคือสนับสนุนการเจรจาอย่างสันติ
ผ่านกลไกของคณะมนตรีความมั่นคง ดำเนินการตามกฎหมายระหว่างประเทศ
แต่ในเบื้องต้นยังสนับสนุนรัฐบาลอัสซาด ต่อต้านการแทรกแซงด้วยกำลังทหารจากต่างชาติ
และยังขายอาวุธแก่รัฐบาลอัสซาดโดยอ้างว่าเป็นการส่งมอบอาวุธตามสัญญาที่ได้ตกลงไว้นานแล้ว
อิหร่านเป็นอีกประเทศที่สนับสนุนรัฐบาลซีเรียอย่างเต็มที่ รัฐสภาอิหร่านเรียกร้องให้ประเทศซีเรียป้องกันไม่ให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการของโลกอาหรับ
ย้ำว่าอิหร่านสนับสนุนการปฏิรูปของซีเรีย
และชาวซีเรียเท่านั้นที่จะต้องร่วมหาทางออกแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยตนเอง
การที่ประชาคมโลกแยกเป็นฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้าน
ทำให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติไม่อาจมีข้อมติใดๆ เพื่อการแก้ปัญหา
ในทางตรงข้ามประเทศผู้สนับสนุนฝ่ายของตนไม่เพียงให้การสนับสนุนทางการเมืองระหว่างประเทศเท่านั้น
ยังสนับสนุนด้วยวัตถุปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่เงิน อาวุธยุทโธปกรณ์ ยาและเวชภัณฑ์
จนถึงอาหาร
ทำให้กองกำลังของทั้งฝ่ายรัฐบาลอัสซาดกับฝ่ายต่อต้านต่างได้รับปัจจัยสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
สามารถทำสงครามสู้รบกันไปเรื่อยๆ
สถานการณ์ความวุ่นวายมีความซับซ้อน เพราะมีกองกำลังต่างชาติเข้าผสมโรง กลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่มที่ใกล้ชิดกับอัลกออิดะห์
ซึ่งประกอบด้วยกองกำลังติดอาวุธจากหลายประเทศพากันหลั่งไหลเข้ามาสู้รบ Islamic
State of Iraq and the Levant (ISIL) กับ Jabhat al-Nusra เป็นกองกำลัง 2 กลุ่มที่มีพลังมากที่สุด มีการจัดระเบียบองค์กรอย่างดี
สามารถยึดครองพื้นที่หลายแห่ง จัดตั้งเขตปกครองของตน
พร้อมกับให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที่ยึดครอง จัดหาอาหาร การบริการทางสังคม
มีกฎระเบียบควบคุมสังคมของตนเอง ทั้ง 2 กลุ่มต้องการสถาปนารัฐอิสลามตามแนวทางของตน
หากกลุ่มเหล่านี้ก่อการสำเร็จเท่ากับว่าพวกเขาซึ่งเป็นคนต่างชาติได้กลายเป็นผู้ปกครองประเทศแทน
อาจมีการเปลี่ยนชื่อประเทศ ไม่มีประเทศซีเรียอีกต่อไป
ISIL กับ Jabhat al-Nusra กลายเป็นปัญหาที่ทับซ้อนเข้ามา
เพราะไม่อยู่ภายใต้อำนาจของแนวร่วมฝ่ายต่อต้าน ไม่ยอมรับการเจรจาระหว่างฝ่ายต่อต้านกับรัฐบาล
ดังนั้น การประชุมสันติภาพเจนีวาจึงไม่มีผลต่อกลุ่มเหล่านี้ นักวิเคราะห์หลายคนจึงไม่เชื่อว่าวิกฤตซีเรียจะแก้ได้ด้วยการเจรจาเพียงอย่างเดียว
การเจรจาเพื่อหาทางออกด้วยวิถีทางการเมืองจึงยังไร้ข้อยุติ
เพราะทุกฝ่ายต่างยึดมั่นจุดยืนของตนเอง ฝ่ายหนึ่งปกป้องอธิปไตย
ต่อต้านผู้ก่อการร้าย ในขณะที่อีกฝ่ายต้องการขับไล่รัฐบาลทรราช และพวกที่ต้องการสถาปนารัฐอิสลามตามแนวทางของตน
วิกฤติสงครามกลางเมืองซีเรีย กลายเป็นภาวะชะงักงันทางการเมืองระหว่างประเทศ ท่ามกลางการปะทะด้วยอาวุธสงครามอย่างต่อเนื่อง
ความรุนแรงในซีเรียเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความขัดแย้งทางการเมืองที่ขยายตัวกลายเป็นสงครามกลางเมือง
ความขัดแย้งก่อให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงกว่าเดิม จากการชุมนุมโดยสงบกลายเป็นการใช้อาวุธ
กลายเป็นสงครามกลางเมือง กลายเป็นสมรภูมิที่มีกองกำลังนอกประเทศเข้ามาร่วมรบ กองกำลังต่างชาติบางกลุ่มมีเป้าหมายเพื่อสถาปนารัฐอิสลามตามแบบฉบับของตนเอง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในซีเรียเป็นอุทาหรณ์ว่าการป้องกันปัญหาง่ายกว่าและดีกว่าการแก้ปัญหา
ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลอัสซาดหรือประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลคงไม่คิดว่าสถานการณ์จะบานปลายได้ถึงเพียงนี้
คงไม่มีใครเคยคิดมาก่อนว่าการประท้วงแต่เริ่มจากคนเพียงจำนวนเล็กน้อยจะกลายผู้เสียชีวิตนับแสนคน
มีผู้ที่ต้องละทิ้งบ้านเรือนกลายเป็นผู้อพยพลี้ภัยอีกหลายล้านคน โดยที่ยังไม่มีใครรู้ว่าโศกนาฏกรรมครั้งนี้จะจบลงเมื่อไร
และคงไม่มีใกล้คิดมาก่อนว่าจะมีกองกำลังติดอาวุธต่างชาติอาศัยสถานการณ์ความวุ่นวายเข้ามาก่อการเพื่อสถาปนาประเทศของพวกเขาเอง
หนทางที่ดีกว่า
หนทางที่ทุกฝ่ายต้องยึดมั่นคือการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง จัดการปัญหาตั้งแต่เริ่ม
ไม่ปล่อยให้บานปลายแล้วค่อยมาคิดแก้ไข
ไม่เปิดโอกาสให้ต่างชาติใกล้มาแทรกแซงโดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้กำลังเพื่อให้คนในชาติฆ่าฟันกันเอง
คนในชาติต้องไม่คิดว่าไม่ใช่เรื่องของตัว หรือคิดแต่เพียงปกป้องครอบครัวคนใกล้ชิดเท่านั้น
วิกฤตสงครามกลางเมืองซีเรียเป็นบทเรียนที่ทุกคนทั่วโลกควรได้เรียนรู้
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกับประเทศตน
27 มกราคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ได้รับการเผยแพร่ผ่าน ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2557, http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1311)
----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
หลังสงครามกลางเมืองเกือบครบ 3 ปี
การประชุมเจนีวา 2 กลายเป็นการประชุมระดับนานาชาติครั้งสำคัญยิ่ง
การประชุมไม่น่าจะสามารถยุติข้อขัดแย้งตราบใดที่รัฐบาลอัสซาดไม่ก้าวลงจากอำนาจ
และสหรัฐกับชาติพันธมิตรยังหนุนหลังฝ่ายต่อต้านที่มุ่งโค่นล้มรัฐบาล
คำถามที่สำคัญกว่าการมีข้อตกลงคือ
ข้อตกลงนั้นจะนำสู่ประเทศซีเรียที่มีบูรณภาพแห่งดินแดนหรือไม่
เป็นการยุติความขัดแย้งอย่างถาวรหรือไม่
ทั้งหลายทั้งสิ้นนี้พลเมืองซีเรียน่าจะเป็นผู้ตัดสินอนาคตของตนเอง
บรรณนานุกรม:
1. Extremist groups hobble Syrian peace negotiations. (2013,
October 22).The Times of India/AP. http://timesofindia.indiatimes.com/world/middle-east/Extremist-groups-hobble-Syrian-peace-negotiations/articleshow/24549382.cms
2. Feltman, Jeffrey D. (2011, November 9). U.S Policy on
Syria. Retrieved from http://www.state.gov/p/nea/rls/rm/176948.htm
3. Foreign Minister Attends Meeting of Friends of Syria.
(2013, October 22). QNA. Retrieved from http://www.qnaol.net/QNAEn/Local_News/Politics2/Pages/Foreign-Minister-Attends-Meeting-of-Friends-of-Syria.aspx
4. Iranian MPs Stress Support for
Syrian Nation, Gov't. (2012, July 29). FARS. Retrieved from http://english.farsnews.com/newstext.php?nn=9104251929
5. Jabhat al-Nusra's rising in Syria. (2013, May 19). Al
Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/indepth/features/2013/05/20135161073885661.html
6. NATO: Russia may assist in destruction of Syria's
chemical weapons. (2013, October 23). Haaretz. Retrieved from http://www.haaretz.com/.premium-1.553979
7. Roth, Kenneth. (2014). Rights Struggles of 2013.
Retrieved from http://www.hrw.org/world-report/2014/essays/rights-struggles-of-2013
8. Syrian opposition says Assad cannot be part of deal.
(2013, February 22). Reuters. http://uk.news.yahoo.com/syrian-opposition-says-assad-cannot-part-deal-005801308.html
9. Vladimir V. Putin. (2013, September 11). A Plea for Caution From Russia. Retrieved
from http://www.nytimes.com/2013/09/12/opinion/putin-plea-for-caution-from-russia-on-syria.html?pagewanted=all&_r=0
-----------------------------------