ISIL/ISIS กับความขัดแย้งรอบใหม่ในอิรัก

ชื่อ Islamic State of Iraq and the Levant (ISIL) หรือ Islamic State in Iraq and Syria (ISIS) เริ่มเป็นที่รู้จักจากความขัดแย้งในประเทศซีเรีย เป็นกองกำลังติดอาวุธที่ค่อนข้างเป็นอิสระจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่ชาติตะวันตกให้การสนับสนุน และเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ISIL/ISIS เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในอิรัก
            ISIL/ISIS คือกองกำลังติดอาวุธที่เชื่อมโยงอัลกออิดะห์ ผู้นำปัจจุบันคือ Abu Baker Al Baghdadi อันที่จริงมีอัลกออิดะห์ในอิรักมานานแล้ว แต่ชื่อ ISIL เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปีก่อน เป็นความร่วมมือของมุสลิมสุดโต่งหลายกลุ่ม นาย Hoshyar Zebari รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิรักเชื่อว่า ISIL ประกอบด้วยกองกำลังทั้งหมดราว 12,000 นาย (ทั้งในอิรักกับซีเรีย)
            นับจากอิรักเริ่มมีรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนูรี อัลมาลิกี (Nouri Al-Maliki) ความขัดแย้งระหว่างพวกซุนนีอาหรับกับชีอะห์ก็รุนแรงมากขึ้น มีข่าวเหตุความรุนแรงเรื่อยมา ชนวนความรุนแรงล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา เมื่อเจ้าหน้าที่ความมั่นคงจับกุมตัวนาย Ahmed al-Alwani ผู้แทนรัฐสภาคนสำคัญของซุนนีด้วยข้อหาว่าสนับสนุนอัลกออิดะห์ นายกฯ อัลมาลิกี สั่งสลายการชุมนุมของพวกซุนนี อ้างว่าเวทีชุมนุมเป็นศูนย์บัญชาการของอัลกออิดะห์ ทำให้พวกซุนนีออกมาประท้วงรุนแรงกว่าเดิม สองสามวันต่อมาเมื่อฝ่ายรัฐบาลถอนทหารออกจากพื้นที่เพื่อให้ตำรวจเข้าดูแลความเรียบร้อยแทน ปรากฏว่ากองกำลังของ ISIL ฉวยโอกาสเข้ายึดครองพื้นที่ดังกล่าว สามารถยึดครองเมืองฟาลลูจาห์ (Fallujah) กับเมืองรามาดี (Ramadi) ในจังหวัดอันบาร (Anbar) ทำให้กองทัพรัฐบาลเข้าโจมตีพวก ISIL โดยที่พลเมืองชาวซุนนีติดอยู่ระหว่างการปะทะดังกล่าว
            ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ซุนนีทุกคนที่สนับสนุน ISIL แต่บางส่วนสนับสนุน ISIL มากกว่าอดีต แหล่งข่าวบางแห่งชี้ว่าผู้นำท้องถิ่นบางคนวางตัวเป็นกลาง เรียกร้องให้กองทัพรัฐบาลกับกองกำลัง ISIL ออกไปต่อสู้นอกเมือง ไม่ต้องการให้เกิดการปะทะภายในตัวเมือง
            เช่นเดียวกับที่นายกฯ อัลมาลิกีเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้อง จึงเรียกร้องให้ชาวเมืองฟาลลูจาห์ขับไล่พวกอัลกกออิดะห์ออกจากเมือง ในขณะที่กองกำลัง ISIL เรียกร้องให้ชาวบ้านซุนนีต่อสู้กับรัฐบาลอิรัก ชี้ว่าเป็นการเลือกระหว่างที่จะลุกขึ้นสู้หรือยอมเป็นทาสพวกชีอะห์
การปราบปราม ISIL/ISIS ไม่ช่วยยุติความขัดแย้งในอิรัก :
            สถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มุ่งให้ความสำคัญกับการก่อการของ ISIL ในจังหวัดอันบารกับเขตพื้นที่ใกล้เคียง แต่รากปัญหาไม่อยู่ที่ ISIL การปรากฏตัวของกลุ่มสุดโต่งเป็นการสะท้อนปัญหาเรื้อรังหลายอย่าง ข้อแรกคือความไม่พอใจของซุนนีอาหรับบางกลุ่มบางพวกที่เห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันซึ่งนำโดยผู้นำชีอะห์เลือกที่รักมักที่ชัง เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งอยู่ในอำนาจของพวกชีอะห์ปฏิบัติต่อพวกตนอย่างไม่เป็นธรรม ข้อนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่สุด ความไม่พอใจของซุนนีนำมาซึ่งการไม่ให้ความร่วมมือ ต่อต้านรัฐบาล หลายปีที่ผ่านมามีข่าวการเสียชีวิตของทั้งพวกซุนนีกับชีอะห์อย่างต่อเนื่องปีละหลายพันคน ดังนั้น ไม่ว่าจะมีอัลกออิดะห์หรือ ISIL หรือไม่สองฝ่ายมีการปะทะกันอยู่แล้ว
            ผลที่ตามมาคือการแตกแยกร้าวลึกในอิรัก ต่างฝ่ายต่างไม่ไว้ใจต่อกัน เหตุความรุนแรงรายวันทำให้ชาวบ้านต้องพึ่งพาการปกป้องจากผู้ปกครองชนเผ่าหรือผู้ปกครองท้องถิ่น ที่แบ่งแยกชัดเจนว่าเป็นชีอะห์กับซุนนี สนับสนุนหรือต่อต้านรัฐบาล ในด้านการเมืองฝ่ายค้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นซุนนีอาหรับพยายามโค่นล้มรัฐบาลอัลมาลิกี ต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันไปมา รัฐสภาไม่ได้ทำงานตามบทบาทหน้าที่ของตน
            เมื่อรัฐบาลกลางอ่อนแอ ไม่ได้รับความร่วมมือจากพวกซุนนี เขตภาคตะวันตกซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของพวกซุนนีจึงกลายเป็นจุดอ่อนให้อำนาจอื่นเข้าแทรก เกิดการปรากฏตัวของมุสลิมสุดโต่ง พวกที่ใกล้ชิดกับอัลกออิดะห์ กลุ่มที่เรียกว่า ISIL จึงเกิดขึ้นและตั้งมั่นอยู่ได้
            จะว่าไปแล้วการปรากฏตัวของอัลกออิดะห์เป็นเรื่องตลกร้าย เพราะ 11 ปีก่อนประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุชอ้างการมีอยู่ของอัลกออิดะห์เป็นเหตุผลหนึ่งเพื่อโจมตีโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน เรื่องนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าข้ออ้างที่รัฐบาลซัดดัมสนับสนุนพวกอัลกออิดะห์นั้นเป็นเท็จ เพราะในขณะนั้นไม่มีกลุ่มดังกล่าวในอิรัก พวกอัลกออิดะห์เริ่มปรากฏตัวอย่างจริงจังหลังสิ้นสุดระบอบซัดดัม ด้วยเหตุผลต่อต้านการยึดครองของกองทัพอเมริกัน ต้องการขับไล่พวกอเมริกันออกจากอิรัก พวกซุนนีหลายคนมีใจฝักใฝ่ต่ออัลกออิดะห์ และมีนักรบญิฮาดจากหลายชาติเข้ามาร่วมต่อต้านกองทัพอเมริกันในอิรัก
            อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านบางส่วนต่อต้านกลุ่มมุสลิมสุดโต่งหรือไม่ได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เนื่องจากพวกเขาบังคับใช้กฎหมายอิสลามที่เข้มงวดในแบบฉบับของตนเอง ไม่ให้ความเคารพต่อผู้นำท้องถิ่น การสนับสนุนพวกมุสลิมสุดโต่งจึงเป็นพฤติกรรมที่มีเงื่อนไข ชาวบ้านบางส่วนยินยอม ทำเป็นหลับตาข้างหนึ่งเพราะถือว่ามีศัตรูคนเดียวกัน
            ดังนั้น การปราบปราม ISIL จะไม่ช่วยแก้ไขรากความขัดแย้งของสังคมอิรักแต่ประการใด ในทางกลับกันอาจเป็นเหตุให้ความขัดแย้งซับซ้อนซึมลึกกว่าเดิม ทั้งรัฐบาลอิรักกับรัฐบาลอเมริกันต่างตระหนักเรื่องนี้ดี

ความสำเร็จของ ISIL/ISIS :
            การที่ ISIL สามารถตั้งมั่นในอิรัก ได้รับการยอมรับจากชาวอิรักบางส่วน นับเป็นความสำเร็จแรกของกลุ่มที่เพิ่งประกาศตัวอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2013 ข้อนี้เป็นข้อสำคัญที่สำคัญที่สุดที่ ISIL จะต้องรักษาไว้ให้ได้
            การที่รัฐบาลโอบามาประกาศสนับสนุนรัฐบาลอัลมาลิกี ประกาศว่าจะมอบอากาศยานตรวจการไร้คนขับกับขีปนาวุธเฮลไฟร์ (Hellfire – ใช้โจมตีเป้าหมายภาคพื้นดิน) แม้ไม่ใช่การส่งทหารเข้าร่วมรบ เพราะรัฐบาลโอบามาระมัดระวังตัวมาก พยายามจะถอยห่างออกจากอิรักให้มากที่สุด แต่สนับสนุนเหล่านี้นับว่าได้ดึงสหรัฐเข้าร่วมสมรภูมิในระดับหนึ่งแล้ว ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นของ ISIL นับจากนี้วงการเมืองสหรัฐจะต้องพูดถึงความขัดแย้งในอิรักมากกว่าแต่ก่อน
            ในอนาคตต้องติดตามว่า ISIL จะสามารถดึงการสนับสนุนจากนักรบญิฮาดทั่วโลกได้มากน้อยเพียงใด จะเกิดกระแสรณรงค์ทั่วโลกเพื่อโค่นล้มรัฐบาลอัลมาลิกีเหมือนอย่างการโค่นล้มระบอบอัสซาดแห่งซีเรียหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะเป็นการเติมเชื้อไฟครั้งใหญ่ในอิรัก กลายเป็นสมรภูมิที่รุนแรงไม่แพ้ซีเรียในขณะนี้ เมื่อถึงตอนนั้นรัฐบาลอัลมาลิกีจะต้องเผชิญศึกหนัก เกิดคำถามว่าการที่รัฐบาลโอบามาสนับสนุนรัฐบาลอิรักเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษกันแน่

มีความเป็นไปได้ว่า ISIL/ISIS จะถูกปราบ แต่จะคงอยู่ต่อไป :
            จากข้อมูลที่ปรากฏเชื่อว่า ISIL ในอิรักยังไม่เป็นกลุ่มก้อนที่มีเอกภาพ เพียงแต่มีอุดมการณ์ร่วมบางอย่าง อีกทั้งยังขาดความร่วมมืออย่างจริงจังจากพวกซุนนีอาหรับในอิรัก โอกาสที่กลุ่มเหล่านี้จะถูกปราบปรามจึงมีสูง
            อย่างไรก็ตาม ISIL ไม่น่าจะสูญพันธุ์จากอิรัก เหตุผลแรกคือได้รับการสนับสนุนจากชาวอิรักบางส่วนดังที่ได้อธิบายแล้ว เหตุผลต่อมาคือ ISIL เป็นเพียงชื่อของกลุ่มใหญ่ที่ประกอบด้วยกลุ่มย่อยๆ หลายกลุ่ม ดังนั้น แม้กลุ่มย่อยบางกลุ่มถูกปราบ ยังเหลือกลุ่มย่อยอื่นๆ และอาจมีกลุ่มย่อยอื่นๆ เข้ามาสมทบได้ตลอดเวลา เหมือนกับที่อัลกออะห์ไม่ได้สูญสลายแม้นายบิน ลาดิน อดีตผู้นำกลุ่มจะถูกรัฐบาลโอบามาจัดการไปแล้ว คุณ Katherine Zimmerman นักวิเคราะห์จาก American Enterprise Institute ชี้ว่า “เครือข่ายอัลกออิดะห์ผุดขึ้นมาในพื้นที่ๆ อำนาจรัฐอ่อนแอ” ดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศอียิปต์ ลิเบีย เยเมน และซีเรีย ไม่ขึ้นกับว่ามีผู้นำบิน ลาดินหรือไม่
            เหตุผลลึกๆ ประการต่อมาคือพวกอัลกออิดะห์ รวมทั้ง ISIL ได้รับการสนับสนุนทั้งอาวุธและเงินจากต่างชาติ มีท่อน้ำเลี้ยงชั้นเลิศ การจะถอนรากถอนโคนกลุ่มเหล่านี้จึงเกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศ เป็นการห้ำหั่นกันอย่างไม่ลดราวาศอก

            ถ้ามองในเชิงค่านิยมอุดมการณ์ นาย Efraim Karsh อาจารย์จาก Bar Ilan University และ Kings College ชี้ว่าปัญหาสำคัญคือ “ชาวอเมริกันกับพวกตะวันตกไม่ตระหนักว่าภูมิภาค (ตะวันออกกลาง) ศรัทธาในศาสนามาก ส่วนแนวคิดพวกชาตินิยม ลัทธิเสรีนิยมไม่ได้หยั่งรากลึก” ในสังคมอาหรับ เป็นคำตอบว่าทำไมรัฐบาลอัลมาลิกีจึงอ่อนแอ ระบบรัฐสภาไม่ทำงาน
            ก่อให้เกิดคำถามว่ารัฐบาลอเมริกันกับชาติตะวันตกเข้าใจเรื่องเหล่านี้หรือไม่ ทำไมจึงพยายามดันทุรังผลักดันให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยตามแบบฉบับตะวันตก ทั้งๆ ที่รู้แก่ว่าใจว่ายากที่ประเทศเหล่านี้จะประสบความสำเร็จในฐานะชาติประชาธิปไตยในระยะเวลาอันสั้น

            โดยสรุปแล้ว ปัญหาหลักของอิรัก คือ ความไร้เอกภาพของคน 3 กลุ่มใหญ่ นั่นคือพวกอาหรับซุนนี พวกชีอะห์ และชาวเคิร์ด (พวกนี้ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมซุนนี แต่มีเชื้อสายเคิร์ด มีเป้าหมายของตนเองคือต้องการปกครองตนเอง) เมื่อสิ้นสุดระบอบซัดดัม ประเทศเกิดสุญญากาศทางอำนาจ ผู้นำทางการเมืองของทั้ง 3 ฝ่ายพยายามช่วงชิงอำนาจ การต่อสู้แก่งแย่งทำให้ประเทศแตกแยก
            ความแตกแยกดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่รัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช ส่งกองทัพโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน โดยอ้างว่ารัฐบาลซัดดัมแอบซ่อนอาวุธอำนาจทำลายร้ายแรง (weapons of mass destruction) และอาจส่งอาวุธดังกล่าวให้ผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะห์ใช้โจมตีสหรัฐ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง
            เหตุผลอีกข้อคือรัฐบาลบุชเชื่อว่าการโค่นล้มระบอบซัดดัมแล้วเปลี่ยนอิรักเป็นประเทศประชาธิปไตยจะเป็นประโยชน์ต่อชาวอิรัก แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็ปรากฏอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
            บัดนี้ ISIL ปรากฏเป็นตัวแสดงตัวใหม่ น่าติดตามว่าบทบาทของกลุ่มนี้จะยิ่งทำให้สถานการณ์ในอิรักวุ่นวายกว่าเดิมหรือไม่ ในระยะยาวจะนำอิรักไปสู่ทิศทางใด เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งหมด เกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้านอิรัก เป็นส่วนหนึ่งของการจัดระเบียบตะวันออกกลาง และอาจชักนำสหรัฐให้ถลำลึกอีกครั้ง
12 มกราคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6277 วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ.2557)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
10 ปีที่กองทัพสหรัฐฯ บุกโค่นล้มระบอบซัดดัม ช่วยสถาปนารัฐประชาธิปไตยอิรัก พบว่าจนบัดนี้อิรักยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง กลายเป็นรัฐล้มเหลวที่ประกอบด้วยหลายกลุ่มอำนาจที่พยายามแย่งชิงผลประโยชน์ ก่อให้เกิดคำถามมากมายว่าอิรักในวันนี้ดีกว่ายุคซัดดัมหรือไม่ อะไรคือการปกครองที่ดี และจะพาอิรักออกจากสถานการณ์วุ่นวายในขณะได้อย่างไร ทั้งหมดนี้ประชาชนอิรักไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดต้องออกมาแสดงพลัง กำหนดอนาคตของตนเอง
2. ISIL/ISIS หวังโค่นล้มรัฐบาลอัลมาลิกี เสริมไฟสงครามกลางเมืองอิรัก
นับจากการก่อตั้ง ISIL เป้าหมายและการแสดงออกของกลุ่มนั้นชัดเจนและสอดคล้องกัน คือสถาปนารัฐอิสลามในอิรักกับซีเรีย การยึดพื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกซุนนีดูเป็นเรื่องง่าย แต่หาก ISIL ต้องการยึดอิรักทั้งประเทศ จะต้องยึดพื้นที่เขตปกครองของพวกเคิร์ดและชีอะห์ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ภายใต้ศักยภาพของกองกำลัง ISIL ในปัจจุบัน เป้าหมายเฉพาะหน้าที่ดูสมเหตุสมผลกว่าคือการควบคุมพื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกซุนนี หรือไม่ก็ให้สงครามกลางเมืองอิรักเป็นศึกยืดเยื้อ
3. โอบามาส่งสัญญาณแก้ปัญหา ISIL/ISIS ในอิรัก ด้วยการเสียสละของอัลมาลิกี
แม้ว่าประธานาธิบดีโอบามาจะประกาศว่าอนาคตของอิรัก ชาวอิรักต้องตัดสินใจเองในฐานะรัฐอธิปไตย งานศึกษาบางชิ้นให้ข้อสรุปว่ารัฐบาลสหรัฐคือผู้อยู่เบื้องหลังให้นายอัลมาลิกีก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทั้งๆ ที่รู้ซึ้งพฤติกรรมของนายกฯ อัลมาลิกี รัฐบาลโอบามายังสนับสนุนให้เขาดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 2 และขณะนี้มีข่าวว่ากำลังกดดันให้นายกฯ อัลมาลิกีลาออก เพื่อความปรองดองสมานฉันท์ แก้ปัญหาการก่อการของ ISIL/ISIS ในขณะนี้
4. อัลมาลิกีไม่ก้าวลงจากอำนาจ ผลกระทบต่อ ISIL/ISIS พวกซุนนีในอิรักและอื่นๆ
รัฐบาลโอบามาตั้งเงื่อนไขจะสนับสนุนรัฐบาลอิรักอย่างเต็มกำลังในการปราบปรามกลุ่มผู้ก่อการร้าย ISIL/ISIS ก็ต่อเมื่ออิรักได้รัฐบาลใหม่ ซึ่งหมายถึงนายกฯ อัลมาลิกีต้องพ้นจากอำนาจ นายกฯ อัลมาลิกีปฏิเสธข้อเรียกร้องและเห็นว่าเท่ากับเป็นการรัฐประหารรัฐธรรมนูญ การตัดสินใจดังกล่าวส่งผลต่อตัวแสดงสำคัญๆ เช่น การคงอยู่ของ ISIL ความสัมพันธ์ระหว่าง ISIL กับพวกซุนนีกลุ่มต่างๆ 
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป
บรรณานุกรม:
1.  Al-Qaeda’s real origins exposed. (2014, January 7). Press TV. Retrieved from http://www.presstv.ir/detail/2014/01/07/344160/alqaedas-real-origins-exposed/
2. Al Maliki fishing in troubled water. (2014, January 6). Gulf News. Retrieved from http://gulfnews.com/opinions/columnists/al-maliki-fishing-in-troubled-water-1.1274530
3. Parker, Ned. Why Iraq’s Most Violent Province Is a War Zone Again. (2014, January 4). Time. Retrieved from http://world.time.com/2014/01/04/why-iraqs-most-violent-province-is-a-war-zone-again/
4. Iraq moves up tanks, guns for looming Fallujah assault. (2014, January 7). Oman Observer/Reuters. Retrieved from http://main.omanobserver.om/?p=46217
5. Al Maliki fishing in troubled water. (2014, January 6). Gulf News. Retrieved from
http://gulfnews.com/opinions/columnists/al-maliki-fishing-in-troubled-water-1.1274530
6. Al-Qaeda urges Iraqi Sunnis not to lay down arms. (2014, January 7). Al Arabiya. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2014/01/07/Iraq-troops-failed-to-take-over-Anbar-capital.html
7. Cleveland, William L. & Bunton, Martin. (2013). A History of the Modern Middle East  (Fifth Edition). USA: Westview Press.
8. Al-Qaeda hasn't gone away, and is gaining. (2014, January 9). USA Today. Retrieved from http://www.usatoday.com/story/news/world/2014/01/07/al-qaeda-spread/4358845/
-----------------------------