ความพยายามของซาอุฯ ต่อการจัดการซีเรียกับอิหร่านด้วยลำพัง

เจ้าชาย Mohammed bin Nawaf bin Abdulaziz แห่งซาอุดิอาระเบียเขียนบทความลงสื่อ New York Times เมื่อต้นสัปดาห์ (17 ธันวาคม) ชี้ว่าหลายทศวรรษที่ผ่านมาชาติตะวันตกกับซาอุฯ ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์อันดีต่อกันนานหลายทศวรรษ แต่มาวันนี้ความสัมพันธ์เหล่านี้กำลังถูกทดสอบจากความเห็นต่างต่อเรื่องอิหร่านกับซีเรีย รัฐบาลซาอุฯ ไม่อาจทนนิ่งเงียบนิ่งเฉยอีกต่อไปเพราะนโยบายชาติตะวันตกต่ออิหร่านกับซีเรียหลายข้ออาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของภูมิภาคตะวันออกกลาง
มุมมองที่แตกต่าง:
            การที่เจ้าชายพูดว่าวิกฤตการณ์ซีเรียยังผลทำให้พลเรือนเสียชีวิตแล้วกว่าแสนราย และส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ กระสุนปืนใหญ่ที่ยิงใส่เขตพื้นที่พลเรือน เป็นความพยายามชี้ว่ารัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาดเป็นฝ่ายผิดกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ แต่หากมองในมุมของรัฐบาลซีเรีย ย่อมเห็นว่ารัฐบาลกำลังปกป้องกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่พยายามจะล้มล้างประเทศ และเป็นเรื่องจริงที่ว่าผู้ก่อการร้ายเหล่านี้มาจากหลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่พวกสายกลางจนถึงพวกที่อิงกับอัลกออิดะห์ที่ชาติตะวันตกประกาศว่าจะต้องปราบปราม นอกจากนี้ยังประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ ตั้งแต่พวกที่มาจากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง พวกที่มาจากทวีปแอฟริกาและแม้กระทั่งพวกที่มาจากยุโรป ความขัดแย้งในซีเรียจึงซับซ้อน ไม่อาจยุติได้ด้วยการเจรจากับฝ่ายต่อต้านเพียงไม่กี่กลุ่ม
            อีกสาเหตุที่ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตเป็นแสน คือ ทั้งฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านต่างได้รับการสนับสนุนปัจจัยการรบจากมิตรประเทศ กองทัพรัฐบาลอัสซาดได้จากรัสเซีย อิหร่าน ส่วนฝ่ายต่อต้านได้จากซาอุดิอาระเบียกับกาตาร์ และเชื่อได้ว่าบางส่วนมาจากอังกฤษ ฝรั่งเศสและสหรัฐ

            ต่อเรื่องอิหร่าน บทความได้กล่าวโจมตีชาติตะวันตกที่ยินยอมให้อิหร่านสามารถเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมต่อไป และด้วยความเชื่อที่ว่ารัฐบาลอิหร่านต้องการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ จึงเห็นว่าข้อตกลงที่เจนีวาเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนจะเป็นเหตุให้อิหร่านยังคงมีศักยภาพที่จะสร้างอาวุธร้ายแรงในอนาคต เป็นภัยคุกคามต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โลกอาหรับอย่างไม่สิ้นสุด
            ในขณะที่กลุ่ม P-5+1 เห็นด้วยกับข้อตกลงเจนีวา เพราะภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวโครงการนิวเคลียร์อิหร่านจะถูกจำกัดขอบเขตให้เป็นการใช้นิวเคลียร์ในทางสันติเท่านั้น หากพิจารณาเนื้อหาข้อตกลงจะพบว่ากิจกรรมนิวเคลียร์ทั้งหมดอยู่ภายใต้การตรวจตราอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) หากรัฐบาลอิหร่านในอนาคตตัดสินใจเดินหน้าพัฒนาโครงการเพื่อผลิตอาวุธนิวเคลียร์ เชื่อว่าจะถูกตรวจจับได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อนั้นชาติมหาอำนาจจะไม่ลังเลที่จะตอบโต้อย่างรุนแรง

จุดอ่อน:
            บทความของเจ้าชาย Mohammed bin Nawaf bin Abdulaziz พบว่ามีจุดอ่อนที่สำคัญ ดังนี้
            ประการแรก ขาดการให้ความสำคัญต่อบทบาทของรัสเซียกับจีน
            ตลอดทั้งบทความไม่ได้กล่าวถึงรัสเซียกับจีนซึ่งมีบทบาทสำคัญทั้งกรณีซีเรียกับอิหร่าน เป็นไปได้ว่าบทความดังกล่าวต้องการเจาะจงพูดถึงชาติตะวันตกเท่านั้น แต่ต้องตระหนักว่าไม่อาจเพิกเฉยต่อบทบาทของรัสเซียกับจีน ซึ่งเห็นชัดว่านโยบายรัฐบาลซาอุฯ ขัดแย้งกับสองประเทศนี้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะรัสเซียที่พยายามชี้ว่าฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียอาจเป็นผู้ใช้อาวุธเคมีสังหารประชาชน ชี้ว่าการใช้อาวุธเคมีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมทำให้พลเรือนหลายร้อยคนเสียชีวิตนั้นปราศจากหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าใครเป็นผู้ลงมือ เป็นเหตุผลหนึ่งทำให้รัฐบาลโอบามา อังกฤษและฝรั่งเศสต้องระงับแผนการโจมตีกองทัพรัฐบาลซีเรีย นอกจากนี้รัสเซียยังช่วยสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้า Bushehr จนแล้วเสร็จ เป็นหลักฐานชี้ว่ารัสเซียสนับสนุนการที่อิหร่านจะใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ

            ประการที่สอง รัฐบาลซาอุฯ พยายามผลักดันให้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่
            ที่สุดแล้ว หากสหรัฐกับชาติสมาชิกอียูบางประเทศ โดยเฉพาะฝรั่งเศสกับอังกฤษกระทำตามข้อเรียกร้องของซาอุฯ จะหมายถึงการโจมตีซีเรียโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ กดดันคว่ำบาตรอิหร่านเพื่อบีบรัฐบาลอิหร่านให้สละสิทธิ์การเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมเพื่อใช้ในทางสันติ อันเป็นสิทธิ์ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่อิหร่านพึงมีเฉกเช่นบรรดาประเทศทั้งหลายในโลก
            หากสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศสยอมกระทำตามโจมตีกองทัพรัฐบาลอัสซาด ประวัติศาสตร์โลกจะจารึกเรื่องนี้อย่างไร คนในรุ่นนี้และอนาคตจะรับรู้ว่ารัฐบาลสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศสอยู่ใต้การชี้นำของรัฐบาลซาอุฯ หรือไม่ หรือหากรัฐบาลโอบามาโจมตีซีเรียโดยลำพัง จะเป็นอีกครั้งที่ชาติมหาอำนาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่ เป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติหรือไม่

            ประการที่สาม แปลกแยกจากจุดยืนของรัฐบาลโอบามา
            หากรัฐบาลโอบามากระทำตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลซาอุฯ ประเทศสหรัฐอาจต้องพัวพันกับความวุ่นวายในซีเรียกับอิหร่านไปอีกนาน ไม่มีอะไรประกันได้ว่าการโจมตีทางอากาศจะช่วยโค่นล้มรัฐบาลอัสซาด และหากระบอบอัสซาดล่มสลายก็ใช่ว่าจะทำให้ซีเรียคืนสู่ความสงบสุข ตลอด 10 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่กองทัพสหรัฐโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนแห่งอิรัก จนมาถึงการล่มสลายของระบอบกัดดาฟี่แห่งลิเบีย ระบอบมูบารัคแห่งอียิปต์จากอาหรับสปริง ล้วนแต่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าประเทศเหล่านี้ยังไม่สงบสุข เป็นที่ถกเถียงว่าประชาชนของประเทศเหล่านี้ได้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหรือไม่
            และหากต้องการโค่นล้มระบอบอิหร่านคงต้องกระทำอีกหลายขั้นตอน กินเวลาอีกหลายปี รวมถึงอาจต้องส่งกองทัพนับแสนคนเข้าทำสงครามบนผืนแผ่นดินอิหร่าน
            ตลอด 5 ปีของการดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีโอบามาแสดงท่าทีลังเลใจต่อการโจมตีซีเรียมาโดยตลอด แม้มีข่าวเรื่องการใช้อาวุธเคมีที่ประธานาธิบดีโอบามาถือว่าเป็นการล้ำเส้นต้องห้ามก็ตาม ที่สุดแล้วประธานาธิบดีโอบามาโยนเรื่องการโจมตีซีเรียให้รัฐสภาตัดสินใจ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแปลกและไม่จำเป็น เนื่องจากในกรณีเช่นนี้ ประธานาธิบดีมีอำนาจเต็มสามารถสั่งใช้กำลังได้ด้วยตนเอง
            ทำนองเดียวกับกรณีโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน รัฐบาลโอบามายืนยันเสมอว่าโครงการดังกล่าวยังห่างไกลจากการพัฒนาเป็นอาวุธ พร้อมกับกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าต้องการแก้ไขปัญหานี้ด้วยวิถีทางการทูต
            เห็นชัดว่านโยบายของซาอุฯ แตกต่างจากนโยบายของรัฐบาลโอบามา

            ประการที่สี่ รัฐบาลซาอุฯ กำลังโดดเดี่ยวตัวเองหรือไม่
            เป็นที่เข้าได้ว่ารัฐบาลซาอุฯ ในฐานะพี่ใหญ่ของคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) พยายามมีบทบาทในโลกอาหรับ ย่อมต้องแสดงบทบาทผู้นำ ที่ผ่านมานับว่าประสบผลสำเร็จในหลายเรื่อง แต่การแสดงบทบาทโดยลำพังจะประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงไร ที่ผ่านมาเห็นอยู่แล้วว่าต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากชาติตะวันตก และแม้หลายประเทศสนับสนุนแต่สุดท้ายก็ไม่อาจประสบผลเสมอไป ดังนั้น หากซาอุฯ ยังพยายามดำเนินต่อด้วยตนเองตามลำพังจะได้ผลมากน้อยเพียงไร มีแต่จะยิ่งตอกย้ำจุดยืนที่แปลกแยกแตกต่างจากชาติตะวันตก แนวทางเช่นนี้จะเป็นการโดดเดี่ยวตนเองหรือไม่

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป:
            จากเรื่องราวทั้งหมด ทำให้ได้ข้อสรุปค่อนข้างชัดเจน หลายประการ ดังนี้
            ประการแรก รัฐบาลซาอุฯ อยู่เบื้องหลังกดดันสหรัฐ
            เหตุการณ์ที่รัฐบาลโอบามาทำท่าจะโจมตีทางอากาศต่อกองทัพอัสซาดหลังจากแสดงท่าทีลังเลใจนานนับปี เหตุการณ์ที่ซาอุฯ ปฏิเสธรับตำแหน่งสมาชิกชั่วคราวของคณะมนตรีความมั่นคง จนถึงบทความล่าสุดของเจ้าชาย Mohammed bin Nawaf bin Abdulaziz ล้วนชี้ว่าซาอุฯ คือประเทศหลักที่กดดันให้รัฐบาลโอบามาต่อต้านรัฐบาลอัสซาด จนถึงขั้นเรียกร้องให้โจมตีโค่นล้มระบอบอัสซาด
            ส่วนกรณีการคว่ำบาตรอิหร่านนั้น หากไม่นับรัฐบาลอิสราเอล ซาอุฯ กับพวกเป็นอีกฝ่ายที่ร้องขอรัฐบาลโอบามากดดันอิหร่านยกเลิกการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม รัฐบาลซาอุฯ อาจมีเป้าหมายที่ลึกกว่านี้ เพราะมองว่ารัฐบาลอิหร่านเป็นภัยคุกคามไม่ว่าจะด้วยอาวุธนิวเคลียร์ หรือกระแสอาหรับสปริงในบาห์เรน ที่รัฐบาลบาห์เรนอ้างว่ากลุ่มผู้ประท้วงอยู่ภายใต้การชี้นำของอิหร่าน

            ประการที่สอง ซาอุฯ ผู้จัดระเบียบตะวันออกกลาง
            เรื่องราวทั้งหมดนี้อธิบายได้ว่ารัฐบาลซาอุฯ กำลังจัดระเบียบตะวันออกกลางกับแอฟริกาตอนเหนือ เป็นการขยายบทบาทของซาอุฯ กับคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ระบอบซีเรียกับอิหร่านคือหนึ่งในเป้าหมายเฉพาะหน้าในขณะนี้ บทความของเจ้าชาย Mohammed bin Nawaf bin Abdulaziz เป็นเพียงการตอกย้ำความเป็นผู้นำภูมิภาคของซาอุฯ กล่าวโทษชาติตะวันตกโดยเฉพาะรัฐบาลโอบามา แต่ทั้งหมดนี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อนโยบายของสหรัฐแต่อย่างไร

          ประการที่สาม อนาคตที่ไม่แน่นอน
            นายบารัก โอบามากำลังจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครบ 5 ปีในต้นปีหน้า นั่นหมายความว่ารัฐบาลซาอุฯ ยังต้องอยู่ในกับนโยบายสหรัฐเช่นนี้ต่ออีก 3 ปี ต้องรอลุ้นว่าอีก 3 ปีจากนี้สหรัฐจะได้ประธานาธิบดีคนใหม่ที่มีนโยบายตรงข้ามกับประธานาธิบดีโอบามาหรือไม่ แม้มีความเป็นไปได้ต่ำแต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ในอนาคตสหรัฐอาจได้ประธานาธิบดีที่เห็นว่าควรส่งกองทัพเข้าตะลุยในดินแดนของซีเรียกับอิหร่าน เป็นหนึ่งในความเป็นไปได้ที่ควรเก็บไว้ในใจเสมอ สหรัฐกับชาติตะวันตกยังเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค
            อีกคำถามสำคัญคือ ภายใต้การจัดระเบียบตะวันออกกลางของซาอุฯ แผนการที่มีต่อประเทศอิสราเอลเป็นอย่างไร ในเมื่อรัฐบาลซาอุฯ กับประเทศในกลุ่ม GCC ยังคงแสดงความไม่พอใจต่อกรณีที่อิสราเอลกดขี่ข่มเหงปาเลสไตน์ อิสราเอลยังคงก่อสร้างบ้านเรือนลุกล้ำพื้นที่ยึดครองปาเลสไตน์มากขึ้นทุกที ในขณะที่อิสราเอลเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐ หากซาอุฯ ไม่สามารถจัดการซีเรียกับอิหร่าน การจะจัดการอิสราเอลจะยิ่งยากกว่านั้นสักเท่าใด จะคำนวณผลประโยชน์ระหว่างชาติตะวันตก กลุ่มซาอุฯ และอิสราเอลอย่างไร เป็นโจทย์ที่ต้องแก้สมการซับซ้อนหลายชั้น ยากแก่การตัดสินใจจริงๆ
22 ธันวาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6257 วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2556)
-----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ซาอุดิอาระเบียปฏิเสธเก้าอี้สมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ เมื่อศึกษาโดยละเอียดพบว่าทางการซาอุฯ ไม่พอใจการดำเนินนโยบายของรัฐบาลโอบามาต่อตะวันออกลาง ในยามที่ซาอุฯ กับมิตรประเทศอาหรับกำลังอยู่ระหว่างการจัดระเบียบตะวันออกกลาง
บรรณานุกรม:
1. Prince Mohammed bin Nawaf bin Abdulaziz. Saudi Arabia Will Go It Alone. New York Times. http://www.nytimes.com/2013/12/18/opinion/saudi-arabia-will-go-it-alone.html?_r=0. 17 December 2013.
2. Syria Foreign Ministry's letters to UN Security Council and the UN Secretary General. Armweeklynews. http://www.armweeklynews.am/awn/e12/en_1054.htm17 March 2012.
3. Putin to Cameron: No evidence Syria chemical weapons attack occurred. Tehran Times. http://www.tehrantimes.com/world/110333-putin-to-cameron-no-evidence-syria-chemical-weapons-attack-occurred. 27 August 2013.
4. Russia to Deliver Control of Bushehr N. Power Plant to Iran in 2 Months. FNA. http://english.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13920606000887. 28 August 2013.
5. Lynch, Marc. 2012. The Arab Uprising: The Unfinished Revolutions of the New Middle East. NY: Publicaffairs.
------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก