เผยธาตุแท้รัฐบาลจีน ญี่ปุ่นและสหรัฐ ผ่านการประกาศ ADIZ ของจีน
เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
รัฐบาลจีนประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (Air Defense
Identification Zone หรือ ADIZ) เหนือน่านฟ้าทะเลจีนตะวันออก
บางส่วนทับซ้อนเขตแสดงตนของประเทศใกล้เคียง ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและไต้หวัน
ทั้งยังทับซ้อนเขตแสดงตนของญี่ปุ่นเหนือหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุ เกิดวิวาทะระหว่างประเทศเหล่านี้และพัวพันถึงสหรัฐ
จนรองประธานาธิบดีโจ ไบเดนต้องรีบบินด่วนมาพูดคุยกับรัฐบาลญี่ปุ่น จีน
เกาหลีใต้เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
บทความนี้จะวิเคราะห์ตีแผ่ประเด็นสำคัญๆ
ของวิวาทะเหล่านี้โดยสังเขป ดังนี้
หลายประเทศ หลายมาตรฐาน:
ADIZ หรือเรียกสั้นๆ ว่าเขตแสดงตนไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก
รัฐบาลสหรัฐเป็นต้นคิดเรื่องนี้ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อกองทัพญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ล ฮาเบอร์ เป้าหมายคือเป็นส่วนหนึ่งของระบบเตือนภัยทางอากาศ
ให้เครื่องบินต่างชาติทุกลำที่บินตรงเข้าเขตอธิปไตยต้องแสดงตน
เพื่อให้เครื่องบินสหรัฐมีเวลาเข้าสกัดกั้นในกรณีที่เป็นเครื่องบินข้าศึก การแสดงตนดังกล่าวมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ยุคสงครามเย็น
กองทัพสหรัฐวางกฎเกณฑ์และระบบการป้องกันภัยดังกล่าวอย่างจริงจัง
รัฐบาลโอบามาและอีกหลายประเทศโจมตีว่ากฎเกณฑ์
ADIZ ของจีนไม่เหมาะสม เพราะภายใต้กฎเกณฑ์ของจีน
อากาศยานต่างชาติทุกลำจะต้องแสดงตน ไม่ว่าจะการบินตรงเข้าเขตแดนหรือเป็นเพียงการบินผ่านเขตแสดงตน
พร้อมกับอ้างว่าไม่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของสหรัฐ
ข้อวิพากษ์เรื่องนี้คือรัฐบาลโอบามา
ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ไม่ยอมพูดว่าแต่ละประเทศต่างวางกฎเกณฑ์ของตนตามใจชอบ กำหนดขอบเขตน่านฟ้าตามอำเภอใจ
ไม่มีมาตรฐานสากล การที่ ADIZ ของหลายประเทศสอดคล้องกับแนวทางของสหรัฐ
นั่นเป็นเพราะว่าเขตแสดงตนของประเทศเหล่านั้นเป็นพันธมิตรหรืออยู่ใต้อิทธิพลของสหรัฐ
สหรัฐเคยเป็นผู้กำหนดเขตแสดงตนของญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้
เรียกร้องขอการยอมรับ แต่ไม่ยอมรับของอีกฝ่าย:
เรียกร้องขอการยอมรับ แต่ไม่ยอมรับของอีกฝ่าย:
เมื่อรัฐบาลจีนประกาศ
ADIZ เหนือน่านฟ้าแถบทะเลจีนตะวันออก นายชินโซ อาเบะ
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศไม่ยอมรับเขตดังกล่าวทันที พลเอกชิเกรุ อิวาซากิ (Shigeru
Iwasaki) ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมญี่ปุ่นกล่าวว่า “(การประกาศ
ADIZ) เพียงฝ่ายเดียวเป็นเรื่องอันตราย”
ทางการจีนโจมตีว่าทั้งสหรัฐ
ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างก็มีเขตแสดงตนและเรียกร้องให้ประเทศอื่นปฏิบัติตาม
แต่เมื่อจีนประกาศเขตแสดงตนบ้างกลับปฏิเสธ ในยามที่สหรัฐ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะประกาศเขตแสดงตน
ทั้ง 3 ประเทศไม่ได้ปรึกษาหารือกับประเทศเพื่อนบ้านก่อน แต่ตอนนี้มากล่าวหาจีนว่าทำไมจึงไม่ได้ปรึกษาเพื่อนบ้านก่อน
ข้อเท็จจริงคือ
หลังรับมอบการปกป้องน่านฟ้าจากกองทัพสหรัฐเมื่อปี 1969
ญี่ปุ่นประกาศเพิ่มเขตแสดงตนอีกสองครั้ง ครั้งแรกในปี 1972 และครั้งล่าสุดคือเมื่อปี
2010 แต่รัฐบาลจีนไม่ยอมรับสักครั้ง จึงไม่แปลกใจหากทางการญี่ปุ่นจะไม่ยอมรับ
ADIZ ของจีนบ้าง
กรณีที่น่าสนใจที่สุดคือ
รัฐบาลสหรัฐเรียกร้องให้ทุกประเทศยอมรับ ADIZ ของตน
แต่กองทัพสหรัฐกลับไม่เคยยอมรับเขตแสดงตนของประเทศใด และเข้าสกัดกั้นอากาศยานรบทุกลำที่บินเข้าเขต
ADIZ ของตน
การประกาศ ADIZ
ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง:
ญี่ปุ่นอ้างว่าเครื่องบินรบจีนรุกล้ำน่านฟ้าญี่ปุ่น จึงต้องประกาศ
ADIZ เพื่อป้องกันตนเอง ในยามนี้เมื่อจีนประกาศ ADIZ ของตนบ้าง ญี่ปุ่นชี้ว่าจีนกำลังยั่วยุให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งๆ ที่ทุกประเทศอ้างเหตุผลเดียวกันว่าที่ต้องมีเขตแสดงตนก็เพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย
เพื่อเตือนอากาศยานที่บินล่วงล้ำเข้าใกล้
ญี่ปุ่นอ้างว่าการประกาศ ADIZ โดยไม่ปรึกษาหารือเป็นเรื่องอันตราย
แต่ญี่ปุ่นประกาศเขตแสดงตนถึง 3 ครั้งโดยไม่เคยปรึกษาจีน
ในเชิงหลักการ
รัฐบาลญี่ปุ่นมีสิทธิ์ที่จะคงแผนการลาดตระเวนกับปฏิบัติการทางทหารทุกอย่าง (โดยเฉพาะในเขตพื้นที่แสดงตนทับซ้อน
เขตน่านฟ้าที่ทุกฝ่ายเป็นกังวลมากที่สุด) แต่การยืนยันแผนปฏิบัติการเช่นเดิมย่อมเป็นตัวก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุรุนแรงโดยไม่คาดฝัน
ญี่ปุ่นมีสิทธิ์ที่จะเลือกเผชิญหน้าหรือเลือกที่จะหลีกเลี่ยง ในทำนองเดียวกัน
กองทัพจีนก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน คือสามารถเลือกที่จะยั่วยุหรือเลือกที่จะเลี่ยงความขัดแย้ง
เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นคือ
หลังการประกาศ ADIZ ได้เพียงวันเดียว
รัฐบาลจีนก็ส่งเครื่องบินลาดตระเวนสอดแนมไปตรวจการเหนือหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุ
ฝ่ายญี่ปุ่นตอบโต้ด้วยการส่งเครื่องบินรบเข้าสกัดกั้น ข้อสังเกตคือเป็นเพียงการสกัดกั้น
ไม่เกิดการปะทะ ทั้งสองฝ่ายระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุรุนแรง
ไม่อาจปฏิเสธว่าการเผชิญหน้าลักษณะดังกล่าวย่อมมีโอกาสกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น แต่นับจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา 2 ประเทศไม่เคยทำสงครามต่อกัน การสกัดกั้นอากาศยานเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นอยู่เสมอและเพิ่มมากขึ้นในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์หลายคนกังวลว่าอาจเกิดความรุนแรงโดยไม่ตั้งใจ ยกเหตุการณ์ใน 2001 เครื่องบินขับไล่จีนลำหนึ่งพุ่งชนเครื่องบินลาดตระเวน EP-3 ของสหรัฐ แต่ทุกอย่างย่อมอยู่ภายใต้การควบคุมของแต่ละฝ่ายว่าต้องการให้ความรุนแรงบานปลายหรือไม่ กรณี EP-3 เป็นหลักฐานที่ดี เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างกลับคืนสู่ภาวะปกติ
ไม่อาจปฏิเสธว่าการเผชิญหน้าลักษณะดังกล่าวย่อมมีโอกาสกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น แต่นับจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา 2 ประเทศไม่เคยทำสงครามต่อกัน การสกัดกั้นอากาศยานเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นอยู่เสมอและเพิ่มมากขึ้นในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์หลายคนกังวลว่าอาจเกิดความรุนแรงโดยไม่ตั้งใจ ยกเหตุการณ์ใน 2001 เครื่องบินขับไล่จีนลำหนึ่งพุ่งชนเครื่องบินลาดตระเวน EP-3 ของสหรัฐ แต่ทุกอย่างย่อมอยู่ภายใต้การควบคุมของแต่ละฝ่ายว่าต้องการให้ความรุนแรงบานปลายหรือไม่ กรณี EP-3 เป็นหลักฐานที่ดี เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างกลับคืนสู่ภาวะปกติ
ประเด็นที่ต้องไม่ลืมคือ
ไม่ว่าจะมี ADIZ หรือไม่ จีนกับญี่ปุ่นมีความขัดแย้งด้านความมั่นคงที่ชัดเจนและมากพออยู่แล้ว
ถ้าคู่กรณีต้องการให้ความขัดแย้งบานปลายย่อมกระทำได้ตลอดเวลาไม่จำต้องอ้างเขตแสดงตนของจีน
ดังนั้น ความกังวลว่า ADIZ
จะก่อให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่จึงเป็นการกล่าวเกินจริง
การช่วงชิงหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุ:
ในบรรดาการวิเคราะห์เหตุผลแรงจูงใจของจีน หลายคนเห็นพ้องต้องกันว่ารัฐบาลจีนมุ่งหวังผลประโยชน์จากกรณีข้อพิพาทหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุ รองประธานาธิบดีโจ ไบเดนกับนายกฯ อาเบะเห็นตรงกันว่าทางการจีนหวังผลเรื่องหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุ
เพื่อกดดันญี่ปุ่นให้ยอมเจรจาเรื่องกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะ เนื่องจาก ADIZ
ที่ประกาศมีส่วนทับซ้อนหมู่เกาะดังกล่าว
แต่คำกล่าวเหล่านี้เป็นการกล่าวอ้างเพียงฝ่ายเดียวทั้งสิ้น
เพราะทั้งจีนกับญี่ปุ่นต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะ ที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นไม่ยอมเจรจาเรื่องกรรมสิทธิ์
โดยอ้างว่าไม่มีเหตุต้องเจรจา เนื่องจากเป็นของตนโดยสมบูรณ์
หากมองในมุมของจีน
รัฐบาลจีนย่อมมีความชอบธรรมที่ปกป้องน่านฟ้าหมู่เกาะของตน
การประกาศเขตแสดงตนเหนือหมู่เกาะและพื้นที่โดยรอบจึงไม่ใช่เรื่องแปลก
หรือหากจีนจะพยายามช่วงชิงดินแดนของตนคืนย่อมเป็นการสมควร
และเช่นเคย
ประเทศคู่กรณีจะไม่ยอมถอยแน่นอน การอ้างกรรมสิทธิ์หมู่เกาะพิพาทจะคงสถานะเดิมต่อไป
เพียงแต่เพิ่มเรื่องการทับซ้อนของเขตแสดงตนอีกเรื่องหนึ่ง
สองมาตรฐานจากอเมริกาอีกแล้วหรือ:
มีการพูดถึงโอกาสที่เครื่องบินพลเรือนจะถูกยิง
โดยยกกรณีตัวอย่างในปี 1983
เมื่อเครื่องบินของสายการบินเกาหลีใต้ลำหนึ่งบินเข้าน่านฟ้าโซเวียตและถูกยิงตก นักบินกับผู้โดยสารทั้งหมด
269 คนเสียชีวิต ในเรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าโดยทั่วไปแล้วเครื่องบินพลเรือนจะไม่มีปัญหา
ยากที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะสายการบินจะส่งแผนการบินให้กับผู้ควบคุมภาคพื้นดินล่วงหน้า
มีการติดต่อกับผู้ควบคุมอยู่ตลอดเวลา
ปัญหาจึงอยู่กับสายการบินที่ไม่ยอมแสดงตน
ไม่ยอมส่งแผนการบินให้กับหน่วยงานจีน
ในตอนแรกทางการญี่ปุ่นพยายามกดดันห้ามสายการบินของประเทศไม่รายงานเส้นทางการบิน
ไม่แสดงตนต่อทางการจีน แต่เมื่อกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐแนะให้สายการบินสหรัฐแสดงตน
สื่อญี่ปุ่นก็พากันวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสหรัฐอย่างรุนแรง ชี้ว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดีแก่จีนและทำให้ประเทศในภูมิภาคสับสน
เกิดข้อสงสัยว่าสหรัฐยังเป็นผู้ปกป้องเสรีภาพในการบินของโลกดังที่อวดอ้างหรือไม่ เป็นพฤติกรรมสองมาตรฐานหรือไม่
เรื่องนี้ต้องเข้าใจว่าแต่ไหนแต่ไรรัฐบาลสหรัฐมีนโยบายให้เครื่องบินพลเรือนของตนทุกลำแสดงตนต่อต่างประเทศ
ด้วยเหตุผลเพื่อความปลอดภัยของพลเรือน อากาศยานที่ไม่แสดงตนคืออากาศยานของรัฐบาลเท่านั้น
ดังนั้นจึงไม่อาจโทษว่ารัฐบาลสหรัฐปฏิบัติสองมาตรฐาน
หลังการประชุมร่วมระหว่างรองประธานาธิบดีไบเดน
กับนายกฯ อาเบะ ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าความปลอดภัยของเครื่องบินพลเรือนเป็นเรื่องสำคัญ
ประเด็นนี้สามารถวิเคราะห์ได้หลายมุม ในมุมแรกคือรัฐบาลญี่ปุ่นพยายามใช้ประเด็นเครื่องบินพลเรือนเป็นเครื่องมือกดดันรัฐบาลจีน
แสดงท่าทีแข็งกร้าว ในอีกมุมหนึ่งอาจตีความว่ารัฐบาลอาเบะรู้ล่วงหน้าว่าทางออกของเรื่องนี้คืออะไร
แต่เพื่อป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามโจมตีว่าอ่อนแอ สูญเสียคะแนนนิยมจากพวกชาตินิยมญี่ปุ่น
จึงประกาศจุดยืนเรื่องการไม่แสดงตนของเครื่องบินพลเรือนไปก่อน พร้อมกับกล่าวโทษรัฐบาลสหรัฐที่ไม่เสมอต้นเสมอปลาย
ตอนจบของเรื่องนี้คือผู้นำสองประเทศได้เจรจาและเห็นพ้องต้องกันว่าความปลอดภัยของเครื่องบินพลเรือนต้องมาก่อน
ในระหว่างการเยือนจีนเพื่อแก้ไขปัญหาเขตแสดงตน
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกล่าวต่อรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตอกย้ำคำพูดเดิมๆ ว่า
“สองฝ่ายควรรักษาความสัมพันธ์ทวิภาคีในทิศทางที่ถูกต้อง
เคารพผลประโยชน์หลักและข้อกังวลของกันและกัน
กระตือรือร้นในการขยายความร่วมมือที่ทำได้จริง
จัดการประเด็นอ่อนไหวและความแตกต่างอย่างเหมาะสม”
รวมความแล้ว
การเยือนจีนของรองประธานาธิบดีไบเดนไม่สามารถยับยั้ง ADIZ
ของจีน ข้อสรุปที่ได้คือขอให้จีนกับญี่ปุ่นสร้างกลไกบริหารจัดการ สร้างช่องทางการสื่อสารระหว่างกันเพื่อป้องกันเหตุไม่คาดฝัน
เป็นแนวทางเดียวกับที่รัฐบาลจีนแสดงท่าทีตั้งแต่ต้น การเยือน 3 ประเทศของรองประธานาธิบดีไบเดนคือวิธีการที่ทำให้เรื่องราวทั้งหมดลงเอยด้วยดี
อันเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลทุกประเทศต้องการ แต่เรื่องราวจะจบเพียงเท่านี้หรือไม่ต้องติดตามต่อไป
8 ธันวาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6243 วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2556 และได้รับการเผยแพร่ผ่าน สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2556, http://www.thaizhong.org/index.php?option=com_content&view=article&id=4227:---adiz-&catid=63:articlespecialorther-cat&Itemid=100)
-------------------------
บรรณานุกรม:
1. Chao, Xie. China's ADIZ is for more than just Diaoyu
sovereignty. Global Times. http://www.globaltimes.cn/content/829275.shtml#.Up0_qdIW0Rk.
2 December 2013.
2. ADIZs common but China’s is worrisome. The Japan Times.
http://www.japantimes.co.jp/news/2013/11/25/reference/adizs-common-but-chinas-is-worrisome/#.Up1H0tIW0Rk.
25 November 2013.
3. Keck, Zachary. China Imposes Restrictions on Air Space
Over Senkaku Islands. The Diplomat. http://thediplomat.com/2013/11/china-imposes-restrictions-on-air-space-over-senkaku-islands/.
23 November 2013.
4. Background: Air Defense Identification Zones.
China Daily. http://www.chinadaily.com.cn/china/2013-11/27/content_17136149.htm.
27 November 2013.
5. Manicom, James. China’s air zone stirs tensions but
within rights. East Asia Forum. http://www.eastasiaforum.org/2013/11/30/chinas-air-zone-stirs-tensions-but-within-rights/.
30 November 2013.
6. Chang, Felix K. “Where
Will It End?: China’s East China Sea Air Defense Identification Zone”. The
Diplomat. http://www.fpri.org/geopoliticus/2013/11/where-will-it-end-chinas-east-china-sea-air-defense-identification-zone.
24 November 2013.
7. SDF, U.S. military say operations unaffected by China's
ADIZ. The Asahi Shimbun. http://ajw.asahi.com/article/behind_news/politics/AJ201311290064.
29 November 2013.
8. Chinese jets monitor US & Japan planes in China’s
ADIZ. Xinhua. http://news.xinhuanet.com/english/video/2013-12/01/c_132931510.htm.
1 December 2013.
9. Glaser, Bonnie S. China's ADIZ undermines regional
stability. Asia Times. http://www.atimes.com/atimes/China/CHIN-01-261113.html.
26 November 2013.
10. Japan, U.S. to continue coordinating on China’s air zone
issue. The Japan Daily Press. http://japandailypress.com/japan-u-s-to-continue-coordinating-on-chinas-air-zone-issue-0440449/.
4 December 2013.
11. China air zone divides US and its allies. Financial
Times. http://www.ft.com/intl/cms/s/0/7927a56e-5b47-11e3-a2ba-00144feabdc0.html#axzz2mNT0d2oK.
2 December 2013.
12. Xi urges US to respect China's core interests, properly handle differences.
People’s Daily. http://english.peopledaily.com.cn/90883/8475636.html.
5 December 2013.
-------------------