ออสเตรเลียดักฟังอินโดนีเซีย เรื่องที่เปิดเผย-ปกปิด และข้อเสนอแนะ
รัฐบาลของประธานาธิบดีซูซิโล
บัมบัง ยูโดโยโน ประท้วงการสอดแนมจากออสเตรเลีย หลังสื่อเปิดเผยข้อมูลของนายเอ็ดเวิร์ด
สโนว์เดน อดีตเจ้าหน้าที่ของซีไอเอและสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ชี้ว่าในปี
2009 หน่วยข่าวกรองออสเตรเลียดักฟังโทรศัพท์ผู้นำประเทศและบุคคลสำคัญของรัฐบาลรวม
10 คน ด้านนายโทนี แอบบอตต์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียอธิบายว่าการสอดแนมเป็นเรื่องปกติที่ทุกประเทศกระทำ
เป็นเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติ และออสเตรเลียกระทำเพื่อผลประโยชน์ของอินโดนีเซียด้วย
สองฝ่ายตอบโต้ไปมา ภายใต้วิวาทะเหล่านี้มีเรื่องที่เปิดเผยให้สาธารณชนทราบ
และมีอีกหลายเรื่องที่ถูกปกปิดหรือบิดเบือน
ประเด็นแรก
สอดแนมเฉพาะโทรศัพท์มือถือและกระทำต่ออินโดนีเซียเท่านั้นหรือ
นายมาร์ตี
นาตาเลกาวา รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ตั้งคำถามว่า
“ผมต้องการคำตอบอย่างยิ่งว่าทำไมการสนทนาส่วนตัวระหว่างท่านประธานาธิบดีกับภรรยาจึงสำคัญต่อความมั่นของออสเตรเลีย”
พร้อมกับเรียกร้องขอคำขอโทษ
ออสเตรเลียจะต้องให้คำมั่นว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก สองสามวันต่อมาเมื่อรัฐบาลแอบบอตต์ไม่ตอบสนองข้อเรียกร้อง
ประธานาธิบดียูโดโยโนออกโรงกล่าวด้วยตนเองว่า
“ประเทศอินโดนีเซียและข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่าทำไมออสเตรเลียจึงดักฟังเจ้าหน้าที่บางคน
รวมทั้งข้าพเจ้า นี่ไม่ใช่ยุคสงครามเย็น”
ข้อมูลที่เปิดเผยผ่านนายสโนว์เดนชี้ว่ามีการดักฟังโทรศัพท์มือถือผู้นำประเทศและบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล
แต่ในอีกมุมหนึ่งการย้ำเน้นหรือการจำกัดกรอบทำให้ประเด็นถูกบิดเบือนว่าเรื่องการสอดแนมบรรดาผู้บริหารประเทศเท่านั้น
ละเลยการสอดแนมอื่นๆ
การจะเข้าใจเรื่องราวการสอดแนมอย่างครบถ้วน จำต้องเข้าใจว่าหน่วยงานสอดแนมของออสเตรเลียอยู่ภายใต้ระบบเครือข่ายสอดแนมที่ใหญ่กว่า
หรือที่รู้จักกันในนาม “Five Eyes”
“Five Eyes”
คือ กลุ่มพันธมิตรเพื่อการสอดแนม 5 ชาติ ประกอบด้วย อังกฤษ แคนาดา
นิวซีแลนด์ ออสเตรเลียและสหรัฐฯ โดยมีสหรัฐฯ เป็นแกนนำ กลุ่มความร่วมมือนี้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ก่อนสงครามเย็น
หน่วยงานสอดแนมออสเตรเลียที่เรียกว่า Defence Signals Directorate (DSD) หรือชื่อปัจจุบันคือ Australian Signals Directorate
อยู่ในฐานะเป็น “ลูกข่าย” ที่มีสหรัฐฯ เป็น “แม่ข่าย”
ภายใต้กลุ่มดังกล่าวจะดำเนินการสอดแนมด้วยโครงการต่างๆ
หลายโครงการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย
หนึ่งในโครงการสอดแนมมีชื่อว่าโครงการ Echelon เป็นระบบเครือข่ายการสอดแนมที่สหรัฐฯ
ดำเนินการภายใต้กลุ่ม “Five Eyes” เพื่อดักจับสัญญาณทั่วโลก
ประกอบด้วยสัญญาณโทรศัพท์ แฟกซ์ อีเมล สัญญาณดาวเทียม สัญญาณไมโครเวฟ
สัญญาณโทรศัพท์มือถือ (cellular)
และสัญญาณที่ผ่านสายไฟเบอร์ออฟติก ผ่านสถานีดักฟังที่ติดตั้งตามจุดต่างๆ ทั่วโลก
รวมทั้งระบบดาวเทียมจารกรรม ดังนั้น การสอดแนมจึงไม่ได้กระทำต่อโทรศัพท์มือถือเท่านั้น
แต่กระทำผ่านช่องทางต่างๆ มากมาย
การป้องกันการดักฟังทางโทรศัพท์มือถืออย่างเดียวไม่อาจป้องกันการสอดแนมได้ทั้งหมด
เอกสารที่นายสโนว์เดนเปิดเผยชี้ว่ามีโครงการหนึ่งที่ชื่อว่า "Stateroom"
โครงการนี้คือการดักฟังสัญญาณจากอาคารสถานทูตของตนที่ตั้งอยู่ในประเทศต่างๆ
อุปกรณ์เครื่องมือสอดแนมจะได้รับการปกปิดหรือตกแต่งเพื่อไม่ให้บุคคลภายนอกล่วงรู้ว่าคืออะไร
จุดที่ติดตั้งอุปกรณ์คือสถานทูตของออสเตรเลียประจำกรุงจาการ์ตา กรุงเทพฯ ฮานอย
ปักกิ่ง กรุงดิลี (Dili) เมืองหลวงของติมอร์ตะวันออก
กรุงกัวลาลัมเปอร์ และพอร์ตมอร์สบี (Port Moresby) เมืองหลวงของปาปัวนิวกินี
ข้อมูลนี้จึงชี้ว่าทางการออสเตรเลียไม่ได้สอดแนมเฉพาะอินโดนีเซียเท่านั้น แต่กระทำต่อหลายประเทศตั้งแต่ปักกิ่งถึงกัวลาลัมเปอร์
หรือครอบคลุมเอเชียตะวันออกกับอาเซียน
แหล่งข้อมูลของอินโดนีเซียกล่าวในลักษณะทำนองนี้เช่นกัน ชี้ว่าภายใต้กลุ่ม
“Five Eyes” ออสเตรเลียทำหน้าที่สอดแนมหลายประเทศในเอเชีย
ส่วนนิวซีแลนด์รับผิดชอบฝั่งตะวันตกของแปซิฟิก การสอดแนมของออสเตรเลียจึงไม่ได้กระทำต่ออินโดนีเซียเพียงประเทศเดียวเท่านั้น
และกระทำในลักษณะเหมือนๆ กันคือติดตั้งอุปกรณ์ดักจับสัญญาณในสถานทูตของตนประจำประเทศต่างๆ
ประเด็นที่สอง
ต่างฝ่ายต่างสอดแนม
การจะกล่าวโทษรัฐบาลแอบบอตต์เพียงประเทศเดียวคงไม่ถูกต้อง
เพราะทางการออสเตรเลียสอดแนมมานานหลายยุคหลายสมัยแล้ว
มีข้อมูลว่าในทศวรรษ
1960 ออสเตรเลียสามารถล่วงรู้ข้อมูลลับของสถานทูตอินโดนีเซียในกรุงแคนเบอร์รา
เมืองหลวงออสเตรเลียที่ผ่านการเข้ารหัสโดยอาศัยเครื่องเข้ารหัส Hagelin ที่ผลิตจากสวีเดน เนื่องจากหน่วยงานข่าวกรอง GCHQ ของอังกฤษ
(ภายใต้ความร่วมมือ Five Eyes) ช่วยหน่วยงานข่าวกรองของออสเตรเลียในการถอดรหัสจากเครื่องดังกล่าว
แม้จะมีเรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้น
ทางการอินโดนีเซียทำการปรับปรุงระบบการเข้ารหัส ออสเตรเลียก็ยังคงพยายามดักจับข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
นาย Meidyatama Suryodiningrat
ให้ข้อมูลว่าหน่วยงานเข้ารหัสแห่งชาติของอินโดนีเซีย (Indonesia’s National
Encryption Agency) ได้แจ้งเตือนรัฐบาลซ้ำหลายครั้งว่าออสเตรเลียดักฟังการสื่อสารของสถานทูตอินโดนีเซียในกรุงแคนเบอร์ราตั้งแต่ปี
1991
นอกจากนี้สื่อ The Guardian รายงานว่า DSD ทำงานใกล้ชิดกับสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (National
Security Agency หรือ NSA) ในการสอดแนมข้อมูลจำนวนมหาศาลระหว่างการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
(United Nations Convention on Climate Change) ในปี 2007
ที่เมืองบาหลี อินโดนีเซีย
ข้อมูลเหล่านี้ชี้ว่าออสเตรเลียทำการสอดแนมอินโดนีเซียมานานแล้ว
และยังกระทำอยู่จนถึงทุกวันนี้
ในอีกมุมหนึ่ง
ทางการอินโดนีเซียสอดแนมออสเตรเลียเช่นกัน
สื่อ
The Australian กับ Sydney Daily Telegraph
ต่างรายงานว่าในปี 2004 นาย Abdullah Mahmud Hendropriyono
อดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองอินโดนีเซียยอมรับว่าทั้งสองประเทศต่างดักฟังซึ่งกันและกัน
รัฐบาลอินโดนีเซียเคยดักฟังโทรศัพท์ของนักการเมือง
ข้าราชการและการสื่อสารของกองทัพออสเตรเลีย และดักจับข้อมูลของสถานทูตออสเตรเลียในกรุงจาการ์ตาในช่วงปี
1999 ขณะเกิดวิกฤตการณ์ในติมอร์ตะวันออก ในตอนนั้นนายกฯ จอห์น โฮเวิร์ด (John
Howard) ของออสเตรเลียไม่ได้เอ่ยปากร้องขอคำขอโทษแต่ประการใด
หากจะกล่าวโทษทางการออสเตรเลียที่สอดแนมอินโดนีเซีย
ก็ต้องกล่าวโทษอินโดนีเซียที่สอดแนมออสเตรเลียด้วย
ประเด็นที่สาม ประชาชนน่าจะถูกสอดแนม อะไรเป็นเหตุผลของการกระทำเช่นนั้น
เว็บไซต์
Cryptome หรือที่นิยมเรียกกันว่า Wikileaks เปิดเผยข้อมูลลับของ NSA ว่า NSA ดักฟังโทรศัพท์ประชาชนจำนวนมาก เฉพาะในช่วงระหว่างวันที่ 10 ธันวาคม 2012
ถึง 8 มกราคม 2013 NSA (ราว 1 เดือน) ดักฟังโทรศัพท์ทั่วโลกรวม
124,800 ล้านครั้ง ประเทศที่ถูกดักฟังได้แก่ ปากีสถาน อัฟกานิสถาน อินเดีย อิรัก
ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐฯ อียิปต์ จอร์แดน เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลีและเนเธอร์แลนด์
แม้เอกสารที่เปิดเผยจะไม่กล่าวถึงการสอดแนมประชาชนอินโดนีเซีย
หากเทียบเคียงกับข้อมูลการสอดแนมในประเทศอื่นๆ ระบบการสอดแนมของ “Five
Eyes” มีความเป็นไปได้สูงว่าทางการออสเตรเลียไม่ได้สอดแนมเฉพาะบุคคลสำคัญอินโดนีเซียเพียง
10 คนเท่านั้น
ก่อให้เกิดคำถามว่าการสอดแนมประชาชนมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด
กระทำเพื่อประโยชน์ในเรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย
เรื่องอาชญากรรมข้ามชาติเท่านั้นหรือ มีการสอดแนมเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจด้วยหรือไม่
เนื่องจากมีข้อกล่าวหามานานแล้วว่าหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ทำงานร่วมกับภาคธุรกิจภายในประเทศ
สอดแนมให้กับภาคธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน คุณวิเวียน เรดดิง (Viviane
Reding) คณะกรรมาธิการยุโรปด้านการยุติธรรมของสหภาพยุโรป (European
Union Commissioner for Justice) ตั้งคำถามว่า “ทำไมจึงดักฟังการสนทนาทางโทรศัพท์ของชาวยุโรปผู้บริสุทธิ์นับล้านคน
นี่ไม่ใช่การต่อสู้กับลัทธิก่อการร้าย
บางทีอาจเป็นการกระทำเพื่อจะได้ข้อมูลลับทางการค้า”
ข้อเสนอแนะ:
ที่ผ่านมารัฐบาลยูโดโนโยกระทำการหลายอย่างคล้ายรัฐบาลเยอรมัน
เช่น แสดงท่าทีเอาจริงเอาจัง ให้ความสำคัญกับการดักฟังผู้นำประเทศ นักการเมือง
เรียกร้องคำขอโทษ และพยายามร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เพื่อผลักดันข้อมติสมัชชาสหประชาชาติต่อต้านการดักฟังดังกล่าว
แต่ยังมีบางเรื่องที่ไม่ได้ทำอย่างจริงจัง เช่น การโยงเรื่องราวให้ครบถ้วน
ให้ถึงรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เป็น “แม่ข่าย” ของระบบการสอดแนม และการแสดงบทบาทในฐานะหนึ่งในชาติสมาชิกอาเซียน
ถ้าอินโดนีเซียแสดงบทบาทครบถ้วนมากกว่านี้
จะเป็นอีกครั้งที่แสดงบทบาทพี่ใหญ่ ผู้นำของภูมิภาค ดังที่เช่นรัฐบาลเยอรมันแสดงบทบาทผู้นำยุโรป
ผู้นำโลกในการต่อต้านการดักฟังจากสหรัฐฯ ในกรณีของอินโดนีเซียอาจปรับบทเล็กน้อยให้เข้ากับแนวทางอาเซียน
คือไม่กะโตกกะตากมากจนเกินไปหรือกลายเป็นข้อพิพาทใหญ่โต
อาเซียนนิยมการปิดห้องคุยมากกว่า
ในขณะนี้เยอรมนี
บราซิลและอีกหลายประเทศได้เสนอร่างข้อมติเข้าสู่สมัชชาสหประชาชาติ อินโดนีเซียอาจเสนอเป็นข้อมติของอาเซียนเป็นประการแรก
จากนั้นจึงค่อยร่วมปรึกษาหารือกับนานาชาติเพื่อรวมเป็นข้อมติประชาคมโลกอีกทอด
ทุกประเทศล้วนมีหน่วยข่าวกรองเพื่อทำงานด้านความมั่นคงของประเทศ
แต่การสอดแนมที่เลยเถิด ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงโลก เช่น
การต่อต้านการก่อการร้ายสากล อาชญากรรมข้ามชาติ ก่อให้เกิดคำถามว่าการสอดแนมประชาชนทั่วไปเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่
อะไรคือจุดมุ่งหมายแอบแฝง เป็นคำถามเดียวกับที่ตั้งข้อสงสัยกรณีการดักฟังโทรศัพท์ของผู้นำอินโดนีเซียกับภรรยา
ภายใต้สถานการณ์ในขณะนี้หากรัฐบาลอินโดนีเซียแสดงบทบาทปกป้องการดักฟังประชาชนทั่วทั้งภูมิภาค
ก็จะก่อประโยชน์ทั้งต่อการเมืองภายในประเทศ
ผลประโยชน์แห่งชาติของอินโดนีเซียและส่งผลดีต่อภูมิภาคไม่มากก็น้อย
6 ธันวาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ได้รับการเผยแพร่ผ่าน ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2556, http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1301)
(ได้รับการเผยแพร่ผ่าน ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2556, http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1301)
----------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
1. ผลประโยชน์แห่งชาติร่วมและการขัดแย้งกรณีออสเตรเลียดักฟังอินโดนีเซียอินโดนีเซียกลายเป็นอีกประเทศที่มีปัญหากับการสอดแนมดักฟังโทรศัพท์ผู้นำประเทศ รัฐบาลยูโดโยโน แสดงท่าทีแข็งกร้าวทั้งทางวาจาอื่นๆ เพราะกระทบต่อความมั่นคง กระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติ แต่รัฐบาลแอบบอตต์ยืนยันว่าการสอดแนมเป็นเรื่องปกติ ปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของตนเช่นกัน
ในยามที่การสอดแนม การจารกรรมจาก NSA กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั่วโลก คุณอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมันได้ประกาศนโยบายต่อต้านการสอดแนมอันเกินกว่าเหตุ
ด้วยการริเริ่มและการดำเนินอย่างจริงจัง
ทำให้อีกหลายประเทศทั่วโลกต่างเข้ามาประสานพลัง ต่อต้านการสอดแนมจาก NSA และได้เห็นแบบอย่างภาวะผู้นำโลกของเยอรมนีในหลายด้าน
1. ฉันทิมา อ่องสุรักษ์. 2550.
เครื่องมือดำเนินนโยบายต่างประเทศ: งานข่าวกรอง. กรุงเทพ:
ส่องศยาม.
2.Indonesia Recalls Ambassador From Australia Over Spy
Allegations. Jakarta Globe. http://www.thejakartaglobe.com/news/indonesia-recalls-ambassador-from-australia-over-spy-allegations/.
18 November 2013.
3. Indonesia Suspends People Smuggling Cooperation Following
Australia Spy Scandal. Jakarta Globe/AFP. http://www.thejakartaglobe.com/news/indonesia-suspends-intelligence-military-cooperation-with-australia/.
20 November 2013.
4. Whitehead, John W. Obama, NSA Spying and the Dangers
of Secretive, Authoritarian Government. http://www.informationliberation.com/?id=45402.
4 November 2013.
5. Revealed: Britain's 'secret listening post in the heart
of Berlin'. The Independent. http://www.independent.co.uk/news/uk/home-news/revealed-britains-secret-listening-post-in-the-heart-of-berlin-8921548.html.
5 November 2013.
6. Australia reportedly spies on Indonesia
president . The Jakarta Post/AP. http://www.thejakartapost.com/news/2013/11/18/australia-reportedly-spies-indonesia-president.html.
18 November 2013.)
7. Suryodiningrat, Meidyatama, Cold War mentality
goes too far. The Jakarta Post. http://www.thejakartapost.com/news/2013/11/19/commentary-when-australia-s-cold-war-mentality-goes-too-far.html.
19 November 2013.
8. Dorling, Philip. The latest revelations will cause
further diplomatic embarrassment, but Australia isn't going to stop spying. The
Age. http://www.theage.com.au/federal-politics/political-opinion/canberra-doesnt-trust-jakarta-20131118-2xr3i.html.
18 November 2013.
9. Australia's spy agencies targeted Indonesian president's
mobile phone. The Guardian. http://www.theguardian.com/world/2013/nov/18/australia-tried-to-monitor-indonesian-presidents-phone.
18 November 2013.
10. Indonesia ‘Downgrading’ Australia Ties Amid Spying Row. Jakarta
Globe/AFP. http://www.thejakartaglobe.com/news/indonesia-downgrading-australia-ties-amid-spying-row/.
20 November 2013.
11. Leak Reveals NSA Spied on 46 Million Italian Phone
Calls. Corriere della Sera. http://www.corriere.it/13_ottobre_28/leak-reveals-NSA-spied-on-46-million-italian-phone-calls-1ae5c508-3fc7-11e3-9fdc-0e5d4e86bfe5.shtml.
28 October 2013.
12. “EU official alleges NSA sought
economic edge for U.S.” CBS News. http://www.cbsnews.com/8301-202_162-57609911/eu-official-alleges-NSA-sought-economic-edge-for-u.s/.
29 October 2013.
13. Lowenthal, Mark. 2009. Intelligence: From Secrets to
Policy. 4th edition. USA: CQ Press.
----------------