การพัวพันของอาเซียนกับทางออกของ ADIZ
การประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ
(Air Defense Identification Zone หรือ ADIZ) ของจีนเหนือน่านฟ้าทะเลจีนตะวันออก นอกจากเกี่ยวพันกับประเทศญี่ปุ่น
เกาหลีใต้ และไต้หวันโดยตรงแล้ว ยังพัวพันประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอาเซียน หากคิดในแง่ลบ
คิดถึงการเผชิญหน้าทางทหารที่จะรุนแรงมากขึ้นในวันข้างหน้า ยิ่งชวนให้คิดหาทางออกสกัดกั้นเหตุร้ายเหล่านั้น
บทความนี้จะวิเคราะห์การเข้ามาพัวพันของอาเซียน
พร้อมข้อเสนอแนะทางออกบางประการ ดังนี้
ความวิตกกังวลของอาเซียน การประกาศเขตแสดงตนในอนาคต:
ADIZ
หรือเขตแสดงตนของจีนที่ประกาศเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนไม่มีผลต่อความมั่นคงของชาติสมาชิกอาเซียนโดยตรง
สายการบินพลเรือนของกลุ่มประเทศอาเซียนหลายสายแสดงตนต่อทางการจีนเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร
ส่วนในทางการเมืองระหว่างประเทศ แรงตึงเครียดจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกกระทบต่ออาเซียน
เกิดภาวะชวนให้หวั่นวิตกพอสมควร
ในตอนที่รัฐบาลจีนประกาศเขตแสดงตนนั้น
ได้พูดทิ้งท้ายว่าอาจประกาศเขตแสดงตนเพิ่มเติมในอนาคต ถ้าตีความเรื่องนี้ในแง่บวกอาจตีความได้ว่ารัฐบาลจีนย่อมไม่พูดแบบปิดทางตนเอง
จำกัดตนเองว่าจะไม่ประกาศเขตแสดงตนอีกแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่มีความตั้งใจที่จะประกาศเพิ่มในระยะเวลาอันใกล้
ประโยคดังกล่าวไม่น่ามีผลกระทบต่อสถานการณ์ทะเลจีนใต้แต่อย่างไร แต่ถ้าตีความในแง่ลบ
โดยพิจารณาขีดความสามารถของกองทัพจีนที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ พิจารณาจากชาติสมาชิกอาเซียนบางประเทศที่ขัดแย้งกับจีนไม่แตกต่างจากกรณีของทะเลจีนตะวันออก
ย่อมไม่อาจละทิ้งความคิดว่าในวันข้างหน้าจีนจะประกาศเขตแสดงตนในทะเลจีนใต้
หากคาดการณ์โดยเทียบเคียงกรณีทะเลจีนตะวันออก จีนอาจเริ่มต้นเลือกประกาศบางเขต
โดยให้กินบริเวณครอบคลุมพื้นที่ข้อพิพาทอ้างกรรมสิทธ์ทับซ้อน เช่น หมู่เกาะสแปรตลีย์
หมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ และหมู่เกาะพาราเซล เมื่อถึงวันนั้นจะเกี่ยวข้องกับชาติสมาชิกอาเซียนหลายประเทศ
และเกี่ยวข้องกับสมาคมอาเซียนโดยตรงเนื่องจากเป็นคู่เจรจากับจีนในการแก้ปัญหาทะเลจีนใต้
ผลที่ตามมาอาจเป็นเหตุให้ชาติสมาชิกอาเซียนบางประเทศต้องอิงสหรัฐมากขึ้น ยอมให้สหรัฐมีบทบาทเพิ่มขึ้นไม่ต่างจากที่รัฐบาลอาเบะกับรัฐบาลของประธานาธิบดีปาร์ค
กึนเฮ (Park Geun-hye) เรียกร้องให้รัฐบาลโอบามาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เป็นข้ออ้างอย่างดีให้สหรัฐใช้ขยายบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศ ขยายบทบาททางทหารในภูมิภาคนี้
รัฐบาลจีนย่อมคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ และต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์กับอาเซียนโดยรวม
ในอีกมุมหนึ่ง หากคู่กรณีของจีนในทะเลจีนใต้ยั่วยุจีนมากขึ้น อาจเป็นเหตุให้รัฐบาลจีนตัดสินใจประกาศเขตแสดงตนได้เช่นกัน
ในกรอบของอาเซียนเชื่อว่าอาเซียนมีกระบวนการจัดการเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว การให้ชาติมหาอำนาจ
2 ประเทศเผชิญหน้าในทะเลจีนใต้ย่อมไม่ส่งผลดีต่อเสถียรภาพของภูมิภาค
นอกจากนี้ การประกาศเขตแสดงตนของประเทศหนึ่งมักกระตุ้นให้อีกประเทศโต้ตอบด้วยหลากหลายวิธี
เช่น เพิ่มการลาดตระเวนทางอากาศ ประกาศว่าจะซื้อเครื่องบินรบรุ่นใหม่
รวมทั้งการประกาศขยายเขตแสดงตน ดังที่รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศขยายเขตแสดงตนเพื่อตอบโต้รัฐบาลจีน
ทำให้เกิดเขตแสดงตนทับซ้อนเพิ่มขึ้น ความขัดแย้งที่มีอยู่เดิมซับซ้อนยิ่งขึ้น
เกิดวิวาทะซ้อนวิวาทะ
ประเด็นนานาชาติ อาเซียนถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้อง:
ประเด็นนานาชาติ อาเซียนถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้อง:
นอกจากความกังวลที่จีนอาจประกาศเขตแสดงตนในทะเลจีนใต้
อีกประเด็นที่ควรให้ความสำคัญคือการที่บางประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นพยายามดึงอาเซียนเข้าเป็นพวก
หรืออย่างน้อยให้อาเซียนแสดงท่าทีสนับสนุน
ความพยายามดึงหลายประเทศเข้าเกี่ยวข้อง เป็นการดำเนินนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่น่าสนใจ
ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุ
รัฐบาลอาเบะพยายามดึงรัฐบาลสหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง กดดันรัฐบาลโอบามาด้วยการไม่ให้สายการบินพลเรือนของตนยอมรับ
ADIZ ของจีน แต่เมื่อรัฐบาลโอบามาไม่รับลูก พยายามลดความตึงเครียด
แนะนำให้จีนกับญี่ปุ่นจัดตั้งกลไกป้องกันเหตุไม่คาดฝัน ดูเหมือนว่ารัฐบาลอาเบะยังเห็นว่าไม่เพียงพอ
หันมาเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมต่อต้านเขตแสดงตนของจีน ดังที่นายอิสึโนริ
โอโนะเดระ (Itsunori Onodera) รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่นกล่าวขณะเยือนฟิลิปปินส์ว่า
“ข้าพเจ้าคิดว่าโลกจะต้องรับรู้ตรงกันว่าพฤติกรรมที่กระทำโดยฝ่ายเดียวของปักกิ่งไม่ควรเพิ่มความตึงเครียดแก่ภูมิภาค”
แม้จะพูดว่าต้องการให้ทั่วโลกรับรู้ แต่ย่อมตีความได้ว่าเป้าหมายของญี่ปุ่นหมายถึงประเทศในเอเชียแปซิฟิก
โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน
ล่าสุด ในการประชุมระหว่างญี่ปุ่นกับสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ชาติที่เริ่มต้นเมื่อวันศุกร์
แม้ไม่ได้เอ่ยชื่อประเทศจีน นายกฯ อาเบะพูดเป็นนัยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญที่ญี่ปุ่นกับอาเซียนต้องร่วมมือกันต่อต้านจีน
ด้านประธานาธิบดีซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน แห่งอินโดนีเซียกล่าวว่า
“อินโดนีเซียเข้าใจผลประโยชน์ของญี่ปุ่นเรื่องการขยายบทบทความมั่นคง” ในภูมิภาค พร้อมกับกล่าวถึงทะเลจีนใต้ที่มีความขัดแย้งเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ว่า
“อินโดนีเซียกังวลอย่างยิ่งว่าความขัดแย้งเหล่านี้”
ถ้าระเบิดออกจะส่งผลกระทบต่อหลายประเทศ
ข้อเสนอแนะ ทางออก:
ประการแรก เป้าหมายคือลดความตึงเครียด ลดโอกาสที่จะเกิดเหตุร้ายไม่คาดฝัน
ลักษณะเด่นประการหนึ่งของ ADIZ หรือเขตแสดงตน คือ
ไม่มีมาตรฐานสากล แต่ละประเทศประกาศ กำหนดเขต และวางกฎเกณฑ์ตามแต่เห็นสมควร ไม่มีประเทศใดสามารถห้ามอีกประเทศหนึ่งไม่ให้ประกาศเขตแสดงตน
ดังนั้น เป้าหมายของการแก้ไขจึงไม่ใช่การห้ามการประกาศ ADIZ
แต่อยู่ที่การลดความตึงเครียด ลดโอกาสที่จะเกิดเหตุร้ายไม่คาดฝัน
ประการที่สอง
ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องต้องมีส่วนร่วม
นายหม่าอิงจิ่ว
ประธานาธิบดีไต้หวันเป็นผู้นำที่แสดงท่าทีดังกล่าวตั้งแต่ต้น เรียกร้องให้ทุกประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องเจรจาเพื่อหาทางออก
มีข่าวว่าญี่ปุ่นกำลังหารือกับชาติสมาชิกอาเซียนเพื่อการเดินอากาศอย่างปลอดภัย
พาดพิงกรณีการประกาศเขตแสดงตนของจีน การเจรจาในประเด็นนี้จะสำเร็จได้ด้วยการเชิญทุกประเทศที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเจรจา
ซึ่งรวมถึงประเทศจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และอาจต้องรวมสหรัฐกับรัสเซียด้วย ในการนี้สมาคมอาเซียนสามารถแสดงตนเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผ่านกลไกของอาเซียนที่มีอยู่
ประการที่สาม ความปลอดภัยของผู้โดยสารต้องมาก่อน
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศกับความมั่นคงทางทหารเป็นหลัก
ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชน การเดินทางโดยเครื่องบินพลเรือนทั้งหลายต้องได้รับประกันว่าจะปลอดภัย
ไม่ควรให้มีข้ออ้างใดๆ ที่จะกระทบต่อเสรีภาพการเดินทาง ความปลอดภัยของประชาชน
หลายทศวรรษที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐมีนโยบายให้เครื่องบินพลเรือนของตนทุกลำแสดงตนต่อต่างประเทศ
เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร เรื่องนี้ควรเป็นหลักสากล ส่วนกรณีน่านฟ้าที่เป็นข้อพิพาทอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนและมีโอกาสเสี่ยงสูง
เช่น เขตแสดงตนทับซ้อนเหนือหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุ ควรใช้วิธีหลีกเลี่ยงเส้นทาง หรือมีข้อตกลงระหว่างประเทศที่ชัดเจน
ประการที่สี่
ตั้งกลไกประสานงาน ระบบติดต่อสื่อสาร
ตั้งแต่เริ่มประกาศเขตแสดงตน
ทางการจีนพูดชัดว่ามุ่งหวังให้เขตแสดงตนเป็นเขตแห่งความปลอดภัย ไม่เกิดเหตุเสี่ยง
เป็นเขตแห่งความร่วมมือไม่ใช่การแข่งขัน ยินดีที่จะสื่อสาร
ปรึกษาหารือกับประเทศต่างๆ เพื่อรักษาความปลอดภัยในการเดินอากาศ
เพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและการพัฒนาของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
สอดคล้องกับแนวทางของสหรัฐที่เสนอให้จัดตั้งกลไกบริหารจัดการวิกฤติ
ช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันเหตุไม่คาดฝัน เชื่อว่าประเทศส่วนใหญ่น่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว
ในขณะนี้มีเพียงญี่ปุ่นเท่านั้นที่ยังไม่ยอมเจรจาจัดตั้งกลไกประสานงาน
เนื่องจากติดเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์หมู่เกาะ รัฐมนตรีกลาโหมโอโนะเดระกล่าวว่า
“ภายใต้ ADIZ ของจีน หมู่เกาะเซนกากุกลายเป็นดินแดนของจีน
และด้วยข้อสรุปเช่นนี้ทำให้เราไม่สามารถยอมรับการเจรจาใดๆ” ท่าทีดังกล่าวจึงเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาระหว่างญี่ปุ่นกับจีน
โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่รัฐบาลอาเบะมีท่าทีแข็งกร้าว แต่ไม่น่าจะกระทบต่อประเทศอื่นๆ
ประการที่ห้า
จัดทำมาตรฐานสากล
ในระยะยาวควรจัดทำเป็นมาตรฐานสากล เช่น กำหนดแนวทางการปรึกษาหารือกับเพื่อนบ้านที่เกี่ยวข้องล่วงหน้า
ดังเช่นกรณีการประกาศขยายเขตแสดงตนของเกาหลีใต้ ที่ได้ปรึกษากับกับสหรัฐ
ญี่ปุ่นและจีนล่วงหน้า
กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อรักษาเสรีภาพการบิน ความปลอดภัยของการบินทั้งเครื่องบินพลเรือนและอากาศยานกองทัพ
ให้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมโดยไม่กระทบต่ออธิปไตยหรือการอ้างกรรมสิทธิ์ที่เป็นข้อพิพาท
อันจะช่วยให้ง่ายต่อการยอมรับและระงับการยั่วยุจากเขตแสดงตนของประเทศต่างๆ ไม่ควรให้ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศเป็นข้ออ้างหรือข้อจำกัด
แนวทางเหล่านี้ไม่ได้ห้ามหรือกีดกันการประกาศเขตแสดงตน
แต่เพื่อลดความขัดแย้งให้เหลือน้อยที่สุด ลดความหวาดระแวง และโอกาสที่จะเกิดเหตุร้ายไม่คาดฝันให้ต่ำที่สุด
การประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ หรือ ADIZ มีจุดเริ่มต้นในช่วงทศวรรษ 1950 ในยุคสงครามเย็น ไม่น่าเชื่อว่ากว่า 2 ทศวรรษแล้วที่โลกผ่านพ้นยุคสงครามเย็น
แต่เขตแสดงตนยังคงอยู่ และเพิ่มขึ้นทั้งในเชิงประเทศที่เริ่มประกาศใช้กับการขยายขนาด
ตอกย้ำแนวคิดที่ว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคือจุดที่ความตึงเครียดกำลังก่อตัวรุนแรงมากขึ้น
ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้อาเซียนไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรแสดงบทบาทมีส่วนในการจัดการปัญหา
เพื่อให้ทุกประเทศใช้เขตแสดงตนในทางสันติดังที่กล่าวอ้าง ความร่วมมือแก้ปัญหาดังที่เสนอแนะจะเป็นเครื่องสะท้อนเจตนาของแต่ละประเทศได้พอสมควร
15 ธันวาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6250 วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2556)
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6250 วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2556)
--------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
การประกาศ ADIZ หรือเขตแสดงตนของจีนนำมาซึ่งวิวาทะจากประเทศที่เกี่ยวข้อง
บ้างเห็นว่าเขตแสดงตนของจีนผิดจากมาตรฐานสากล
บ้างเห็นว่าเป็นการยั่วยุให้เกิดความขัดแย้ง บ้างเห็นว่าจีนต้องการแย่งชิงหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุ
แต่ความจริงแล้ว ADIZ ไม่มีมาตรฐานสากล สามารถเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการยั่วยุ
กรรมสิทธิ์หมู่เกาะยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ แต่ผู้นำประเทศของแต่ละรัฐบาลต้องหาทางออกที่เหมาะสม
มีปัจจัยการเมืองภายในเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
บรรณานุกรม:
1. Chinese ADIZ in East China Sea: Posers for India.The
Institute for Defence Studies and Analyses. http://www.idsa.in/idsacomments/ChineseADIZinEastChinaSeaPosersforIndia_agupta_021213.
2 December 2013.
2. Saleem, Omar. 2000. The Spratly Islands Dispute: China
Defines the New Millennium. American University International Law Review.
15, no. 3 (2000). http://www.wcl.american.edu/journal/ilr/15/saleem.pdf.
3. Southeast Asia eyes Chinese air zone expansion. The
Christian Science Monitor. http://news.yahoo.com/southeast-asia-eyes-chinese-air-zone-expansion-000009354.html.
6 December 2013.
4. Seoul to declare new air defense zone. The Korea Times.
http://www.koreatimes.co.kr/www/news/nation/2013/12/120_147272.html. 2 December
2013.
5. Japan, U.S. to continue coordinating on China’s air zone
issue. The Japan Daily Press. http://japandailypress.com/japan-u-s-to-continue-coordinating-on-chinas-air-zone-issue-0440449/.
4 December 2013.
6. ‘China’s planned ADIZ over West Phl Sea to trigger
tension’. The Philippine Star. http://www.philstar.com/headlines/2013/12/08/1265559/chinas-planned-adiz-over-west-phl-sea-trigger-tension.
8 December 2013.
7. Japan-ASEAN summit statement to call for free air space
over high seas. Japan Times. http://www.japantoday.com/category/politics/view/japan-asean-summit-statement-to-call-for-free-air-space-over-high-seas.
7 December 2013.
8. Defense Ministry spokesman on China's air defense
identification zone. Xinhua. http://news.xinhuanet.com/english/china/2013-12/03/c_132938762.htm.
3 December 2013.
9. China's aggressive air zone rattles a suspicious region. The
Christian Science Monitor. http://news.yahoo.com/china-39-aggressive-air-zone-rattles-suspicious-region-000004431.html.
6 December 2013.
10. “Bigger KADIZ will take effect Dec.15”. The Korea
Times. http://www.koreatimes.co.kr/www/news/nation/2013/12/116_147597.html.
8 December 2013.
11. Indonesia Signals Concerns Over Regional Security. Wall
Street Journal. http://online.wsj.com/news/articles/SB10001424052702303293604579255361492865686.
13 December 2013.
12. Japan, Asean can play 'proactive role for peace',
says Abe . The Jakarta Post. http://www.thejakartapost.com/news/2013/12/13/japan-asean-can-play-proactive-role-peace-says-abe.html.
13 December 2013.
-----------------