ผลประโยชน์แห่งชาติร่วมและการขัดแย้ง กรณีออสเตรเลียดักฟังอินโดนีเซีย
รัฐบาลอินโดนีเซียเรียกตัวเอกอัครราชทูตประจำออสเตรเลียกลับประเทศหลังจากมีข้อมูลว่าหน่วยข่าวกรองออสเตรเลียดักฟังโทรศัพท์มือถือผู้นำประเทศ
นายมาร์ตี นาตาเลกาวา (Marty Natalegawa) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกล่าวโจมตีโดยอ้างอิงข้อมูลของนายเอ็ดเวิร์ด
สโนว์เดนที่เปิดเผยผ่านสื่อว่าเมื่อปี 2009 หน่วยข่าวกรองออสเตรเลียสอดแนมบุคคลสำคัญของอินโดนีเซีย
10 คน ได้แก่ ประธานาธิบดีกับภรรยาและบุคคลในรัฐบาลอีก 8 คน พฤติกรรมดังกล่าวเป็น
“การกระทำที่ไม่เป็นมิตร ไม่ใช่ลักษณะความสัมพันธ์ของหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์”
ส่งผลกระทบรุนแรงต่อความสัมพันธ์ทวิภาคี
ด้านนายโทนี
แอบบอตต์ (Tony Abbott) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียปกป้องสิทธิ์ในงานข่าวกรองที่จำต้องมีเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติพร้อมกับอ้างว่าเป็นประโยชน์ต่อพันธมิตร
ไม่ใช่เพื่อทำร้าย “รัฐบาลทุกประเทศเก็บข้อมูลและรัฐบาลทุกประเทศรู้ว่ารัฐบาลอื่นๆ
เก็บข้อมูล” ท่าทีของนายกฯ แอบบบอตต์ชี้ว่าไม่ได้กระทำอะไรผิด
การข่าวเพื่อประโยชน์ของมิตรประเทศ และทุกประเทศก็กระทำในลักษณะเดียวกัน
ฝ่ายอินโดนีเซียไม่เห็นด้วย
เห็นว่าการปกป้องการดักฟังเป็นเรื่องการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ
เป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ ประธานาธิบดียูโดโยโนกล่าวว่า
“การกระทำดังกล่าวจากสหรัฐกับออสเตรเลียกำลังทำลายความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับอินโดนีเซีย”
รัฐมนตรีนาตาเลกาวาตั้งคำถาม
“ผมต้องการคำตอบอย่างยิ่งว่าทำไมการสนทนาส่วนตัวระหว่างท่านประธานาธิบดีกับภรรยาจึงสำคัญต่อความมั่นของออสเตรเลีย”
พร้อมกับเรียกร้องขอคำโทษ และออสเตรเลียจะต้องให้คำมั่นว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
ผลประโยชน์แห่งชาติ
เรื่องที่ประนีประนอมไม่ได้:
ในหลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเมื่อเอ่ยถึงผลประโยชน์แห่งชาติ
ทุกรัฐบาล นักการเมืองทุกคนย่อมต้องประกาศตัวรักษาผลประโยชน์แห่งชาติสุดกำลัง
ข้อดีคือประเทศได้รับประโยชน์ ข้อเสียคืออาจเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งเมื่อฝ่ายหนึ่งได้แต่อีกฝ่ายเสีย
กรณีออสเตรเลียดักฟังโทรศัพท์ผู้นำอินโดนีเซียก็เข้าข่ายนี้
เมื่อเรื่องราวปรากฏเพื่อข่าวที่รู้กันทั่ว
บรรดารัฐมนตรี นักการเมืองในสังกัดของประธานาธิบดียูโดโยโนต่างดาหน้าออกมาแสดงท่าทีแข็งกร้าว
ปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ การเรียกตัวเอกอัครราชทูตกลับประเทศ การระงับการแลกเปลี่ยนข่าวกรองคือส่วนหนึ่งของการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม
ไม่ต่างจากรัฐบาลของนายกฯ
แอบบอตต์ที่ต้องกล่าวปกป้องการสอดแนม เพราะเป็นผลประโยชน์แห่งชาติเช่นกัน “ทุกประเทศ
ทุกรัฐบาลทำการเก็บข้อมูล ไม่ใช่เรื่องประหลาด ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ”
รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะแบ่งปันข้อมูลให้กับอินโดนีเซียมากขึ้น “เพราะข้าพเจ้าต้องการให้ประชาชนอินโดนีเซียรู้ทุกเรื่อง
และรู้ว่าทุกอย่างที่เราทำคือเพื่อช่วยเหลืออินโดนีเซียเช่นเดียวกับที่ช่วยเหลือออสเตรเลีย
อินโดนีเซียคือประเทศที่ข้าพเจ้าให้ความเคารพอย่างยิ่ง”
ลักษณะการพูดของนายกฯ
แอบบบอต์คือปกป้องการสอดแนม เป็นการแสดงตัวว่าปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ
พร้อมกับพยายามชี้ว่าการกระทำดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์ของอินโดนีเซียด้วย การชี้แจงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีผลประโยชน์หลายด้านที่ต้องรักษา
คือ ผลประโยชน์ของประเทศ ผลประโยชน์ในความสัมพันธ์กับอินโดนีเซียและกับสหรัฐซึ่งมีความทับซ้อน
มีความเข้ากันได้และการขัดแย้งกัน การมุ่งผลประโยชน์ด้านใดด้านหนึ่งกระทบต่อผลประโยชน์ของอีกด้าน
เป็นภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก
ฝ่ายอินโดนีเซียย่อมไม่เห็นด้วยกับคำชี้แจง
ประธานาธิบดียูโดโยโนเดินหน้ารุกต่อ กล่าวตอบโต้ว่า “ข้าพเจ้าเสียใจอย่างยิ่งที่นายกฯ
ออสเตรเลียเห็นว่าให้การดักฟังอินโดนีเซียเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่รู้สึกผิด”
รัฐบาลยูโดโยโนเรียกร้องการขอโทษ
(apologize) แต่การขอโทษอาจไม่ใช่เพียงการกล่าวอย่างเป็นทางการเท่านั้น
อาจมีข้อเรียกร้องอื่นที่ต้องกระทำ เช่น ยุติการดักฟังผู้นำประเทศ นักการเมืองทั้งหมด
เป็นการแก้ไขตามข้อมูลที่เปิดเผยออกมา ทำให้รัฐบาลแอบบอตต์ต้องคิดหนัก
นายกฯ แอบบอตต์พยายามแก้เกมด้วยการกล่าวเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่ประชุมรัฐสภา
“ออสเตรเลียให้ความเคารพต่อรัฐบาลและประชาชนอินโดนีเซียอย่างสูง ... ข้าพเจ้าถือว่าประธานาธิบดียูโดโยโนเป็นเพื่อนที่ดีของออสเตรเลีย
อันที่จริงเป็นหนึ่งในเพื่อนที่ดีที่สุดที่เรามีในโลกนี้
นี่จึงเป็นเหตุที่ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจอย่างจริงใจ (sincerely regret) ต่อรายงานข่าวอันน่าอับอายทุกชิ้นเมื่อไม่นานนี้ที่กระทบต่อท่าน” แต่ “อย่าได้คาดหวังว่าประเทศออสเตรเลียจะขอโทษ
(apologize) ในสิ่งที่เรากระทำเพื่อปกป้องประเทศของเรา
ไม่ว่าจะเป็นตอนนี้หรือในอดีต”
เหมือนกับที่รัฐบาลประเทศอื่นๆ จะไม่ขอโทษในการกระทำในลักษณะเดียวกันนี้
พร้อมกับยืนยันว่าในกรณีของออสเตรเลีย “เราใช้ทรัพยากรทั้งสิ้นที่เรามี
รวมทั้งเรื่องข้อมูล (information)
เพื่อช่วยเหลือมิตรประเทศและพันธมิตรของเรา”
นี่เป็นการแก้เกมของรัฐบาลแอบบอตต์ที่แสดงความเสียใจ
(regret) แต่ไม่ขอโทษ (apologize) พร้อมกับให้เหตุผลว่าทุกประเทศก็กระทำการสอดแนม
และไม่มีรัฐบาลใดจะขอโทษในพฤติกรรมเช่นนี้
ผลที่ตามมาคือรัฐบาลอินโดนีเซียยังไม่พอใจ
ไม่ถือว่าการแถลงในรัฐสภาดังกล่าวคือคำชี้แจงหรือการตอบสนองที่เพียงพอ
ประธานาธิบดียูโดโยโนกล่าวย้ำอีกครั้งว่า
“ประเทศอินโดนีเซียและข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่าทำไมออสเตรเลียจึงดักฟังเจ้าหน้าที่บางคน
รวมทั้งข้าพเจ้า นี่ไม่ใช่ยุคสงครามเย็น” ด้านรัฐมนตรีมาร์ตีกล่าวว่ารัฐบาล
“กำลังลดความร่วมมือทีละด้าน” เหมือนน้ำประปาที่ไหลออกเรื่อยๆ
สถานการณ์จึงดูเหมือนว่ารัฐบาลแอบบอตต์ตกเป็นรอง เป็นฝ่ายถูกโจมตี
รัฐบาลแอบบอตต์ยืดอกประกาศรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ทั้งสองฝ่ายอยู่ในฐานะเดียวกันคือรัฐบาลผู้มีหน้าที่ต้องปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ
ผลประโยชน์แห่งชาติระหว่างออสเตรเลียกับอินโดนีเซียและสหรัฐ:
ออสเตรเลียกับอินโดนีเซียเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง
แม้ว่าชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่จะมีเชื้อสายตะวันตก พูดภาษาอังกฤษ มีวัฒนธรรมแบบตะวันตก
และในขาข้างหนึ่งพยายามอิงว่าตนเป็นพวกตะวันตก แต่ที่หลีกไม่พ้นคือตัวกับขาอีกข้างอยู่ติดกับทวีปเอเชีย
อยู่ทางตอนใต้ของอาเซียน ติดกับอินโดนีเซีย
ส่วนอินโดนีเซียแม้จะถูกรัฐบาลออสเตรเลียสอดแนมเรื่อยมานานหลายทศวรรษ
มีเรื่องเห็นตรงกันบ้างไม่ตรงกันบ้าง โดยรวมแล้วสองประเทศมีผลประโยชน์ร่วมจำนวนมาก
อินโดนีเซียยังต้องร่วมมือกับออสเตรเลียในการต่อต้านการก่อร้าย
ไม่ให้กระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของตนดังเช่นเหตุที่เกาะบาหลีเมื่อปี 2002 สังหารนักท่องเที่ยวกว่า
2 ร้อยคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวออสเตรเลีย อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ได้รับการช่วยเหลือทางการเงินมากที่สุดจากออสเตรเลีย
สองประเทศมีข้อตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคง วัฒนธรรม การศึกษา
บริษัทออสเตรเลียจำนวนมากเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหมืองแร่
หากออสเตรเลียไม่อาจตัดสัมพันธ์กับอินโดนีเซีย การตัดสัมพันธ์กับสหรัฐยิ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ถ้าจะเอ่ยเฉพาะงานข่าวกรอง ออสเตรเลียเป็นหนึ่งสมาชิก “Five Eyes” กลุ่มพันธมิตรเพื่อการสอดแนม
5 ชาติ มีสหรัฐเป็นแกนนำ ถ้อยแถลงของนายกฯ
แอบบอตต์ต่อรัฐสภายืนยันจุดยืนดังกล่าวชัดเจน พูดชัดๆ คือออสเตรเลียจะทำการสอดแนมต่อไป
หรือจะถ้าจะดูความสัมพันธ์ระหว่างอินโดนีเซียกับสหรัฐ
การรักษาความสัมพันธ์อันดีกับชาติมหาอำนาจเป็นเรื่องสำคัญยิ่งไม่ว่าจะมองในมิติใด
ถ้าอธิบายแบบสั้นๆ จะพบว่าในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
รัฐบาลอินโดนีเซียแทบไม่เอ่ยถึงสหรัฐ ไม่พยายามกล่าวโทษ ทั้งๆ ที่เป็นที่รู้กันว่าออสเตรเลียเป็นหนึ่งในเครือข่ายเท่านั้น
เจ้าของระบบสอดแนมและผู้ต้องการข้อมูลตัวจริงคือรัฐบาลอเมริกัน
เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง:
ในเรื่องราวที่เกิดขึ้น
การตอบโต้ไปมา หากไม่พูดถึงความเกี่ยวโยงกับการเมืองภายในประเทศจะทำให้เข้าใจไม่ครบถ้วน
อินโดนีเซียกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งในกลางปีหน้า
ในขณะที่พลพรรคของประธานาธิบดียูโดโยโนกำลังย่ำแย่ สังคมเต็มด้วยการคอร์รัปชัน
นักการเมืองคนสำคัญหลายคนของพรรคมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีทุจริต สังคมมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งของกลุ่มศาสนา
นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าพรรคฝ่ายค้านอย่าง Kopassus
น่าจะได้คะแนนเพิ่ม การแสดงท่าทีขึงขังต่อการดักฟังโทรศัพท์อาจช่วยดึงคะแนนเสียงให้กับพลพรรคผู้สนับสนุนได้บ้าง
หรืออย่างน้อยไม่เป็นเหตุให้เสียคะแนนมากกว่าที่เป็นอยู่
ไม่ต่างจากรัฐบาลแอบบอตต์ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อไม่นาน
ฝ่ายค้านจ้องหาโอกาสเล่นงานรัฐบาลมือใหม่
หากพิจารณาเรื่องราวทั้งหมด
ทั้งสองรัฐบาลแตะเรื่องการสอดแนมอย่างผิวเผิน จำกัดขอบเขตเฉพาะที่ปรากฏเป็นข่าวเท่านั้น
ไม่มีฝ่ายเรียกร้องให้อีกฝ่ายเลิกการล้มสอดแนมทั้งหมดเพราะเป็นไปไม่ได้
การสอดแนมจึงยังดำเนินต่อไป บรรดานักการเมืองทั้งสองฝ่ายต่างรู้ดี ดังนั้น เรื่องที่เกิดขึ้นไม่อาจเปลี่ยนแปลงงานข่าวกรองของแต่ละประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
แต่มีผลต่อการเมืองภายในประเทศ
ประเด็นที่ควรคิดต่อคือเรื่องนี้ควรจบอย่างไร
การลงเอยแบบใดจึงจะเรียกว่าได้ดูแลผลประโยชน์แห่งชาติมากที่สุด แบบใดที่ต่างฝ่ายต่างไม่เสียคะแนนนิยมภายในประเทศ
เป็นไปได้ว่าอาจจบลงที่สมัชชาสหประชาชาติประกาศข้อมติเรียกร้องยกเลิกการสอดแนมผู้นำประเทศ
ลดการสอดแนมที่ไม่สมเหตุผล
เรื่องเหล่านี้คือหัวข้อที่ตัวแทนของสองรัฐบาลต้องพูดคุยส่วนตัว
(เป็นไปได้ว่าอาจพูดคุยผ่านทางโทรศัพท์เพราะสะดวกที่สุด
ตัวแทนแต่ละฝ่ายสามารถสนทนาได้โดยตรง) เวลาจะเป็นเครื่องมือเยียวยาที่ดีจนกว่าสองฝ่ายจะบรรลุเป้าหมายเบื้องลึกที่ต้องการ
และจนกว่าจะมีข้อมูลใหม่จากนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน
24 พฤศจิกายน 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6229 วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2556)
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6229 วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2556)
---------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ในยามที่การสอดแนม การจารกรรมจาก NSA กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั่วโลก คุณอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมันได้ประกาศนโยบายต่อต้านการสอดแนมอันเกินกว่าเหตุ
ด้วยการริเริ่มและการดำเนินอย่างจริงจัง
ทำให้อีกหลายประเทศทั่วโลกต่างเข้ามาประสานพลัง ต่อต้านการสอดแนมจาก NSA และได้เห็นแบบอย่างภาวะผู้นำโลกของเยอรมนีในหลายด้าน
นับวันคนทั่วโลกจะรับทราบข้อมูลการสอดแนมของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐหรือ
NSA และกลายเป็นที่วิพากษ์ว่าเหมาะสมหรือไม่ รัฐบาลหลายประเทศไม่อาจทนนิ่งเฉยต้องหากไม่ต่อต้านการสอดแนมก็คือต่อต้านการเปิดโปง
เรื่องที่เกิดขึ้นมีข้อคิดหลายแง่มุม เช่น
มีความจำเป็นเพื่อการต่อต้านการก่อการร้าย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนคนนับล้าน
การกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เรื่องของนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนยังไม่จบเพียงเท่านี้
1. Jakarta retaliates over spy claims. The Australian.
http://www.theaustralian.com.au/national-affairs/policy/jakarta-retaliates-over-spy-claims/story-fn59nm2j-1226762903398#
18 November 2013.
2. Indonesia Reviews Cooperation With Australia Over Spy
Claims. Jakarta Globe/AFP. http://www.thejakartaglobe.com/news/indonesia-reviews-cooperation-with-australia-over-spy-claims/
19 November 2013.
3. Indonesia Recalls Ambassador From Australia Over Spy
Allegations. Jakarta Globe. http://www.thejakartaglobe.com/news/indonesia-recalls-ambassador-from-australia-over-spy-allegations/
18 November 2013.
4. Australia's spy agencies targeted Indonesian president's
mobile phone. The Guardian. http://www.theguardian.com/world/2013/nov/18/australia-tried-to-monitor-indonesian-presidents-phone
18 November 2013.
5. Abbott treating spy issue 'too lightly', Indonesian
President Yudhoyono says. The Australian. http://www.theaustralian.com.au/national-affairs/policy/indonesian-ambassador-to-fly-to-jakarta-alone-to-tell-sby-spying-story/story-fn59nm2j-1226763037214
19 November 2013.
6. Australian PM ‘Regrets Any Embarrassment’ to Indonesia. Jakarta
Globe/AFP. http://www.thejakartaglobe.com/news/australian-pm-regrets-any-embarrassment-to-indonesia/
19 November 2013.
7. Tony Abbott refuses to apologise for Indonesian spying
program. The Sydney Morning Herald. http://www.smh.com.au/federal-politics/political-news/tony-abbott-refuses-to-apologise-for-indonesian-spying-program-20131119-2xsn4.html
19 November 2013.
8. Indonesia Suspends People Smuggling Cooperation Following
Australia Spy Scandal. Jakarta Globe/AFP. http://www.thejakartaglobe.com/news/indonesia-suspends-intelligence-military-cooperation-with-australia/
20 November 2013.
9. Tempers Flare in Indonesia Over Australia Spy Scandal. Jakarta
Globe. http://www.thejakartaglobe.com/news/tempers-flare-in-indonesia-over-australia-spy-scandal/
20 November 2013.
--------------------