ความพยายามจัดระเบียบโลกอาหรับของซาอุดิอาระเบีย
ประเทศซาอุดิอาระเบียตกเป็นข่าวเมื่อปฏิเสธเก้าอี้สมาชิกไม่ถาวร
(Non-permanent Members/ Elected Members) ของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ
กล่าวหาว่าคณะมนตรีประพฤติสองมาตรฐาน เรียกร้องการปฏิรูป จากนั้นหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางต่างออกมาชื่นชมสนับสนุนท่าทีดังกล่าวพร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสหรัฐต่อภูมิภาคหลายเรื่อง
จับใจความได้ว่าทั้งหมดนี้รัฐบาลซาอุฯ กำลังไม่พอใจรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัก
โอบามา
ดูเหมือนว่ามีการเตรียมการล่วงหน้า:
เมื่อลำดับเหตุการณ์ทั้งหมดตั้งแต่ต้น
ข้อสังเกตประการแรกคือการแสดงออกของซาอุฯ การแสดงท่าทีสนับสนุนของประเทศต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นประเทศกาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน คูเวต ตุรกี ปาเลสไตน์ และองค์กรระหว่างประเทศสำคัญๆ
ของโลกอาหรับอย่าง คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC)
สันนิบาตอาหรับ องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ต่างส่งเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญ
แต่ละประเทศพูดบางประเด็นที่สัมพันธ์กันเป็นดังจิ๊กซอว์ของเรื่องราวทั้งหมด
สหรัฐเป็นผู้ที่แสดงอาการเดือดเนื้อร้อนใจมากที่สุด นายจอห์น เคอร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศต้องบินด่วนไปเจรจา พยายามลดโทสะของซาอุดิอาระเบีย ชักจูงให้ยอมรับเก้าอี้ดังกล่าว แต่การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ เจ้าชายบันดาร์ บินซุลต่าน (Prince Bandar bin Sultan) หัวหน้าหน่วยข่าวกรองของรัฐบาลซาอุฯ กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างซาอุฯ กับสหรัฐถึงคราวต้อง “เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่”
สหรัฐเป็นผู้ที่แสดงอาการเดือดเนื้อร้อนใจมากที่สุด นายจอห์น เคอร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศต้องบินด่วนไปเจรจา พยายามลดโทสะของซาอุดิอาระเบีย ชักจูงให้ยอมรับเก้าอี้ดังกล่าว แต่การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ เจ้าชายบันดาร์ บินซุลต่าน (Prince Bandar bin Sultan) หัวหน้าหน่วยข่าวกรองของรัฐบาลซาอุฯ กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างซาอุฯ กับสหรัฐถึงคราวต้อง “เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่”
การแสดงออกของซาอุฯ
กับประเทศอื่นๆ จึงน่าจะเป็นผลจากการปรึกษาหารือ ร่วมกันวางแผนตั้งแต่ต้น
ต่างแสดงออกอย่างมีจังหวะจะโคน มีเป้าหมายบางอย่างที่ไม่ใช่การปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงตามที่กล่าวอ้าง
ประเด็นความไม่พอใจของซาอุฯ:
ประเด็นความไม่พอใจของซาอุฯ:
จิ๊กซอว์ทั้งหมดพูดอยู่หลายประเด็น
เมื่อพิจารณาแล้วมี 3 ประเด็นหลักคือ เรื่องซีเรีย
อิหร่านและปาเลสไตน์
กว่าสองปีแล้วที่ซีเรียเกิดความขัดแย้งภายในอย่างรุนแรง รัฐบาลโอบามามักลังเลใจที่จะช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอัสซาด
กรณีล่าสุดคือเลื่อนการพิจารณาโจมตีกองทัพซีเรีย
การแสดงออกของซาอุฯ
กับพันธมิตรอาหรับเป็นหลักฐานชี้ว่าพวกเขาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่คอยกดดันรัฐบาลโอบามาให้โจมตีซีเรีย
แต่เนื่องจากชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับข้อมูลข้อสรุปของรัฐบาลที่สรุปเอาเองว่ารัฐบาลอัสซาดเป็นผู้ใช้อาวุธเคมีเมื่อวันที่
21 สิงหาคมที่ผ่านมา ไม่เชื่อว่าการโจมตีจะช่วยให้สหรัฐมีความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้น
เมื่อรัฐบาลรัสเซียเสนอให้ซีเรียยอมรับการตรวจสอบและทำลายอาวุธเคมีทั้งหมด
รัฐบาลอัสซาดตอบรับข้อเสนอทันที ความคิดที่จะโจมตีซีเรียจึงหดหายไปและยากจะอ้างเหตุผลเรื่องอาวุธเคมีอีก
เพราะเจ้าหน้าที่สหประชาชาติอยู่ระหว่างตรวจสอบและทำลาย นานาชาติพอใจกับความคืบหน้า
การล้ำ “เส้นต้องห้าม” ของรัฐบาลโอบามาจึงไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก
หรือหากมีการใช้อาวุธเคมีอีกก็จะยิ่งน่าสงสัยว่าฝ่ายใดเป็นผู้ใช้กันแน่
ในอีกด้านหนึ่งสหรัฐกับรัสเซียกำลังผลักดันให้เกิดการเจรจาที่เรียกว่า ‘เจนีวา 2’ มีกระแสข่าวว่าจะแก้ปัญหาความขัดแย้งในซีเรียด้วยการจัดตั้งองค์กรบริหารประเทศชั่วคราวที่มีอำนาจบริหารเต็ม
ล่าสุด 11 ประเทศที่เรียกตัวว่า Friends of Syria (สมาชิกส่วนใหญ่คือพวกชาติตะวันตกกับอาหรับ) ผู้ให้การสนับสนุนแนวร่วมต่อต้านรัฐบาลซีเรียแสดงจุดยืนว่าประธานาธิบดีอัสซาดกับบริวารจะต้องไม่มีส่วนในองค์กรบริหารประเทศดังกล่าว
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงวิเคราะห์ต่อได้ว่าการประชุมเจนีวา 2 ไม่น่าจะเกิดขึ้นหรือหากมีการเจรจาก็คงไม่เกิดผลอะไรเพราะฝ่ายรัฐบาลอัสซาดไม่ยอมหลุดจากอำนาจแน่นอน
นักวิเคราะห์บางคนให้ความสำคัญว่าหากปราศจากรัฐบาลอัสซาดแห่งซีเรียแล้ว
จะเป็นการโดดเดี่ยวอิหร่านในตะวันออกกลาง แต่หากวิเคราะห์แบบง่ายๆ
ทุกวันนี้รัฐบาลซาอุฯ กับพันธมิตรมองหน้ารัฐบาลอัสซาดไม่ติดเนื่องจากสนับสนุนฝ่ายต่อต้านอย่างเต็มที่
ให้ทั้งเงินกับอาวุธ สนับสนุนจัดตั้งฝ่ายต่อต้านที่พวกตนมีอิทธิพล
ขับไล่รัฐบาลอัสซาดออกจากสมาชิกสันนิบาตอาหรับแล้วให้ตัวแทนฝ่ายต่อต้านเข้าสวมแทน
รัฐบาลอัสซาดจึงเป็นหนามตำใจรัฐบาลซาอุฯ กับพันธมิตรอาหรับ ประวัติศาสตร์ภูมิภาคตะวันออกลางจะบรรยายเรื่องราวเหล่านี้อย่างไร
ประเด็นต่อมาคือกรณีอิหร่าน
แต่ไหนแต่ไรซาอุฯ กับพันธมิตรมองอิหร่านเป็นภัยคุกคาม ไม่ต่างจากที่อิหร่านมองซาอุฯ
เป็นภัยคุกคาม (แม้ในระยะนี้ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานีแห่งอิหร่านจะแสดงท่าทีเป็นมิตรมากกว่ารัฐบาลชุดที่แล้ว)
หลายปีที่ผ่านมาสหรัฐกับพันธมิตรดำเนินนโยบายคว่ำบาตรอิหร่าน
ทำให้อิหร่านประสบปัญหาเศรษฐกิจสังคมอย่างหนักจนต้องเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศชนิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ
หันมาสมานไมตรีกับสหรัฐและนานาประเทศ ล่าสุดอิหร่านอยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่ม P-5+1 เพื่อแก้ปัญหาโครงการพัฒนานิวเคลียร์อิหร่าน และมีแนวโน้มว่าน่าจะบรรลุข้อตกลงเพราะประธานาธิบดีโรฮานีประกาศเป้าหมายชัดเจนตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่าจะต้องทำให้สหรัฐกับพันธมิตรยุติการคว่ำบาตรให้จงได้
รัฐบาลซาอุฯ
อาจกังวลว่าหากยุติการคว่ำบาตรจะเป็นเหตุให้อิหร่านสามารถฟื้นฟูประเทศ เป็นภัยคุกคามในอนาคต
แต่หากวิเคราะห์ด้วยตรรกะแบบง่ายๆ ทบวงพลังงานโลก (International Energy
Agency หรือ IEA) ได้รายงานว่าการคว่ำบาตรทำให้อิหร่านลดการส่งออกน้ำมันราว
1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากอิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันตามปกติเท่ากับว่าจะเพิ่มอุปทานในตลาดน้ำมันโลกถึงวันละ
1 ล้านบาร์เรล ถ้าคิดว่า 1 บาร์เรลมีราคาตามตลาดที่ 100 ดอลลาร์ เท่ากับว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันจะต้องสูญเสียรายได้ถึง
100 ล้านดอลลาร์ต่อวัน หรือราว 36,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และหากคิดว่าอุปทานที่เพิ่มขึ้นทำให้ราคาน้ำมันในตลาดลดลง
ซาอุฯ กับพันธมิตรผู้ส่งออกน้ำมันจะสูญเสียรายได้รวมกันมากกว่า 36,000
ล้านดอลลาร์ต่อปีแน่นอน
ดังนั้น
ไม่ว่ารัฐบาลอิหร่านต้องการมีอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่ การคว่ำบาตรช่วยพยุงราคาน้ำมัน
ช่วยเพิ่มกำไรให้กับซาอุฯ กับพันธมิตรผู้ส่งออกน้ำมัน ทั้งยังบั่นทอนเศรษฐกิจสังคมและการเมืองอิหร่านไปในตัว
แต่รัฐบาลโอบามายากจะปฏิเสธสิทธิ์การใช้นิวเคลียร์ในทางสันติของอิหร่าน
เพราะไม่ใช่การเจรจาทวิภาคีมีชาติมหาอำนาจอื่นๆ เป็นคู่เจรจาด้วย
ส่วนประเด็นปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์เป็นเรื่องที่เก่าซ้ำซาก
สถานการณ์ล่าสุดคือทางการอิสราเอลยังเดินหน้าอนุมัติก่อสร้างที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่ๆ
อิสราเอลยึดครองจากปาเลสไตน์เมื่อปี 1967 ทั้งๆ ที่เขตพื้นที่เหล่านี้
(เขตเวสต์แบ็งค์ ฉนวนกาซาและนครเยรูซาเล็มตะวันออก) คือพื้นที่ๆ ชาวปาเลสไตน์หวังจะก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์
ปัจจุบันมีชาวอิสราเอลเข้าอยู่อาศัยราวหกแสนคนและยังคงก่อสร้างเพิ่มเติมเรื่อยๆ
ชวนให้คิดว่ารัฐปาเลสไตน์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตคงเหลือพื้นที่เล็กนิดเดียว
สหรัฐกับอีกหลายประเทศแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของอิสราเอล
แต่อิสราเอลไม่ยอมหยุดและยังไม่มีทีท่าจะถอนออกแต่อย่างไร
ปัญหาปาเลสไตน์เป็นรากขมขื่นที่ฝังลึกในหมู่มุสลิมโดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลางมาหลายทศวรรษแล้ว
รัฐบาลซาอุฯ ดำเนินนโยบายปกป้องชาวปาเลสไตน์เพื่อดึงความร่วมมือจากมุสลิมทั้งหลาย
แต่มีข้อวิพากษ์ว่านับจากสงครามเมื่อปี 1973
มวลหมู่ชาติอาหรับก็ไม่คิดทำสงครามกับอิสราเอลอีก รัฐบาลหลายประเทศประกาศยอมรับอธิปไตยของอิสราเอล
ดำเนินนโยบายเป็นมิตรทั้งแบบต่อหน้าและลับหลัง
หากรัฐบาลซาอุฯ
หวังกดดันรัฐบาลโอบามาเพื่อให้ไปกดดันอิสราเอลอีกทอดหนึ่ง คาดว่าเป็นความหวังที่ยากจะประสบผล
รัฐบาลซาอุฯ น่าจะเข้าใจเรื่องนี้เพราะทั้งคู่ต่างเป็นพันธมิตรสำคัญของอเมริกาในภูมิภาคตะวันออกกลาง
นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าฝ่ายที่ต้องรับกรรมคือชาวปาเลสไตน์
ผลลัพธ์ที่ปรากฏ:
จากข้อเรียกร้องต่างๆ
ดังกล่าวข้างต้นล้วนมีข้อสรุปว่าซาอุฯ ไม่น่าจะสมหวัง ผลลัพธ์ที่ได้จริงๆ คือบรรดาชาติอาหรับกับองค์กรระหว่างประเทศในภูมิภาคได้ประกาศอีกครั้งสนับสนุนซาอุดิอาระเบียเป็นพี่ใหญ่ของชาติอาหรับและชาวมุสลิมทั้งหลายโดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
ดังแถลงการณ์ของกลุ่มอาหรับว่า “เคารพและเข้าใจ” ท่าทีของซาอุฯ และเห็นว่าซาอุฯ
คือตัวแทนของชาติอาหรับและชาวมุสลิมโดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่มีอิทธิพลบารมีในภูมิภาคมานานแล้ว
อีกทั้งทางการซาอุฯ ก็ประกาศจุดยืนว่าตนเป็นผู้นำโลกอาหรับมานานแล้วเช่นกัน
ยิ่งในระยะสองสามปีที่ผ่านมาเกิดอาหรับสปริงในหลายประเทศ ผู้นำที่ครองอำนาจอย่างยาวนานไม่ว่าจะเป็นที่ตูนิเซีย
ลิเบีย อียิปต์ต่างล้มหายตายจาก ช่วยให้บารมีของผู้นำซาอุฯ โดดเด่นมากขึ้นกว่าเดิม
ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่
การแสดงออกของซาอุฯ และผลที่เกิดขึ้นมีค่าเท่ากับเป็นการแสดงความเป็นผู้นำโลกอาหรับ
กำลังแสดงบทบาทผู้จัดระเบียบภูมิภาคตะวันออกกลางกับแอฟริกาเหนือ จึงพาลกล่าวโทษคณะมนตรีความมั่นคงที่ไม่ได้กระทำเพื่อผลประโยชน์ของอาหรับโดยเฉพาะรัฐบาลโอบามา
หากมองย้อนกลับไปที่ต้นเรื่อง
เรื่องที่ซาอุดิอาระเบียไม่ยอมรับเก้าอี้สมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง ต้องเข้าใจก่อนว่าสมาชิกไม่ถาวรมาจากการเลือกของสมาชิกตามกลุ่มภูมิภาค
กฎมีอยู่ว่ากลุ่มชาติอาหรับมีโควตาเพียง 1 ที่นั่งเท่านั้นไม่มากหรือน้อยกว่านี้ ดังนั้นในจำนวนสมาชิกไม่ถาวร 10 ตำแหน่ง 1
ตำแหน่งจะเป็นของกลุ่มชาติอาหรับเสมอ ผลที่ตามมาคือหากซาอุฯ ไม่รับเก้าอี้
ประเทศที่เข้ามาแทนย่อมเป็นประเทศใดประเทศหนึ่งในกลุ่มและอยู่ภายใต้การชี้นำของซาอุฯ
ดังนั้นการที่ซาอุฯ จะรับเก้าอี้หรือไม่จึงไม่มีความแตกต่างแต่ประการใด
ส่วนเรื่องที่ซาอุดิอาระเบียตั้งใจจะปรับลดความสัมพันธ์กับสหรัฐ
ก็น่าคิดว่าฝ่ายใดจะสูญเสียผลประโยชน์มากกว่า ที่แน่นอนคือฝ่ายตรงข้ามของซาอุฯ
จะได้ประโยชน์ สิ่งนี้จะเป็นผลดีต่อการจัดระเบียบตะวันออกลางของซาอุฯ หรือ
27 ตุลาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6201 วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2556)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
การคว่ำบาตรจากสหรัฐกับพันธมิตรต่อโครงการนิวเคลียร์อิหร่านพิสูจน์แล้วว่าได้ผล
เศรษฐกิจสังคมอิหร่านได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
เป็นเหตุให้ประธานาธิบดีโรฮานีชนะการเลือกตั้ง
และมาพร้อมกับนโยบายสานสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ เร่งเจรจาแก้ปัญหาการคว่ำบาตร
การเจรจาจึงเป็นเรื่องสำคัญ กำหนดอนาคตอิหร่านและภูมิภาคตะวันออกกลาง
รัฐบาลโอบามาใช้หลักฐานการโจมตีด้วยอาวุธเคมีเพียงครั้งเดียวกับอ้างหลักการว่าทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อโจมตีซีเรีย
โดยละทิ้งกระบวนการของสหประชาชาติ กฎเกณฑ์ ระบบความมั่นคงของโลก
จากที่ลังเลใจมาตลอดหนึ่งปี
พยายามเลื่อนการตัดสินใจว่าใครเป็นผู้ใช้อาวุธเคมีในซีเรีย
เหตุการณ์การใช้อาวุธเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม กลายเป็นข้ออ้าง
เป็นจุดเปลี่ยนนโยบายของโอบามาต่อซีเรีย สหรัฐคิดโจมตีกองทัพรัฐบาลอัสซาดด้วยตนเอง
ด้วยไม่ฟังคำทัดทานจากหลายประเทศ เหตุผลหลักประการหนึ่งคือต้องการช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านรัฐบาล
1. Arab League, OIC, Turkey, UAE join anti-UN chorus.
Arab News. http://www.arabnews.com/news/468329 21 October 2013.
2. U.S. tries to calm Saudi anger over Syria, Iran. Reuters.
http://www.reuters.com/article/2013/10/21/us-saudi-un-gulf-idUSBRE99K0BT20131021
21 October 2013.
3. Kuwait wants Saudis to take up U.N. Security Council seat.
Reuters. http://www.reuters.com/article/2013/10/23/us-kuwait-saudi-un-idUSBRE99M0DJ20131023
23 October 2013.
4. NATO: Russia may assist in
destruction of Syria's chemical weapons. Haaretz. http://www.haaretz.com/.premium-1.553979
23 October 2013.
5. Boucek, Christopher., and Sadjadpour, Karim. Rivals - Iran vs. Saudi
Arabia. 20 September 2011. http://carnegieendowment.org/2011/09/20/rivals-iran-vs.-saudi-arabia/68jg
accessed 23 October 2013.
6. Israel
approves nearly 1,200 new settlement homes. USA Today/AP. http://www.usatoday.com/story/news/world/2013/08/11/israel-settlement-jewish-palestinians/2639967/
11 August 2013.
7. Fraser., T. G. 2004. The Arab-Israeli Conflict. 2nd Edition.
N.Y.: Palgrave Macmillan.
8. The Security Council. Permanent Mission of Portugal to
the United Nations. http://www.missionofportugal.org/pmop/index.php?option=com_content&view=article&id=49&Itemid=54
accessed 24 October 2013.
-------------------