ประธานาธิบดีโรฮานีหวังเจรจาเพื่อยุติการคว่ำบาตรจากสหรัฐ
ตั้งแต่เริ่มหาเสียงจนถึงวันเลือกตั้งเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจนนายฮัสซัน โรฮานี (Hassan Rohani) ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอิหร่านคนปัจจุบันและเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ประเด็นระหว่างประเทศที่ประธานาธิบดีโรฮานีให้ความสำคัญมากที่สุดคือการขอเจรจาเพื่อยุติการคว่ำบาตรจากสหรัฐกับพันธมิตร
ทำไมต้องรีบเปิดการเจรจา:
เหตุผลหลักที่ประธานาธิบดีโรฮานีกล่าวซ้ำหลายครั้งคือชาวอิหร่านจะต้องรู้สึกสงบปลอดภัยทั้งชีวิตทางด้านวัฒนธรรมกับเศรษฐกิจ แก้ปัญหาคนว่างงานที่มีมากกว่า 3 ล้านคน อัตราเงินเฟ้อกว่าร้อยละ 30 ค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นมาก คนรุ่นใหม่กำลังผิดหวังต่ออนาคตที่ไม่แน่นอนของตน ทั้งหมดนี้เกิดจากนโยบายแข็งกร้าวของประธานาธิบดีคนก่อน เร่งพัฒนาโครงการนิวเคลียร์โดยไม่สนใจการคว่ำบาตรจากต่างชาติ
ประธานาธิบดีโรฮานีสัญญาว่าจะดำเนินนโยบายสายกลางไม่สุดโต่ง ปฏิสัมพันธ์กับนานาชาติอย่างสร้างสรรค์ กล่าวว่า “วันนี้ เราควรร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในโลก” อิหร่านจะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจพร้อมกับรักษาศีลธรรมอันดี
แท้ที่จริงแล้วหากวิเคราะห์อย่างรอบด้าน เป้าหมายของอิหร่านในปัจจุบันคือต้องการกลับมาติดต่อกับประชาคมโลก เพราะการคว่ำบาตรจากสหรัฐกับพันธมิตรไม่เพียงกระทบเรื่องการส่งออกน้ำมันอันเป็นรายได้หลักของประเทศ ที่สำคัญกว่าคือหลายประเทศไม่ยอมติดต่อค้าขายกับอิหร่าน ปฏิเสธความสัมพันธ์ในทุกด้าน อิหร่านกลายเป็นประเทศที่ถูกโดดเดี่ยวทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ การเร่งพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ไม่ช่วยให้ประเทศมั่นคงขึ้นแต่อย่างไร ในทางตรงข้ามอิหร่านมีมิตรน้อยลง มีศัตรูมากขึ้น ประชาชนประสบความยากลำบากอย่างเห็นได้ชัด
หลักการและเทคนิคการเจรจาของอิหร่าน:
หลักการและเทคนิคการเจรจาของอิหร่าน:
เพื่อให้การเจรจาบรรลุผลและอิหร่านได้ประโยชน์มากที่สุด รัฐบาลโรฮานีประกาศล่วงหน้าถึงแนวทางการเจรจาว่าจะต้องตั้งอยู่บนความเท่าเทียมกัน การให้เกียรติซึ่งกันและกันอย่างเสมอภาค ยกเรื่องผลประโยชน์ร่วม ห้ามใช้อำนาจทางทหารเป็นเครื่องมือเจรจาต่อรอง อ้างว่าหลักการเหล่านี้คือหลักการเจรจาที่ถูกต้อง กระบวนการเจรจาจะอยู่ในรูปพหุภาคี อาศัยกลไกเดิมคือ กลุ่ม P5+1 ได้แก่สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงถาวรทั้งห้าชาติกับเยอรมนี (หรือบางคนเรียกว่า E3+3 ได้แก่อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมันในฐานะสมาชิกสหภาพยุโรป กับสหรัฐ รัสเซีย จีน) อิหร่านจะได้ประโยชน์จากการเจรจารูปแบบนี้มากกว่าทวิภาคี เพราะจะมีการถ่วงดุลภายในกลุ่ม P5+1 ไม่ขึ้นกับประเทศใดประเทศหนึ่ง
ในด้านจุดยืนเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ ประธานาธิบดีโรฮานีกล่าวซ้ำหลายครั้งว่า “ประเทศอิหร่านไม่มีและไม่แสวงหาอาวุธอำนาจทำลายร้ายแรง อันที่จริงอิหร่านเคยตกเป็นเหยื่อของอาวุธเหล่านี้” จากสงครามอิรัก-อิหร่านในทศวรรษ 1980 ที่อิรักใช้อาวุธเคมีต่ออิหร่าน ในขณะที่อิหร่านจะไม่หยุดโครงการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อใช้ในทางสันติเพราะเป็นสิทธิอันชอบธรรม เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ การใช้งานในทางการแพทย์ คำประกาศจุดยืนเหล่านี้ไม่แตกต่างจากอดีตประธานาธิบดีมาห์มุด อาห์มาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad) และก่อนหน้านั้น
จุดยืนที่แตกต่างคือประธานาธิบดีอาห์มาดีเนจาดแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อต้านสหรัฐกับอิสราเอล เคยกล่าวว่า “ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ ระบอบไซออนนิสต์จะต้องถูกทำลายราบในที่สุด” เห็นว่าคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเป็นเครื่องมือของมหาอำนาจ ประกาศว่าการคว่ำบาตรจากสหรัฐกับพันธมิตรจะช่วยให้อิหร่านเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเอง ท่าทีแข็งกร้าวของประธานาธิบดีอาห์มาดิเนจาดในสมัยนั้นทำให้เขาได้รับความนิยมจากคนในประเทศอย่างมาก
ในขณะที่ประธานาธิบดีโรฮานีแสดงท่าทียอมรับผลกระทบที่ถูกคว่ำบาตร เรียกร้องต่างชาติให้ยกเลิกการคว่ำบาตรดังกล่าว เชื่อว่าการยอมโอนอ่อนต่อคณะมนตรีความมั่นคงจะไม่กระทบต่อความนิยมภายในประเทศ
หากมองว่าประธานาธิบดีอิหร่านคือตัวแทนความคิดเห็นของคนทั้งประเทศ เท่ากับว่าชาวอิหร่านในวันนี้เห็นว่าเรื่องปากท้องต้องมาก่อน ไม่ว่าจะชอบอเมริกากับอิสราเอลหรือไม่ก็ตาม
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโรฮานียังได้ใช้เวทีประชุมสมัชชาสหประชาชาติอธิบายให้ทั่วโลกเข้าใจว่าอิหร่าน “ต่อต้านการใช้ความรุนแรงและลัทธิสุดโต่งทุกชนิดทุกประเภท” เรื่องการต่อต้านลัทธิสุดโต่งเป็นแนวทางใหม่ที่อิหร่านเพิ่งประกาศ เป็นเวลา 3 ทศวรรษแล้วที่อิหร่านสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ (Hezbollah) เป็นตัวแทนอิหร่านเพื่อสู้กับอิสราเอล คำประกาศนี้เป็นนโยบายที่กำลังชี้ว่าต้องการอยู่อย่างสันติกับอิสราเอล (โดยเฉพาะในระยะนี้) เป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจและควรติดตามต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร
ผลการเจรจารอบแรก:
ผลการเจรจารอบแรกเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คุณแคเทอรีน แอชตัน (Catherine Ashton) ตัวแทนจากสหภาพยุโรปและเป็นผู้นำเจรจาของฝ่าย P5+1 (E3+3) กล่าวว่าผลการประชุมดำเนินไปด้วยดีกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาแต่ไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียด เช่นเดียวกับนายโมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ (Mohammad Javad Zarif) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านกล่าวพอใจต่อผลการประชุมว่า “เกิดผล” ทั้งสองฝ่ายยังกล่าวตรงกันด้วยว่าการประชุมในครั้งหน้าเดือนพฤศจิกายนจะประกอบด้วยตัวแทนจาก “E3+3 ผู้เชี่ยวชาญนิวเคลียร์อิหร่าน นักวิทยาศาสตร์และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการคว่ำบาตร” จะเป็นการเจรจาลงรายละเอียด หากพิจารณาจากผู้เข้าร่วมประชุม การประชุมครั้งหน้าคงจะพูดเรื่องการเข้าตรวจสอบโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน การควบคุมโครงการเพื่อให้มั่นใจว่าอิหร่านจะดำเนินโครงการในทางสันติเท่านั้น และมาตรการคว่ำบาตรที่เกี่ยวข้องกับควบคุม เช่น การควบคุมการส่งผ่านเทคโนโลยี วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อโครงการนิวเคลียร์ หากการประชุมครั้งหน้าบรรลุข้อตกลงร่วมเชื่อว่าสหรัฐกับพันธมิตรจะคลายการคว่ำบาตรในไม่ช้า โดยเฉพาะส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโครงการนิวเคลียร์โดยตรง
ถ้ามองในแง่ดีคือการเจรจามีความคืบหน้า และน่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ จนทุกฝ่ายบรรลุเป้าหมายตามต้องการในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ถ้ามองในแง่ลบคือผลสำเร็จของการเจรจาครั้งนี้เป็นเพียงก้าวแรกของการเจรจารอบใหม่ เป็นเรื่องของการแสดงออกถึงมิตรภาพความปรารถนาดีต่อกัน ไม่ได้ประกันว่าการเจรจาในขั้นต่อจากนี้ซึ่งจะลงลึกในรายละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ จะประสบผลสำเร็จ
การที่คุณแอชตันไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดการเจรจา เป็นไปได้ว่าต่างฝ่ายต่างพูดข้อเสนอข้อเรียกร้องของตน และทุกฝ่ายต้องกลับไปทำการบ้านเพราะเป็นข้อเรียกร้องที่เกินว่าจะยอมรับ ไม่สามารถตอบตกลงทันที
ถ้าจะมองเป้าหมายการเจรจา สองฝ่ายต่างได้แสดงเป้าหมายปลายทางของตนมานานแล้ว แม้ว่าเป้าหมายเหล่านี้มีโอกาสเปลี่ยนแปลง จุดยืนหลักของรัฐบาลโรฮานีคืออิหร่านจะไม่ยุติโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของตน รวมถึงการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม จะยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงการเพื่อใช้ในทางสันติอันเป็นจุดยืนที่พูดซ้ำมาแล้วหลายรัฐบาลหลายทศวรรษ
ปัญหาอยู่ที่ท่าทีของฝ่าย P5+1 หรือ E3+3 ใน 6 ประเทศเหล่านี้มีจุดยืนที่ชัดเจนร่วมกันเพียงข้อเดียวคือไม่ยอมให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ ปราศจากรายละเอียดที่เปิดเผยต่อสาธารณะ มีเพียงสหรัฐประเทศเดียวมีรายละเอียดเงื่อนไขว่าโครงการนิวเคลียร์จะต้องเปิดเผยโปร่งใส ได้รับการตรวจสอบติดตาม การเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมจะต้องอยู่ในระดับต่ำสุดทั้งเชิงคุณภาพกับปริมาณ ไม่มีโอกาสนำไปผลิตเป็นอาวุธ
ประเด็นปัญหาที่หลายคนพูดถึงจึงอยู่ที่การต่อรองในรายละเอียด เช่น จะยอมให้อิหร่านเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมที่ระดับเข้มข้น 20 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ จำนวนแร่ยูเรเนียมเสริมสมรรถนะที่ครอบครองได้คือเท่าไหร่ หรืออิหร่านจะต้องระงับโครงการส่วนใหญ่ไว้ก่อน รวมทั้งที่ฟอร์โดว์ (Fordow) อิหร่านจะยอมรับข้อเรียกร้องเหล่านี้หรือไม่
อีกประเด็นที่น่าจับตาคือการตกลงในระดับทางเทคนิค เช่นจะตรวจสอบจุดไหนอย่างไร เป็นประเด็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ตกลงกันไม่ได้ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา
สหรัฐอยู่ในฐานะได้เปรียบ การคว่ำบาตรได้ผล:
หลายปีของการคว่ำบาตรอิหร่านพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผล ผู้นำประเทศอิหร่านต้องกลับมาให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ รัฐบาลใหม่ของนายโรฮานีเน้นความร่วมมือกับชาติตะวันตกมากกว่าเลือกที่จะเผชิญหน้า พร้อมกับคาดหวังอย่างผู้ที่มองโลกในแง่ดีว่าสหรัฐกับพันธมิตรจะยุติการคว่ำบาตรในไม่ช้า
ในยามนี้ชาติตะวันตกเป็นฝ่ายได้เปรียบในการเจรจาต่อรอง ย่อมสามารถตั้งข้อเรียกร้องต่างๆ แต่การบีบให้รัฐบาลโรฮานีจนมุมหรือจนตรอกน่าจะเป็นโทษมากกว่า เพราะหากรัฐบาลโรฮานีไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ ภาพลักษณ์อิหร่านในสายตาประชาคมโลกเสียหาย ย่อมส่งผลทำให้ประธานาธิบดีโรฮานีเสียคะแนนนิยม เสียการสนับสนุนภายในประเทศ เมื่อวิถีทางการทูตไม่ได้ผลย่อมบีบให้อิหร่านหวนกลับไปใช้ไม้แข็งในการเจรจาต่อรอง อิหร่านอาจเปลี่ยนนโยบาย แม้กระทั่งอาจเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาลที่แข็งกร้าวกว่าเดิมก็เป็นได้
ในแง่มุมการเมืองระหว่างประเทศ หลายประเทศไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนานิวเคลียร์แต่ก็ไม่ปรารถนาจะเห็นบทบาทของอเมริกาที่แข็งกร้าวเกินไป หวังเห็นการถอยคนละก้าวมากกว่าบีบให้ประเทศหนึ่งถึงกับต้องจนตรอก
รัฐบาลโอบามาในฐานะประเทศคู่เจรจาที่สำคัญควรใช้โอกาสนี้แสดงบทบาทผู้สร้างสันติภาพโลก ที่สามารถสร้างความพอใจแก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นอิสราเอล อิหร่านหรือประเทศต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ไม่ควรลืมว่าผลประโยชน์อเมริกาไม่จำกัดเฉพาะตัวประเทศอิหร่านหรืออิสราเอลเท่านั้น แต่มีผลประโยชน์จากนานาประเทศทั่วโลก เป็นภาพพจน์ของอเมริกาต่อสายตาคนทั้งโลก
20 ตุลาคม 2013
แก้ไขปรับปรุง 20 ตุลาคม 2013
แก้ไขปรับปรุง 20 ตุลาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6194 วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2556)
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6194 วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2556)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
อิหร่านมีโครงการนิวเคลียร์มาหลายทศวรรษแล้ว สมัยของอาห์มาดินาจาดเป็นช่วงที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้ชาติตะวันตกคว่ำบาตร ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่ทุกรัฐบาลที่กระทำเช่นเดียวกันนี้ ขึ้นกับเหตุผลเบื้องหลัง บริบทแวดล้อมอื่นๆ
8 ปีของการพัฒนานิวเคลียร์ภายใต้สมัยประธานาธิบดีอาห์มาดิเนจาด เป็นช่วงเวลาที่โครงการนิวเคลียร์มีความก้าวหน้ามาก ก่อทั้งผลดีผลเสียต่ออิหร่านชัดเจน แม้จะยังไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์สำเร็จตามเป้า แต่ได้บรรลุเป้าหมายบางอย่างแล้ว
1. Hitchcock, Mark. 2006 Iran: The Coming Crisis: Radical Islam, Oil, and the Nuclear Threat. CO: Multnomah Books.
2. Candidates hold debate on foreign and national policy. Tehran Times. http://www.tehrantimes.com/politics/108311-candidates-hold-debate-on-foreign-and-national-policy 7 June 2013.
3. Rohani vows to bring moderation to the country. Tehran Times. http://www.tehrantimes.com/politics/108120-rohani-vows-to-bring-moderation-to-the-country- 28 May 2013.
4. Rohani says fallacy that casting ballots has no effect is ‘word of Satan’. Tehran Times. http://www.tehrantimes.com/politics/108120-rohani-vows-to-bring-moderation-to-the-country- 9 June 2013.
5. “Moderates, reformists join hands to challenge divided conservatives in Iran's poll” Xinhua. http://news.xinhuanet.com/english/world/2013-06/11/c_132448462.htm 11 June 2013.
6. Foreign minister to lead Iran’s new nuclear negotiating team: report. Tehran Times. http://www.tehrantimes.com/politics/110980-foreign-minister-to-lead-irans-new-nuclear-negotiating-team-report 22 September 2013.
7. Naji, Kasra. 2008. Ahmadinejad: The Secret History of Iran's Radical Leader. CA: University of California Press.
8. Rouhani Voices Iran's Opposition to WMDs. FNA. http://english.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13920701000398 23 September 2013.
9. Khan, Saira. 2010. Iran and Nuclear Weapons: Protracted Conflict and Proliferation. New York: Routledge.
10. Remarks EU HR Ashton following meeting of the E3/EU+3 with Iran, 15/16 October. European Union. http://www.eu-un.europa.eu/articles/en/article_14093_en.htm 16 October 2013.
11. Iran’s nuclear talks called fruitful, substantive, most detailed. Tehran Times. http://www.tehrantimes.com/politics/111554-irans-nuclear-talks-called-fruitful-substantive-most-detailed16 October 2013.
---------------------