ข้อเสนอ 7 ยุทธศาสตร์ผลักดันสัมพันธ์จีน-อาเซียน
ในวาระครบรอบ
10 ปีความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์จีน- อาเซียน (China-Asean strategic
partnership) นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนได้บรรยายสรุปความสัมพันธ์สองฝ่ายว่าปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอเซียน
และอาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับสามของจีน สิ้นปี 2012 การค้าระหว่างสองฝ่ายสูงถึงกว่า
4 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็นห้าเท่าของเมื่อ 10 ปีก่อน ปีที่แล้วประชาชนสองฝ่ายเดินทางไปมาหาสู่ถึง
15 ล้านคน คิดเป็น 4 เท่าของ 10 ปีก่อน นักท่องเที่ยวชาวจีนคิดเป็นอันดับสองของนักท่องเที่ยวอาเซียนทั้งหมด
โดยสารด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำกว่าพันเที่ยวต่อสัปดาห์
ข้อเสนอ 7 ยุทธศาสตร์ของจีน:
ในโอกาสการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-จีนครั้งที่ 16
ภายใต้การประชุมสุดยอดอาเซียนประจำปี 2013
นายกฯ หลี่นำเสนอข้อเสนอ 7 ประการหรือ 7
ยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มขยายความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียน ดังนี้
ข้อแรก
ยึดมั่นสร้างความสัมพันธ์เป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน จีนพร้อมที่จะปรึกษากับอาเซียนเพื่อลงนามในสนธิสัญญาเพื่อนบ้านที่ดี
มิตรภาพและความร่วมมือ (treaty on good-neighbourliness, friendship and
cooperation)
เป็นการเสริมสร้างรากฐานทางการเมืองสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย
สองฝ่ายผูกพันอย่างเหนียวแน่น
ข้อสอง
เพิ่มการแลกเปลี่ยนและเพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยปรับปรุงกลไกประชุมรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมจีน-อาเซียน
(Asean-China Defence Ministers’ Meeting)
ให้จัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อเพิ่มความร่วมมือด้านการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ
ความมั่นคงทางไซเบอร์ การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ การบังคับใช้กฎหมายร่วม และความมั่นคงนอกรูปแบบ
(Non-traditional Security) อื่นๆ
ข้อสาม ปรับยกระดับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน (China-ASEAN Free
Trade Area หรือ CAFTA)
เพิ่มขยายการค้าการลงทุนเสรีระหว่างกัน กำหนดเป้าหมายปริมาณการค้าระหว่างกัน 1
ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2020
ข้อสี่
เร่งสร้างระบบเชื่อมโยงติดต่อ
เสนอจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian
infrastructure investment bank) เนื่องจากชาติสมาชิกอาเซียนบางประเทศต้องการการสนับสนุนทางการเงินเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
ข้อห้า ขยายความร่วมมือด้านการเงินและการป้องกันความเสี่ยงต่างๆ เพิ่มปริมาณและขยายกรอบการแลกเปลี่ยนเงินตราแบบทวิภาคี ขยายโครงการนำร่องกระบวนการชำระเงินและส่งมอบสินค้าจากการซื้อขายข้ามประเทศด้วยสกุลเงินท้องถิ่น
ขยายความร่วมมือความริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี (Chiang Mai Initiative
Multilateralisation) ใช้สมาคมธนาคารนานาชาติจีน-อาเซียน (China-ASEAN
Inter-Bank Association) ให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น
ข้อหก สร้างความร่วมมือทางทะเล กระชับความร่วมมือภาคเศรษฐกิจที่พึ่งพาทางทะเล
(marine economy) อย่างเป็นรูปธรรม ร่วมสร้างเส้นทางสายไหมทางทะเลสำหรับศตวรรษที่
21ผ่านความร่วมมือด้านการประมง การเชื่อมโยงทางทะเล การปกป้องสิ่งแวดล้อมและการวิจัยทางทะเล
การค้นหาและกู้ภัยทางทะเล
ข้อเจ็ด ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ร่วมกันวางแผนปฏิบัติการความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างจีน-อาเซียน
(China-Asean Cultural Cooperation Action Plan)
เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการศึกษา การแลกเปลี่ยนเยาวชน
นักวิเคราะห์และสื่อมวลชน ส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยี การปกป้องสิ่งแวดล้อมและด้านอื่นๆ
อันจะเพิ่มกระชับความร่วมมือฉันท์มิตรระหว่างสองฝ่าย
วิเคราะห์องค์รวม:
ประการแรก
ยุทธศาสตร์ใช้การพัฒนาเศรษฐกิจนำหน้าความสัมพันธ์
แถลงการณ์
สุนทรพจน์ของฝ่ายจีนเต็มไปด้วยเนื้อหามุ่งหวังการพัฒนาเศรษฐกิจ
สร้างประโยชน์แก่ประชาชนทั้งสองฝ่าย ข้อเสนอ 7 ยุทธศาสตร์ใช้แนวทางดังกล่าวเช่นกัน
แต่การพัฒนาเศรษฐกิจย่อมเชื่อมโยงสัมพันธ์กับมิติอื่นๆ ยิ่งผูกพันทางเศรษฐกิจมากเพียงไรย่อมผูกพันกับมิติอื่นๆ
มากขึ้นเพียงนั้น
ในแง่ของจีน
เป้าหมายหลักของจีนขณะนี้คือการพัฒนาประเทศทุกด้าน เพื่อบรรลุเป้าหมายหลักดังกล่าวจำต้องมีบรรยากาศเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศที่เอื้อต่อการพัฒนาของจีน
ไม่มีสิ่งใดมาขัดขวาง เช่น
ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านที่อาจนำสู่การกีดกันทางการค้าการเมืองระหว่างประเทศ
ผลลัพธ์จากการพัฒนาของจีนย่อมเป็นประโยชน์ทั้งต่อเศรษฐกิจสังคมและการเมืองภายในประเทศ
และต่อการเมืองระหว่างประเทศ
ประการที่สอง
การสัมพันธ์กับอาเซียนมีทั้งส่วนที่ง่ายกับส่วนที่ยาก
แถลงการณ์ร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-จีนระบุว่าทุกฝ่ายเห็นพ้องกับข้อเสนอของจีนในการกระชับความสัมพันธ์อาเซียน-จีน แต่ความสัมพันธ์กับอาเซียนมีทั้งส่วนที่ง่ายกับส่วนที่ยาก ส่วนที่ง่ายคือชาติสมาชิกมีความสัมพันธ์กับจีนอยู่แล้ว หลายประเทศมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใกล้ชิด ตัวเลขการค้าการลงทุนระหว่างกันชี้ชัดเรื่องดังกล่าว ส่วนที่ยากคือทุกประเทศมีฐานความสัมพันธ์เดิมกับประเทศอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว พิจารณาได้จากตัวเลขการค้าการลงทุนระหว่างกันเช่นเดิม หากมองว่าข้อเสนอของจีนคือสินค้าตัวหนึ่ง สินค้าใหม่ตัวนี้เพิ่งออกวางจำหน่ายในตลาด ในขณะที่ผู้บริโภคคุ้นเคยกับสินค้ายี่ห้ออื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว บางรายถึงกับจงรักภักดีต่อสินค้ายี่ห้ออื่น ดังนั้น สินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยความเพียรพยายามด้วยปัจจัยเงื่อนไขที่เกื้อหนุน จีนจะได้ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มเติมไม่มากก็น้อย
ประการที่สาม ประเด็นความไว้เนื้อเชื่อใจ
ประเด็นที่อาเซียนกังวลคือบทบาทในอนาคตของจีน นายกฯ หลี่ตอบว่าเป็นธรรมดาที่จะมีข้อกังวลดังกล่าว
ประวัติศาสตร์ชี้ว่าชาติมหาอำนาจพยายามแสวงหาความเป็นเจ้า
และจีนเป็นประเทศสำคัญในภูมิภาคเอเชีย แต่เหตุการณ์ในศตวรรษที่ 21 แตกต่างจากอดีต
ทุกประเทศแสวงหาสันติภาพกับการพัฒนา จีนกำลังมุ่งไปสู่ทิศทางนี้
และไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนจากเส้นทางดังกล่าว จีนยึดหลักว่า
“จงอย่ากระทำต่อผู้อื่นในสิ่งที่ตนไม่อยากให้ผู้อื่นกระทำต่อตัวเอง” จีนเคยผ่านประสบการณ์ทุกข์ยากจากยุคอาณานิคมและการรุกรานของชาติตะวันตก
จีนในยุคปัจจุบันต่อต้านลัทธิเจ้าโลกและการเมืองเชิงอำนาจ
จีนไม่มีประเพณีแสวงหาความเป็นเจ้าหรือขยายอาณาจักร ตลอดหลายพันปีที่ผ่านมาจีนปฏิบัติต่อเพื่อนบ้านด้วยมิตรภาพ
ถือว่าสันติภาพมีคุณค่าสูงสุด และแสวงหาความสมานฉันท์ในความหลากหลาย
ดังนั้นจึงไม่มีทางที่จีนจะดำเนินตามแบบแผนแสวงหาความเป็นเจ้าหลังจากที่ประเทศเข้มแข็ง
นายกฯ
หลี่กล่าวอีกว่าในฐานะเป็นสมาชิกของครอบครัวใหญ่เอเชีย
อนาคตของจีนเชื่อมโยงใกล้ชิดกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
จีนต้องการบรรยากาศการอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านด้วยสันติและมีเสถียรภาพ
ต้องการมีสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน ต่างได้รับประโยชน์จากความร่วมมือ
และพร้อมจัดการความแตกต่างและการไม่เห็นตรงกัน
แถลงการณ์ร่วมจีน-อาเซียนหลังการประชุมระบุว่าอาเซียนตอบสนองข้อเสนอของจีนเรื่องการทำ
‘สนธิสัญญาเพื่อนบ้านที่ดี มิตรภาพและความร่วมมือ’ ด้วยความขอบคุณและขอรับไปพิจารณาเป็นตัวอย่างสะท้อนลักษณะอาเซียนที่มีความหลากหลายภายในตัวเอง
สะท้อนการใช้หลักฉันทามติและกลไกถ่วงดุลความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ทำนองเดียวกับที่อาเซียนตกลงที่จะเพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงกับจีน
แต่เรื่องจัดประชุมรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมจีน-อาเซียนอย่างไม่เป็นทางการตามที่จีนเสนอมานั้น
อาเซียนเห็นว่าอาจจัดประชุมในอนาคตเมื่อเหมาะสม
ประการที่สี่ ดูความสำเร็จที่ระดับทวิภาคี
ข้อเสนอ
7 ยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลจีนตั้งใจสัมพันธ์กับอาเซียนใน 10
ปีข้างหน้าไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว
ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ทางการจีนได้นำเสนอผ่านวาระต่างๆ มาแล้ว มีการพูดคุยหารือในระดับทวิภาคีเรื่อยมา
บัดนี้เป็นได้รวมเป็นชุดยุทธศาสตร์ที่ประกาศต่ออาเซียน เป็นนโยบายเพิ่มเติม
กรอบนโยบายหลักที่จีนหวังจะผลักดันให้สำเร็จใน 10 ปีข้าง
ดังนั้นไม่ว่าอาเซียนจะตอบตกลงหรือไม่
ชาติสมาชิกหลายประเทศอยู่ระหว่างการหารือความร่วมมือเหล่านี้อยู่แล้ว ความร่วมมือระดับทวิภาคีหรือระหว่างหลายประเทศอาเซียนกับจีนน่าจะเป็นเป้าหมายที่จีนมุ่งหวังจะประสบผลสำเร็จจริงๆ
มีเรื่องน่าสนใจว่าในเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์ผู้นำจีนสองท่านเดินทางเยือนชาติสมาชิกอาเซียนรวมถึง
6 ประเทศ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเยือนอินโดนีเซีย มาเลเซีย ก่อนเข้าร่วมการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคหรือเอเปคเมื่อวันที่
7-8 ตุลาคม นายกฯ หลี่เข้าประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนกับการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกระหว่างวันที่
9-10 ตุลาคม แล้วเยือนบรูไน ไทย และเวียดนาม รวมแล้วสองผู้นำจีนเยือนทั้งหมด 5 ประเทศจากอาเซียน 10 ประเทศ (ประเทศที่ไม่ได้เยือนในรอบนี้ คือ ลาว กัมพูชา
เมียนมาร์ สิงคโปร์และฟิลิปปินส์) สาระเนื้อหาการเยือนเกี่ยวข้องกับ 7 ยุทธศาสตร์ดังกล่าว
ความกังวลที่ว่าในอนาคตชาติสมาชิกอาเซียนบางประเทศจะมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับจีนมากกว่าบางประเทศ
อาเซียนจะมีความแตกต่างหลากหลายมากกว่าเดิมจึงมีโอกาสเป็นจริงไม่มากก็ไม่น้อย
ข้อเสนอ
7 ยุทธศาสตร์เป็นแนวทางและแผนรูปธรรมที่จีนตั้งใจจะสัมพันธ์กับอาเซียนในอีก 10
ปีข้างหน้าหรือ 10 ปีที่จีนเรียกว่าเป็น ‘ปีเพชร’ ต่อเนื่องจาก 10 ปีก่อนที่จีนถือว่าเป็น ‘ปีทอง’
จากนี้ไปเป็นช่วงเวลาของการติดตามความสำเร็จของยุทธศาสตร์ดังกล่าว ดูจากความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะระดับทวิภาคี
เช่น การก่อสร้างโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงจีนกับอาเซียน
ในแง่มุมของอาเซียน
เป็นเรื่องที่ต้องย้ำเตือนว่าอาเซียนจะได้รับประโยชน์มากที่สุดหากอาเซียนเข้มแข็งในตัวเอง
หากอาเซียนเข้มแข็งวาระอาเซียนย่อมแข็งแกร่ง
และสามารถร่วมกำหนดวาระเอเชียตะวันออกร่วมกับประเทศอื่นๆ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองยั่งยืนร่วมกัน
13 ตุลาคม 2013
(แก้ไข 15 ตุลาคม 2013)
(แก้ไข 15 ตุลาคม 2013)
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6187 วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2556
และได้รับการเผยแพร่ผ่าน สำนักประชาสัมพันธ์เขต 4 กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2556, http://region4.prd.go.th/ewt_news.php?nid=38959&filename=index
สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2556, http://www.thaizhong.org/index.php?option=com_content&view=article&id=3965:-7-&catid=63:articlespecialorther-cat&Itemid=100)
สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2556, http://www.thaizhong.org/index.php?option=com_content&view=article&id=3965:-7-&catid=63:articlespecialorther-cat&Itemid=100)
------------------------
บรรณานุกรม:
1. Li raises seven-pronged proposal on promoting China-ASEAN
cooperation. Xinhua. http://news.xinhuanet.com/english/china/2013-10/10/c_125503874.htm
10 October 2013.
2. Full text: Premier Li Keqiang Gives Joint Written
Interview To Media from ASEAN Countries. Xinhua. http://news.xinhuanet.com/english/china/2013-10/08/c_125496903.htm
8 October 2013.
3. Joint Statement of the 16th ASEAN-China Summit on
Commemoration of the 10th Anniversary of the ASEAN-China Strategic Partnership.http://www.asean.org/images/archive/23rdASEANSummit/7.%20joint%20statement%20of%20the%2016th%20asean-china%20summit%20final.pdf accessed 10 October 2013.
4. CHAIRMAN’S STATEMENT OF THE 16TH
ASEAN-CHINA SUMMIT. 9 October 2013
Bandar Seri Begawan, Brunei Darussalam. http://www.asean.org/images/archive/23rdASEANSummit/chairmans%20statementfor%20the%2016th%20asean-china%20summit%20-%20final%203.pdf
10 October 2013.
5. China hopes for momentous treaty with ASEAN: Li. Xinhua.
http://news.xinhuanet.com/english/china/2013-10/09/c_132783278.htm 9 October
2013.
6. Li plans to seek deeper trust with neighbors. China
Daily. http://www.chinadaily.com.cn/china/2013livisiteastasia/2013-10/09/content_17016119.htm
9 October 2013.
-----------------------------