เกาะติดประเด็นร้อน “ความขัดแย้งในประเทศซีเรีย” (14)

สรุปสถานการณ์: (อัพเดท 8 ก.ย. 21.50 น. สหรัฐฯ กับรัสเซียเสริมกองทัพเข้าไปที่ตะวันออกกลางและแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียลอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับรัสเซียแสดงจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลอัสซาด ส่งเรือรบหลายลำสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียลเช่นกัน สัปดาห์นี้รัฐสภาอเมริกันจะเปิดประชุมพิจารณาญัตติโจมตีซีเรีย
คืบหน้าล่าสุด: (อัพเดท 8 ก.ย. 21.50 น.)
            สหภาพยุโรปมีข้อสรุปว่าการโจมตีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม น่าจะเป็นฝีมือของรัฐบาลอัสซาด พร้อมกับเสนอให้สหรัฐฯ รอผลพิสูจน์หลักฐานจากเจ้าหน้าที่สหประชาชาติก่อนโจมตี นายจอห์น เคอร์รี่เห็นว่าคำประกาศจากอียู “สนับสนุนว่ารัฐบาลอัสซาดต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้กระทำ”
            สำนักข่าว AP รายงานว่าคำประกาศของอียูดังกล่าวเป็นความริเริ่มจากนายฟร็องซัว ออล็องด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่เห็นว่าควรรอรายงานจากสหประชาชาติก่อนตัดสินใจเข้าแทรกแซงทางทหาร

            นาย Guido Westerwelle รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเยอรมันหวังว่าสหรัฐฯ จะเลียนแบบฝรั่งเศส พวกเราต่างยินดีกับเรื่องที่ “ฝรั่งเศสตัดสินใจรอการนำเสนอรายงานของสหประชาชาติ” พวกเรา “คาดดว่าอเมริกาหุ้นส่วนของเราจะดำเนินตามแบบฝรั่งเศส” ก่อนตัดสินใจดำเนินมาตรการใดๆ “ผมประทับใจที่ฝ่ายอเมริกาเข้าใจสิ่งที่เราคาดหวังและพวกเขาจะนำเรื่องนี้เข้าไปในกระบวนการตัดสินใจของเขา”
            นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงว่าควรนำเรื่องส่งศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) เพื่อพิจารณาไต่สวนความผิด แถลงการณ์ของ G-20 มีเนื้อหาค่อนไปทางประณามรัฐบาลซีเรียเรื่องอาวุธเคมี แต่ไม่กล่าวว่าจะต้องลงโทษด้วยการโจมตีซีเรีย

วิเคราะห์: (อัพเดท 8 ก.ย. 21.50 น.)
            (เกาะติดประเด็นร้อนฉบับนี้จะมุ่งติดตามคืบหน้าสถานการณ์ล่าสุด และกับรายงานผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน)
            วิเคราะห์ประเด็นทางการเมือง:
            1. อียูประณามรัฐบาลอัสซาด แต่เรียกร้องรอรายงานจากสหประชาติ
            ท่าทีของอียูชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ฝ่ายใดต้องเสียหน้า อียูตระหนักว่าการใช้อาวุธเคมีผิดกฎหมายระหว่างประเทศ แต่การตัดสินใจชี้ขาดควรเป็นหน้าที่ของสหประชาชาติ และน่าจะให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นผู้ชี้ว่าควรได้รับโทษอย่างไร
            ข้อสังเกตคือฝรั่งเศสซึ่งสนับสนุนการโจมตีมาตั้งแต่ต้น มีกองเรือลอยลำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียลพร้อมโจมตี ยังต้องโอนอ่อนกับท่าทีของอียู ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอียูไม่ต้องการให้สหรัฐฯ ลงมือโจมตีตามอำเภอใจ ควรดำเนินตามขั้นตอน ตามระบบระหว่างประเทศมากกว่า
            2.ทางเลือกของคองเกรส
            เมื่อเป็นเช่นนี้ การตัดสินใจที่สำคัญของสัปดาห์นี้คือ การประชุมของรัฐสภาอเมริกัน ทางเลือกมีเพียงสองทางใหญ่ๆ คือ โจมตีกับยังไม่โจมตี แต่สามารถแยกแยะออกเป็นหลายทางเพื่อให้เห็นความแตกต่าง
            1) มีมติไม่สนับสนุนรัฐบาลโอบามาโจมตีซีเรียอย่างสิ้นเชิง แต่เสนอลงโทษรัฐบาลซีเรียด้วยแนวทางอื่นๆ ช่วยเหลือฝ่ายต่อต้าน
            เช่น คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจให้เข้มงวดมากขึ้น ให้ความช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านเพิ่มมากขึ้น แนวทางนี้เป็นทางออกแก่ประเทศที่ไม่ต้องพูดเรื่องโจมตีซีเรียเพราะเหตุวันที่ 21 สิงหาคมอีกต่อไป เนื่องจากได้ลงโทษรัฐบาลซีเรียด้วยวิธีการอื่นๆ แล้ว อีกทั้งรัฐบาลโอบามายืนยันมาโดยตลอดว่าปัญหาซีเรียต้องแก้ไขด้วยวิถีทางการเมือง
            2) มีมติรอรายงานของสหประชาชาติ
            การอ้างรอรายงานสหประชาชาติ เป็นเพียงกลยุทธ์เพื่อไม่ต้องลงมติโจมตีซีเรีย เพราะสหประชาชาติยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่ารายงานจะออกเมื่อใด ที่สำคัญคือดังที่เคยวิเคราะห์ครั้งก่อนๆ แล้วว่าภารกิจของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติคือหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่ามีการใช้อาวุธเคมีหรือไม่ ไม่มีหน้าที่สรุปว่าใครหรือฝ่ายใดเป็นผู้ใช้ ที่สุดแล้วรายงานของสหประชาชาติคือมีการใช้อาวุธเคมีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมามีการกล่าวหาหลายครั้ง
            ดังนั้น หากคองเกรสลงมติให้รอรายงานสหประชาชาติจะมีน้ำหนักค่อนไปทางไม่โจมตีซีเรีย
            3) รัฐสภาอเมริกาขอเวลาพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติม
            แนวทางนี้เป็นอีกแนวทางหนึ่งเพื่อเลื่อนการโจมตี ด้วยข้ออ้างที่ไม่ประเทศไม่ต้องเสียหน้า ไม่ต้องอ้างสหประชาชาติ อีกทั้งยังเป็นวิธีการที่ไม่ปิดกั้นทางของตนเอง ในอนาคตรัฐสภาอาจนำเรื่องการโจมตีซีเรียขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกรอบ
            4) มีมติโจมตีซีเรีย
            อ้างหลักฐานการใช้อาวุธเคมีของอเมริกา อ้างการล้ำเส้นต้องห้าม ฯลฯ

            สรุป ไม่ว่าคองเกรสจะมีมติเช่นไร การตัดสินใจของคองเกรสจะมีผลต่อนโยบายการโจมตีซีเรียของนโยบายโอบามาอย่างยิ่ง หากมติมีผลเลื่อนการโจมตีน่าจะวิเคราะห์ว่าโอกาสโจมตีจะเหลือน้อยมาก หากอนาคตจะมีการโจมตีจะต้องรอสัญญาณใหม่อีกรอบ
            อียูเป็นตัวอย่างกลุ่มประเทศล่าสุดที่แสดงอาการไม่เห็นด้วย อุปสรรคของประธานาธิบดีโอบามาในขณะนี้ไม่ใช่อยู่ที่สมาชิกรัฐสภาโดยตรง แต่อยู่ที่การแสดงออกของชาวอเมริกันว่าจะต่อต้านมากเพียงไร จะสังเกตเห็นได้ว่าประธานาธิบดีพยายามลดกระแสดังกล่าวด้วยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยมั่นคงของประเทศ เป็นการโจมตีอย่างจำกัด จะไม่ส่งทหารเข้ารบในพื้นราบอย่างกรณีอิรัก อัฟกานิสถานโดยเด็ดขาด

            ผลกระทบต่อตลาดทุน:
            (ข้อมูลส่วนนี้จะปรับตามเวลา เพื่อแสดงสถานะล่าสุด)
            ราคาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่สหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ (7 ก.ย.) ปรับสูงทะลุ 109 ราคาเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 108-111 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังประธานาธิบดีปูตินประกาศว่าจะช่วยเหลือรัฐบาลซีเรียถ้าถูกโจมตี
            ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ อ่อนตัวแรงในช่วงแรกแล้วขยับกลับมาที่ราคาใกล้เคียงราคาเปิด

            วิเคราะห์: รัสเซียมีความสัมพันธ์เป็นมิตรกับรัฐบาลอัสซาดมาหลายทศวรรษ ย้อนตั้งแต่สมัยบิดาของประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด ตลอดสองปีครึ่งตั้งแต่เกิดความขัดแย้งในซีเรีย รัฐบาลปูตินให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอดทั้งแบบเปิดเผยกับปกปิด
            สถานการณ์การเสริมกำลังรบในตะวันออกกลาง ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียล มีกำลังรบของรัสเซียอยู่ด้วย แต่การประกาศว่าจะช่วยเหลือถ้าโจมตีไม่น่าจะเป็นการปะทะโดยตรงระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ น่าจะเป็นการช่วยเหลือเรื่องระบบข้อมูลมากกว่า เพื่อให้กองทัพอัสซาดป้องกันการโจมตีอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ระบบเรดาห์ซีเรียแม้ถูกทำลายก็ยังมีระบบของรัสเซียที่คอยให้ข้อมูล
            ปัจจัยดันราคาน้ำมันยังเป็นปัจจัยจิตวิทยา
            อนึ่ง การวิเคราะห์นี้มุ่งอธิบายสถานการณ์ความขัดแย้งในซีเรีย ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะส่งผลต่อตลาดเงินตลาดทุน

            สัปดาห์นี้หรือระหว่างนี้จึงต้องติดตามกระแสการเมืองภายในประเทศอเมริกัน การเมืองระหว่างประเทศ ผลการตรวจสอบของสหประชาชาติ เพื่อประเมินว่ารัฐสภาน่าจะมีมติในทางใด
            ณ วันนี้สัญญาณการโจมตีเปลี่ยจาก “ชัดเจน” มาเป็นจุดเดิมคืออาจโจมตีหรือไม่โจมตีก็เป็นได้ ถ้าผลสรุปคือโจมตี การโจมตีน่าจะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์นี้ หากมติมีผลเลื่อนการโจมตีน่าจะวิเคราะห์ว่าโอกาสโจมตีจะเหลือน้อยมาก หากอนาคตจะมีการโจมตีจะต้องรอสัญญาณใหม่อีกรอบ
8 กันยายน 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
----------------------
บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง:
(อัพเดท 1 ก.ย. 20.40 น.) ประธานาธิบดีโอบามาร้องขอให้รัฐสภาอภิปรายเพื่อลงมติโจมตีซีเรีย สัญญาณการโจมตีเปลี่ยนจาก “ชัดเจน” มาเป็นจุดเดิมคืออาจโจมตีหรือไม่โจมตีก็เป็นได้ และมีแนวโน้มว่าหากเป็นการโจมตีคงต้องรออีกเป็นสัปดาห์
(อัพเดท 4 ก.ย. 1.15 น.) สถานการณ์ขณะนี้คือประธานาธิบดีโอบามากำลังรวบรวมให้ได้เสียงข้างมาก เพียงพอที่รัฐสภาจะประกาศโจมตีซีเรีย โดยไม่รอผลการตรวจสอบหลักฐานจากเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ หากเป็นเช่นนั้นจริง การโจมตีน่าจะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์หน้า หลังการอภิปรายและรัฐสภาลงมติ

บรรณานุกรม:
1. “EU agrees Syria behind gas attack, urges U.S. to hold off”, CBC News/AP, 7 September 2013, http://www.cbc.ca/news/world/story/2013/09/07/syria-military-strike-europe-urge-us-hold-off.html
2. Crude Climbs to Two-Year High on Syria, Bloomberg, 8 September 2013, http://www.bloomberg.com/news/2013-09-06/crude-rises-for-second-day-after-jobs-report.html
----------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก