อเมริกาคิดโจมตีซีเรีย จุดเปลี่ยนนโยบายโอบามา
เมื่อหนึ่งปีก่อนคุณวิตอเรีย นูแลนด์ (Victoria Nuland) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงว่า
นโยบายของรัฐบาลโอบามาต่อซีเรียคือร่วมมือกับนานาชาติคว่ำบาตรรัฐบาลอัสซาด
รัฐบาลเชื่อว่าการแทรกแซงทางทหารจากภายนอกเป็นการเติมเชื้อไฟ มีแต่ทำให้คนตายเพิ่มขึ้น
ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมามีข่าวการใช้อาวุธเคมีในซีเรียหลายครั้ง
เฉพาะที่สหประชาชาติได้รับรายงานอย่างเป็นทางการมีจำนวนถึง 13 ครั้ง (ไม่รวมเหตุการณ์ล่าสุด) และตลอดหนึ่งปีดังกล่าวประธานาธิบดีบารัก โอบามาแสดงท่าทีลังเลใจ
ไม่ยอมสรุปว่ามีการใช้อาวุธเคมีหรือไม่ แม้ประกาศว่าจะลงมือจัดการอย่างเด็ดขาดถ้าพบว่ามีการใช้อาวุธเคมีจริง
การใช้อาวุธเคมีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ชานกรุงดามัสกัส กลายเป็นตัวจุดชนวนให้รัฐบาลโอบามาประกาศว่าต้องการโจมตีซีเรีย
ล่าสุดนายจอห์น เคอร์รี่
รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสรุปว่ารัฐบาลอัสซาดใช้อาวุธเคมีมาแล้วหลายครั้ง มีการพูดกันว่าอาจโจมตีซีเรียแม้จะต้องกระทำโดยลำพัง
แม้สหประชาชาติ หลายประเทศไม่เห็นด้วย
เหตุการณ์เมื่อวันที่
21 สิงหาคมกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนโยบายรัฐบาลโอบามาต่อซีเรีย
สิ่งที่รัฐบาลโอบามาพยายามแสดงออกและชักนำให้คนทั่วโลกคิดตามคือ
แยกประเด็นความขัดแย้งในซีเรียกับประเด็นการใช้อาวุธเคมีออกจากกัน ชี้ว่าเรื่องความขัดแย้งในซีเรียต้องแก้ไขด้วยกระบวนการทางการเมือง
ซึ่งอาจไม่บรรลุผลในระยะสั้น (อย่างน้อยไม่บรรลุผลมาสองปีครึ่งแล้วนับตั้งแต่เริ่มเกิดความขัดแย้ง)
ที่รัฐบาลโอบามากำลังคิดทำขณะนี้คือโจมตีกองทัพรัฐบาลอัสซาด เพื่อลงโทษเป็นตัวอย่างแก่ผู้ที่คิดจะใช้อาวุธเคมีในอนาคต
เนื่องจากการใช้อาวุธดังกล่าวผิดกฎหมายระหว่างประเทศ มีผลทำให้พลเรือนเสียชีวิต
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
มีผู้วิพากษ์วิจารณ์มากมาย หลายแง่หลายมุม มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
ประการแรก
หากรัฐบาลอัสซาดเป็นผู้อาวุธเคมีจริง
รัฐบาลโอบามายึดถือกฎเกณฑ์ใดในการลงโทษด้วยการโจมตีทางทหาร
การโจมตีมีรายละเอียดอย่างไร
เช่น เป้าหมายโจมตีคืออะไร มากน้อยเพียงใด ทำไมต้องโจมตีเป้าหมายเหล่านั้น
ใช้อะไรเป็นเกณฑ์ กฎเกณฑ์ดังกล่าวเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกหรือไม่
ราวปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พลเอกมาร์ติน เดมพ์ซี่ย์ (Martin
Dempsey) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเสนอแนวทางช่วยเหลือฝ่ายต่อต้าน 5
แนวทาง เพื่อให้ฝ่ายบริหารประกอบการตัดสินใจ หนึ่งในนั้นคือโจมตีเป้าหมายทางทหารที่สำคัญ
และชี้ว่าอาจทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งต้องเสียชีวิต
หากสหรัฐลงมือโจมตี
ผู้ที่เสียชีวิตคือทหารกับพลเรือนที่ได้รับลูกหลง ถามว่าคนเหล่านี้สมควรต้องจบชีวิตหรือไม่
หรือควรลงโทษผู้สั่งการใช้อาวุธเคมีมากกว่า การโจมตีจะทำให้จำนวนยอดผู้เสียชีวิตที่มีถึงแสนรายแล้วให้เพิ่มมากขึ้นอีก
และได้ชื่อว่าเป็นอีกประเทศที่ทำให้ชาวซีเรียเสียชีวิตโดยตรง
ประธานาธิบดีบารัก
โอบามาเพิ่งกล่าวเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า (28 สิงหาคม) “ผมยังไม่ได้ตัดสินใจ
(โจมตีซีเรีย-ผู้เขียน) แต่คิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องสะท้อนให้รู้ว่ามีการใช้อาวุธเคมี”
ในขณะที่รัฐบาลอัสซาดพยายามปิดบังมาโดยตลอด ... การใช้อาวุธเคมีไม่ช่วยแก้ปัญหาภายในของซีเรีย
มีแต่ทำให้ “พลเรือนผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิต” แต่การโจมตีย่อมมีพลเรือนผู้บริสุทธิ์ที่ถูกลูกหลง
ต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิต รัฐบาลโอบามาได้คำนึงสิทธิของพวกเขาตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่ชาติตะวันตกยึดถือมากน้อยเพียงไร
ขัดแย้งกับจุดยืนที่ประกาศไว้หรือไม่
ประการที่สอง สหประชาชาติไม่มีข้อสรุปว่าใครเป็นผู้ใช้อาวุธเคมี
ดังที่เคยวิเคราะห์ในบทความครั้งก่อนว่า
ภารกิจดั้งเดิมของเจ้าหน้าสหประชาชาติที่เข้าไปตรวจสอบคือค้นหาความจริงว่ามีการใช้อาวุธเคมีในซีเรียหรือไม่เท่านั้น
ภารกิจไม่ครอบคลุมถึงการสรุปว่าใครหรือฝ่ายใดเป็นผู้ใช้ กรอบภารกิจดังกล่าวมาจากการตกลงของชาติมหาอำนาจในคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ
และการยินยอมของรัฐบาลซีเรีย หากประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ยินยอมการตรวจสอบจะไม่เกิดขึ้น
จากหลักฐานที่ปรากฏ
เหตุการณ์ที่ชานกรุงดามัสกัส เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม น่าจะเป็นการใช้อาวุธเคมี
ดังนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่รายงานต่อคณะมนตรีความมั่นคงอย่างมากได้เพียงข้อสรุปว่ามีการใช้อาวุธเคมีจริงในวันนั้น
แต่จะไม่มีคำตอบว่าใครหรือฝ่ายใดเป็นผู้ใช้
ผลคือคณะมนตรีความมั่นคงจะไม่มีข้อสรุปว่าใครเป็นผู้ใช้อาวุธเคมีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม และยังไม่มีคำตอบของการใช้อาวุธเคมีตามที่เคยรับรายงานก่อนหน้านี้รวมทั้งหมด 13 ครั้งด้วย ในจำนวนนี้มีทั้งที่ชี้ว่ารัฐบาลอัสซาดเป็นผู้ใช้กับที่ชี้ว่าฝ่ายต่อต้านเป็นผู้ใช้
กลายเป็นว่าขึ้นกับรัฐบาลของแต่ละประเทศว่าจะสรุปหรือไม่สรุปอย่างไร
ส่วนข้อสรุปที่รัฐบาลโอบามาประกาศว่ารัฐบาลอัสซาดใช้อาวุธเคมีมาแล้วหลายครั้ง
เป็นเพียงข้อสรุปที่อีกหลายประเทศไม่เห็นด้วย ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียไม่ยอมรับข้อสรุปของอเมริกา กล่าวอย่างชัดเจนว่าหลายประเทศที่สรุปว่ารัฐบาลอัสซาดเป็นผู้ใช้นั้นปราศจากหลักฐานที่มีน้ำหนัก
ความจริงเรื่องใครเป็นผู้ใช้อาวุธเคมีจึงเป็นข้อสรุปจากรัฐบาลของแต่ละประเทศ
แต่ไม่ใช่ข้อสรุปจากสหประชาชาติ ทั้งยังไม่แน่ใจว่าเมื่อไหร่เจ้าหน้าที่สหประชาชาติจะมีโอกาสเข้าไปตรวจสอบอีก
ประการที่สาม
ทำไมรัฐบาลโอบามารวบรัดอยากแทรกแซงทางทหาร
ดังที่ได้เกริ่นแล้วว่าตลอดหนึ่งปีตั้งแต่ที่รัฐบาลโอบามาประกาศว่าจะลงมือจัดการอย่างเด็ดขาดถ้าพบว่ามีการใช้อาวุธเคมีจริง
แต่ในทางปฏิบัติรัฐบาลโอบามาลังเลใจที่จะตัดสินใจว่ามีการใช้อาวุธเคมีหรือไม่
ได้แต่กล่าวว่าต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม แต่จู่ๆ เมื่อเกิดเหตุวันที่ 21 สิงหาคม
รัฐบาลโอบามารวบรัดตัดสินใจต้องการแทรกแซงทางทหารแบบปัจจุบันทันด่วน
ทั้งที่ยังไม่มีหลักฐานอันเป็นที่ยอมรับ
เป็นพฤติกรรมที่แตกต่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อเทียบกับตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา
คำถามนี้อาจมีได้หลายคำตอบ
คำตอบหนึ่งที่สำคัญได้จากการตอบคำถามว่าใครได้ประโยชน์จากเหตุการณ์วันที่ 21
สิงหาคม หลายคนให้ความเห็นว่าเหตุที่รัฐบาลโอบามาตัดสินใจคิดโจมตีซีเรียเพราะหวังช่วยเหลือฝ่ายต่อต้าน
เนื่องจากกำลังเพลี่ยงพล้ำในหลายเมือง
นาย
Walid Muallem รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศซีเรียกล่าวว่าการโจมตีจะเป็นประโยชน์ต่ออิสราเอลกับอัลกออิดะห์เท่านั้น
ทุกวันนี้กลุ่มฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่อิงกับอัลกออิดะห์คือกลุ่มที่มีการจัดตั้งดีที่สุด
มีอาวุธทันสมัยและเข้มแข็งที่สุด
นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov)
รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเห็นว่าการโจมตี “เป็นไปตามคำขอ” จากฝ่ายต่อต้านรัฐบาล
นายฮัสซัน โรฮานี
ประธานาธิบดีอิหร่าน เชื่อว่ามีคนบางกลุ่มต้องการ
“ใช้การโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองผ่านสื่อต่างๆ
เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากสถานการณ์การสู้รบที่แท้จริงในซีเรีย
เพื่อจะได้ประโยชน์จากการใช้อาวุธเคมี แสดงมุมมองอย่างคนสายตาสั้นและเต็มไปด้วยอันตราย”
การโจมตีทำลายกองทัพอัสซาดไม่ว่าจะเป็นศูนย์บัญชาการ ฐานทัพ คลังอาวุธ
ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ย่อมบั่นทอนขีดความสามารถในการรบของกองทัพรัฐบาล
ไม่ว่าจะเป็นการจงใจหรือไม่ ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจะได้ประโยชน์โดยตรง
ทำให้สองฝ่ายมีอำนาจการรบทัดเทียมมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลโอบามาลังเลใจที่จะช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านด้วยอาวุธ (อาจมีการช่วยเหลือแบบลับๆ แต่ไม่มาก)
การที่สหรัฐโจมตีด้วยตนเองนอกจากแก้ไขปัญหาที่รัฐบาลโอบามากังวลมาตลอดว่าหากให้อาวุธชั้นเลิศแก่ฝ่ายต่อต้าน
อาวุธอาจตกอยู่ในมือของกลุ่มก่อการร้าย
อีกเหตุผลหนึ่งคือการใช้อาวุธหนักไม่ว่าจะเป็นรถถัง ปืนใหญ่ เครื่องบินรบ
อาวุธเหล่านี้เป็นเทคโนโลยีชั้นสูง ผู้ใช้หรือบังคับอาวุธเหล่านี้จำต้องมาจาการคัดสรร
ผ่านการฝึกอบรมตามขั้นตอนยาวนาน ไม่ใช่พลเรือนทุกคนจะมีความเหมาะสม
นอกจากนี้อาวุธเหล่านี้จำต้องมีระบบสนับสนุน
ลองจินตนาการว่าเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ต้องมีช่างเครื่อง ช่างซ่อมบำรุง
ต้องเติมน้ำมัน กระสุน ต้องมีศูนย์ซ่อมบำรุงพร้อมอุปการณ์เครื่องมือจำนวนมาก ฯลฯ
จึงเป็นเรื่องยากหากจะให้ฝ่ายต่อต้านมีและใช้ด้วยอาวุธเหล่านี้ด้วยตนเอง ทั้งยังไม่มีหลักประกันว่าหากฝ่ายต่อต้านมีและใช้อาวุธเหล่านี้จะรบชนะกองทัพอัสซาด
การโจมตีลดทอนอำนาจการรบจึงเปรียบเหมือนการที่สหรัฐเป็นมือเป็นไม้ช่วยเหลือฝ่ายต่อต้าน
ใช้กองทัพชั้นเลิศของตนจัดการกองทัพอัสซาด โดยที่ฝ่ายต่อต้านไม่ต้องเปลืองแรงเลย
หากเหตุผลเบื้องหลังของการโจมตีคือเพื่อช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียดังกล่าว
นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของนโยบายโอบามาต่อซีเรีย จากที่มุ่งสนับสนุนทางการเมือง
ให้สนับสนุนทางการทหารเล็กน้อยอย่างลับๆ มาเป็นการพาตัวเองสู่สมรภูมิ
การอ้างเหตุผลเรื่องสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักมีความเป็นไปได้สูง
เพราะตลอดสองปีครึ่งที่ผ่านมาฝ่ายต่อต้านเรียกร้องขอต่างชาติแทรกแซงด้วยกำลังทหารอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งดังกล่าวที่เคยวิเคราะห์แล้วว่าการใช้อาวุธเคมีไม่ช่วยให้ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายต่อต้านมีชัยในสมรภูมิ
แต่ฝ่ายต่อต้านจะได้รับประโยชน์หากสามารถดึงความช่วยเหลือเพิ่มเติม
กระแสการโจมตีซีเรียเพราะเหตุการใช้อาวุธเคมีกลายเป็นข่าวเด่นของโลก
มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาทั้งด้านบวกด้านลบ หากจะพูดถึงด้านบวก
การที่รัฐบาลโอบามาตัดสินใจคิดใช้กำลังโจมตีเท่ากับได้วางบรรทัดฐานว่าต่อไปนี้หากประเทศใดหรือฝ่ายใดใช้อาวุธดังกล่าวจะได้รับการลงโทษ
ในอนาคตไม่ว่าประเทศใดหรือฝ่ายใดคิดจะใช้อาวุธเคมีจึงต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบ
ในอีกมุมหนึ่งหากรัฐบาลโอบามาโจมตีจริงจะเป็นการพาประเทศถลำลึกสู่ความขัดแย้งในซีเรีย
ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นนอกจากส่งผลต่อภูมิภาคตะวันออกกลางที่ปั่นป่วนต่อเนื่องมาหลายปี
อาจส่งผลต่อการเมืองภายในประเทศด้วยก็เป็นไปได้ นี่อาจเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ สำคัญอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน
1 กันยายน 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6145 วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ.2556
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6145 วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ.2556
และได้รับการเผยแพร่ผ่าน “US Watch” โดย กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ,
http://uswatch.mfa.go.th/uswatch/th/article/detail.php?article=1733)
-----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ราวหนึ่งปีหลังจากที่กล่าวหากันไปมาในที่สุดสหประชาชาติส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบเรื่องการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย
แต่ต้องเข้าใจว่าเป้าหมายของการตรวจสอบคือเพื่อพิสูจน์ว่ามีการใช้หรือไม่เท่านั้น
ไม่ครอบคลุมถึงเรื่องใครหรือฝ่ายใดเป็นผู้ใช้
ที่ผ่านมาอังกฤษกับฝรั่งเศสแสดงท่าทีขึงขังเรียกร้องการแทรกแซงทางการทหาร
แต่นั่นหมายถึงต้องมีสหรัฐฯ เป็นหัวเรือใหญ่ที่ลังเลใจเรื่อยมา
(อัพเดท 27 ส.ค. 20.00 น.)
นานาชาติพุ่งเป้าให้ความสำคัญกับการใช้อาวุธเคมีที่ชานกรุงดามัสกัส
เจ้าหน้าที่สหประชาชาติกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่สหรัฐฯ อังกฤษ
ฝรั่งเศสเชื่อว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลอัสซาด และกำลังพิจารณาใช้กำลังทหารในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
(อัพเดท 28 ส.ค. 17.30 น.)
กระแสข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศล้วนชี้ว่าอเมริกากำลังเตรียมการโจมตี
ล่าสุดทางการรัสเซียเริ่มอพยพคนของตนออกจากซีเรีย การวิเคราะห์ผลยุทธการต่อตลาดทุน
ราคาน้ำมัน ควรแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงก่อนโจมตี ช่วงระหว่างโจมตี
และช่วงหลังโจมตี
(อัพเดท 29 ส.ค. 18.30 น.) ณ
วันนี้ยังมีโอกาสที่สหรัฐฯ จะโจมตีหรือไม่โจมตีซีเรียก็ได้
ตลาดเงินตลาดทุนกำลังรอดูสัญญาณ เพื่อทิศทางที่ชัดเจนกว่านี้
การถอนตัวของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติกับการประกาศพร้อมโจมตีของกองทัพฝรั่งเศสคือสัญญาณล่าสุด
(อัพเดท 30 ส.ค. 10.25 น.) ณ วันนี้ยังมีโอกาสที่สหรัฐฯ จะโจมตีหรือไม่โจมตีซีเรียก็ได้
แม้ว่าอังกฤษจะถอนตัวออกจากการโจมตี เพราะรัฐบาลโอบามาเตรียมใจแต่ต้นแล้ว
(อัพเดท 1 ก.ย. 20.40
น.) ประธานาธิบดีโอบามาร้องขอให้รัฐสภาอภิปรายเพื่อลงมติโจมตีซีเรีย
สัญญาณการโจมตีเปลี่ยนจาก “ชัดเจน” มาเป็นจุดเดิมคืออาจโจมตีหรือไม่โจมตีก็เป็นได้
และมีแนวโน้มว่าหากเป็นการโจมตีคงต้องรออีกเป็นสัปดาห์
บรรณานุกรม:
1. Victoria Nuland, Daily Press Briefing, 26 July 2012, http://www.state.gov/r/pa/prs/dpb/2012/07/195580.htm,
Access 27 July 2012.
2. Gen. Dempsey Responds to Levin's Request for Assessment
of Options for Use of U.S. Military Force in Syria, http://www.levin.senate.gov/newsroom/press/release/gen-dempsey-responds-to-levins-request-for-assessment-of-options-for-use-of-us-military-force-in-syria,
accessed 24 July 2013.
3. Obama: No decision yet on launching Syria military strike,
USA Today, 29 August 2013, http://www.usatoday.com/story/news/politics/2013/08/28/obama-syria-military-strike/2724905/
4. Putin to Cameron: No evidence Syria chemical weapons
attack occurred, Tehran Times, 27 August 2013, http://www.tehrantimes.com/world/110333-putin-to-cameron-no-evidence-syria-chemical-weapons-attack-occurred
5. KSA, Arab League seek decisive world stand on Syria, Arab
News, 28 August 2013, http://www.arabnews.com/news/462760
6. Military adventure in Mideast would cause irreparable
damage: Rohani, Tehran Times, 28 August 2013, http://www.tehrantimes.com/politics/110375-military-adventure-in-mideast-would-cause-irreparable-damage-rohani-
7. White House releases report detailing Syria chemical
attack, USA Today, 31 August 2013, http://www.usatoday.com/story/news/politics/2013/08/30/kerry-syria-chemical-weapons-obama/2742369/
----------------