คาดหวังอะไรเมื่อสหประชาชาติตรวจสอบการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย

ประเด็นการใช้อาวุธเคมีกลายเป็นจุดสนใจอีกครั้งเมื่อนายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติแจ้งว่าเจ้าหน้าที่สหประชาชาติจะเข้าไปตรวจสอบการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย เบื้องต้นจะทำการตรวจสอบสถานที่ 3 แห่ง เป็นเวลา 14 วันและอาจยืดเวลาออกไปอีกถ้าจำเป็น ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่จะต้องทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ไม่มีข้อจำกัด ภายหลังจากที่รัฐบาลซีเรียยอมให้เจ้าหน้าที่สหประชาชาติเข้าไปตรวจสอบ
            ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมก็มีข่าวการใช้อาวุธเคมีอีก ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียกล่าวหาว่าทหารของรัฐบาลอัสซาดใช้อาวุธเคมีโจมตีฝ่ายต่อต้านบริเวณชานเมืองของกรุงดามัสกัส มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยรายจากก๊าซพิษ นายจอร์จ ซาบรา (George Sabra) รองหัวหน้ากลุ่ม Syrian National Coalition (กลุ่มฝ่ายต่อต้านที่ชาติตะวันตกให้การสนับสนุน) ให้สัมภาษณ์ว่าประชาชน 1,300 รายเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว แพทย์รายงานว่าหลายคนมีสภาพม่านตาขยาย แขนขาเย็นและน้ำลายไหลออกจากปากเป็นฟอง
ภารกิจของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ:
            ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าสหประชาชาติประกาศอย่างชัดเจนว่าการตรวจสอบรอบนี้มีเป้าหมายเดียวคือตรวจหาหลักฐานตามจุดต้องสงสัย เพื่อตรวจสอบว่ามีการใช้อาวุธเคมีจริงหรือไม่ตามที่เคยกล่าวหากัน ไม่ถึงขั้นหาคำตอบว่าใครเป็นผู้ใช้
            การที่สหประชาชาติสามารถส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าชาติมหาอำนาจในคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติทั้งหมดเห็นร่วมกันรวมทั้งรัฐบาลซีเรีย ทั้งเชิงหลักการและวิธีปฏิบัติ เจ้าหน้าที่จะต้องกระทำในกรอบตามที่ตกลงกันไว้ เพราะสหประชาชาติไม่มีอำนาจเหนืออธิปไตยของซีเรีย
            ผลการตรวจสอบที่เป็นไปได้มีเพียง 3 ทางคือ ไม่มีการใช้กับมีการใช้จริง หรือไม่มีข้อสรุปใดๆ
            หากพิจารณาจากข้อมูลก่อนหน้านี้ ทั้งจากเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ อังกฤษ ฝรั่งเศสและรัสเซีย สหประชาชาติได้รับรายงานว่าเท่าที่ผ่านมามีการใช้อาวุธเคมีทั้งหมด 13 ครั้ง (หากรวมการกล่าวหาครั้งล่าสุดจากฝ่ายต่อต้านเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมจะรวมเป็น 14 ครั้ง) ดังนั้น คำตอบที่ได้น่าจะมีการใช้จริง

โจทย์ที่สำคัญกว่าคือใครเป็นผู้ใช้และใครได้ประโยชน์:
            ตลอดปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย ต่างแสดงหลักฐานว่ามีการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย
            ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย รัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสยืนยันว่าฝ่ายรัฐบาลซีเรียเป็นผู้ใช้ นายโลรองต์ ฟาบิอุส รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสกล่าวว่ามีการใช้อาวุธเคมีซารินหลายครั้งในซีเรีย รัฐบาลซีเรียเป็นผู้ใช้อย่างน้อยหนึ่งครั้ง

            ส่วนเจ้าหน้าที่สหประชาชาติกับรัสเซียชี้ว่าฝ่ายต่อต้านเป็นผู้ใช้
            คุณคาร์ลา เดอ ปอนท์ (Carla del Ponte) เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ เคยรายงานว่าฝ่ายต่อต้านเป็นผู้ใช้ โดยอ้างคำพยานจากเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายหลายคนที่ถูกอาวุธเคมีในซีเรียว่าฝ่ายต่อต้านเป็นผู้ใช้อาวุธเคมีทำลายประสาท และเท่าที่ตรวจสอบยังไม่พบหลักฐานใดๆ ว่ารัฐบาลอัสซาดใช้อาวุธเคมีแม้แต่ครั้งเดียว
            ด้านรัสเซียแสดงหลักฐานว่ามีการใช้ซารินเมื่อวันที่ 19 มีนาคมซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นฝีมือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย โดยใช้วิธีบรรจุในจรวด นายวิตาลี ชูร์คิน (Vitaly Churkin) เอกอัครราชทูตรัสเซียแถลงว่าผู้เชี่ยวชาญรัสเซียพบหลักฐานดังกล่าวที่เมือง Khan al-Assal ทางตอนเหนือของซีเรีย
            ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาตั้งแต่การใช้อาวุธเคมีกลายเป็นข่าว ต่างฝ่ายต่างแสดงหลักฐานว่าอีกฝ่ายเป็นผู้ใช้ และผู้ถูกกล่าวหาก็ปฏิเสธเรื่อยมา ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียต่างพยายามสนับสนุน ปกป้องฝ่ายของตน คาดหวังการช่วยเหลือทางการเมืองระหว่างประเทศ

            ในแง่ใครได้ประโยชน์จากการใช้อาวุธเคมี นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่ารัฐบาลอัสซาดไม่จำต้องพึ่งอาวุธเคมีในการปราบปรามฝ่ายต่อต้าน ตลอดสองปีครึ่งของความขัดแย้ง เกิดการปะทะแทบจะทุกวัน (นับไม่ถูกว่าเป็นกี่พันหรือกี่หมื่นครั้ง) กองทัพรัฐบาลบางครั้งเป็นฝ่ายรุกบางครั้งเป็นฝ่ายรับ แต่มีอาวุธเครื่องกระสุนใช้อย่างหลากหลายเหลือเฟือ จึงไม่น่าจะมีความจำเป็นต้องใช้อาวุธเคมีเพียงไม่กี่ครั้งตามที่กล่าวอ้าง การใช้อาวุธดังกล่าวไม่ช่วยให้ชนะสงคราม มีแต่ข้อเสียให้ต่างชาติมีเรื่องประณามเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น ในมุมของฝ่ายรัฐบาลแล้วการใช้อาวุธเคมีมีข้อเสียมากกว่าข้อดี
            ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านซึ่งเรียกร้องการสนับสนุนจากนานาชาติ เรียกร้องให้ชาติตะวันตกเข้าแทรกแซงเรื่อยมา คาดหวังว่าเหตุการใช้อาวุธเคมีจะกระตุ้นให้ชาติตะวันตกเข้าช่วยเหลือมากขึ้น
            ในแง่ยุทธการ การใช้อาวุธเคมีเพียงสิบกว่าครั้งในรอบสองปีครึ่งจึงไม่มีผลต่อชัยชนะในสมรภูมิ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายต่อต้าน แต่มีผลประโยชน์ด้านการเมืองระหว่างประเทศ ตลอดเวลาที่ผ่านมาฝ่ายต้านต่อมีความคาดหวังในผลประโยชน์ข้อนี้อยู่เสมอ

นโยบายเส้นต้องห้าม:
            ราวหนึ่งปีก่อนประธานาธิบดีบารัก โอบามา ประกาศว่าหากตรวจพบว่ามีการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย รัฐบาลอเมริกาจะต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นการล่วงล้ำเส้นต้องห้าม (red line) แต่เมื่อมีข่าวการใช้อาวุธเคมี รัฐบาลโอบามากลับแสดงท่าทีระมัดระวังที่จะสรุปว่ามีการก้าวล่วงเส้นต้องห้ามดังกล่าวหรือไม่
            หากมองในแง่บวกคือ ความรอบคอบในการพิจารณา ในการตัดสินใจ ป้องกันความเข้าใจผิด ในอีกแง่มุมหนึ่งคือ ต้องการถ่วงเวลา ไม่กระตือรือร้นในการค้นหาความจริง ไม่ยอมตัดสินใจ

            อันที่จริงแล้ว นโยบายของรัฐบาลโอบามาต่ออาวุธเคมีซีเรียมี 2 เรื่องหลักๆ เรื่องแรกคือเส้นต้องห้าม อีกเรื่องคือความกังวลว่าอาวุธเคมีจะตกอยู่ในมือของผู้ก่อการร้าย ไม่ว่าจะด้วยการถูกแย่งชิงหรือรัฐบาลอัสซาดมอบให้ผู้ก่อการร้าย เช่นกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ รัฐบาลโอบามาถึงกับส่งหน่วยรบพิเศษไปประจำการที่ตุรกีด้วยเหตุผลดังกล่าว เป็นความกังวลเดิมๆ ที่จากเหตุวินาศกรรม 9/11อเมริกาเกรงว่าผู้ก่อการร้ายจะใช้อาวุธเหล่านี้จะกับตนหรือมิตรประเทศอย่างอิสราเอล
            หากประมวลการดำเนินนโยบายทั้งหมด ดูเหมือนว่าเหตุผลเรื่องหลังจะสำคัญกว่าเรื่องแรก ดังที่เคยเขียนในบทวิเคราะห์ครั้งก่อนว่า หากพิจารณาการดำเนินนโยบายที่ผ่านมาล้วนชี้ว่าประธานาธิบดีโอบามาไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวทางทหารหรือมีบทบาทน้อยที่สุด เพราะความขัดแย้งเฉพาะหน้าในซีเรียไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ชาวอเมริกันจำนวนมากในเวลานี้พอใจกับนโยบายถอนทหารอเมริกันออกจากอิรัก ออกจากอัฟกานิสถาน มากกว่าที่จะส่งทหารไปยังประเทศอื่นๆ อีก
            แต่หากอาวุธเคมีตกอยู่ในมือของผู้ก่อการร้ายและถูกนำไปใช้โจมตีสหรัฐ ประธานาธิบดีโอบามาคงต้องประสบปัญหาทางการเมืองอย่างร้ายแรงแน่นอน

            ล่าสุดประธานาธิบดีบารัก โอบามา กล่าวอย่างชัดเจนว่า “ผลประโยชน์หลัก” ของสหรัฐ “คือทำให้มั่นใจว่าอาวุธอำนาจทำลายร้ายแรง (ในที่นี้หมายถึงอาวุธเคมี-ผู้เขียน) จะไม่แพร่กระจายออกไป และปกป้องพันธมิตร ฐานทัพของเราในภูมิภาค... ความเชื่อที่ว่าสหรัฐสามารถช่วยแก้ปัญหาอันซับซ้อนในซีเรียเป็นความเชื่อเกินจริง”

สหรัฐกับชาติพันธมิตรหวังจัดการขั้นเด็ดขาดเพราะการใช้อาวุธเคมีหรือ:
            หากวิเคราะห์ภายในกรอบว่าสหรัฐกับพันธมิตรควรแทรกแซงสถานการณ์ในซีเรียอย่างเด็ดขาด สองปีครึ่งตั้งแต่เริ่มความขัดแย้งในซีเรียมีผู้เสียชีวิตราว 1 แสนคน เฉลี่ย 3,333 คนต่อเดือน 111 คนต่อวัน ประชาชนอพยพออกจากถิ่นฐานไปอยู่ศูนย์อพยพต่างๆ ราว 2 ล้านคน และความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่ โศกนาฏกรรมขนาดนี้ไม่เพียงพอให้นานาชาติเข้าแทรกแซงหรือ ในขณะที่ผู้เสียชีวิตจากอาวุธเคมีทั้งหมดอยู่ในจำนวนระดับพันเท่านั้น ณ ขณะนี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลโอบามาจะให้ความสำคัญกับอาวุธที่ใช้สังหารมากกว่าจำนวนผู้บาดเจ็บเสียชีวิต

            เมื่อไม่นานนี้มีผู้เสนอแนวคิดให้สหรัฐจัดตั้งเขตห้ามบินและใช้กำลังทางอากาศจัดการกองทัพซีเรีย แต่พลเอกมาร์ติน เดมพ์ซี่ย์  (Martin Dempsey) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสหรัฐไม่เห็นด้วยกับวิธีดังกล่าว เนื่องจากสหรัฐอาจช่วยโค่นล้มรัฐบาลซีเรีย “แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาทางเชื้อชาติ ศาสนา ความขัดแย้งระหว่างเผ่าที่เป็นเชื้อไฟเบื้องหลังความขัดแย้งในขณะนี้” และยังชี้ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงความขัดแย้งระหว่างสองฝ่าย แต่เป็นความขัดแย้งของหลายฝ่าย
            สรุปแล้ว ไม่ว่าใครเป็นผู้ใช้อาวุธเคมี ไม่อาจคาดหวังว่ารัฐบาลโอบามาแทรกแซงด้วยกำลังทหารเต็มรูปแบบอย่างแน่นอน

            ในทำนองเดียวกัน หากคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ นานาประเทศ ต้องการแทรกแซงมากกว่าที่เป็นอยู่ย่อมสามารถกระทำได้โดยทันที เมื่อสองปีก่อนคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติอนุมัติให้ใช้กำลังทหารเพื่อปกป้องประชาชนจากการกวาดล้างของรัฐบาลมูอัมมาร์ กัดดาฟี แห่งลิเบีย ภายหลังที่รัฐบาลสังหารประชาชนไม่กี่หมื่นคน ในขณะที่ตายถึงแสนคนแล้วในซีเรีย

            การยกประเด็นการใช้อาวุธเคมีเหมือนกับเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นโศกนาฏกรรมหนึ่งแสนชีวิต มาเป็นเรื่องการใช้อาวุธเคมีที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ และหากนานาชาติต้องการเพิ่มการแทรกแซงด้วยเหตุเรื่องการใช้อาวุธเคมี คงต้องรอไปอีกนาน ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะมีข้อสรุป ทั้งยังไม่มีความแน่นอนว่าฝ่ายใดเป็นผู้ใช้ ฝ่ายใดต้องถูกลงโทษ

            คาดเดาได้ว่าเมื่อเจ้าหน้าที่สหประชาชาติเสร็จสิ้นผลการตรวจสอบรอบนี้ แม้จะไม่สรุปว่าฝ่ายใดเป็นผู้ใช้อาวุธเคมี ในทางการเมืองระหว่างประเทศจะต้องมีการกล่าวหากันไปมา จะเกิดการโต้แย้งถกเถียงขึ้นมาอีกรอบ แต่จะลงเอยด้วยไม่ได้ข้อสรุปใดๆ บางประเทศอาจใช้รายงานของสหประชาชาติเพื่อดำเนินนโยบาย เช่น ชาติตะวันตกกดดันรัฐบาลซีเรียมากขึ้น ช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านมากขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นส่งกองทัพเข้าร่วมสมรภูมิอย่างเต็มกำลัง
            สถานการณ์ความขัดแย้งในซีเรียคงต้องดำเนินต่อไป
24 สิงหาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6138 วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2556)
------------------------------
บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง:
ข่าวการใช้อาวุธเคมีซารินในซีเรียกลายเป็นเรื่องจริง แต่ยังสับสนว่าฝ่ายใดเป็นผู้ใช้ ที่ผ่านมาซารินทำให้ผู้คนเสียชีวิตบาดเจ็บไม่มาก แต่กลับมีผลทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างมากทั้งต่อซีเรียและชาติมหาอำนาจอย่างอเมริกา
สมาชิกสหภาพยุโรปมีทั้งประเทศที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกับการเสริมเขี้ยวเล็บแก่ฝ่ายต่อต้าน และมติยกเลิกคว่ำบาตรขายอาวุธแก่ฝ่ายต่อต้านไม่น่าจะมีผลใดๆ ทั้งด้านการรบกับการเมืองของซีเรีย เพราะมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องและอาจไม่ตรงความต้องการของฝ่ายต่อต้าน
(อัพเดท 24 ก.ค. 8.30 น.) กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เปิดเผยแผนช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก เพื่อให้ฝ่ายบริหาร สมาชิกสภาครองเกรสใช้ประกอบการตัดสินใจ แต่ดูเหมือนว่าไม่ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งในซีเรียแต่อย่างไร
(อัพเดท 26 ส.ค. 6.30 น.) สถานการณ์ซีเรียร้อนแรงต่อเนื่อง รัฐบาลอเมริกา อังกฤษและฝรั่งเศสปักใจเชื่อว่ารัฐบาลซีเรียคือผู้ใช้อาวุธเคมี สามมหาอำนาจกำลังหาร่วมให้นานาชาติร่วมมือกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เรือรบสหรัฐฯ ได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ ล่าสุดเจ้าหน้าที่สหประชาชาติจะเข้าตรวจสอบอาวุธเคมีในวันจันทร์นี้ ภายหลังที่รัฐบาลซีเรียยอมเข้าตรวจสอบจุดต้องสงสัย ในขณะที่บางคนเชื่อว่าสถานการณ์มาถึงจุดที่สายเกินแก้แล้ว
-------------------

บรรณานุกรม:
1. UN demands full access to check for Syria chemical weapons, The Australian/AFP, 20 August 2013, http://www.theaustralian.com.au/in-depth/middle-east-in-turmoil/un-demands-full-access-to-check-for-syria-chemical-weapons/story-fn7ycml4-1226700419842
2. Syria opposition group claims 1,300 killed in chemical attack in Damascus suburbs, CBS, 21 August 2013, http://www.cbsnews.com/8301-202_162-57599467/syria-opposition-group-claims-1300-killed-in-chemical-attack-in-damascus-suburbs/
3. Foreign and Expatriates Ministry: Allegations of Armed Forces using toxic gas in Damascus Countryside false and untrue, SANA, 21 August 2013, http://sana.sy/eng/337/2013/08/21/498385.htm
4. Remarks of President Barack Obama To the People of Israel, The White House, 21 March 2013, http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/03/21/remarks-president-barack-obama-people-israel
5. U.S. against military intervention as Syria rebels noncommittal on U.S. interests: Dempsey, Xinhua, 22 August 2013, http://news.xinhuanet.com/english/world/2013-08/22/c_132651868.htm
5. France: Sarin gas used in Syria, CNN, 5 June 2013, http://edition.cnn.com/2013/06/04/world/meast/syria-civil-war/?hpt=wo_c2
6. Russia Says Study Suggests Syria Rebels Used Sarin, The New York Times, 9 July 2013, http://www.nytimes.com/2013/07/10/world/middleeast/russia-says-study-suggests-syria-rebels-used-sarin.html?_r=0
7. Obama: Syria chemicals grave concern, BBC, 23 August 2013, http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-23809409
-----------------