ฟิลิปปินส์กับไต้หวันยุติข้อพิพาทเพื่อผลประโยชน์ระดับประเทศ
เมื่อสามเดือนก่อนเกิดเหตุเรือยามฝั่งฟิลิปปินส์ยิงเรือประมงไต้หวัน
ทำให้ลูกเรือไต้หวันคนหนึ่งเสียชีวิต นายหม่า อิงจิ่วประธานาธิบดีไต้หวันเรียกร้องคำขอโทษจากรัฐบาลฟิลิปปินส์
แต่นายอาร์มานด์ บาลิโล โฆษกกองป้องกันยามฝั่งฟิลิปปินส์กล่าวว่า “รู้สึกสงสารเห็นใจถ้ามีผู้เสียชีวิต
แต่ไม่ขอโทษ” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและท่าทีของทั้งสองฝ่ายทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นมาทันที
ฝ่ายฟิลิปปินส์อ้างว่าเรือประมงไต้หวันเข้ามาทำประมงในน่านน้ำของตน
เรือประมงอย่างน้อยหนึ่งลำพยายามพุ่งเข้าชนเรือยามฝั่ง เจ้าหน้าที่บนเรือจึงพยายามยิงปืนใส่เครื่องยนต์เพื่อให้เรือหยุด
โดยไม่ระวังว่าจะมีผู้ใดถูกยิงหรือไม่ ฝ่ายไต้หวันเห็นว่าเรือถูกยิงขณะทำประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตนที่จุด
164 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งไต้หวัน และเห็นว่าการที่เรือยามฝั่งยิงเรือประมงที่ปราศจากอาวุธเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ
เป็นสภาวะที่ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ (หรือทะเลฟิลิปปินส์) ทางการฟิลิปปินส์เห็นว่าเจ้าหน้าที่กระทำตามกฎหมาย ส่วนไต้หวันเห็นว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ
ปฏิกิริยาจากไต้หวันกับฟิลิปปินส์:
นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าเหตุที่ประธานาธิบดีหม่าแสดงท่าทีขึงขังเมื่อตอนเกิดเหตุเนื่องจากแรงกดดันจากประชาชน
จากพรรคฝ่ายค้าน นักการเมืองบางคนถึงกับเสนอให้รัฐบาลยกเลิกการจ้างแรงงานฟิลิปปินส์ทั้งหมด
ในช่วงนั้นคะแนนนิยมของประธานาธิบดีหม่ากำลังตกต่ำอย่างมาก
ผลโพลล์แห่งหนึ่งชี้ว่าเขาได้รับคะแนนนิยมเพียงร้อยละ 19.1 ในขณะที่ร้อยละ 69.9
ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่พอใจผลงานของท่าน
ที่ผ่านมาบางคนเห็นว่าประธานาธิบดีอ่อนแอเกินไปโดยเฉพาะกรณีการอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะเตียวหยู (เซนกากุ) ระหว่างจีน ญี่ปุ่นกับไต้หวัน
การแสดงท่าทีขึงขังครั้งนี้จึงเป็นการแสดงบทบาทของประธานาธิบดีผู้ปกป้องพลเมือง
ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ
อันที่จริงแล้วความขัดแย้งการทำประมงระหว่างชาวประมงสองฝ่ายไม่ใช่เรื่องใหม่
เป็นเวลานานหลายปีแล้วที่ชาวประมงฟิลิปปินส์กล่าวหาว่าเรือประมงไต้หวันลักลอบเข้ามาหาปลาในเขตน่านน้ำฟิลิปปินส์
กรอปกับไม่พอใจที่เรือประมงของไต้หวันลำใหญ่กว่า ทันสมัยกว่า
สามารถจับปลาในจุดที่เรือฟิลิปปินส์ทำไม่ได้ จึงเป็นความไม่พอใจที่ซ่อนอยู่ภายในและพยายามรังควานเรือประมงไต้หวัน
แต่ที่ผ่านมาความขัดแย้งเรื่องการทำประมงไม่ถูกยกระดับเป็นปัญหาระหว่างประเทศ
ประเด็นการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทับซ้อนต่างหากเป็นปัญหาระหว่างประเทศที่สำคัญ
ประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโนที่ 3 แสดงท่าทีขึงขังเรื่อยมาโดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุเผชิญหน้ากับจีน
ต่อกรแบบไม่ลดราวาศอก ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นไต้หวันหรือจีนเมื่อล่วงล้ำเขตพื้นที่อ้างสิทธิและกลายเป็นข่าว
รัฐบาลฟิลิปปินส์ย่อมไม่อาจถอยจากจุดยืนของตน เพียงแต่กรณีนี้ยุ่งยากมากขึ้นเพราะไต้หวันกับฟิลิปปินส์มีความสัมพันธ์การค้า
มีผลประโยชน์ร่วมกันหลายอย่าง โดยเฉพาะกรณีแรงงานฟิลิปปินส์ที่ทำงานช่วยงานบ้านในไต้หวันราว
87,000 คนและแรงงานในภาคอื่นๆ
เมื่อทางการฟิลิปปินส์ไม่ยอมขอโทษอย่างเป็นทางการอย่างที่ไต้หวันยอมรับ
รัฐบาลไต้หวันจึงออก 11 มาตรการเพื่อกดดันฟิลิปปินส์ ใน 11
มาตรการดังกล่าว 2 ข้อที่ฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การไม่รับแรงงานฟิลิปปินส์เข้าทำงานเพิ่มกับการไม่ส่งเสริมให้ชาวไต้หวันเดินทางไปฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์ยอมขอโทษอย่างเป็นทางการ:
ฟิลิปปินส์ยอมขอโทษอย่างเป็นทางการ:
ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมสามเดือนหลังเกิดเหตุ นายอมาดีโอ เปเรซ (Amadeo
Perez) ตัวแทนของฟิลิปปินส์กล่าวขออภัยอย่างเป็นทางการกรณีที่เจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์ยิงเรือประมงไต้หวันในน่านน้ำทะเลจีนใต้
เป็นเหตุให้ชาวประมงไต้หวันคนหนึ่งเสียชีวิต นายเปเรซอ่านแถลงการณ์ขออภัยต่อหน้าที่ประชุมสื่อมวลชน
และกล่าวว่าตนได้รับมอบหมายจากประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโนที่ 3 เป็น
“ตัวแทนส่วนตัวของท่านและประชาชนฟิลิปปินส์เพื่อแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งและขอการให้อภัย”
ต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต และยังชี้แจงว่ากระทรวงยุติธรรมฟิลิปปินส์
“กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวน” เจ้าหน้าที่ยามฝั่ง 8
นายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยิงลูกเรือประมงไต้หวัน
ประเทศฟิลิปปินส์ได้เรียนรู้บทเรียนอันมีค่าจากโศกนาฏกรรมและเห็นว่าควรระวังในการบังคับใช้กฎหมายการทำประมงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ
ผลจากการขออภัยและการดำเนินคดีทำให้รัฐบาลไต้หวันประกาศยกเลิก 11
มาตรการคว่ำบาตรต่อฟิลิปปินส์ทันที
กรมสืบสวนสอบสวนแห่งชาติ (The National Bureau of Investigation หรือ NBI) ของฟิลิปปินส์รายงานว่ากำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนเจ้าหน้ายามฝั่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เสียชีวิตของลูกเรือประมงไต้หวัน
ชี้ว่าหลักฐานที่มีอยู่ยังไม่อาจสรุปชัดเจนว่าเรือยามฝั่งฟิลิปปินส์พุ่งเข้าหาเรือประมงไต้หวัน
ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์อ้างว่าเรือประมงไต้หวันต่างหากที่พุ่งเข้าใส่เรือยามฝั่ง
จึงต้องยิงปืนใส่เรือประมง และยังชี้ว่าฝ่ายฟิลิปปินส์ได้ทำการยิงเตือนและส่งเสียงเตือนล่วงหน้าก่อนยิงใส่เรือประมง
และเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้กระทำด้วยความตั้งใจหรือเตรียมการล่วงหน้า
เจ้าหน้าที่ยามฝั่งพยายามปฏิบัติตามกฎหมายแต่ไม่ได้ใช้อาวุธตามขั้นตอนที่ถูกต้อง
ความตั้งใจของเจ้าหน้าที่คือพยายามยิงใส่เครื่องยนต์เรือประมงที่กำลังจะพุ่งชน นอกจากนี้
NBI ยังคงยึดถือว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นในขณะที่อยู่ในน่านน้ำของฟิลิปปินส์
คือราว 40 ไมล์ทะเลห่างจากชายฝั่งฟิลิปปินส์และอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200
ไมล์ทะเล ถือว่าอยู่ในเขตอธิปไตยของประเทศ
ส่วนข้อมูลไต้หวันระบุว่า
“เรือยามฝั่งฟิลิปปินส์ไล่ล่าเรือประมงที่ปราศจากอาวุธเป็นเวลา 75
นาทีและยิงปืนใส่เรือกว่า 100 นัด ซึ่งเป็นการชี้ชัดว่าไม่ใช่เพื่อการป้องกันตนเอง
...และมีเจตนาจะฆ่า”
วิเคราะห์องค์รวม:
ประการแรก
มีคำถามว่ารัฐบาลไต้หวันยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเร็วเกินไปหรือไม่
ควรรอให้คดีพิพากษาถึงที่สุดก่อน และที่สำคัญกว่าคือควรใช้โอกาสนี้กดดันให้รัฐบาลฟิลิปปินส์เจรจาแก้ไขปัญหาการทำประมงในเขตพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน
เพื่อแก้ปัญหาอย่างถาวร ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ
นักวิเคราะห์ไต้หวันบางคนเห็นว่าความขัดแย้งเรื่องการทำประมงระหว่างไต้หวันกับฟิลิปปินส์บนพื้นที่ทับซ้อนสามารถแก้ไขได้
โดยทำข้อตกลงร่วมเหมือนกับข้อตกลงที่ไต้หวันทำกับญี่ปุ่น
(อนุญาตให้เรือประมงของทั้งสองฝ่ายสามารถทำประมงในน่านน้ำใกล้กับหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุได้อย่างปลอดภัย)
ไม่ผิดกฎหมายของอีกประเทศหนึ่ง การแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่างหากที่ชาวประมงไต้หวันเรียกร้อง
มีความสำคัญยิ่งกว่าคำขอโทษหรือการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์
รัฐบาลไต้หวันควรตระหนักว่าการที่ฟิลิปปินส์กำลังเจรจาเรื่องการทำประมงกับไต้หวันในขณะนี้
มิได้หมายความว่าจะยินยอมโอนอ่อนตามข้อเสนอของไต้หวัน
อาจเป็นเพียงการเจรจาเพื่อให้เกิดการเจรจา ไม่ได้มุ่งหวังผลลัพธ์แต่ประการใด
เมื่อรัฐบาลไต้หวันยอมคืนความสัมพันธ์ปกติโดยที่ยังไม่บรรลุข้อตกลงทำประมง
ทั้งๆ
ที่กำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบจึงดูราวกับว่าไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสถานการณ์อย่างเต็มที่
ประการที่สอง
มีความเป็นไปได้ว่าเหตุที่รัฐบาลไต้หวันต้องเร่งยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร เพราะไต้หวันก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรเช่นกัน
มาตรการคว่ำบาตรจึงส่งผลเสียต่อทั้งสองฝ่าย การที่ทางการฟิลิปปินส์ยอมแสดงการขอโทษอย่างเป็นทางการในระดับที่รัฐบาลไต้หวันกับครอบครัวผู้เสียชีวิตยอมรับได้
จึงถือว่าเป็นการประนีประนอมทั้งสองฝ่าย เพื่อยุติข้อพิพาท สองฝ่ายดำเนินความสัมพันธ์ตามปกติเช่นเดิม
ในอีกมุมหนึ่ง แม้รัฐบาลสองฝ่ายไม่อยากให้ประเด็นการเสียชีวิตของพลเมืองหนึ่งคนเป็นเหตุกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
แต่ตลอดสามเดือนที่ผ่านมาทั้งสองรัฐบาลต่างต้องระวังปฏิกิริยาการเมืองภายในประเทศควบคู่ด้วย
จะละเลยไม่ให้ความสำคัญเลยก็ไม่ได้
แต่ที่สุดแล้วผลประโยชน์ระดับชาติย่อมต้องมาก่อน
ประการที่สาม มีมูลความจริงว่าชาวประมงฟิลิปปินส์ไม่พอใจที่ชาวประมงไต้หวันได้ประโยชน์จากการทำประมงมากกว่า
เรือประมงไต้หวันบางลำลักลอบจับปลาในน่านน้ำฟิลิปปินส์ และเรือยามฝั่งฟิลิปปินส์กับเรือประมงไต้หวันมีเหตุขัดแย้งเรื่อยมา
เพียงแต่ที่ผ่านมาประเด็นดังกล่าวไม่ถูกยกระดับเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ
ถ้าพูดในกรอบที่กว้างขึ้น
มีเรือประมงหลายประเทศที่เข้ามาทำประมงในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน
แต่เป้าหมายหลักของรัฐบาลอากีโนอยู่ที่เรือประมงของจีนเป็นหลัก เพราะถูกนำมาโยงกับความขัดแย้งของสองประเทศ
เป็นประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่รัฐบาลอากีโนให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ
โดยรวมแล้ว
เหตุผลที่สองฝ่ายยุติข้อพิพาทคืนความสัมพันธ์ตามปกติ
ถ้ามองในแง่เศรษฐกิจคือเพื่อป้องกันไม่ให้ทั้งสองฝ่ายต้องสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่านี้
ด้านเหตุผลการเมืองระหว่างประเทศ
คือ รัฐบาลอากีโนไม่ประสงค์มีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศกับรัฐบาลไต้หวัน
ที่ผ่านมาสองรัฐบาลเป็นมิตรกันมาโดยตลอด สองฝ่ายน่าจะมีศัตรูร่วมคือจีนมากกว่า
ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ
เมื่อพูดถึงข้อพิพาททะเลจีนใต้หรือทะเลฟิลิปปินส์
เป้าหมายใหญ่ของรัฐบาลอากีโนคือจีน
เป็นคู่พิพาทด้านความมั่นคงระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดของฟิลิปปินส์
ล่าสุดเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
รัฐบาลอาเบะกับรัฐบาลอากีโนได้ลงนามในสนธิสัญญาความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ ภายในข้อตกลงดังกล่าวรัฐบาลญี่ปุ่นจะมอบเรือยามฝั่งใหม่เอี่ยมแก่ฟิลิปปินส์ถึง 10 ลำ เป็นเรือขนาด 180 ตันพร้อมอาวุธทันสมัย และยังมีแผนจัดการซ้อมรบร่วมระหว่างสองประเทศและร่วมกับสหรัฐอเมริกา
แน่นอนว่าฟิลิปปินส์สามารถใช้เรือดังกล่าวเพื่อควบคุมเรือประมงไต้หวัน แต่เห็นได้ชัดว่าเจตนาที่แท้จริงของสนธิสัญญาดังกล่าวคือเพื่อต่อกรกับจีน
การมอบเรือยามฝั่งเป็นการช่วยให้ฟิลิปปินส์มีเขี้ยวเล็บรุ่นใหม่เพื่อต่อกรกับทัพเรือประมงจีน
คดีการยิงลูกเรือประมงไต้หวันยังอยู่ระหว่างการสืบสวน
ยังไม่ทราบชัดเจนว่าสุดท้ายเจ้าหน้าที่ยามฝั่งฟิลิปปินส์จะมีความผิดรับได้โทษหรือไม่
อีกทั้งการเจรจาการทำประมงระหว่างสองฝ่ายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายซ้ำก็ยังไม่มีข้อสรุป
แต่ถึงกระนั้นรัฐบาลทั้งสองฝ่ายกลับได้ข้อยุติ กลับมาดำเนินความสัมพันธ์ตามปกติ
ทิ้งคำถามว่าลูกเรือประมงไต้หวันจะต้องตายฟรีหรือไม่ ในอนาคตโศกนาฏกรรมเช่นนี้จะเกิดขึ้นซ้ำอีกหรือเปล่า
หรือว่าที่สุดแล้วชาวไต้หวันต้องตระหนักว่าผลประโยชน์ระดับชาติต้องมาก่อน
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6124 วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2556
และได้รับการเผยแพร่ผ่าน สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2013, http://www.thaizhong.org/index.php?option=com_content&view=article&id=3675:2013-08-21-04-37-06&catid=63:articlespecialorther-cat&Itemid=100)
และได้รับการเผยแพร่ผ่าน สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2013, http://www.thaizhong.org/index.php?option=com_content&view=article&id=3675:2013-08-21-04-37-06&catid=63:articlespecialorther-cat&Itemid=100)
--------------------
บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง:
ความขัดแย้งระหว่างฟิลิปปินส์กับไต้หวันต่อหมู่เกาะสแปรตลีย์ไม่ใช่เรื่องใหม่
การค้นหาคำตอบว่า “ทำไมฟิลิปปินส์ยิงเรือประมงไต้หวันในน่านน้ำหมู่เกาะสแปรตลีย์”
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา จะช่วยทำให้เข้าใจว่าเป็นเพราะการอ้างอธิปไตย ความขัดแย้งเรื่องการทำประมง
หรือการเมืองระหว่างประเทศอันซับซ้อน คำตอบจากแต่ละแนวทางส่งผลต่อทิศทางการแก้ปัญหา
ความเป็นไปในอนาคต
บรรณานุกรม:
1. Death on the High Seas: Ma issues ultimatum over
fisherman’s death, Taipei Times, 12 May 2013, http://www.taipeitimes.com/News/front/archives/2013/05/12/2003562050
2. People have given up on Ma, poll says’ Taipei Times, 13
May 2013, http://www.taipeitimes.com/News/taiwan/archives/2013/05/13/2003562143
3. EDITORIAL: Action needed on Philippines, Taipei Times, 13
May 2013, http://www.taipeitimes.com/News/editorials/archives/2013/05/13/2003562115
4. Taiwan threatens Philippines with sanctions, Al Jazeera,
13 May 2013, http://www.aljazeera.com/news/asia-pacific/2013/05/201351322456788396.html
5. 8 Coast Guard men to face homicide charges for Taiwanese
fisher's death, GMA News, 7 August 2013, http://www.gmanetwork.com/news/story/320987/news/nation/8-coast-guard-men-to-face-homicide-charges-for-taiwanese-fisher-s-death
6. NBI: Homicide raps vs 8 PCG men in Taiwan case,
Philippine Daily Inquirer, 8 August 2013, http://globalnation.inquirer.net/82673/nbi-homicide-raps-vs-8-pcg-men-in-taiwan-case
7. “Taiwanese poachers bolder, growing in number, say
Batanes residents”, GMA News, 8 August 2013, http://www.gmanetwork.com/news/story/321196/news/nation/taiwanese-poachers-bolder-growing-in-number-say-batanes-residents
8. Government lifts Philippines sanctions, Taipei Times, 9
August 2013, http://www.taipeitimes.com/News/front/archives/2013/08/09/2003569263
9. “Japan, Philippines sign strategic parnership”, Jane’s
Defence Weekly, 7 August 2013
--------------------------