ใครได้ประโยชน์จากการสลายการชุมนุมของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์

ตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว หลังจากที่พลเอกอับดุล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี ผู้บัญชาทหารสูงสุดประกาศให้ประชาชนทั่วประเทศพร้อมใจกันชุมนุมเพื่อแสดงพลังสนับสนุนการรัฐประหาร ไม่กี่วันต่อมาคณะรัฐมนตรีรัฐบาลเฉพาะกาลมีคำสั่งอนุมัติให้ทหารตำรวจทำการสลายการชุมนุมของกลุ่มสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมอร์ซีที่ยังชุมนุมอยู่ ในที่สุดการสลายการชุมนุมก็เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา
             ประธานาธิบดีอัดลี มานซูร์ให้เหตุผลของการสลายการชุมนุมว่า “ความมั่นคงกับความสงบเรียบร้อยของชาติตกอยู่ในอันตรายจากการบ่อนทำลายที่มีการวางแผนอย่างดี กลุ่มหัวรุนแรงได้โจมตีสถานที่ราชการกับเอกชน และทำให้มีผู้เสียชีวิต” ส่วนนายฮาเซ็ม อัล-เบบลาวี  รักษาการนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเหตุผลที่ต้องสลายการชุมนุมก็เพื่อคืนความสงบเรียบร้อยแก่ประเทศ
มอร์ซีผิดหรือฝ่ายต่อต้านมอร์ซีผิด:
            ผลจากการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 600 ราย บาดเจ็บกว่า 4 พันคน อีกทั้งยังมีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตเพิ่มเติมจากการชุมนุมที่ตามมาอีก มีคำถามว่าใครควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของคนเหล่านี้
            การสลายการชุมนุมเป็นหลักฐานชี้ว่าหกสัปดาห์ของการเจรจาเพื่อหาทางออกโดยสันติไม่ได้ผล รัฐบาลมานซูร์ไม่ยอมให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมชุมนุมแบบไม่มีวันจบสิ้น จึงเปลี่ยนจากใช้ไม้อ่อนเป็นไม้แข็ง ทางการได้แจ้งเตือนล่วงหน้ามานานแล้ว ยิ่งใกล้วันสลายการชุมนุมก็ยิ่งเตือนให้ประชาชนออกจากพื้นที่ชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งยังคงปักหลักอย่างเหนียวแน่นและเตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น
            อธิบายเพิ่มเติมว่าหนึ่งสัปดาห์ก่อนการสลายการชุมนุม สหรัฐ สหภาพยุโรปยังพยายามพูดคุยกับทุกฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาโดยสันติ การสลายการชุมนุมเป็นข้อพิสูจน์ว่าการเจรจาไร้ผล แสดงให้เห็นว่าแกนนำฝ่ายมอร์ซียังคงยึดมั่นจุดยืนของตน ไม่ยอมเข้าร่วมการเมืองกระแสหลัก (เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่)

            หากทบทวนเหตุการณ์ย้อนหลัง ต้องไม่ลืมว่าในสมัยของประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซีนั้น ประชาชนอียิปต์จำนวนไม่น้อยเห็นว่ารัฐบาลบริหารประเทศโดยอิงหลักศาสนามากเกินไป พยายามรวบอำนาจ แทรกแซงฝ่ายตุลาการ ผนวกกับความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจ เกิดการชุมนุมประท้วงหลายต่อหลายครั้ง มีผู้บาดเจ็บล้มตายไม่น้อย จนนำสู่การชุมนุมใหญ่เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาและกองทัพเข้ายึดอำนาจในที่สุด
            สถานการณ์ขณะนี้ไม่แตกต่างจาก 6 สัปดาห์ก่อนเกิดรัฐประหาร ฝ่ายผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมอร์ซียังไม่ยอมถอยจากจุดยืนเดิม ยืนยันว่ารัฐบาลมอร์ซีมาจากการเลือกตั้งอันชอบธรรม รัฐธรรมนูญที่ค่อนข้างอิงหลักศาสนานั้นผ่านการลงประชามติ ไม่ยอมรับการรัฐประหาร
            ความแข็งแกร่งขององค์กรกลุ่มภราดรภาพมุสลิมเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ทำให้แกนนำมีหลังพิง มีผู้สนับสนุนจำนวนมากที่ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจรัฐประหาร แม้ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมประท้วงก็ยังปักหลักชุมนุมต่อ
            สภาพการเมืองอียิปต์ตลอดหนึ่งขวบปี นับจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลมอร์ซีกับประชาชนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย จนมาถึงรัฐบาลเฉพาะกาลของนายมานซูร์กับการสลายการชุมนุม เป็นสภาพของประชาชนสองฝ่ายที่คิดเห็นต่างกัน ต่างรักษาสิทธิของตนอย่างเต็มที่ ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการปรองดองสมานฉันท์
            ต้องย้ำว่าการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลมอร์ซี การสลายการชุมนุม และความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามมาอย่างต่อเนื่อง คือผลการที่ต่างฝ่ายต่างยึดมั่นในจุดยืนของตน
            ผลพวงที่ตามมาคือตลอดขวบปีที่ผ่านมา ชาวอียิปต์ทุกฝ่ายต้องบาดเจ็บล้มตายจากเหตุความรุนแรง จำนวนดังกล่าวยังคงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะงักงัน ฐานะการคลังอ่อนแอ ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

ผู้นำเหล่าทัพลอยตัว:
            จากข่าวที่สื่อต่างประเทศหลายแห่งนำเสนอ การสลายการชุมนุมครั้งนี้รัฐบาลมานซูร์เป็นผู้ออกหน้า รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ควบคุมบัญชาการ และใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นกำลังหลัก ส่วนทหารเป็นกำลังเสริม
            ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ หรือด้วยเหตุผลเบื้องหลังประการใด วิธีการดังกล่าวช่วยให้กองทัพสามารถรักษาภาพลักษณ์ที่ดี ไม่ได้เป็นกำลังหลักที่เข้าสลายการชุมนุม ใช้ความรุนแรงต่อประชาชน ทั้งๆ ที่ทหารมีส่วนร่วมในการสลายการชุมนุม พร้อมอาวุธหนักเช่นรถถัง หากมีปัญหาใดๆ ที่ไม่คาดฝันจากการสลายการชุมนุม (ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ) รัฐบาลนายมานซูร์คือผู้รับผิดชอบ
            ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลเฉพาะกาลรวมทั้งประธานาธิบดีมานซูร์มาจากการแต่งตั้ง มาจากการรัฐประหารของกองทัพภายใต้การนำของพลเอกอับดุล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี หากการสลายการชุมนุมเกิดเรื่องผิดพลาดร้ายแรง ผู้นำเหล่าทัพยังสามารถหาทางเลี่ยงความรับผิดชอบ การสลายการชุมนุมที่รัฐบาลเป็นผู้ออกหน้าจึงมีความสำคัญตรงจุดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนที่ได้คิดมาอย่างดีแล้ว

            ถ้ามองว่าอียิปต์ในขณะนี้แยกเป็น 3 ฝ่าย ผู้นำเหล่าทัพคือฝ่ายที่รักษาประโยชน์ได้มากที่สุดและเป็นเช่นนี้มานานแล้ว
            ย้อนหลังสมัยอดีตประธานาธิบดีฮอสนี่ มูบารัค ผู้นำเหล่าทัพมีส่วนร่วมครองอำนาจโดยตรง ได้รับการจัดสรรผลประโยชน์ ไม่น่าเชื่อว่ากองทัพอียิปต์มีเครือข่ายธุรกิจของตนเอง ทั้งเรื่องอาวุธ การเคหะ จนถึงมีพื้นที่ทำการเกษตรของตนเอง (อียิปต์มีพื้นที่ทำการเกษตรจำกัด) แม้ในช่วงปฏิรูปเศรษฐกิจรัฐบาลได้แปรรูปรัฐวิสาหกิจบางส่วน แต่อีกหลายส่วนยังอยู่กับกองทัพ เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เหล็กกล้าและสิ่งทอ ผู้นำเหล่าทัพมีที่นั่งในคณะรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งเสมอ และได้รับตำแหน่งสูงๆ ในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง บางคนประกอบธุรกิจหรือมีหุ้นส่วนในธุรกิจเอกชน ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจประเทศ

            เมื่อเกิดอียิปต์สปริงในปี 2011 ผู้นำเหล่าทัพที่ผูกพันกับผู้นำมูบารัคมานานหลายสิบปีก็หันมาอยู่ฝ่ายประชาชน โค่นล้มระบอบมูบารัค นำสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย นายโมฮัมเหม็ด มอร์ซีได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง สังเกตว่าในภาพรวมแล้วผู้นำเหล่าทัพสามารถอยู่ร่วมกับรัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แม้ผู้นำเหล่าทัพบางคนจะถูกปลดออกจากตำแหน่งก็ตาม

            ในเวลาต่อมา เมื่อประชาชนเริ่มต่อต้านรัฐบาลมอร์ซี และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ผลคือผู้นำเหล่าทัพตีตัวออกจากประธานาธิบดีที่มาจากประชาชน หันไปหาประชาชนอีกฝ่ายหนึ่ง ทำการรัฐประหารอ้างว่าเป็นการทำตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชนส่วนใหญ่ พร้อมกับจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลนำโดยประธานาธิบดีอัลดี มานซูร์ กลายเป็นว่ากองทัพหันจากรัฐบาลที่มาจากประชาชนฝ่ายหนึ่งไปสู่การแต่งตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลที่ประชาชนอีกฝ่ายสนับสนุน
            จากทั้งสามรัฐบาล คือรัฐบาลมูบารัค รัฐบาลมอร์ซี จนถึงรัฐบาลเฉพาะกาลมานซูร์ ผู้นำเหล่าทัพสามารถอยู่ร่วมได้ทุกรัฐบาล ผลประโยชน์ที่ผู้นำเหล่าทัพได้รับยังคงอยู่ เสมือนเป็นมรดกตกทอดที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น และกองทัพกลายเป็นกลไกควบคุมว่ารัฐบาลใดควรอยู่หรือควรไป โดยอิงบริบทสถานการณ์รอบข้าง

            ถ้ามองในแง่บวก ผู้นำเหล่าทัพได้ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามความต้องการของประชาชน บางคนอาจเห็นว่าช่วยให้เรื่องจบเร็วขึ้น ประเทศเสียหายน้อยลง ชาวอียิปต์จำนวนไม่น้อยสนับสนุนบทบาทดังกล่าว
            แต่บางคนคิดต่างออกไป นาย Tarek Radwan นักวิชาการจาก Atlantic Council's Rafik Hariri Center for the Middle East เห็นว่าในระยะหลังนี้แม้กองทัพมีอำนาจรัฐประหาร แต่ไม่ต้องการเข้าบริหารประเทศโดยตรง เพราะเสี่ยงต่อชื่อเสียงของตนเอง สู้อยู่เบื้องหลังและรับประโยชน์จากธุรกิจแบบเงียบๆ ดีกว่า ตระหนักว่าบริบทโลกปัจจุบันการปกครองจำต้องเป็นประชาธิปไตยให้ประชาชนมีส่วนร่วม กองทัพทำหน้าที่รักษาประชาธิปไตยอีกทอดหนึ่ง

คาดการณ์อนาคต:
            เบื้องต้นแกนนำกลุ่มภราดรภาพมุสลิมยังไม่ยอมจำนน ประกาศระดมผู้สนับสนุนทั่วประเทศให้ออกจากบ้านมาชุมนุมในที่สาธารณะ เกิดการชุมนุมในหลายจังหวัดหลายพื้นที่ มีผู้บาดเจ็บล้มตายเพิ่มขึ้น ณ ขณะนี้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมยังใช้ยุทธศาสตร์เดิม คือ ไม่เจรจา (แบบเปิดเผย) ไม่สมานฉันท์ ชุมนุมยืดเยื้อ ยืนยันความชอบธรรมของรัฐบาลมอร์ซี ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลมานซูร์ รวมทั้งรัฐบาลในอนาคตคือ ถ้ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมกับพวกไม่ยอมสมานฉันท์ ไม่เข้าร่วมการเมืองกระแสหลัก รัฐบาลจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร เพราะการชุมนุมมีผลต่อภาพลักษณ์รัฐบาล เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

            ในอีกมุมหนึ่ง ถ้ายึดผลประโยชน์ของประเทศของประชาชนทุกคนเป็นที่ตั้ง ฝ่ายที่ชุมนุมประท้วงอาจต้องคิดทบทวนเหมือนกันว่า ลำพังการชุมนุมยืดเยื้อจะทำให้ความฝันกลายเป็นความจริงได้หรือไม่ จะช่วยแก้ไขปัญหา ช่วยปฏิรูปประเทศได้จริงหรือไม่ หรือจะต้องใช้วิธีการอื่นๆ ร่วมด้วย หรือต้องหาวิธีการอื่นๆ ที่ให้ประโยชน์มากกว่า
            ต้องตระหนักว่าบริบทเป็นสิ่งที่มีพลวัต ไม่หยุดนิ่งแต่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ สังคมอียิปต์ไม่สามารถคงอยู่ในสภาพปัจจุบันได้ตลอดไป สถานการณ์การเมืองที่วุ่นวาย กระทบต่อระบบเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้วให้อ่อนแอมากขึ้นอีก อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าฐานะการคลังของรัฐบาลจะเข้าสู่ภาวะใกล้วิกฤตอีก ส่งผลกระทบต่อการชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอียิปต์อย่างแน่นอน

            ประธานาธิบดีบารัก โอบามากล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าสหรัฐต้องการให้อียิปต์ประสบความสำเร็จในฐานะรัฐประชาธิปไตย แต่หากอียิปต์ล้มเหลวก็ไม่ใช่ความผิดของอเมริกา “อเมริกาไม่สามารถตัดสินอนาคตของอียิปต์ เป็นหน้าที่ของชาวอียิปต์เอง”
            คุณแคเทอรีน แอชตัน ประธานฝ่ายการต่างประเทศสหภาพยุโรป กล่าวว่าอียิปต์จะมีอนาคตที่แตกต่าง “ถ้าทุกฝ่ายเดินหน้าเข้าสู่กระบวนทางการเมือง... ด้วยการเลือกตั้งโดยทุกกลุ่มมีส่วนร่วม” หนทางเดียวที่จะนำประเทศอียิปต์กลับสู่ประชาธิปไตยคือชาวอียิปต์ทุกคนทุกฝ่ายและประชาชาคมโลกร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
            ตราบใดที่ชาวอียิปต์ไม่ร่วมกันสร้างสังคมอียิปต์ที่น่าอยู่ ใครที่ไหนจะช่วยได้
18 สิงหาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6131 วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2556)
------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
พลเอกอับดุล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดอียิปต์ เรียกร้องให้ประชาชนออกมาชุมนุมสนับสนุนการยึดอำนาจ กลายเป็นภาพของรัฐประหารที่ไม่เสร็จสมบูรณ์ ต้องขอให้ประชาชนแสดงการสนับสนุนเพิ่มเติม แม้มีผู้ร่วมชุมนุมแสดงพลังสนับสนุนการรัฐประหารจำนวนนับแสนนับล้านคน แต่ฝ่ายสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมอร์ซีจะยังคงชุมนุมยืดเยื้อต่อไป ตอกย้ำผลลัพธ์ด้านลบของการรัฐประหาร
(อัพเดท 15 ส.ค. 13.00 น.) หลังจากรัฐบาลเฉพาะกาลของนายอัดลี มานซูร์มีคำสั่งให้ทหารตำรวจสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ยังปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ วันนี้เจ้าหน้าที่ได้เริ่มปฏิบัติการสลายการชุมนุมแล้ว ด้านภราดรภาพมุสลิม กับกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมอร์ซี ประกาศเรียกร้องให้ประชาชนอียิปต์ทั่วประเทศออกจากบ้านเพื่อชุมนุมต่อต้านโดยด่วน
(อัพเดท 17 ส.ค.13.10 น.) แม้ถูกทางการสลายการชุมนุม แต่กลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซีไม่ยอมถอย ประกาศชุมนุมใหญ่ในวันศุกร์ (16 ส.ค.) การชุมนุมลงเอยด้วยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกราวร้อยคน กลุ่มภราดรภาพมุสลิมยืนยันชุมนุมต่อเนื่องต่อไป

บรรณานุกรม:
1. Egyptian military has 60-year record of running politics, USA TODAY, 14 July 2013, http://www.usatoday.com/story/news/world/2013/07/14/egyptian-military-long-role-in-politics/2514239/
2. Derek Hopwood, Egypt 1945-1990: Politics and Society (N.Y.: Routledge, 2002)
3. Egypt officials defend crackdown on pro-Morsi camps, BBC, 15 August 2013, http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-23705532
4. Egyptian forces' attack on protests unleashes chaos, USA Today, 15 August 2013, http://www.usatoday.com/story/news/world/2013/08/15/egypt-violence/2655327/
5. Egypt declares national emergency, BBC, 14 August 2013, http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-23700663
6. EU’s Ashton calls for end to Egypt state of emergency, Daily News Egypt, 14 August 2013, http://www.dailynewsegypt.com/2013/08/14/eus-ashton-calls-for-end-to-egypt-state-of-emergency/
7. Angry Morsi supporters take to the streets and torch government buildings in protest against Cairo crackdown which left at least 525 dead and thousands more injured, Mail Online, 15 August 2013, http://www.dailymail.co.uk/news/article-2394401/Egypt-protests-Angry-Morsi-supports-streets-torch-government-buildings-protest-Cairo-crackdown-left-525-dead-thousands-injured.html
-------------------