อุดมการณ์ทางการเมือง (3) อุดมการณ์อนุรักษ์นิยม

มีจุดเริ่มต้นจากบุคคลที่ต่อต้านการปฏิวัติ การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในยุโรปในปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ.1789 (กลุ่มคนที่ปฏิวัติเป็นพวกเสรีนิยมดั้งเดิม) กลุ่มคนเหล่านี้ไม่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ชนิดถอนรากถอนโคนจากระบบการปกครอง ระบบธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมายาวนาน เช่น จากการปกครองโดยระบอบกษัตริย์มาเป็นการปกครองโดยคณะผู้ปกครองสามัญชน หรือการที่ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพมากกว่าในอดีตมาก

            John Hoffman กับ Paul Graham อธิบายว่าอนุรักษ์นิยมเป็นอุดมการณ์ที่ซับซ้อนเข้าใจยาก พอจะสรุปง่ายๆ ว่าเป็นการผนวกรวมของแนวคิดเสรีนิยมกับชาตินิยม

            อนุรักษ์นิยมมีรูปแบบย่อยๆ หลากหลาย ขึ้นกับว่าเสรีนิยมเข้มข้นหรือชาตินิยมเข้มข้น แต่ไม่ถึงขั้นชาตินิยมสุดโต่ง (radical nationalism) หรือเสรีนิยมสุดขั้วชนิดที่ปัจเจกบุคคลต่อต้านรัฐ เป็นสังคมที่มีระบบระเบียบแต่ไม่ใช่แบบสังคมนิยม

ลักษณะพื้นฐานของอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม
            1. ประเพณี (Tradition) ประเพณีคือสิ่งที่สืบทอดต่อกันมายาวนานหลายชั่วอายุคน เป็นสิ่งที่ได้ปฏิบัติต่อเนื่องกันมา เป็นสติปัญญาที่ค่อยๆ สะสม ผ่านการพิสูจน์ว่าดีเหมาะสมแล้ว ควรที่คนรุ่นหลังจะสืบทอดต่อไป ดังนั้น บรรดาสถาบันที่เคียงคู่กับประเพณีต้องได้รับการสืบทอดต่อด้วย เช่น เมื่ออังกฤษมีสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ให้ดำรงอยู่ต่อไป

            2. ปฏิบัตินิยม (Pragmatism) อนุรักษ์นิยมเชื่อว่าความคิดเหตุผลของมนุษย์นั้นจำกัดไม่อาจเข้าใจความซับซ้อนของโลกได้ทั้งหมดหรือถูกต้องครบถ้วน ดั้งนั้นระบบเหตุผลจึงไม่อาจยึดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอไป (พยายามใช้เหตุผลแต่ความคิดความเข้าใจมนุษย์ไม่สมบูรณ์) ตรงกันข้ามประสบการณ์ การปฏิบัติที่ทำต่อเนื่องกันมา เป็นสิ่งที่ทำได้จริง ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผล เป็นแนวทางที่ควรยึดไว้มากกว่า
นักอนุรักษ์นิยมจึงให้ความสำคัญกับประสบการณ์ ในอีกด้านหนึ่งเห็นด้วยกับการทดลองของใหม่ หากจำต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองบริบทใหม่ เพียงแต่ห้ามทดลองแบบสุดโต่ง หรือปฏิบัติแตกต่างจากเดิมแบบสุดขั้ว จึงชอบที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป
เป้าหมายสุดท้ายไม่ใช่เรื่องของการยึดหลักการเหตุผล แต่เพื่อความอยู่รอด
(ชมคลิปประกอบบทความ)

            3. อนุรักษ์นิยมมองมนุษย์ในแง่ลบแบบ Thomas Hobbes ว่ามีความจำกัด เห็นแก่ตัว มากตัณหา และมุ่งใช้อำนาจในทางมิชอบ เป็นความคิดผิดถ้าคิดว่ามนุษย์สามารถใช้เหตุผลเลือกสิ่งที่ดีที่สุด เพราะหลายเรื่องในโลกซับซ้อนเกินสติปัญญาและมนุษย์อาจไม่เลือกสิ่งที่ดีเลิศยั่งยืน ดังนั้น หากปล่อยให้มนุษย์ใช้ความเป็นตัวเองอย่างเต็มที่ย่อมจะก่ออาชญากรรม สร้างปัญหาแก่สังคม อีกทั้งมนุษย์ยังต้องการพึ่งพิงคนอื่น แสวงหาความมั่นคงปลอดภัย ด้วยเหตุนี้เองหากหวังสังคมที่มีระบบมีแบบแผน มีกฎเกณฑ์และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ต้องเป็นมีรัฐที่เข้มแข็ง (Strong State) ในบทบาทรักษาความปลอดภัย

            4. อินทรียภาพ (Organismอนุรักษ์นิยมมองสังคมแบบองค์รวม เปรียบเสมือนร่างกายที่ประกอบจากอวัยวะหลายอย่าง แต่ละอวัยวะประกอบขึ้นจากเนื้อเยื่อ (tissue) จำนวนมาก ซึ่งแต่ละเนื้อเยื่อมาจากเซลที่รวมตัวกัน ปัจเจกชนแต่ละคนเป็นเซลหนึ่งเซลของร่างกาย เซลหรือปัจเจกชนไม่สามารถดำรงอยู่ตามลำพัง การดำรงอยู่ของเซลมาจากการดำรงอยู่ของทั้งร่างกาย (คือทั้งสังคม) หากสังคมล่มสลายปัจเจกชนจะอยู่ไม่ได้ด้วย ดังนั้นปัจเจกชนต้องอยู่ร่วมในสังคมโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มีบทบาทหน้าที่ของตน เหมือนเซลที่มีหน้าที่ของตนเองเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะ ยึดโยงด้วยอุดมการณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีและยึดคนทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน

            5. ลำดับชั้น (Hierarchy) ด้วยเหตุที่อนุรักษ์นิยมมองสังคมแบบองค์รวมเหมือนเซลที่รวมกันเป็นร่างกายเดียวกัน จึงมีการแบ่งบทบาท จัดลำดับความสำคัญของคนในสังคม ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีอำนาจปกครองย่อมปกครองเพื่อความผาสุกของคนใต้การปกครอง เศรษฐีมีบทบาทต้องช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น
อนุรักษ์นิยมจึงยอมรับความไม่เสมอภาคในแง่การอยู่ภายใต้โครงสร้างลำดับชั้น ยอมรับว่าคนเกิดมาไม่เท่าเทียมทางธรรมชาติ เช่น บางคนสติปัญญาดีกว่า แข็งแรงกว่า

            6. อำนาจหน้าที่ (Authority)
หากศึกษาเรื่องอุดมการณ์เสรีนิยมจะพบว่า อำนาจเป็นของปัจเจกบุคคลทุกคน ผู้ปกครองเป็นผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากปัจเจกบุคคลอีกทอดหนึ่ง ดังนั้น อำนาจจึงมาจากล่างขึ้นบน
อนุรักษ์นิยมเชื่อว่าอำนาจมาจากเบื้องบน (หรือบนลงล่าง) เป็นธรรมดาที่พ่อแม่มีอำนาจเหนือลูก (ลูกจะมีอำนาจเหนือพ่อแม่แบบล่างขึ้นบนไม่ได้ – อำนาจในครอบครัวเริ่มจากพ่อแม่ไม่ใช่ลูก) แล้วพัฒนาเป็นสังคมใหญ่ขึ้น เป็นหมู่บ้าน ชุมชน เมือง จุดเริ่มต้นของเมืองมาจากเจ้าเมือง ไม่ใช่หลายๆ คนร่วมกันตัดสิน (ตรงข้ามกับเสรีนิยมที่มองว่าอำนาจปกครองมาจากปัจเจกชนร่วมกันตัดสิน)
ครูมีอำนาจเหนือศิษย์ ดังนั้น ลูกต้องเชื่อฟังพ่อแม่เหมือนศิษย์ต้องเชื่อฟังครู และผู้ปกครองมีอำนาจอันชอบธรรมในการสั่งให้ประชาชนทำหรือไม่ทำอะไร เพราะรู้ดีกว่าว่าอะไรควรไม่ควรอย่างไร อย่างไรก็ตามอนุรักษ์นิยมเน้นว่าการใช้อำนาจต้องใช้ด้วยเจตจำนงที่ชอบและใช้ในขอบเขตที่เหมาะสม เช่น พ่อมีสิทธิทำโทษลูกได้แต่ไม่ใช่เพราะเพียงต้องการระบายอารมณ์หรือทำโทษอย่างเกินกว่าเหตุ

            7. ทรัพย์สิน (Property) อนุรักษ์นิยมมองทรัพย์สินในแง่บวกว่าบ่งบอกถึงความเฉลียวฉลาดและการทำงานหนัก เห็นว่าประชาชนมีสิทธิในทรัพย์สิน เพราะคนที่มีทรัพย์สินมากย่อมมีความมั่งคง (คนแสวงหาความมั่นคง) และแสดงถึงสถานภาพทางสังคม เช่น คนร่ำรวยย่อมมีบ้านหลังใหญ่ เสื้อผ้าเครื่องประดับราคา คนมีวิถีดำเนินชีวิตที่แตกต่างออกไป อย่างไรก็ตามผู้มีสิทธิในทรัพย์สินต้องไม่ใช้ทรัพย์สินในทางที่เป็นอันตรายต่อสังคม ต้องเห็นถึงสวัสดิภาพความสงบสุขของสังคมด้วย นอกจากนี้ทรัพย์สินเป็นสิ่งที่สืบทอดได้ ดังนั้น คนรุ่นปัจจุบันจะต้องมีหน้าที่รักษาให้คนรุ่นต่อไป ผลคือเกิดความมั่นคงทางครอบครัว ทางสังคม 
ในอีกแง่หนึ่ง บุคคลที่มีทรัพย์สินมากย่อม “มีส่วนได้ส่วนเสีย” กับสังคม จะพยายามปกป้องไม่ให้สังคมตกอยู่ในสภาพไร้กฎหมาย ซึ่งจะเป็นอีกแรงช่วยให้พวกเขามีส่วนร่วมในการรักษาความเจริญ ความสงบสุขของสังคม 

คำถามเพื่อการอภิปราย ท่านเห็นด้วยกับลักษณะพื้นฐานของอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม เรื่องทรัพย์สิน หรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย

“รูปแบบอนุรักษ์นิยม”
            มีวิธีการแบ่งหลายอย่าง ในที่นี้จะขอนำเสนอ 3 รูปแบบ คือ
            1. อนุรักษ์นิยมดั้งเดิม (Classical conservatism หรือ institutional conservatism)
   อนุรักษ์นิยมดั้งเดิมมีจุดเริ่มต้นจากความเชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลกและได้วางโครงสร้างทางสังคมไว้ สิ่งที่เป็นอยู่จึงดีและต้องรักษาไว้ จึงต่อต้านการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองหรือสถาบันทางสังคมอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามผู้ที่ยึดอุดมการณ์นี้ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งใดเลย เพียงแต่ขอให้เปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ เป็นธรรมชาติและไม่ขัดหลักการดั้งเดิม
     อาจกล่าวได้ว่า กลุ่มคนที่ยึดอนุรักษ์นิยมเป็นพวกหัวโบราณ
เอ็ดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke, 1729-1797) เป็นคนหนึ่งที่เสนออุดมการณ์นี้ วิพากษ์การปฎิวัติฝรั่งเศสที่เปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบฉับพลันรุนแรง ล้มล้างอำนาจสถาบันกษัตริย์ในขณะนั้น 
เอ็ดมันด์ เบิร์กต่อต้านหลักการที่ว่าหากแนวคิดใหม่มีเหตุผลที่ดีกว่าก็จะถูกต้องสมควรเปลี่ยนแปลงตามเหตุผลนั้น เพราะเบิร์กเชื่อว่าขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษคือสิ่งที่ปฏิบัติกันมา เป็นสิ่งที่บรรพบุรุษหลายชั่วคนได้ค่อยปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ผ่านการพิสูจน์ว่าถูกต้องเหมาะสมมาอย่างยาวนาน ขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นความจริง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ส่วนเหตุผลนั้นเป็นเพียงนามธรรม (อาจเป็นเพียงความเพ้อฝัน จิตนาการ ไม่ใช่ความจริง การปฏิบัติเท่านั้นที่เป็นความจริง) เป็นเพียงความคิดของปัจเจกหรือกลุ่มคนที่ไม่ยังไม่ได้พิสูจน์อย่างแท้จริงว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ หรือเหตุผลที่หยิบยกขึ้นมาอาจเป็นเพียงอคติ เป็นความปรารถนาของบางคนหรือบางกลุ่มบุคคลเท่านั้น

เบิร์กคาดการณ์ว่าหากสถาบันเก่าแก่ถูกทำลายอย่างรวดเร็วจะเกิดความวุ่นวาย เพราะสถาบันทางอันเป็นรากฐานของสังคมเป็นเสมือนสิ่งมีชีวิตที่ต้องอาศัยเวลายาวนานในการสร้าง สถาบันภายใต้อุดมการณ์ใหม่ไม่อาจสร้างในเวลาอันสั้น จึงไม่อาจรองรับความวุ่นวายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน จะเกิดผลเสีย อาจเกิดภาวะไร้ขื่อแป

คำถามเพื่อการอภิปราย การยึดอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร

            2. อนุรักษ์นิยมสมัยใหม่ (Modern conservatism หรือ right conservatism) อนุรักษ์นิยมสมัยใหม่ต่างจากอนุรักษ์นิยมดั้งเดิมที่เป็นอุดมการณ์ใหม่อย่างหนึ่ง ที่สามารถทำงานร่วมกับอุดมการณ์อื่นๆ (กรณีพูดถึงอุดมการณ์พรรคการเมือง) แนวทางหลักได้แก่ต่อต้านระบบราชการขนาดใหญ่ การแทรกแซงกิจการทางเศรษฐกิจโดยรัฐ ต่อต้านอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ (เปลี่ยนสังคมขนานใหญ่อย่างรวดเร็ว) สนับสนุนค่านิยมของศาสนายิว-คริสต์ ปฏิเสธการเก็บภาษีจำนวนมาก ต่อต้านแนวทางรัฐสวัสดิการ ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายควบคุมเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด สนับสนุนอำนาจทางทหารเพื่อปกป้องประเทศ

            สวัสดิการต่างๆ จากรัฐควรมีน้อยที่สุด ให้เป็นไปตามกลไกตลาด หรือเป็นบทบาทของเอกชน

            อนุรักษ์นิยมสมัยใหม่จะมีส่วนใกล้เคียงกับเสรีนิยมดั้งเดิมในทางเศรษฐกิจที่สนับสนุนการค้าเสรี การแทรกแซงโดยรัฐให้น้อยที่สุด แต่อนุรักษ์นิยมสมัยใหม่ยังคงต่างจากเสรีนิยมในประเด็นทางสังคมที่ยังเน้นคงรักษาขนบธรรมเนียมการดำเนินชีวิตแบบเก่าไว้

3. อนุรักษ์นิยมใหม่ (Neoconservatismเป็นคำที่เฉพาะในประเทศสหรัฐฯ อนุรักษ์นิยมใหม่พัฒนาจากอนุรักษ์นิยมดั้งเดิมที่ชอบแยกตัวโดดเดี่ยว (isolation) สนับสนุนนโยบายการเข้าพัวพันกับโลก (engagement) การมีส่วนร่วมกับประเทศต่างๆ ร่วมจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศอย่าง NATO หรือ UN

โดยสรุปแล้วอนุรักษ์นิยมใหม่คือกลุ่มย่อยของอนุรักษ์นิยมดั้งเดิม เพียงแต่ปรับแต่งนโยบายต่างประเทศเท่านั้น

อดีตประธานาธิบดี George W. Bush เป็นคนหนึ่งที่ยึดอุดมการณ์นี้ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เช่น การเป็นเจ้าผู้ครองโลก การทำสงครามกับอิรักในปี 2003 

ปรับปรุงมิถุนายน 2564
ชาญชัย คุ้มปัญญา
-------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก