อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

เสรีนิยม (Liberalism) เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในปัจจุบัน
            ก่อตัวในศตวรรษที่ 17 ช่วงที่ระบบฟิวดัลยุโรปกำลังล่มสลาย สังคมสมัยใหม่ที่ทุนเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตเริ่มก่อตัวขึ้น อุดมการณ์เสรีนิยมในยุคแรกเริ่มแตกต่างจากปัจจุบัน จากจุดเริ่มต้นที่มุ่งต่อต้านอำนาจสมบูรณ์เด็ดขาดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และอภิสิทธิ์ของเหล่าขุนนางในระบบฟิวดัล สนับสนุนอำนาจของประชาชนผ่านรัฐบาลที่มาจากตัวแทนของประชาชน มาสู่ยุคปัจจุบันที่มุ่งเน้นจำกัดการใช้อำนาจของรัฐเหนือสังคมในทุกรูปแบบ สนับสนุนส่งเสริมเศรษฐกิจเสรีในระบบทุนนิยม
นิยาม :
คำว่าเสรีนิยม (Liberalism) ถูกใช้ในหลายความหมาย เช่น หมายถึงการศึกษาของสุภาพบุรุษหรือเสรีชน ซึ่งในปัจจุบันเมื่อพูดถึงการศึกษาแบบลิเบอรัล (liberal education) หมายถึง การศึกษาในแนวมนุษยศาสตร์ (humanities) หรือ การศึกษาศิลปศาสตร์ (liberal arts)
            ในอีกความหมายคือ ความหย่อนยานในศีลธรรมจรรยา การไม่คำนึงถึงระเบียบวินัยทางเพศและศาสนา (เช่นพวกฮิปปี้ในอเมริกา)
            สรุป หลักสำคัญของอุดมการณ์เสรีนิยม คือ การให้ความสำคัญกับการรักษา ส่งเสริม เสรีภาพของประชาชน ต่อต้านการจำกัดเสรีภาพการแสดงออก ต่อต้านการออกกฎหมายควบคุมความเชื่อหรือค่านิยมที่ปัจเจกชนยึดถือ เช่น ค่านิยมการเป็นสาวประเภท 2
ลักษณะพื้นฐานของเสรีนิยม 7 ประการ : 
            แอนดรูว์ เฮย์วูด เสนอว่า อุดมการณ์เสรีนิยมมีลักษณะพื้นฐาน 7 ประการ ดังนี้
             1. ปัจเจกบุคคลนิยม
             2. เสรีภาพ
             3. เหตุผล
             4. ความเสมอภาค
             5. ขันติธรรม
             6. ฉันทานุมัติ
             7. รัฐธรรมนูญนิยม

1.        ปัจเจกชนนิยม (Individualism)
แนวคิดนี้ถือว่า มนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคลมีความสำคัญที่สุด (เหนือศาสนา สังคม) เป็นการมองที่ตัวเอง (Self center) ถือว่าตัวเองสำคัญที่สุด เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง เพราะมองว่าถ้าไม่มีความเป็นตัวของตัวเองเท่ากับไม่มีตัวตน หากเป็นเช่นนั้นทุกสิ่งที่มีอยู่ล้วนปราศจากคุณค่าใดๆ สำหรับเขา

2.        เสรีภาพ (Liberty/Freedom)
หลักเสรีภาพอยู่คู่กับหลักปัจเจกชนนิยม เพราะเสรีภาพทำให้ความเป็นปัจเจกโดดเด่น เป็นตัวของตัวเอง อย่างไรก็ตามเสรีภาพในความหมายของเสรีนิยมหมายถึง เสรีภาพภายใต้กฎหมาย (freedom under the law) เพื่อป้องกันไม่ให้การใช้เสรีภาพของบุคคลหนึ่งละเมิดเสรีภาพของอีกบุคคลหนึ่ง การวางกรอบกฎหมายเพื่อให้ต่างคนมีโอกาสใช้เสรีภาพมากที่สุด
(ชมคลิป เพิ่มความเข้าใจ)
3.        เหตุผล (Reason)
นักเสรีนิยมเชื่อมั่นในความสามารถการใช้เหตุผลของมนุษย์ เชื่อว่าทุกคนสามารถคิด ตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีให้กับตัวเอง รัฐบาลต้องเคารพการตัดสินใจของปัจเจกชน
ดังนั้น นักเสรีนิยมจึงส่งเสริมการอภิปรายถกเถียงด้วยเหตุผลมากกว่าใช้อำนาจบีบบังคับหรือทำสงคราม เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดร่วมกัน

คำถามเพื่อการอภิปราย สมมติว่า นาย ก. ถือครองอาวุธที่ทำลายโลกทั้งใบได้ และนาย ก. มีความเชื่อและเหตุผลของตนว่าหากทำลายโลกวันนี้จะสร้างประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ นาย ก. มีเสรีภาพที่จะทำหรือไม่ เพราะเหตุใด

คำถามเพื่อการอภิปราย สมมติว่า มีหนุ่มสาว (อายุ 20 ปีบริบูรณ์แล้ว) จำนวนนับล้านในประเทศที่ไม่สนใจเป็นสุขภาพของตนเอง ไม่สนใจอนาคตว่าจะประกอบสัมมาอาชีพหรือไม่ จึงเสพยา เที่ยวเตร่ ไม่สนใจเรียนหนังสือ หรือตั้งใจทำงาน คนหนุ่มสาวเหล่านี้มีเสรีภาพในการใช้ชีวิตเช่นนี้หรือไม่ แม้ว่าจะมีการคาดการเชิงสังคมแล้วว่า หากปล่อยเช่นนี้สังคมจะอยู่ในภาวะตกต่ำ วุ่นวาย เกิดปัญหาสังคมตามมาที่เป็นภาระแก่รัฐ สังคมอย่างมากมาย

4.        ความเสมอภาค (Equality)
นักเสรีนิยมเชื่อว่ามนุษย์ เกิดมาเท่าเทียมกัน (born equal) มีความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย (equality before the law) ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน และมีความเสมอภาคทางการเมือง เช่น หนึ่งคนหนึ่งเสียง (One Man, One Vote)
พึงระลึกเสมอว่า นักเสรีนิยมเน้นความเสมอภาคในแง่ของสิทธิและโอกาส แต่ไม่รับประกันว่าบุคคลจะต้องมีความเสมอภาคทางสังคมหรือผลลัพธ์ของการกระทำ (social equality or equality of outcome) ทั้งนี้เพราะความสามารถในการทำงานและความจริงใจหรือความตั้งใจของแต่ละบุคคลอาจไม่เท่ากัน การที่เสรีนิยมเน้นความเสมอภาคในโอกาส (equality of opportunity) ให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมในการใช้ความรู้ ความสามารถ ความขยันหมั่นเพียรที่ตนเองมีอยู่เท่ากับสนับสนุนระบบคุณธรรม (meritocracy) ที่ว่าใครทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย ความเฉลียวฉลาดที่กอปรด้วยความขยันหมั่นเพียรจึงเป็นที่ปรารถนาในลัทธิเสรีนิยม 

5.        ขันติธรรม (Toleration)
ขันติธรรมหรือความใจกว้างอดทนต่อความคิดต่าง การกระทำของผู้อื่นที่แตกต่างเป็นปัจจัยสำคัญที่จะประกันเสรีภาพส่วนบุคคล และเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งทางสติปัญญาแก่สังคมที่ส่งเสริมให้อภิปราย ถกเถียง เกิดความก้าวหน้าทางปัญญา เกิดตลาดเสรีทางความคิด (Free Market of Ideas) ผลที่ตามมาคือสังคมที่เป็นพหุนิยม (Pluralism) หลากหลายความคิด วัฒนธรรมค่านิยม 
ทั้งนี้นักเสรีนิยมเชื่อว่าเสรีภาพทางความคิดไม่เป็นอันตรายต่อสังคม เพราะความแตกต่างทางความคิดจะดำเนินไปสู่จุดดุลยภาพจากการที่มนุษย์มีเหตุผล สามารถอยู่ร่วมกันแม้คิดต่างชอบต่าง

คำถามเพื่อการอภิปราย การแตกแยกทางความคิดระหว่างกลุ่มคนสีเสื้อต่างๆ ที่สุดแล้วจะถึงจุดดุลยภาพโดยธรรมชาติตามลักษณะของอุดมการณ์เสรีนิยมหรือไม่

6.        ฉันทานุมัติ (Consent)
อุดมการณ์เสรีนิยมจะต้องตั้งอยู่บน ฉันทานุมัติของผู้อยู่ใต้การปกครอง (consent of the governed) หมายความว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคนในสังคมที่ปรากฏออกมาในรูปของกฎ กติกา ระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมายที่รัฐใช้บังคับแก่ผู้คนทั้งหลายในสังคมต้องได้รับความเห็นชอบโดยสมาชิกของสังคม
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ลัทธิเสรีนิยมมีแนวโน้มเข้าได้ดีกับการปกครองแบบประชาธิปไตย (Democracy) การเลือกตัวแทนเข้าไปในระบบการเมือง (representation)
หลักฉันทานุมัติสนับสนุนให้ประชาชนจัดตั้งสมาคมหรือองค์กรที่เป็นตัวแทนหรือสนับสนุนผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่ม เพราะภายใต้กลุ่มก้อนเหล่านี้ได้กลั่นกรองรวบรวมคนที่มีความคิดใกล้เคียงหรือตรงกันเข้าอยู่ด้วยกัน กลุ่มเป็นตัวแทนช่วยให้การแสดงความคิดเห็นมีประสิทธิภาพ เช่น สมาคมแม่บ้าน กลุ่มชาวไร่ชาวนา ชมรมอนุรักษ์ป่า

7.        รัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism)
รัฐธรรมนูญคือกฎหมายระบุว่าจะอยู่ในการปกครองร่วมกันอย่างไร กติกาการอยู่ร่วมกันเป็นอย่างไร บทบาทหน้าที่ของรัฐบาลมีอะไรบ้าง หลักนโยบายรัฐบาลเป็นอย่างไร รวมทั้งหน้าที่พลเมือง กลไกควบคุมการปกครองเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของลัทธิเสรีนิยม
จากลักษณะพื้นฐานที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้ที่ยึดมั่นเสรีนิยมจึงหมายถึงผู้ยึดถือลักษณะพื้นฐานของเสรีนิยมเหล่านี้ทุกประการ ไม่ใช่การตามทำอำเภอใจ

“เสรีนิยม 2 ประเภท”
            อุดมการณ์เสรีนิยมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ เสรีนิยมคลาสสิค กับเสรีนิยมสมัยใหม่

1. เสรีนิยมคลาสสิค
            เมื่อพูดถึงอุดมการณ์เสรีนิยม มักยกย่องว่าต้นกำเนิดอุดมการณ์นี้คือ จอห์น ล็อค (John Locke, 1632-1704) นักปรัชญาชาวอังกฤษจากผลงาน Two Treaties of Government (1690) มีสาระสำคัญ ดังนี้
1)       การให้ความสำคัญต่อปัจเจกชนมากกว่ารัฐ เพราะปัจเจกชนเป็นผู้สร้างรัฐ และอำนาจของรัฐโดยฉันทานุมัติ รัฐไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากปราศจากฉันทานุมัติของปัจเจกชนในสังคม 
2)       ปัจเจกชนมีความสามารถในการดูแลตนเอง และตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไรโดยไม่ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น
3)       ความก้าวหน้าเกิดจากฝีมือมนุษย์เพราะความเป็นผู้มีเหตุผล การเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ใช่เรื่องน่าวิตกเพราะมนุษย์สามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
4)       รัฐควรมีอำนาจจำกัด ปล่อยให้ปัจเจกชนมีอิสระในการใช้เหตุผลที่มีอยู่เพื่อตัดสินใจเลือกว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไร

อดัม สมิทธ (Adam Smith, 1723-1790) ขยายความคิดเสรีนิยมคลาสสิคต่อจากล็อค และแนวคิดทางการเมืองในกรอบแนวคิดทางเศรษฐกิจ ปรากฏในหนังสือของเขาชื่อ The Wealth of Nations เสนอว่า ความมั่งคั่งของชาติไม่ได้เกิดจากการสะสมทองคำหรือเงินตามแนวคิดพาณิชยนิยม (Mercantilism) เพราะทองคำควรเป็นเพียงสื่อกลางแลกเปลี่ยนสินค้า แต่ความมั่งคั่งของชาติที่แท้มาจากการใช้ระบบเศรษฐกิจที่เปิดโอกาสให้ปัจเจกชนผลิตสินค้าและบริการ และสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนอย่างเสรี (Laissez-faire) เพื่อตอบสนองความต้องการของปัจเจกชนซึ่งต่างถือประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง โดยที่รัฐต้องปล่อยให้ปัจเจกชนมีอิสระในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สมิทธเชื่อว่าสังคมเศรษฐกิจแบบนี้จะไม่สับสนวุ่นวาย เพราะกลไกราคาของระบบตลาด (เรื่องอุปสงค์อุปทาน) ที่แข่งขันอย่างเสรีจะมีหน้าที่เสมือน “มือที่มองไม่เห็น” (invisible hand) เป็นตัวกำหนดราคาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

            แนวคิดของสมิทธจึงเป็นเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ (Economic Liberalism) หรือตลาดแข่งขันโดยเสรี (Free Market) จำกัดอำนาจของรัฐให้เป็นเพียง “ผู้ตรวจยามค่ำคืน” (Night Watchman) หรือเป็นเพียงกรรมการแข่งขันกีฬาเท่านั้น

ถ้ามองในระดับโลก แนวทางเสรีนิยมเศรษฐกิจ ทำให้รัฐทั้งหลายความร่วมมือกัน เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเติบโต ต่างได้ประโยชน์ นอกจากนี้ การค้าเสรีทำให้เล็งเห็นประโยชน์ของการร่วมมือกัน อุปสรรคของการร่วมมือยังมีอยู่แต่สามารถก้าวผ่านด้วยการเจรจาตกลง

            ปัจจุบันแนวคิดเสรีนิยมคลาสสิคได้หวนกลับมามีบทบาทอีกครั้ง ชื่อ "เสรีนิยมใหม่" (Neoliberalism) เป็นเสรีนิยมที่มีการจัดการเชิงโครงสร้าง เป็นอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดการค้าเสรีหรือตลาดเสรีในขณะนี้ ผ่านองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) เป็นต้น
สิ่งที่ได้จาก Neoliberalism คือสภาพที่รัฐต่างๆ ได้ประโยชน์จากการพึ่งพาอาศัยกันและกัน สร้างกลไกอำนวยการความร่วมมือนี้ เช่น สร้างองค์กรร่วมมือระหว่างประเทศ การทำสนธิสัญญา ข้อตกลงต่างๆ 
2. เสรีนิยมสมัยใหม่
            ในปลายช่วงศตวรรษที่ 19 ประเทศที่ใช้แนวทางเสรีนิยมของสมิทธพบว่าระบบเศรษฐกิจไม่ได้เป็นไปตามคำอธิบายของสมิทธ เกิดการผูกขาดจากธุรกิจเอกชนรายใหญ่ ราคาไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนเพิ่มขึ้น สังคมได้รับผลกระทบทางลบมากมาย โดยเฉพาะกรรมกร ผู้ใช้แรงงานระดับล่างได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากที่สุด
            "เสรีนิยมสมัยใหม่" (Modern Liberalism) เป็นแนวคิดที่ยังรักษาให้ระบบเศรษฐกิจแข่งขันโดยเสรี แต่รัฐบาลข้ามาแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น ให้ความช่วยเหลือปกป้องปัจเจกชนที่อ่อนแอ ป้องกันการผูกขาด สนับสนุนให้คนมีงานทำ

นอกจากนี้เสรีนิยมสมัยใหม่ส่งเสริมสวัสดิการสังคม (Social welfare) หรือการเป็นรัฐสวัสดิการ (welfare state) รัฐมีหน้าที่ทำให้สังคมมีแรงงานที่มีการศึกษา มีสุขภาพอนามัยที่ดี (ตรงกับหลักการเรียนฟรีอย่างมีคุณภาพ หลักประกันสุขภาพของคนไทย)
            ตัวอย่างนักคิดกลุ่มนี้คือ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes, 1883-1946) ที่ให้หลักว่า ระบบทุนนิยมที่จะธำรงรักษาการเติบโตและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจต้องเป็นทุนนิยมที่มีการจัดการหรือการควบคุมดูแล (Managed or Regulated Capitalism)

เคนส์เสนอให้รัฐเข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจ หรือเป็นผู้จัดการระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะยามเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำภาคเอกชนไม่มีอำนาจซื้อหรือไม่มีอุปสงค์ (demand) ทำให้คนตกงาน ระบบเศรษฐกิจขาดกำลังซื้อ โดยให้รัฐบาลเข้าแก้ไขด้วยหลายวิธี เช่น ลดภาษีเพื่อให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอย หรือรัฐบาลเป็นผู้จับจ่ายใช้สอยเสียเองด้วยการทำโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มการจ้างงาน การอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ในทางกลับกันถ้าระบบเศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วเกินไป รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยลดความร้อนแรง ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น เพิ่มภาษี ลดการใช้จ่ายภาครัฐ

            รูปแบบของเสรีนิยมสมัยใหม่ เช่น บทบาทของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการแทรกแซงเศรษฐกิจในยุคภาวะเศรษฐกิจตกต่ำช่วงทศวรรษ 1930 ของรัฐบาลแฟรงคลิน รูสเวลท์ (Franklin Roosevelt, 1882-1945) ภายใต้นโยบาย New Deal

            คำถามเพื่อการอภิปราย การแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มการเมืองปัจจุบัน มีลักษณะตามที่แอนดรูว์ เฮย์วูด เสนอไว้ดังกล่าวเรื่องอุดมการณ์เสรีนิยมหรือไม่เพียงใด เหตุผล
(ฉบับปรับปรุงธันวาคม 2563)
ชาญชัย คุ้มปัญญา
-----------------------------