ติมอร์-เลสเต จะเป็นสมาชิกอาเซียนลำดับที่ 11 หรือไม่

นับจากประเทศกัมพูชาเข้าร่วมสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1999 จนถึงบัดนี้ยังไม่มีประเทศใดเข้าร่วมอาเซียนอีก อาเซียนปัจจุบันจึงคงมีสมาชิกทั้งสิ้น 10 ประเทศ ไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐบาลประเทศติมอร์-เลสเตพยายามขอเข้าร่วมสมาคมอาเซียน เกิดคำถามว่าอาเซียนจะมีสมาชิกใหม่หรือไม่ อะไรเป็นเหตุผลการรับหรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิก
            เมื่อเอ่ยชื่อประเทศติมอร์-เลสเต (Timor-Leste) น้อยคนนักที่จะรู้จักหรือเคยไปเยือนประเทศนี้เนื่องจากเป็นรัฐเกิดใหม่ บางคนอาจรู้จักในนามติมอร์ตะวันออกจากข่าวการต่อสู้เพื่อเอกราชอย่างยาวนานกับอินโดนีเซีย ก่อนได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 2002
            ติมอร์-เลสเต มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ตั้งอยู่บนเกาะติมอร์ เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย เมื่อได้รับเอกราชแล้วอาณาเขตรัฐประกอบด้วยชนหลายกลุ่ม ทั้งพวกที่เคยต่อสู้เพื่อเอกราช พวกที่เดิมอาศัยอยู่ที่เขตเมืองหรือหมู่บ้านภายใต้การปกครองของอินโดนีเซีย และพวกที่ลี้ภัยออกนอกอาณาเขตเนื่องจากความไม่สงบที่ผ่านมา สภาพที่ประชาชนมีพื้นฐานมาจากหลายกลุ่มกลายเป็นปัญหาให้ประเทศไม่มีเอกภาพเท่าที่ควร เคยเกิดเหตุวุ่นวายภายในประเทศถึงขั้นต้องร้องขอกองกำลังรักษาความสงบจากประเทศเพื่อนบ้าน จากสหประชาชาติดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดเมื่อปี 2006
            ความที่เป็นรัฐเกิดใหม่ ประเทศเพิ่งจะเริ่มปกครองตามระบอบประชาธิปไตย สถาบันทางการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการจึงยังอยู่ในขั้นก่อร่างสร้างตัว ประชาชนยังต้องเรียนรู้อีกมากกว่าจะมีวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ในขณะเดียวกลุ่มต่างๆ ในประเทศจะต้องสามารถอยู่ด้วยกันอย่างสันติ เหล่านี้เป็นสภาพการเมืองภายในของประเทศที่เพิ่งเกิดใหม่

            ความยากจนเป็นเรื่องที่องค์กรระหว่างประเทศให้ความสำคัญมากที่สุด ประเทศถูกจัดอยู่ในกลุ่มด้อยพัฒนา ประชากรราวร้อยละ 40 มีฐานะยากจน อัตราว่างงานสูง โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว ประเทศไม่สามารถผลิตอาหารเลี้ยงดูประชากรอย่างเพียงพอ ประมาณว่ามีประชาชนราว 350,000 คนอยู่ในภาวะอดอยาก ด้วยเหตุนี้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติจึงเห็นว่ารัฐบาลจะต้องมุ่งพัฒนาเกษตรกรรมเนื่องจากประชากรราว 3 ใน 4 เป็นเกษตรกรแต่มีฐานะยากจน จะต้องเพิ่มรายได้แก่กลุ่มเหล่านี้อันจะช่วยยกระดับฐานะของประชาชนส่วนใหญ่ ช่วยแก้ปัญหาคนว่างงานและทำให้ประเทศมีอาหารอย่างเพียงพอ
            มีผู้คาดหวังว่าอุตสาหกรรมน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติน่าจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญ นำมาช่วยพัฒนาประเทศที่ยังมีความต้องการอีกมาก อย่างไรก็ตาม ต้องระมัดระวังเรื่องการกระจายรายได้ ให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้มากที่สุด

            การศึกษาเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่องค์กรระหว่างประเทศให้ความสำคัญและรู้สึกเป็นห่วง เนื่องจากประชากรยังด้อยการศึกษามาก ข้อมูลปี 2004 มีผู้ใหญ่ที่รู้หนังสือเพียงร้อยละ 50.1 ผู้ชายจะมีสัดส่วนรู้หนังสือมากกว่าผู้หญิง เด็กๆ เข้าเรียนหนังสือมากขึ้น แต่ยังมีอีกมากที่ไม่ได้เรียนหนังสือโดยเฉพาะจากครอบครัวยากจน เด็กน้อยกว่าครึ่งที่เข้าเรียนหนังสือจะเรียนจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

            กล่าวได้ว่าติมอร์-เลสเตคือรัฐเกิดใหม่ที่ยังอยู่ในขั้นการสร้างตัวเอง ทางด้านการเมืองจำต้องมีสถาบันการเมืองที่เข้มแข็งเป็นทางการ ด้านสังคมต้องมีเอกภาพ ประชาชนมีความรู้มีการศึกษา ส่วนด้านเศรษฐกิจนั้นยังต้องพัฒนาอีกมาก เพื่อเป็นรัฐสมัยใหม่ที่สมภาคภูมิ

            ในปี 2007 รัฐบาลติมอร์-เลสเตเริ่มแสดงความปรารถนาอยากเป็นสมาชิกอาเซียน และยื่นเจตจำนงอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2011 นาย Roberto Sarmento de Oliveira Soares ผู้แทนประเทศ ให้เหตุผลที่ต้องการเข้าร่วมอาเซียนว่า “ต้องการอยู่ร่วมเป็นหนึ่งเดียว (กับประเทศอื่นๆ) ในภูมิภาคนี้ ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรอาเซียน นาย Roberto อ้างถึงหลักของกฎบัตรที่ว่าชาติสมาชิกอาเซียน “รวมกันด้วยความปรารถนาเดียวกันและเจตจำนงร่วมกันที่จะดำรงอยู่ในภูมิภาคแห่งสันติภาพ ความมั่นคงและเสถียรภาพที่ถาวร มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มีความมั่งคั่งและความก้าวหน้าทางสังคมร่วมกัน และที่จะส่งเสริมผลประโยชน์อุดมการณ์ และความมุ่งมาดปรารถนาที่สำคัญของเรา”
            ตลอดหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลติมอร์-เลสเตได้แสดงความพยายามหลายอย่าง เช่น ผู้นำประเทศเดินสายเข้าพบผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนเพื่อขอการสนับสนุน พยายามชี้แจงว่าแม้ประเทศเพิ่งก่อตั้งไม่นาน แต่กำลังพัฒนาในทุกด้าน ตั้งเป้าว่าจะตั้งสถานทูตของตนในทุกประเทศชาติสมาชิกอาเซียนภายในปี 2015

            ที่ผ่านมาชาติสมาชิกอาเซียนหลายประเทศแสดงท่าทีตอบรับ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทย กัมพูชา บรูไน และเมียนมาร์ แต่การแสดงท่าทีเหล่านี้ไม่เพียงพอ ไม่อาจข้ามกฎเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ นายเลอ เลือง มินห์ (Le Luong Minh) เลขาธิการอาเซียนกล่าวว่าอาเซียนอยู่ระหว่างการพิจารณาตามคำร้องขอ เงื่อนไขคือ “ติมอร์-เลสเตจะต้องเข้าเกณฑ์กฎข้อบังคับทุกข้อในการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน” เพื่อจะสามารถดำเนินตามนโยบาย 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน (เสาประชาคมการเมืองและความมั่นคง เสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเสาประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน)
            เรื่องที่เลขาธิการอาเซียนย้ำเน้นคือ อาเซียนมีกฎเกณฑ์การเข้ารับสมาชิกใหม่อย่างชัดเจนอยู่แล้ว กฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้กำหนดเรื่องการรับสมาชิกใหม่ โดยมีหลักเกณฑ์ 4 ประการ คือ
            1. ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันเป็นที่ยอมรับว่าอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
            2. การยอมรับโดยรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งปวง
            3. การตกลงที่จะผูกพันและเคารพกฎบัตรนี้ และ
            4. ความสามารถและความเต็มใจที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีของสมาชิกภาพ
            และยังกำหนดอีกว่า “การรับสมาชิกให้ตัดสินโดยฉันทามติโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ตามข้อเสนอแนะของคณะมนตรีประสานงานอาเซียน”
          จะเห็นได้ว่าข้อสำคัญที่สุดคือการยอมรับโดยรัฐบาลจากชาติสมาชิกทั้งหมดพร้อมกัน การเข้าเป็นสมาชิกจะเป็นอันตกไปทันทีไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามหากประเทศใดประเทศหนึ่งไม่เห็นด้วย

            แนวทางหนึ่งที่มีการพูดถึงกันคือการเป็นสมาชิกชั่วคราว (transitional period) เพื่อทดลองดูว่าติมอร์-เลสเตจะสามารถปฏิบัติตามอย่างที่สมาชิกควรทำได้หรือไม่ แต่สิงคโปร์ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวเพราะเห็นว่าติมอร์-เลสเตยังไม่พร้อม ดังนั้นจึงยังต้องยึดถือกฎเกณฑ์การเข้าเป็นสมาชิกใหม่อย่างเคร่งครัดต่อไป
            ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 22 ประจำปี 2013 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน เมื่อวันที่ 24-25 เมษายน 2013 อาเซียนตกลงให้ติมอร์-เลสเตมีส่วนร่วมประชุมในฐานะผู้เข้าร่วม นับว่าอาเซียนให้เกียรติติมอร์-เลสเตในฐานะผู้แสดงเจตจำนงเข้าเป็นสมาชิก

            ผู้ที่ศึกษาเรื่องราวของอาเซียนจะพบว่าสมาคมอาเซียนไม่ได้ตั้งขึ้นลอยๆ แต่มีเป้าหมายสำคัญยิ่งรองรับ นั่นคือเพื่อความมั่นคงของชาติสมาชิกในยุคสงครามเย็น ยุคที่เกิดสงครามอินโดจีน มีการสู้รบกันอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายประเทศประชาธิปไตยกับฝ่ายประเทศสังคมนิยม เป็นช่วงที่ลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังคุกคามหลายรัฐบาลในภูมิภาค กล่าวได้ว่าสมาคมอาเซียนในยุคนั้นมีเพื่อความมั่นคงของประเทศโดยแท้
            หลายปีต่อมาเมื่อบรรยากาศตึงเครียดของสงครามเย็นเริ่มคลายตัว สหรัฐอเมริกาถอนตัวจากสงครามเวียดนาม ชาติมหาอำนาจหันหน้าเข้าหากันมากขึ้น สมาคมอาเซียนในขณะนั้นซึ่งมีสมาชิกอยู่ 6 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไน) ก็เปิดรับกลุ่มประเทศสังคมนิยมเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนด้วย นั่นคือการรับประเทศเวียดนาม ลาว เมียนมาร์และกัมพูชาตามลำดับ เหตุผลที่รับกลุ่มประเทศสังคมนิยมดังกล่าวเข้าร่วมสมาคมฯ ก็ด้วยเหตุผลด้านความมั่นของภูมิภาคเป็นสำคัญ เป็นการเชื่อมต่อไมตรี เกิดเวทีพูดคุยหารืออย่างเปิดอกโดยไม่ต้องมีประเทศนอกภูมิภาคเข้ามาเกี่ยวข้อง สานสัมพันธ์การค้าการลงทุน ศิลปวัฒนธรรม เพื่อสมานประเทศเหล่านี้ที่มีความแตกต่างกันทั้งด้านอุดมการณ์การเมือง ระบบเศรษฐกิจ ความแตกต่างทางสังคม ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม
            การกำเนิดของสมาคมอาเซียนจึงตั้งอยู่บนเหตุผลที่สำคัญยิ่ง เช่นเดียวกับการรับสมาชิกใหม่ก็ดำเนินการด้วยแนวทางเดียวกัน ดังนั้น หากติมอร์-เลสตต้องการเข้าร่วมจำต้องมีเหตุผลที่ดีเพียงพอ เหตุผลที่เข้ากับบริบทโลกปัจจุบัน สถานการณ์ของภูมิภาค การอ้างเหตุผลว่าติมอร์-เลสเตอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
            ประเด็นหนึ่งที่พูดกันมากในขณะนี้คือ การเข้าเป็นสมาชิกต้องเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มมากกว่าจะเป็นภาระแก่กลุ่ม หากพิจารณาในด้านเศรษฐกิจ การเข้าร่วมหมายถึงติมอร์-เลสเตต้องมีระบบเศรษฐกิจที่เป็นสากล อย่างน้อยสามารถเชื่อมต่อกับชาติสมาชิกอาเซียนทั้งหลาย เช่นระบบศุลกากร ระบบธนาคาร การทำธุรกรรมระหว่างประเทศ เรื่องเหล่านี้เป็นมากกว่านโยบายหรือแผนเพราะต้องปฏิบัติได้จริง เรื่องกำลังคนก็เป็นเรื่องสำคัญ แม้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับประเทศอื่นๆ แต่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับประเทศนี้ที่ยังขาดเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าร่วมประชุมอาเซียนในระดับต่างๆ ที่มีปีละกว่าร้อยการประชุม รัฐบาลติมอร์-เลสเตเข้าใจเหตุผลเหล่านี้ นายชูเซ มานูเอล รามุส-ออร์ตา (José Manuel Ramos-Horta) ขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีกล่าวว่า “เมื่อเราเข้าร่วมอาเซียนแล้ว ข้าพเจ้ามั่นใจว่าเราจะเป็นประโยชน์มากกว่าเป็นภาระ” แก่อาเซียน

            เป็นธรรมดาที่ประเทศเพิ่งเกิดใหม่อย่างติมอร์-เลสเตย่อมขาดความพร้อมในหลายด้าน ยิ่งหากเข้าใจว่าเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราช ติมอร์ตะวันออก (ชื่อขณะนั้น) ได้ต่อสู้กับอินโดนีเซียอย่างยาวนานหลายปี ยังผลให้ประชาชนกว่า 180,000 รายเสียชีวิต ระบบสาธารณูปโภคกว่าร้อยละ 70 ถูกทำลาย เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ซ้ำเติมสภาพเดิมที่ประชากรยากจนอยู่แล้วให้ยากจนกว่าเดิม กลายเป็นประเทศที่ก่อตั้งใหม่บนซากปรักหักพัง อุปสรรคสำคัญของติมอร์-เลสเตจึงอยู่ที่ความพร้อมของประเทศตนเอง รัฐบาลต้องมุ่งมั่นพัฒนาประเทศสู่ความเจริญในทุกด้าน
            หากพิจารณาตามหลักเกณฑ์การเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของสมาคมอาเซียน ติมอร์-เลสเตอาจต้องใช้เวลาอีกนานหลายปี แต่ระหว่างหลายปีนี้ติมอร์-เลสเตสามารถสร้างสัมพันธ์อันดีกับชาติสมาชิกอาเซียน และเชื่อว่าทุกชาติต่างยินดีมีความสัมพันธ์ด้วยในทุกด้าน ดังนั้น ไม่ว่าจะได้เป็นสมาชิกหรือไม่ก็จะได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ดังกล่าวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ถูกผูกมัดตามกฎเกณฑ์อันซับซ้อนมากมายของประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

            สำหรับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน รัฐบาลติมอร์-เลสเตควรเปิดอกพูดคุยกับสมาคมอาเซียนและชาติสมาชิกทั้งหลายเพื่อร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ แผนดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อนำติมอร์-เลสเตเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างสง่าผ่าเผย ล่าสุดที่ประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน (AMM) ครั้งที่ 46 ระหว่างวันที่ 29-30 มิถุนายน 2013 ที่ประเทศบรูไน มีแถลงการณ์ให้ติมอร์-เลสเตเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของอาเซียนที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพเกื้อหนุนให้ติมอร์-เลสเตสามารถเป็นสมาชิกในอนาคต เมื่ออาเซียนได้แสดงการสนับสนุนดังนี้แล้วส่วนที่เหลือขึ้นกับความพยายามของติมอร์-เลสเตเป็นสำคัญ
12 กรกฎาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ได้รับการเผยแพร่ผ่าน ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2556, http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1275)
-----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
อาเซียนก่อตั้งมาเกือบ 50 ปีแล้ว อาเซียนมีความร่วมมือหลากหลายด้าน แต่อะไรเป็นจุดเริ่มต้นหรือวัตถุประสงค์สำคัญเมื่อเริ่มแรกก่อตั้ง
ทุกคนทราบว่าอาเซียนมีชาติสมาชิกสิบประเทศ แต่แรกเริ่มมีเพียงห้าประเทศ ต่อมารวมเอาประเทศในภูมิภาคเข้ามาอีกห้าประเทศ อะไรคือเหตุผลของการเพิ่มจำนวนสมาชิก
บทความนี้อธิบายว่าทำไมอาเซียนจึงไม่ขยายจำนวนมากกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งๆ ที่มีประเทศขอเข้าร่วมกลุ่ม

บรรณานุกรม:
1. Report of the Secretary-General on Timor-Leste pursuant to Security Council resolution 1690 (2006), Security Council, http://www.un.org/ga/search/view_doc.asp?symbol=S/2006/628, accessed 25 June 2013
2. Timor-Leste's human development 2006, United Nations Development Programme, http://hdr.undp.org/en/reports/national/asiathepacific/timorleste/TIMOR_LESTE_2006_en.pdf
3. Timor Leste remains hopeful to gain Asean membership, The Brunei Times/Asia News Network, 12 November 2011, http://www.asiaone.com/News/Latest%2BNews/Asia/Story/A1Story20111112-310256.html
4. Timor Leste remains hopeful to gain Asean membership, The Brunei Times/Asia News Network, 12 November 2011, http://www.asiaone.com/News/Latest%2BNews/Asia/Story/A1Story20111112-310256.html
5. ASEAN considering Timor Leste bid for membership: Secretary-General, The Jakarta Post, 25 June 2013, http://www.thejakartapost.com/news/2013/04/30/asean-considering-timor-leste-bid-membership-secretary-general.html
6. TIMOR-LESTE: On the way up but still a long way to go, IRIN, 16 June 2011, http://www.irinnews.org/report/92984/timor-leste-on-the-way-up-but-still-a-long-way-to-go
7. “Joint Communiqué 46th ASEAN Foreign Ministers’ Meeting Bandar Seri Begawan, Brunei Darussalam 29 – 30 June 2013”, ASEAN Secretariat, http://www.asean.org/images/2013/news/joint%20communique%20of%20the%2046th%20asean%20foreign%20ministers%20meeting%2046th%20amm%20-%20final%20-%2030%20june%202013.pdf, accessed 1 July 2013.
----------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก