เมื่อประชาชนอียิปต์ขับไล่รัฐบาลที่มาจากประชาชน
รัฐบาลที่มาจากประชาชน : 25
มกราคม 2011
เป็นวันสำคัญของประเทศอียิปต์เมื่อประชาชนจำนวนหนึ่งลุกขึ้นประท้วงประธานาธิบดีฮอสนี่
มูบารัค ด้วยความไม่พอใจที่คนกลุ่มน้อยผู้มีอำนาจเสวยสุข ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ดำเนินชีวิตด้วยความยากลำบาก
รัฐบาลทำการปราบปรามอย่างรุนแรงแต่ยิ่งทำให้ประชาชนออกมาประท้วงมากขึ้น
ในที่สุดกองทัพยึดอำนาจรัฐบาล
ประชาชนทั่วประเทศโห่ร้องดีใจประกาศว่าเป็นวันแห่งชัยชนะของประชาชน
หกเดือนต่อมาประเทศจัดการเลือกตั้ง นายโมฮัมเหม็ด มอร์ซีชนะการเลือกตั้ง
ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม
เป็นประธานาธิบดีของประชาชน
แต่การเริ่มต้นของรัฐบาลใหม่คือการเริ่มต้นของปัญหา
ประธานาธิบดีมอร์ซีซึ่งเดิมเป็นผู้นำกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim
Brotherhood) ต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาอิงศาสนามากขึ้น
ทำให้ประชาชนสายเสรีนิยม พวกนับถือศาสนาอื่นๆ รวมทั้งมุสลิมบางคนไม่เห็นด้วย
เพราะเสมือนกับทำให้กลายเป็นรัฐมุสลิมแทนที่จะเป็นรัฐประชาธิปไตย
นอกจากนี้ฝ่ายต่อต้านยังเห็นว่าประธานาธิบดีมอร์ซีพยายามรวบอำนาจฝ่ายบริหาร
แต่งตั้งรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด อัยการที่มาจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิม แทรกแซงอำนาจตุลาการ
เห็นว่ารัฐบาลไม่บริหารประเทศเพื่อประชาชนทั้งประเทศอย่างแท้จริง
ฝ่ายประธานาธิบดีมอร์ซีอธิบายว่าการที่เนื้อหารัฐธรรมนูญอิงหลักศาสนานั้นเป็นประโยชน์
ช่วยควบคุมรัฐบาลไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ป้องกันไม่ให้เกิดผู้นำเผด็จการ
ประชาชนทุกคนยังมีเสรีภาพไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด
กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญผ่านการปรึกษาหารือกับทุกกลุ่มแล้ว
และผ่านความเห็นชอบจากการลงประชามติ
ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน คนส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย
“ประชาชนสามารถชุมนุมแสดงความคิดเห็นของเขา
แต่เรื่องสำคัญคือต้องยึดและใช้รัฐธรรมนูญต่อไป”
ส่วนการชุมนุมขับไล่ตนนั้น
ประธานาธิบดีมอร์ซีตอบโต้ว่าถ้าคนที่มาโดยชอบธรรมตามอำนาจรัฐธรรมนูญต้องก้าวลงจากอำนาจ
แล้วให้อีกคนหนึ่งขึ้นแทน ผู้นำที่ขึ้นมาใหม่ก็จะได้รับการต่อต้านเช่นกัน
จะถูกประท้วงเรียกร้องให้ลาออกเหมือนเช่นคนแรก ก่อให้เกิดปัญหาไม่รู้จบ
การเป็นผู้นำประเทศที่มาจากการเลือกตั้งโดยเสรียุติธรรมย่อมมีสิทธิที่จะอยู่ครบเทอม
ส่วนปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาดั้งเดิมที่ผู้นำเผด็จการรุ่นก่อนสร้างไว้
รัฐบาลพยายามแก้ไขเต็มที่อยู่แล้ว
แต่การชุมนุมรอบนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ ประชาชนที่เคยสนับสนุนประธานาธิบดีจำนวนมากกลับมาอยู่ฝ่ายตรงข้ามด้วยเหตุผลเรื่องปากท้อง
สภาพเศรษฐกิจประเทศที่ทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง หนึ่งปีเต็มที่รัฐบาลมอร์ซีบริหารประเทศไม่ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
หลายอย่างย่ำแย่กว่าสมัยรัฐบาลมูบารัคเสียอีก
อัตราคนว่างงาน เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น น้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลน
ไม่เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น
ดังนั้นการชุมนุมครั้งล่าสุดจึงเป็นการรวมตัวของคนสองกลุ่มคือฝ่ายต่อต้านเดิมกับประชาชนที่ไม่พอใจภาวะเศรษฐกิจ
ผู้ชุมนุมจึงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทั่วไปประเทศ ฝ่ายต่อต้านอ้างว่ามีรายชื่อผู้สนับสนุนการขับไล่รัฐบาลถึง 22 ล้านรายชื่อ ในขณะที่ประธานาธิบดีมอร์ซีชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเพียง 13
ล้านเสียง ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาฝ่ายต่อต้านจัดชุมนุมประท้วงน้อยใหญ่หลายครั้ง
บางครั้งมีผู้ร่วมเข้าน้อย บางครั้งมีมาก แต่การชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 30
มิถุนายนที่ผ่านมาเป็นครั้งที่มีจำนวนมากที่สุดตั้งแต่ที่เคยประท้วง
เป็นภาพของประชาชนอียิปต์นับล้านออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่มาจากประชาชน
กองทัพอียิปต์ตัวแปรสำคัญ
กองทัพอียิปต์ตัวแปรสำคัญ
เมื่อเริ่มชุมนุมแหล่งข่าวรายงานว่ากองทัพแสดงท่าทีไม่ต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุม
แต่หากการชุมนุมขยายตัวและเห็นว่าฝ่ายผู้ประท้วงแสดงเจตนารมณ์แท้จริงของประชาชนมากกว่า
ก็อาจสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล จุดยืนของกองทัพจึงดูเหมือนมิได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นการเฉพาะ
แต่เมื่อประชาชนนับล้านคนออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลได้เพียงสองวัน
กองทัพอียิปต์ออกแถลงการณ์ยื่นคำขาดให้เวลารัฐบาล 48
ชั่วโมงเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม มิฉะนั้นกองทัพจะเข้าแทรกแซง
พร้อมกับยืนยันว่ามีหน้าที่ต้องหาทางออกเพื่อความมั่นคงของชาติ
ก่อนถึงกำหนดเส้นตาย ประธานาธิบดีมอร์ซีเสนอแนวทางประนีประนอมกับฝ่ายต่อต้าน
เสนอปรับคณะรัฐมนตรี ดึงฝ่ายต่อต้านเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสม
และแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้อง (ทั้งที่ก่อนหน้านี้ปฏิเสธมาโดยตลอด) แต่ไม่มีคำตอบจากฝ่ายต่อต้านที่ปรากฏออกมาทางสื่อ
มีแต่ภาพทหารพร้อมรถถัง ยานเกราะออกมาประจำสถานที่ต่างๆ ในที่สุดพลเอกอับเดล
ฟาตาห์ อัล ซาซี (Abdul Fatah al-Sisi) ผู้บัญชาการกองทัพอียิปต์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ออกแถลงการณ์ว่าได้ยึดอำนาจฝ่ายบริหารแล้ว
โมฮัมเหม็ด มอร์ซี กลายเป็นอดีตประธานาธิบดีที่มาจากประชาชน
หากย้อนหลังกลับไปต้นปี
2011 เมื่อประชาชนขับไล่ประธานาธิบดีฮอสนี่ มูบารัค ยังเป็นที่ถกเถียงว่าประธานาธิบดีมูบารัคก้าวลงจากอำนาจโดยการลาออกด้วยตนเอง
หรือเพราะกองทัพทำรัฐประหารเงียบ หากเหตุผลเป็นข้อหลังเท่ากับว่ากองทัพได้แสดงบทบาทซ้ำอีกครั้ง
เมื่อประชาชนอียิปต์ขับไล่รัฐบาลที่มาจากประชาชน
จึงจบตอนด้วยการมีผู้ทำหน้าที่เขียน ‘บทสุดท้าย’ ของตอนด้วยเหตุผลเพื่อความมั่นคงของชาติ
ตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่
บทบาทของรัฐบาลสหรัฐผู้มีสัมพันธ์แนบแน่นกับกองทัพอียิปต์
เรื่องราวการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอียิปต์
นอกจากประชาชนผู้สนับสนุนประธานาธิบดีมอร์ซี ประชาชนฝ่ายต่อต้าน
และกองทัพอียิปต์แล้ว ยังมีตัวแสดง (actor)
สำคัญอีกตัวหนึ่งนั่นคือรัฐบาลโอบามา
วันที่สองของการชุมนุมใหญ่
ประธานาธิบดีโอบามาเรียนประธานาธิบดีมอร์ซีว่าสหรัฐไม่ได้สนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ
และย้ำว่า ‘ประชาธิปไตยเป็นมากกว่าการเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องฟังชาวอียิปต์ทุกคนและตอบสนอง’
รวมถึงชาวอียิปต์จำนวนมากที่กำลังชุมนุมทั่วประเทศ
การใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดเป็นเรื่องที่รับไม่ได้
เมื่อเกิดการยึดอำนาจ
ประธานาธิบดีโอบามาออกแถลงการณ์มีใจความสำคัญว่าสหรัฐให้ความสำคัญเรื่องต่อต้านการใช้ความรุนแรง
ปกป้องสิทธิมนุษยชนสากล และการปฏิรูปเพื่อตอบสนองความต้องการอันชอบธรรมของประชาชน
ยึดมั่นในกระบวนประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ขอให้ทุกภาคส่วนในอียิปต์ทำงานร่วมกันเพื่อตอบสนองข้อข้องใจของประชาชนอียิปต์ตามกระบวนการประชาธิปไตย
รัฐบาลชุดต่อไปควรเคารพสิทธิของประชาชนทุกหมู่เหล่า
ทั้งที่เป็นฝ่ายเสียงข้างมากกับเสียงข้างน้อย
สร้างระบบสถาบันการเมืองที่ถ่วงดุลกันและกัน รับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ชุมนุมประท้วงโดยสงบไม่ว่าจะเป็นฝ่ายต่อต้านหรือฝ่ายที่สนับสนุนประธานาธิบดีมอร์ซี
เป็นจุดยืนที่ชัดเจนของประธานาธิบดีบารัก
โอบามา
ในอีกด้านหนึ่ง
เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่านานหลายทศวรรษแล้วที่รัฐบาลอเมริกันให้การสนับสนุนกองทัพอียิปต์
หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลอเมริกันจัดสรรงบประมาณสนับสนุนโดยตรงแก่กองทัพอียิปต์ทุกปีๆ
ละ 1.3 พันล้านดอลลาร์ (ราว 4 หมื่นล้านบาท) นายอีริก แคนเตอร์ (Eric
Cantor) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า “กองทัพอียิปต์ (ขีดเส้นใต้โดยผู้เขียน) เป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐมานานแล้ว
เป็นผู้สร้างเสถียรภาพแก่ภูมิภาค
ทุกวันนี้อาจเป็นเพียงสถาบันเดียวในประเทศอียิปต์ที่เชื่อใจได้”
มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่ารัฐบาลโอบามาไม่ใช้คำว่า ‘เกิดรัฐประหาร’
ต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอียิปต์ เพราะหากใช้คำดังกล่าวเงินสนับสนุนกองทัพอียิปต์จะถูกระงับตามกฎหมายสหรัฐทันที
เนื่องจากกฎหมายบัญญัติว่าห้ามรัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารโดยทหาร
รัฐบาลโอบามาจึงไม่ใช้คำว่า ‘รัฐประหาร’ และให้งบประมาณสนับสนุนกองทัพอียิปต์ต่อไปดังเช่นตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ยั่งยืนยิ่งกว่าความสัมพันธ์ที่มีต่อรัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลที่มาจากประชาชน
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งโค่นล้มระบอบมูบารัค
มาร์ค ลินซ์ (Marc Lynch) ชี้บทบาทของสหรัฐว่ารัฐบาลโอบามาพยายามจูงใจให้ประธานาธิบดีมูบารัคก้าวลงจากอำนาจ
เปลี่ยนประเทศเป็นประชาธิปไตย แต่ประธานาธิบดีมูบารัคไม่ยินยอม
เมื่อการชุมนุมบานปลายกองทัพจึงเข้ามายึดอำนาจระบอบมูบารัคอย่างเงียบๆ
หากอธิบายว่าการโค่นล้มระบอบมูบารัคคือชัยชนะของประชาชน
การชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลมอร์ซีเป็นชัยชนะอีกครั้งของประชาชน
รัฐบาลอเมริกันจึงมีบทบาททั้งสองเหตุการณ์ด้วยการสนับสนุนกองทัพอียิปต์ให้เข้มแข็งตลอดเวลา
เมื่อประชาชนอียิปต์ขับไล่รัฐบาลที่มาจากประชาชน
จึงจบตอนด้วยการมีผู้ทำหน้าที่เขียน ‘บทสุดท้าย’
ของตอน และอาจมีผู้สนับสนุนเบื้องหลังการเขียนบทอีกผู้หนึ่ง
การประท้วงขับไล่รัฐบาลมอร์ซีชี้ว่าอียิปต์สปริงที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของประชาชนจำนวนหนึ่ง
ในแง่บวกมองได้ว่าประชาชนอียิปต์ในปัจจุบันเป็นคนที่ตื่นตัวทางการเมือง
ในขณะที่อาจถูกมองว่าเอาแต่ใจตัว ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่ถูกต้องชอบธรรม
หรือให้โอกาสให้เวลารัฐบาลน้อยเกินไป ทั้งยังเกิดคำถามว่าใครจะประกันได้ว่ารัฐบาลชุดหน้าจะสามารถแก้ปัญหาของประเทศ
และเมื่อถึงเวลานั้นกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ประชาชนอื่นๆ จะออกมาประท้วงขับไล่รัฐบาลใหม่เช่นกัน
และเหตุการณ์จะเกิดวนเวียนเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
อียิปต์สปริงจึงเป็นเพียงความพยายามและมิได้หมายความว่าจะบังเกิดผลดีเสมอไป
อาจต้องใช้เวลาพัฒนาระบบการเมืองภายในประเทศอีกนาน ผ่านการเลือกตั้งอีกหลายรอบ
ปัญหาใหญ่ที่รอท่าอยู่คือสภาพตกต่ำทางเศรษฐกิจ
ไม่อาจปฏิเสธว่าความวุ่นวายทางการเมืองซ้ำเติมปัญหา
เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการลุกฮือโค่นล้มระบอบมูบารัค ขับไล่รัฐบาลมอร์ซี
อียิปต์สปริงจึงไม่จบเพียงเท่านี้
ภารกิจของประชาชนยังคงอยู่
จนกว่ารัฐบาลชุดใหม่กับประชาชนทั้งชาติสามารถร่วมกันจัดการปัญหา
สร้างอนาคตที่ดีกว่าเดิม
7 กรกฎาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6089 วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2556
และ “US Watch” โดย กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ, http://uswatch.mfa.go.th/uswatch/th/article/detail.php?article=1690)
และ “US Watch” โดย กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ, http://uswatch.mfa.go.th/uswatch/th/article/detail.php?article=1690)
--------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง
(อัพเดท 4 ก.ค. 10.30 น.) ข้อเสนอประนีประนอมของมอร์ซีเป็นหมัน กองทัพทำการรัฐประหาร
แต่การรัฐประหารเป็นเพียงการเริ่มต้นใหม่เท่านั้น ยังไร้ร่องรอยของอดีตปธน.
กลุ่มผู้จงรักภักดีได้ปะทะกับทหารมีผู้เสียชีวิตนับสิบคน
2. เกาะติดประเด็นร้อน “หลังการโค่นล้มโมฮัมเหม็ด
มอร์ซีแห่งอียิปต์ และรัฐบาลเฉพาะกาลของอัดลี มานซูร์” (1)
(อัพเดท 8 ก.ค. 9.10 น.) หลังการโค่นล้มรัฐบาลมอร์ซี สถานการณ์การเมืองอียิปต์ยังครุกรุ่น
ยังไม่มีข้อสรุปว่าใครจะเป็นนายกฯ รักษาการณ์
ทั้งฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้านต่างชุมนุมแสดงพลังของตนอย่างต่อเนื่อง
ด้านราคาน้ำมันไม่มีทีท่าว่าจะลดลง
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการโค่นล้มระบอบของประธานาธิบดีฮอสนี
มูบารัค มีรัฐบาลอเมริกันเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ช่วยให้ประเทศอียิปต์ได้รัฐบาลใหม่
นำโดยประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ประธานาธิบดีโอบามากล่าวกับประธานาธิบดีมอร์ซี
ว่าสหรัฐสนับสนุนประชาชนอียิปต์และการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของประชาชนอียิปต์ทุกคน
บรรณานุกรม:
1.
Marc Lynch, The Arab Uprising: The Unfinished Revolutions of the New Middle
East (NY: Publicaffairs, 2012)
2. AN INTERVIEW WITH THE MB'S MOHAMED MORSY, 18 May
2011, http://www.arabist.net/blog/2011/5/18/an-interview-with-the-mbs-mohamed-morsy.html,
accessed 4 July 2011.
3. Mohammad Mursi risks a second revolution in Egypt, Gulf
News/Christian Science Monitor, 30 June 2013, http://gulfnews.com/opinions/columnists/mohammad-mursi-risks-a-second-revolution-in-egypt-1.1203479
4. Egypt prepares for worst ahead of Sunday protest, AP,
30 June 2013, http://news.yahoo.com/egypt-prepares-worst-ahead-sunday-protest-074010870.html
5. Egypt's military gives Morsi 48-hour ultimatum, AP,
2 July 2013, http://news.yahoo.com/egypts-military-gives-morsi-48-hour-ultimatum-230415249.html
6. Millions of Egyptians turn out nationwide for anti-Morsi
rallies; 7 dead in violence, Ahram Online, 1 July 2013, http://english.ahram.org.eg/NewsContent/1/64/75361/Egypt/Politics-/Millions-of-Egyptians-turn-out-nationwide-for-anti.aspx
7.
Egyptian activists hope for 'second revolution' a year after Morsi's election, The
Guardian, 28 June 2013, http://www.guardian.co.uk/world/2013/jun/27/egyptian-activists-hope-revolution-morsi
8. “Power struggle breaks out in Egypt
as President Morsi calls for reconciliation, but won't step down”, FoxNews.com,
3 July 2013, http://www.foxnews.com/world/2013/07/03/egypt-teeters-on-brink-overthrow-as-army-deadline-is-set-to-expire/
9.
Readout of the President's call with President Morsy of Egypt, The White House,
2 July 2013, http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/07/02/readout-presidents-call-president-morsy-egypt,
accessed 5 July 2013
10.
Statement by President Barack Obama on Egypt, The White House, 3 July 2013, http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/07/03/statement-president-barack-obama-egypt,
accessed 5 July 2013
11.
Patricia Zengerle and Warren Strobel, When is a coup not a coup? Obama
faces tricky call in Egypt, Reuters, 4 July 2013, http://www.reuters.com/article/2013/07/04/us-egypt-protests-usa-idUSBRE9621HH20130704
12.
Susan Page and David Jackson, Egypt presents 'paradoxical situation', USA
Today, 5 July 2013, http://www.usatoday.com/story/news/2013/07/04/egypt-presents-paradoxical-situation/2490551/
-----------------------