เกาะติดประเด็นร้อน “เลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่าน 2013”

สรุปสถานการณ์: (อัพเดท 12 มิ.ย. 17.20 น.) วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ผู้มีสิทธิจะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 11 ในวันศุกร์ที่ 14 มิถุนายนนี้ การเลือกตั้งรอบนี้จะไม่มีชื่อนายมาห์มุด อาห์มาดิเนจาด เนื่องจากดำรงตำแหน่งติดต่อกัน 2 สมัยหรือ 8 ปีแล้ว
            สัปดาห์ที่แล้ว อยาตุลเลาะห์ อาลี โฮไซนี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุด เรียกร้องให้ชาวอิหร่านออกมาลงคะแนนเลือกตั้งให้มากที่สุด เพราะทุกคะแนนเสียงมีผลต่อประเทศ
            ประเด็นที่ชาติตะวันตกให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือนโยบายพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน ประธานาธิบดีคนใหม่จะคงเดิมหรือเปลี่ยนแปลง เพราะ 8 ปีที่ผ่านมาประธานาธิบดีอาห์มาดิเนจาดเดินหน้าพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง โครงการมีความก้าวหน้าแม้ถูกคณะมนตรีความมั่นสหประชาชาติประกาศคว่ำบาตรก็ตาม ทำให้ประเทศอย่างอิสราเอลร้อนใจเกรงว่าอิหร่านจะมีอาวุธนิวเคลียร์ในไม่ช้า ส่วนรัฐบาลโอบามาแม้ไม่แสดงอาการตื่นตระหนก แต่ได้เพิ่มแรงกดดัน ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง
            ด้านผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีหลายคนชูประเด็นแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะประเทศประสบปัญหาหลายอย่าง คนว่างงาน 3 ล้านคน อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 30 ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นมาก ในขณะเดียวกันผู้สมัครสายอนุรักษ์นิยมบางคนยังคงชูประเด็นต่อต้านตะวันตก
คืบหน้าล่าสุด: (อัพเดท 12 มิ.ย. 21.00 น.)
          อดีตประธานาธิบดีอิหร่านสองท่านคือ Ali Akbar Hashemi Rafsanjani กับ Mohammad Khatami ประกาศสนับสนุนผู้สมัคร Hassan Rohani พร้อมกับเรียกร้องให้ชาวอิหร่านช่วยกันทำให้การเมือง วัฒนธรรม เศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศดำเนินไปในทิศทางดีกว่าเดิม
            คาดว่าจะมีผู้ลงคะแนนให้นาย Rohani ผู้สมัครสายปฏิรูปเพิ่มขึ้นเนื่องจากก่อนหน้านาย Mohammad Reza Aref ผู้สมัครอีกคนหนึ่งขอถอนตัวจากการเลือกตั้งเพื่อหวังเทคะแนนให้นาย Rohani ผู้มีนโยบายปรับความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก
(Ex-President Rafsanjani Joins Khatami to Back Rohani in Iran, Bloomberg)
            ในขณะที่มีกระแสข่าวว่าผู้ที่น่าจะชนะการเลือกตั้งมากที่สุดคือ นาย Saeed Jalili ผู้มีท่าทีแข็งกร้าวต่อตะวันตก และมีความคิดเคร่งครัดต่อหลักศาสนามาก
(Nuclear negotiator Jalili edges ahead in Iranian election race, Reuters)
            สำนักข่าว BBC รายงานสถานการณ์ล่าสุดเป็นการขับเคี่ยวระหว่าง Hassan Rowhani ผู้สมัครสายปฏิรูปกับ Saeed Jalili ผู้สมัครสายอนุรักษ์นิยม ด้าน Ayatollah Ali Khamenei ผู้นำสูงสุดประกาศว่ายอมรับผู้สมัครทุกคนที่ชนะการเลือกตั้ง
(Iran elections: Presidential candidates in final day of campaign, BBC)

วิเคราะห์: (อัพเดท 12 มิ.ย. 21.00 น.)
          ประธานาธิบดีอาห์มาดิเนจาดชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2005 ในลักษณะที่เป็นม้านอกสายตา เพราะก่อนหน้านั้นไม่มีใครเชื่อว่าเขาจะชนะ มีผู้แนะนำให้เขาถอนตัวก่อนวันเลือกตั้งด้วยซ้ำ และด้วยการชูนโยบายแข็งกร้าวต่อตะวันตก ชูนโยบายสร้างเกียรติภูมิแห่งชาติด้วยการพัฒนานิวเคลียร์ ทำให้โครงการนิวเคลียร์อิหร่านในยุคของท่านมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากมีเหตุสงสัยและเกรงว่าโครงการฯ มีวัตถุประสงค์ด้านการทหารรวมอยู่ด้วย รัฐบาลโอบามาร่วมกับมิตรประเทศจึงดำเนินมาตรการคว่ำบาตร หนึ่งในมาตรการสำคัญคือไม่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน กลุ่มประเทศสหภาพยุโรประงับการนำเข้าทั้งหมด ส่วนเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นลดการนำเข้าบางส่วน ทำให้รายได้จากการขายน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งตกฮวบ
            นโยบายประกาศห้ามทำธุรกรรมการเงินกับอิหร่านเป็นอีกเหตุที่กระทบต่อเศรษฐกิจอิหร่าน ทำให้ค่าเงินอ่อนค่าอย่างมาก เกิดภาวะเงินเฟ้อระดับร้อยละ 30 ต่อปี ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอิหร่านอย่างมาก
            หากประธานาธิบดีคนใหม่ยังคงยึดมั่นกับนโยบายเดิมของประธานาธิบดีอาห์มาดิเนจาด การคว่ำบาตรจะดำเนินต่อไป
            แต่หากประธานาธิบดีคนใหม่ปรับเปลี่ยนนโยบายนิวเคลียร์ให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นมิตรกับชาติตะวันตก ข้อเรียกร้องขออิหร่านย่อมต้องเป็นเรื่องขอให้เลิกคว่ำบาตรซื้อขายน้ำมันกับอิหร่าน คาดว่าน้ำมันจากอิหร่านจะเข้าสู่ตลาดอย่างน้อย 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้อุปทานน้ำมันในตลาดเพิ่มขึ้นหากกลุ่มประเทศโอเปกไม่ปรับลดกำลังการผลิต
            ในช่วงหาเสียงผู้สมัครแต่ละคนมีจุดยืนเรื่องโครงการนิวเคลียร์ค่อนข้างชัดเจน ดังนั้น ในวันศุกร์นี้ประชาคมโลกจะทราบทิศทางโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ทิศทางความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก
            หากอ้างอิงข้อมูลของสำนักข่าว BBC ผู้สมัครสองรายที่มีโอกาสมากที่สุด คนแรก Hassan Rowhani ประกาศว่าจะดำเนินนโยบายสายกลางไม่สุดโต่ง ส่วน Saeed Jalili ยืนยันว่าจะไม่ยอมละทิ้งสิทธิอันชอบธรรมในการพัฒนาใช้นิวเคลียร์ในทางสันติ และไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อแรงกดดันและการคว่ำบาตร
            การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอิหร่านก็เป็นได้
12 มิถุนายน 2013

ชาญชัย คุ้มปัญญา
----------------------
บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง:
8 ปีของการพัฒนานิวเคลียร์ภายใต้สมัยประธานาธิบดีอาห์มาดิเนจาด เป็นช่วงเวลาที่โครงการนิวเคลียร์มีความก้าวหน้ามาก ก่อทั้งผลดีผลเสียต่ออิหร่านชัดเจน แม้จะยังไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์สำเร็จตามเป้า แต่ได้บรรลุเป้าหมายบางอย่างแล้ว