ผลลัพธ์โครงการนิวเคลียร์อิหร่านภายใต้อาห์มาดิเนจาด
8
ปีก่อนเมื่อนายมาห์มุด อาห์มาดิเนจาด เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอิหร่าน เขาสั่งเดินหน้าโครงการพัฒนานิวเคลียร์ที่ถูกระงับชั่วคราวอย่างเต็มกำลัง
พร้อมกับกล่าวว่าอิหร่านมีสิทธิ มีความชอบธรรมที่จะวิจัยพัฒนานิวเคลียร์เพื่อใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า
ใช้ในทางการแพทย์ ไม่มีเหตุผลที่จะถูกบังคับให้ยุติโครงการ
การที่อิหร่านจะวิจัยค้นคว้านิวเคลียร์เพื่อใช้ในทางสันติเป็นสิทธิอันพึงมี
หลายประเทศทั่วโลกต่างมีโครงการนิวเคลียร์เพื่อใช้ประโยชน์ดังกล่าว บรรดาชาติมหาอำนาจ (สหรัฐ รัสเซีย จีน) ไม่ปฏิเสธสิทธิของอิหร่าน ประเทศรัสเซียได้ช่วยสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบปฏิกรณ์น้ำมวลหนัก
(heavy-water reactor) ให้ด้วยซ้ำ เพียงแต่ทุกประเทศจำต้องได้รับการตรวจสอบโครงการตามมาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลกของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ
(IAEA)
ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อ
IAEA มีข้อมูลที่น่าเชื่อว่าอิหร่านไม่ได้เปิดเผยโครงการตามหลักเกณฑ์ทั้งหมด
อีกทั้งมีแนวโน้มสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางทหาร (ผลิตอาวุธนิวเคลียร์)
จึงตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีวัตถุประสงค์ทางทหารแฝงอยู่ในโครงการด้วย ด้านรัฐบาลอาห์มาดีเนจาดปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาแต่ไม่ยอมให้ทีมงาน
IAEA เข้าตรวจสอบสถานที่บางแห่งโดยให้เหตุผลว่าเป็นความลับทางทหาร ทำให้หลายประเทศกล่าวโจมตีโครงการ
ในที่สุดคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีข้อมติ 1737 เมื่อเดือนธันวาคม 2006
ประกาศคว่ำบาตรอิหร่าน
โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านไม่ใช่เรื่องใหม่
ในช่วงทศวรรษ 1970 กษัตริย์ชาห์แห่งอิหร่านมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ถึง 23 แห่ง เพื่อผลิตไฟฟ้า 23,000 MV สามารถจ่ายไฟฟ้าแก่อิหร่านทั้งประเทศและส่งออกทั่วอ่าวเปอร์เซีย
ตลอดเวลาที่ผ่านมาบางช่วงโครงการมีความคืบหน้า บางช่วงหยุดชะงัก 8 ปีภายใต้ประธานาธิบดีอาห์มาดีเนจาดเป็นอีกช่วงที่โครงการมีความคืบหน้ามากที่สุดและได้รับการต่อต้านมากที่สุดด้วย
เกิดผลกระทบทั้งผลดีผลเสียต่อประเทศ
ผลดีจากโครงการ
ประการแรก
โครงการพัฒนานิวเคลียร์มีความก้าวหน้า
ดังที่กล่าวแล้วว่าอิหร่านมีโครงการพัฒนานิวเคลียร์ทั้งแต่ทศวรรษ 1970 บางช่วงดำเนินไปด้วยดี บางช่วงหยุดชะงักหรือไม่ค่อยคืบหน้า เมื่อมาถึงยุคของประธานาธิบดีอาห์มาดิเนจาดที่แม้อยู่ภายใต้สถานการณ์ถูกคว่ำบาตร
แต่ด้วยความพยายามอย่างแรงกล้าใช้ทุกวิถีทาง โครงการจึงเดินหน้าแบบก้าวกระโดด ข้อมูลจากทางการอิสราเอลชี้ว่าอุตสาหกรรมนิวเคลียร์อิหร่านปัจจุบันมีขนาดใหญ่กว่าของเกาหลีเหนือกับปากีสถาน
และน่าจะสามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ประการที่สอง
ได้ดำเนินตามแนวทางปฏิวัติอิสลาม
นับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามเมื่อปี 1979 ประเทศอิหร่านดำเนินแนวทางต่อต้านการครอบงำจากชาติตะวันตก ต่อต้านอิสราเอล เห็นว่าลัทธิประชาธิปไตยเป็นภัยคุกคามประเทศ
การเดินหน้าโครงการพัฒนานิวเคลียร์คือตัวอย่างรูปธรรมของการดำเนินตามแนวทางปฏิวัติอิสลาม
และเห็นว่าคณะมนตรีความมั่นคงเป็นเครื่องมือของมหาอำนาจที่ต้องการครอบงำประเทศตน จึงไม่อาจยอมรับมติการคว่ำบาตร
ในทางตรงข้ามเห็นว่าการคว่ำบาตรจะช่วยให้ประเทศเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเอง
เป็นแรงผลักดันให้ประเทศแข็งแกร่ง มุ่งมั่นดำเนินตามแนวทางปฏิวัติอิสลามต่อไป
ประการที่สาม เป็นเกียรติภูมิของชาติ
ประธานาธิบดีอาห์มาดิเนจาดประกาศว่าความก้าวหน้าด้านนิวเคลียร์เป็นเกียรติภูมิของชาติ
เชื่อว่าโครงการเป็นตัวเชื่อมประสานใจของผู้คนทั้งประเทศ เชิดชูความเป็นมุสลิมชีอะฮ์ในเวทีโลก
ประชาชนอิหร่านจำนวนมากเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว
ประการที่สี่
ได้รับความนิยมจากประชาชน
โครงการพัฒนานิวเคลียร์สัมพันธ์กับนโยบายต่างประเทศโดยตรง
เป็นหนึ่งในนโยบายที่โดดเด่นและเกิดผลกระทบทั้งทางบวกทางลบมากที่สุด ท่าทีนโยบายต่างประเทศอันแข็งกร้าว
ไม่ยอมก้มหัวให้กับชาติตะวันตก ต่อต้านอิสราเอล เชิดชูเกียรติภูมิของชาติเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้อาห์มาดิเนจาดได้รับความนิยมจากคนในประเทศอย่างมาก
โดยรวมแล้ว
ผลดีส่วนใหญ่เป็นผลเชิงนามธรรม เป็นเรื่องการของปฏิบัติตามแนวทางปฏิวัติอิสลาม
ชื่อเสียงของประเทศและการได้รับความนิยมจากประชาชน
ผลเสียจากโครงการ
ประการแรก
ประเทศถูกโดดเดี่ยวทางการเมือง เศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ในบรรดาผลเสียทั้งหมดข้อที่ร้ายแรงที่สุดคือการคว่ำบาตรจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
อันที่จริงแล้วข้อมติไม่มีเนื้อหาคว่ำบาตรรุนแรงเท่าไรนัก แต่ผลจากการมีข้อมติ
1737 กลายเป็นความชอบธรรมแก่รัฐบาลอเมริกันกับชาติพันธมิตรที่จะดำเนินนโยบายโดดเดี่ยวอิหร่านทั้งทางการเมืองระหว่างประเทศกับทางเศรษฐกิจ
สามารถออกนโยบายคว่ำบาตรเศรษฐกิจอิหร่านเพิ่มเติมด้วยตนเอง ยิ่งรัฐบาลอาห์มาดิเนจาดแสดงท่าทีแข็งกร้าว
โครงการนิวเคลียร์มีความคืบหน้ามากเพียงไร สหรัฐกับชาติพันธมิตรยิ่งเพิ่มแรงกดดันและเรียกร้องให้นานาชาติกระทำเช่นเดียวกัน
ประการที่สอง
ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ กระทบประชาชนทั้งประเทศ
เศรษฐกิจในยุคของประธานาธิบดีอาห์มาดิเนจาดมีปัญหาหนัก
เหตุที่เป็นเช่นนี้เกิดจากปัจจัยทั้งภายในกับภายนอกประเทศ การถูกคว่ำบาตรเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอให้ย่ำแย่กว่าเดิม
ตัวเลขผู้ว่างงานเพิ่มสูงกว่า 3 ล้านคน อัตราเงินเฟ้อล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 30 ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคถีบตัวสูงอย่างน่าตกใจ
การคว่ำบาตรไม่ซื้อน้ำมันจากอิหร่านเป็นมาตรการข้อแรก
รายได้จากการขายน้ำมันดิบคิดเป็นร้อยละ 60 ของรายได้การส่งออกทั้งหมด เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานายโกเลม
เรซา คาเท็บ ประธานคณะกรรมการงบประมาณรัฐสภาอิหร่านยอมรับว่าเก้าเดือนที่ผ่านมาตัวเลขการส่งออกน้ำมันลดลงร้อยละ
40 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ถ้าคิดเป็นกำไรจะลดลงราวร้อยละ 45
ส่งผลให้รัฐบาลเตรียมเสนอแผนรัดเข็มขัด
ในระยะ 8 ปีดังกล่าวบางช่วงอิหร่านได้รับผลกระทบจากมาตรการไม่มากเนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งสูงถึง
140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (อ้างอิง NYMEX) จึงยังมีกำไรงามจากการส่งออกน้ำมัน แต่เมื่อราคาน้ำมันโลกปรับตัวลดลงเรื่อยๆ
จนเหลือไม่ถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปัจจุบันผนวกกับหลายประเทศลดการนำเข้าด้วยแรงกดดันจากรัฐบาลโอบามาจึงส่งผลกระทบรุนแรง
มาตรการคว่ำบาตรข้อสองคือบางประเทศออกกฎหมายห้ามหน่วยงานรัฐ
เอกชน ทำธุรกรรมการเงินกับอิหร่าน กระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของอิหร่านอย่างรุนแรง
ล่าสุดประธานาธิบดีบารัก โอบามาสั่งห้ามทำธุรกิจยานยนต์กับอิหร่าน เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์อิหร่านจ้างแรงงานมากเป็นอันดับสองรองจากอุตสาหกรรมน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติ
คาดว่าผลจากมาตรการดังกล่าวจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาคนว่างงาน
นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่ารัฐบาลอเมริกันมุ่งใช้แรงกดดันเหล่านี้เพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในประเทศอิหร่าน
ทำให้รัฐบาลไม่เป็นที่นิยมของประชาชน มีข้อมูลว่าชาวอิหร่านบางส่วนตำหนิรัฐบาลเพราะปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น
ประการที่สาม
ประเทศยังไม่อาจใช้ประโยชน์จากโครงการ
ดังที่กล่าวแล้วว่าโครงการพัฒนานิวเคลียร์ในระยะ
8 ปีที่ผ่านมามีความก้าวหน้ามาก แต่หากยึดวัตถุประสงค์ต้องการสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ย่อมต้องประเมินว่ายังไม่บรรลุเป้าหมาย
ประชาชนอิหร่านยังไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการแต่อย่างไร และยังไม่อาจกำหนดเวลาที่ชัดเจนว่าจะได้ใช้เมื่อไรด้วย
ประเด็นนี้น่าคิดว่าหากรัฐบาลอาห์มาดิเนจาดดำเนินโครงการอย่างโปร่งใสไม่ถูกคว่ำบาตร
ประเทศน่าจะมีโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์อย่างน้อย 1 แห่งแล้วคือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบปฏิกรณ์น้ำมวลหนักที่เมือง
Arak
ประโยชน์หรือผลดีที่ได้คือชาวอิหร่านมีความภาคภูมิใจที่รัฐบาลกล้าหาญยืนหยัดเผชิญหน้ากับมหาอำนาจโลก
ดำเนินตามแนวทางปฏิวัติอิสลาม ในขณะที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบ ซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อ
ปัญหาคนว่างงาน ค่าครองชีพสูงขึ้นมาก ประชาชนต้องทุกข์ยากจากการคว่ำบาตร
ไม่ว่าเพื่อใช้ในทางสันติหรือทางทหาร
ตลอด 8 ปีที่ผ่านมาผู้นำอิหร่านย่อมตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในทุกมิติไม่ว่าจะทางการเมือง
เศรษฐกิจ สังคม แต่ทั้งที่ตระหนักรู้ยังยึดมั่นนโยบายดังกล่าวถึง 8 ปีเต็ม ก่อให้เกิดข้อสงสัยว่านอกเหนือจากเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด
ยังแฝงด้วยเป้าหมายอื่นที่สำคัญยิ่งหรือไม่ จนเป็นเหตุให้ผู้นำประเทศยอมจ่ายราคายืนหยัดดำเนินโครงการ
เป้าหมายสำคัญยิ่งนั้นคืออะไร
ถ้าหากอนาคตอิหร่านสามารถพิสูจน์ได้ว่าโครงการของตนมีเพื่อใช้ประโยชน์ในทางสันติดังเช่นหลายประเทศทั่วโลกการคว่ำบาตรก็จะสิ้นสุด
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะดีขึ้นมาก ในทางกลับกัน หากคณะมนตรีความมั่นคงมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าอิหร่านกำลังเข้าใกล้จะมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองก็จะยิ่งดำเนินมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มข้นขึ้น
สถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางจะทวีความตึงเครียด และมีโอกาสเกิดความรุนแรงได้ทุกเมื่อ
สถานการณ์ในอนาคตจะดีขึ้นหรือเลวร้ายลงจึงขึ้นกับการประเมินว่าอิหร่านกำลังจะมีอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่
การเลือกตั้งทั่วไปในกลางเดือนมิถุนายนนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนของนโยบายก็เป็นได้
ประชาคมโลกจะได้คำตอบในไม่ช้า
9 มิถุนายน 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6061 วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2556)
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6061 วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2556)
---------------
บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง:
นับจากนี้อีกราว 8 เดือนก่อนถึงวันเลือกตั้งปธน.
น่าติดตามว่าส่งผลต่อนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายต่างประเทศของว่าที่ปธน.คนใหม่อย่างไร
IAEA ไม่มั่นใจว่าโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านจะมีเพื่อใช้ในทางสันติเท่านั้น
เป็นที่มาของมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก
----------------
บรรณานุกรม:
1. Kasra Naji, Ahmadinejad: The Secret History of Iran's
Radical Leader (CA: University of California Press, 2008).
2. Bruce W. Jentleson, American Foreign Policy: The Dynamics
of Choice in the 21st Century, 4th Edition (N.Y.: W. W. Norton & Company,
2010).
3. Steinitz: S-300s sold to Syria may end up in Iran, The
Jerusalem Post, 4 June 2013, http://www.jpost.com/Middle-East/Steinitz-S-300s-sold-to-Syria-may-end-up-in-Iranian-hands-315406
4. Iran No Threat to Any State, Iran Daily, 26 August
2006, http://www.iran-daily.com/1385/2645/html
5. Mark Hitchcock, Iran: The Coming
Crisis: Radical Islam, Oil, and the Nuclear Threat (CO: Multnomah Books, 2006).
6. Yonah Alexander and Milton Hoenig, The New Iranian
Leadership: Ahmadinejad, Terrorism, Nuclear Ambition, and the Middle East (USA:
Greenwood Publishing Group, 2008).
-------------------------------------