สหภาพยุโรปกับการเสริมเขี้ยวเล็บแก่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย
ต้นปี 2011 เมื่อความขัดแย้งในประเทศซีเรียเริ่มปะทุขึ้น สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศจุดยืนสนับสนุนฝ่ายต่อต้านพร้อมนโยบายหลักสามประการ
คือ ชักจูงให้รัฐบาลซีเรียเจรจากับฝ่ายต่อต้านเพื่อเปลี่ยนรัฐบาลด้วยสันติตามวิถีประชาธิปไตย
ชักชวนหรือกดดันรัฐบาลไม่ให้ใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน และให้จุดยืนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากประเทศในภูมิภาคและนานาชาติ
นอกจากนี้ยังดำเนินนโยบายคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อซีเรีย
จัดหาความช่วยเหลือที่ไม่ใช่อาวุธแก่ฝ่ายต่อต้าน ร่วมมือกับสหรัฐ มิตรประเทศกดดันรัฐบาลซีเรียที่มีประธานาธิบดีบาชาร์
อัล อัสซาดเป็นผู้นำ
เหตุการณ์อาหรับสปริงซีเรียแตกต่างจากอาหรับสปริงอื่นๆ
รัฐบาลอัสซาดสามารถยืนหยัดต่อสู้ฝ่ายต่อต้าน ไม่มีฝ่ายใดแพ้ชนะเด็ดขาด
มีแต่ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นถึง 8 หมื่นราย ผู้อพยพลี้ภัยกว่าล้านคน
เป็นแรงกดดันให้อียูต้องเพิ่มความพยายามมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ชาติสมาชิกบางประเทศพูดถึงการเสริมเขี้ยวเล็บขายอาวุธหรือการสนับสนุนอาวุธ ‘ทันสมัย’ แก่ฝ่ายต่อต้าน ชาติสมาชิกอียู 27 ประเทศมีทั้งที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย
ต่างมีเหตุผลของตน
เหตุผลที่ควรคัดค้าน :
ประเทศเยอรมนี สเปน ออสเตรีย สวีเดน เนเธอร์แลนด์ แสดงตัวคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า
ประการแรก ความขัดแย้งในซีเรียควรแก้ไขด้วยสันติวิธี
จุดยืนหลักคือเห็นว่าการแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังทหารนั้นไม่ประกันว่าจะช่วยให้ประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นประชาธิปไตย
เพราะความเป็นประชาธิปไตยแท้เกิดขึ้นจากความสมัครใจ ความเห็นร่วมของประชาชนที่ต้องการให้ประเทศบริหารจัดการตามระบอบประชาธิปไตย
ไม่ใช่การใช้กำลังบีบบังคับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเห็นว่าการเสริมอาวุธเครื่องกระสุนมีแต่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายเพิ่มขึ้น
จึงต่อต้านการสนับสนุนทางทหารโดยสิ้นเชิง
ประการที่สอง
กังวลว่าอาวุธจะตกอยู่ในมือของผู้ก่อการร้าย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี
นายกีโด เวสเตอร์เวลเลอตั้งคำถามว่าหากฝ่ายต่อต้านได้รับอาวุธ ‘ทันสมัย’ ตามที่ต้องการ อะไรจะเป็นเครื่องประกันว่าอาวุธเหล่านั้นจะไม่ตกอยู่ในมือของพวกหัวรุนแรง
พวกผู้ก่อการร้าย เช่นกลุ่ม Jabhat al-Nusra
โดยเฉพาะขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานจะมีผลต่อความปลอดภัยของเครื่องบินโดยสารที่บินผ่านย่านนั้นทันที
ที่สำคัญกว่านั้นคืออาวุธเหล่านั้นมีโอกาสแพร่กระจายไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ
ถูกนำไปใช้ก่อการร้ายในที่ต่างๆ
และไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าในวันข้างหน้ากลุ่มย่อยๆ
ในฝ่ายต่อต้านบางกลุ่มอาจแปรพักตร์ไปสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามชาติตะวันตก ดังเช่นกรณีรัฐบาลสหรัฐส่งอาวุธทันสมัยให้แก่พวกมูจาฮีดีนในอัฟกานิสถานเพื่อต่อต้านการรุกรานจากโซเวียตตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 สร้างความเสียหายแก่อาวุธยุทโธปกรณ์โซเวียตจำนวนมาก แต่ปัจจุบันทหารอเมริกันในอัฟกานิสถานกลับต้องมาต่อสู้กับพวกมูจาฮีดีนบางกลุ่มด้วยอาวุธที่ตนจัดหาให้เสียเอง
ประการที่สาม มีผู้สนับสนุนจัดหาอาวุธให้อยู่แล้ว
รัฐมนตรีเวสเตอร์เวลเลอกล่าวว่าที่ผ่านมาประเทศซาอุดิอาระเบียกับกาตาร์สนับสนุนจัดหาอาวุธแก่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอยู่แล้ว
ฝ่ายต่อต้านไม่ได้ขาดอาวุธแต่อย่างไร ประเด็นนี้สามารถขยายความต่อว่าหากอาวุธ ‘ทันสมัย’
ที่ฝ่ายต่อต้านต้องการคืออาวุธต่อต้านอากาศยานกับอาวุธต่อต้านรถถังแบบประทับบ่า สองประเทศดังกล่าวมีและ/หรือสามารถจัดหาให้โดยไม่ยากเย็น
ดังนั้นจึงไม่จำต้องให้ชาติสมาชิกอียูเป็นผู้จัดหา เว้นแต่อยากเป็นผู้ขายอาวุธเหล่านั้นเสียเอง
มีข้อมูลว่าที่ผ่านมาประเทศซาอุดิอาระเบียกับกาตาร์ไม่จัดสรรอาวุธ ‘ทันสมัย’ แก่ฝ่ายต่อต้านเพราะรัฐบาลโอบามาไม่เห็นด้วย
จึงเป็นที่น่าสงสัยว่ารัฐบาลโอบามาเปลี่ยนจุดยืนดังกล่าวแล้วหรือยัง เพราะหากรัฐบาลอเมริกันเปลี่ยนจุดยืนก็ไม่จำต้องให้อังกฤษกับฝรั่งเศสเป็นผู้จัดหา
กลับไปที่ข้อสรุปเดิมว่าเว้นแต่อยากเป็นผู้ขายอาวุธเหล่านั้นเสียเอง
ประการที่สี่ เป็นแรงกระตุ้นให้ประเทศที่สนับสนุนรัฐบาลซีเรียจัดส่งอาวุธให้ฝ่ายรัฐบาลมากขึ้น
นายฟรานซ์ ทิมเมอร์มานส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์เห็นว่าการยอมขายอาวุธ
‘ทันสมัย’ อาจเป็นเหตุให้รัสเซียส่งอาวุธแก่ฝ่ายรัฐบาลเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
เนื่องจากรัฐบาลรัสเซียสนับสนุนรัฐบาลซีเรีย ดังนั้น การเสริมเขี้ยวเล็บแก่ฝ่ายต่อต้านอาจไม่ช่วยให้ได้เปรียบในการรบ
ความคิดนี้ถูกต้องและเห็นผลลัพธ์ทันที เพราะเพียงหนึ่งวันให้หลังรัฐบาลรัสเซียออกมาตอบโต้นโยบายของอียูด้วยการแถลงข่าวว่ารัสเซียจะไม่ยกเลิกแผนขายขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน
S-300 แก่รัฐบาลซีเรีย
และกล่าวโทษว่าการที่อียูยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเรื่องการขายอาวุธแก่ฝ่ายต่อต้านเหมือนกับการ
“โยนดุ้นฟืนเข้ากองไฟ” ทั้งนี้รัสเซียยังไม่กำหนดว่าจะส่งมอบอาวุธดังกล่าวเมื่อไร
“เพียงแต่จะไม่ยกเลิก” แผนขายอาวุธเท่านั้น
เรื่องการขายขีปนาวุธ
S-300 เป็นข่าวมาพักหนึ่งแล้ว
ที่ผ่านมาชาติตะวันตกกับอิสราเอลพยายามยับยั้ง เพราะขีปนาวุธดังกล่าวมีสมรรถนะสูงมาก
หากซีเรียติดตั้งอาวุธดังกล่าวจะเป็นภัยคุกคามต่ออากาศยานของทุกประเทศในย่านนั้น
รวมทั้งอิสราเอล
โดยรวมแล้ว
ฝ่ายที่คัดค้านเห็นว่าอาวุธ ‘ทันสมัย’ ไม่ช่วยให้ซีเรียเป็นประชาธิปไตย
มีแต่ทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายมากขึ้น ทั้งยังไม่ช่วยให้ฝ่ายต่อต้านได้เปรียบแต่จะกลายเป็นการแข่งขันใช้อาวุธทันสมัย
และอาวุธเหล่านี้อาจตกอยู่ในมือของพวกผู้ก่อการร้ายสากล
เหตุผลที่ควรสนับสนุน :
อังกฤษกับฝรั่งเศสเป็นสองประเทศหลักที่สนับสนุนฝ่ายต่อต้านอย่างแข็งขัน
รวมทั้งเรื่องการให้อาวุธ ‘ทันสมัย’ แก่ฝ่ายต่อต้าน
โดยมีเหตุผลดังนี้
ประการแรก ป้องกันไม่ให้ฝ่ายอื่นเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลปกครองซีเรียแทนฝ่ายต่อต้าน
แนวทางนี้เห็นว่าความขัดแย้งในซีเรียซับซ้อน สถานการณ์ปัจจุบันเป็นการต่อสู้ของคนหลายกลุ่มหลายฝ่าย
หนึ่งในนั้นคือพวกมุสลิมหัวรุนแรง พวกผู้ก่อการร้ายที่สัมพันธ์กับอัลกออิดะห์
เกรงว่าหากพวกมุสลิมหัวรุนแรงสามารถปกครองประเทศหรือพื้นที่บางส่วนจะเป็นภัยทั้งต่อประชาชนชาวซีเรียและต่อประเทศอื่นๆ
นายลอรอนต์ แฟบิอุส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสถึงกับชี้ว่าหากประเทศซีเรียล่มสลายและฝ่ายต่อต้าน (ที่ชาติตะวันตกสนับสนุน) ไม่ได้ปกครองประเทศ
“กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงอาจยึดครองพื้นที่ได้มากขึ้น” จึงต้องสนับสนุนให้ฝ่ายต่อต้านเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศด้วยทุกวิถีทาง
ประการที่สอง
การให้อาวุธจำเป็นต่อวิถีทางการทูต
นายวิลเลียม เฮก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษกล่าวว่าอังกฤษเห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางการเมือง
แต่การยกเลิกคว่ำบาตรเป็น “ส่วนหนึ่งที่ช่วยวิถีทางการทูต” เป็นการส่งสัญญาณแก่รัฐบาลอัสซาดว่าอียูจริงจังที่จะแก้ปัญหาด้วยการเจรจา
แนวทางของอังกฤษจึงมุ่งใช้ ‘กำลัง’ เป็นเครื่องมือต่อรอง
ประการที่สาม
สามารถป้องกันไม่ให้อาวุธตกอยู่ในมือผู้ก่อการร้าย
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหวั่นเกรงว่าอาวุธ ‘ทันสมัย’
จะตกอยู่ในมือของพวกผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะห์ หรือมุสลิมหัวรุนแรง
วิธีแก้คือส่งมอบอาวุธแก่ฝ่ายต่อต้านที่ยืนยันว่าจะว่ารักษาอาวุธไม่ให้ตกแก่ฝ่ายอื่น
ไม่ว่าแต่ละฝ่ายจะมีเหตุผลอย่างไร
วันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา สหภาพยุโรปมีมติยกเลิกการคว่ำบาตรขายอาวุธแก่ฝ่ายต่อต้าน
และให้ชาติสมาชิกแต่ประเทศมีสิทธิตัดสินใจการขายด้วยตนเองภายใต้กรอบกติกาที่กำหนด ประเทศที่ดำเนินการดังกล่าวต้องมีระบบป้องกันไม่ให้อาวุธเหล่านั้นถูกนำไปใช้ในทางอื่น
มีข้อมูลชัดเจนว่าส่งมอบให้แก่ผู้ใดและนำไปใช้อย่างไร และอียูจะทบทวนจุดยืนอีกครั้งก่อนวันที่
1 สิงหาคม 2013
ที่สุดแล้วสหภาพยุโรปใช้วิธีประนีประนอม
ให้ชาติสมาชิกตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะขายอาวุธแก่ฝ่ายต่อต้านหรือไม่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด
อย่างไรก็ตามอังกฤษกับฝรั่งเศสยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะขายอาวุธเมื่อไหร่ ประเด็นที่น่าคิดคือหากอังกฤษกับฝรั่งเศสขายให้จริงยังมีคำถามว่าขายอาวุธอะไร
มากน้อยเพียงไร เพียงพอต่อความต้องการของฝ่ายต่อต้านหรือไม่ อาวุธเหล่านั้นจะมีผลต่อการสู้รบมากน้อยเพียงไร
อีกทั้งประเทศรัสเซียจะตอบโต้ด้วยการขายอาวุธชั้นเลิศแก่รัฐบาลซีเรียหรือไม่ การเสริมเขี้ยวเล็บ
‘ทันสมัย’ แก่ฝ่ายต่อต้านจึงไม่เป็นข้อสรุปว่าจะช่วยให้ฝ่ายต่อต้านได้ชัยชนะ
ประโยชน์ที่เห็นจะได้ชัดเจนคือข้อมติยกเลิกคว่ำบาตรขายอาวุธเป็นการแสดง ‘ท่าที’ อีกครั้งว่าอียูสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน มีผลกดดันรัฐบาลซีเรียกับผู้สนับสนุนระบอบอัสซาด
แต่ก็มีคำถามตามมาอีกว่าประธานาธิบดีอัสซาดจะยอมก้าวลงจากอำนาจด้วยแรงกดดันดังกล่าวหรือไม่
แท้ที่จริงแล้ว ฝ่ายต่อต้านกับหลายประเทศในตะวันออกกลางเรียกร้องขอการสนับสนุนอาวุธ
อำนาจการรบจากชาติตะวันตกมาตั้งแต่ต้น อาจนึกถึงกรณีอาหรับสปริงลิเบีย ครั้งนั้นกองกำลังทางอากาศของอังกฤษกับฝรั่งเศสจัดตั้งเขตห้ามบิน (No-fly-zone) ช่วยทำลายอาวุธหนักกับฐานทัพรัฐบาลลิเบีย ช่วยฝ่ายต่อต้านรุกคืบจนสามารถโค่นล้มรัฐบาลกัดดาฟี
ได้รับชัยชนะอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การเสริมเขี้ยวเล็บที่ดีที่สุดคือการจัดตั้งเขตห้ามบินนั่นเอง
แต่ที่ผ่านมาอียูกับสหรัฐปฏิเสธมาโดยตลอด โดยให้เหตุผลว่าสถานการณ์ของซีเรียแตกต่างจากลิเบีย
การที่สหภาพยุโรปยกเลิกคว่ำบาตรขายอาวุธแก่ฝ่ายต่อต้านจึงไม่น่าจะมีผลทั้งต่อการรบในพื้นที่หรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในซีเรีย
เพียงแค่ได้แสดงออกว่าอียูได้ทำอะไรบางอย่างเพิ่มเติมเพื่อฝ่ายต่อต้านเท่านั้น
ตอกย้ำว่าความขัดแย้งในซีเรียไม่อาจแก้ไขได้โดยง่าย
2 มิถุนายน 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6054 วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2556)
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6054 วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2556)
---------------------
บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง:
(อัพเดท 29 พ.ค. 8.30 น.)
อียูอนุมัติให้ชาติสมาชิกสามารถขายอาวุธทันสมัยแก่ฝ่ายต่อต้าน
รัฐบาลรัสเซียจึงออกมาตอบโต้ด้วยการประกาศว่าไม่ได้ระงับแผนขายขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน
S-300 แก่ทางการซีเรีย ขีปนาวุธ S-300
ไม่ส่งผลโดยตรงต่อการรบกับฝ่ายต่อต้าน แต่ส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ
ที่คิดจะใช้กำลังอากาศกับซีเรีย
บรรณานุกรม:
1. Richard Gowan, The EU and Syria:
everything but force? 26 January 2012, The European Union Institute for
Security Studies, http://www.iss.europa.eu/fr/publications/detail-page/article/the-eu-and-syria-everything-but-force/
2. German Foreign Minister: 'A Military Solution
Won't Yield Lasting Peace in Syria', SPIEGEL International, 20 May
2013, http://www.spiegel.de/international/world/interview-with-german-foreign-minister-guido-westerwelle-a-900611.html
3. Rodney P. Carlisle, Afghanistan War (NY: Chelsea House
Publications, 2010).
4. European Nations End Weapons Embargo, Creating Path to
Arming Syrian Rebels, The New York Times, 27 May 2013, http://www.nytimes.com/2013/05/28/world/middleeast/syria.html?pagewanted=all&_r=0
5. Russia says missile systems for Syria will deter
intervention, Reuters, 28 May 2013, http://www.reuters.com/article/2013/05/28/us-syria-crisis-russia-defence-idUSBRE94R0EJ20130528
6. France fears Islamist rise in Syria unless
opposition helped, Reuters, 28 January 2013, http://news.yahoo.com/france-fears-islamist-rise-syria-unless-opposition-helped-113119963.html
7. Syria conflict: EU considers amending arms embargo, BBC,
27 May 2013, http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-22677599
8. Council declaration on Syria, 3241st FOREIGN AFFAIRS Council meeting Brussels, 27 May 2013,
http://www.consilium.europa.eu/uedocs/cms_Data/docs/pressdata/EN/foraff/137315.pdf
9. Britain: EU ends arms embargo on Syrian opposition, AP,
28 May 2013, http://news.yahoo.com/britain-eu-ends-arms-embargo-syrian-opposition-224817694.html
-------------------