เกาะติดประเด็นร้อน “การชุมนุมประท้วงประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี แห่งอียิปต์”

สรุปสถานการณ์: (อัพเดท 30 มิ.ย. 8.00 น.) วันนี้จะเป็นวันเริ่มการชุมนุมใหญ่อีกครั้งของฝ่ายต่อต้านประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี แห่งอียิปต์ เป็นวันครบรอบ 1 ปีที่ประธานาธิบดีมอร์ซีกล่าวสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่ง
            เหตุการณ์การเมืองภายในประเทศอียิปต์เป็นที่สนใจทั่วโลกตั้งแต่ปี 2011 เมื่อประชาชนจำนวนมากลุกฮือโค่นล้มรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีฮอสนี่ มูบารัค ตามมาด้วยการเลือกตั้งอย่างเสรี พรรคการเมืองของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง นายโมฮัมเหม็ด มอร์ซีหัวหน้ากลุ่มขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอียิปต์คนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง
            ความไม่พอใจของฝ่ายต่อต้านเริ่มต้น เมื่อรัฐบาลใหม่ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเน้นหลักศาสนาอิสลาม ถูกกล่าวหาว่าพยายามรวบอำนาจทางทหาร ตุลาการ ประธานาธิบดีมอร์ซีถูกฝ่ายต่อต้านมองว่าเป็นพวกอำนาจนิยมมากกว่าเป็นผู้นำประชาธิปไตย เห็นว่ารัฐบาลไม่พยายามบริหารประเทศเพื่อประชาชนทั้งประเทศอย่างแท้จริง
            ภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เป็นอีกเหตุผลให้ฝ่ายต่อต้านโจมตีรัฐบาล ตลอดหนึ่งขวบปีที่ผ่านมาสภาพเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น หลายอย่างแย่กว่าสมัยรัฐบาลมูบารัค น้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลน เงินเฟ้อพุ่งสูง
            ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ฝ่ายต่อต้านชุมนุมหลายครั้ง มีการปะทะบาดเจ็บล้มหลายอยู่เสมอ มารอบนี้ฝ่ายต่อต้านตั้งใจให้เป็นการชุมนุมใหญ่อีกรอบหนึ่ง
คืบหน้าล่าสุด: (อัพเดท 30 มิ.ย. 8.00 น.)
            ฝ่ายต่อต้านเรียกร้องให้ประธานาธิบดีมอร์ซีลาออก อ้างว่ามีรายชื่อผู้สนับสนุนพวกตนถึง 22  ล้านรายชื่อ ในขณะที่ประธานาธิบดีมอร์ซีได้รับคะแนนจากการเลือกตั้งเพียง 13 ล้านเสียง
(Egypt prepares for worst ahead of Sunday protest, AP)
            The Guardian เสนอข่าวว่าเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอียิปต์ Anne Patterson พยายามหว่านล้อมขอให้ฝ่ายต่อต้านลดระดับข้อเรียกร้อง ฝ่ายต่อต้านบางคนต้องการให้ประธานาธิบดีมอร์ซีก้าวลงจากอำนาจทันที ในขณะที่บางคนเพียงต้องการให้จัดเลือกตั้งใหม่เร็วขึ้น แหล่งข่าวบางแห่งรายงานว่ากองทัพไม่ต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุม แต่หากการชุมนุมขยายตัวและเห็นว่าฝ่ายชุมนุมประท้วงรัฐบาลแสดงเจตนารมณ์อันแท้จริงมากกว่า ก็อาจเข้าไปสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว
(Egyptian activists hope for 'second revolution' a year after Morsi's election, The Guardian)

วิเคราะห์: (อัพเดท 30 มิ.ย. 8.00 น.)
            รายชื่อ 22 ล้านรายชื่อเป็นหลักฐานที่ชัดว่าฝ่ายต่อต้านวางแผนการชุมนุมครั้งนี้มาอย่างดี หวังจะพยายามผลักดันให้ประธานาธิบดีตัดสินใจจัดเลือกตั้งครั้งใหม่ทันทีหรือโดยเร็ว
            ปัญหาคือรัฐบาลมีประชาชนผู้ให้การสนับสนุนจำนวนมากเช่นกัน เมื่อวันศุกร์ที่ 21 มิ.ย. มีผู้เข้าร่วมชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลมอร์ซีราว 1 แสนคน เห็นว่าประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซีมาจากการเลือกตั้งโดยเสรีจึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องเร่งจัดเลือกตั้งใหม่ตามที่ฝ่ายต่อต้านเรียกร้อง
            สถานการณ์ขณะนี้เป็นการเผชิญหน้าระหว่างม็อบสองกลุ่ม
            ตลอดหลายวันที่ผ่านมา มีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมสองฝ่ายตามเมืองต่างๆ มีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง บาดเจ็บหลายร้อยคน ในขณะที่ประชาชนทั่วไปคาดว่าการชุมนุมจะยืดเยื้อและอาจเกิดเหตุรุนแรง สองสามวันที่ผ่านมาจึงกักตุนอาหารและเชื้อเพลิง จนสินค้าหมดจากชั้น ธนาคารบางสาขาขาดแคลนเงินสด
            การชุมนุมจะจบลงอย่างรวดเร็วถ้าของเรียกร้องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับการตอบสนอง ในทางตรงข้ามทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจ ยกระดับการชุมนุมเพื่อเพิ่มความกดดัน
            ‘กองทัพ ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ถ้าย้อนกลับไปเมื่อตอนโค่นล้มปธน.มูบารัค 
            ตลอดหนึ่งปีของรัฐบาลมอร์ซี ปัญหาใหญ่อยู่ที่สองฝ่ายต่างยึดมั่นว่ากำลังกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ชอบธรรม และสองฝ่ายต่างมีพลังสนับสนุนอย่างแข็งแรง ไม่ว่าฝ่ายใดจะมีจำนวนมากกว่าหรือน้อยกว่า แต่ต่างเป็นแนวร่วมที่เข้มแข็ง
            ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมามีการชุมนุมหลายครั้ง แต่ละครั้งการชุมนุมของฝ่ายต่อต้านจะซาหรือยุติไปเองทุกครั้ง ดังนั้น รอบนี้อาจเป็นเหมือนเช่นครั้งก่อนๆ ก็เป็นได้
            ในอีกมุมหนึ่ง ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา สภาพเศรษฐกิจอันย่ำแย่ การบริหารประเทศตามแนวทางของปธน.มอร์ซี อาจเป็นหลักฐาน เป็นเหตุผลที่มากที่พอแล้วที่ฝ่ายต่อต้านจะมีพลังมากเพียงพอจนสามารถล้มรัฐบาลมอร์ซี
            วันนี้จะเป็นวันแรกของการชุมนุมใหญ่รอบใหม่ ผู้ชุมนุมของทั้งสองฝ่ายตั้งมั่นรอมาหลายวันแล้ว
30 มิถุนายน 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(แก้ไข 4 กรกฎาคม 2013)
-------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก