ความฮึกเหิมของแนวร่วมฝ่ายค้านมาเลเซียและข้อโต้แย้ง
ที่มาแห่งความฮึกเหิม: ผู้ที่ติดตามศึกษาเรื่องราวการเมืองการปกครองของประเทศมาเลเซียจะเห็นความโดดเด่นของพรรคอัมโน (United Malays National Organisation หรือ UMNO) แกนนำของแนวร่วมพรรครัฐบาลบีเอ็น
(Barisan Nasional หรือ
BN)
ที่มีอำนาจมีอิทธิพลต่อรัฐบาลมาเลเซียมาโดยตลอดตั้งแต่ประเทศได้รับเอกราชเมื่อปี 1957 ในขณะที่ฝ่ายค้านเป็นเพียงพรรคหรือกลุ่มก้อนเล็กๆ
ที่ไม่ค่อยมีอิทธิพลทางการเมืองการบริหารประเทศ
ฝ่ายค้านเริ่มฉายความโดดเด่นเมื่ออดีตรองนายกรัฐมนตรีอัลวาร์ อิบราฮิมหวนสู่เวทีเลือกตั้งในนามพรรคฝ่ายค้าน สามารถรวบรวมพรรคฝ่ายค้านที่สำคัญ 3 พรรค ได้แก่ Parti Islam Se-Malaysia (PAS) Parti Keadilan Rakyat (PKR) และ Democratic Action Party (DAP) เป็นแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านที่ชื่อว่า Pakatan Rakyat (PR)
ภายใต้การนำของนายอัลวาร์บวกกับการบริหารประเทศผิดพลาดของอดีตนายกรัฐมนตรีอับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี
ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งก่อน (2008) พรรคร่วมรัฐบาลได้เพียง 140
ที่นั่งจากจำนวนทั้งสิ้น 222 ที่นั่ง สูญเสีย 58 ที่นั่ง ขณะที่แนวร่วมฝ่ายค้านได้ 82 ที่นั่ง เพิ่มมากขึ้นถึง 3 เท่าตัว เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1969
ที่พรรคร่วมรัฐบาลสูญเสียสถานะเสียงข้างมากสองในสามในรัฐสภา แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลต่อ
นายกฯ บาดาวีแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งผู้นำรัฐบาล นายนาจิบ
ราซะก์ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน
ผลการเลือกตั้งครั้งก่อนเป็นชัยชนะที่ฝ่ายค้านเพิ่งจะลิ้มลองครั้งแรก
เป็นที่มาแห่งความฮึกเหิมของแนวร่วมฝ่ายค้าน
เหตุที่ฝ่ายค้านคิดว่าพวกเขาจะชนะในการเลือกตั้ง:
เหตุที่ฝ่ายค้านคิดว่าพวกเขาจะชนะในการเลือกตั้ง:
การเลือกตั้งทั่วไปในปีนี้ (2013) แนวร่วมฝ่ายค้านคาดหวังว่าพวกเขาจะชนะการเลือกตั้ง
ด้วยเหตุผลดังนี้
ประการแรก พรรคฝ่ายค้านไม่ต้องแข่งกันเอง ผลจากการที่นายอัลวาร์สามารถเจรจากับพรรคฝ่ายค้านต่างๆ
ทำให้บรรดาพรรคฝ่ายค้านยินยอมที่จะไม่ส่งผู้สมัครเข้าแข่งในเขตพื้นที่เลือกตั้งเดียวกัน (ในบางเขตยังมีการส่งผู้สมัครแข่งกันเองอยู่บ้าง แต่ลดลงไปมาก)
ผลงานเรื่องนี้ของนายอัลวาร์เป็นเหตุหนึ่งที่ช่วยให้การเลือกตั้งครั้งก่อนฝ่ายค้านได้ที่นั่งในสภาเพิ่มมากขึ้น
ประการที่สอง แนวร่วมฝ่ายค้านเข้มแข็งขึ้นกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อน
นับจากที่แนวร่วมฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งในหลายเขตเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปครั้งก่อน
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาแนวร่วมฝ่ายค้านพยายามสร้างความแข็งแกร่งภายใน
ปรับปรุงโครงสร้างพรรค และรวมตัวเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม
มุ่งมั่นที่จะได้เสียงข้างมากในสภาเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล
ทำลายประวัติศาสตร์ที่พรรคร่วมรัฐบาลบีเอ็นบริหารประเทศมาอย่างยาวนานถึง 56 ปี
ประการที่สาม
ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารในอีกด้านหนึ่ง ที่ผ่านมาฝ่ายค้านเห็นว่ารัฐบาลพยายามปกปิดบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร
สื่อกระแสหลักเป็นเครื่องมือของรัฐบาล แต่ด้วยการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต
ด้วยสื่อทางเลือกต่างๆ ฝ่ายค้านใช้เครื่องมือเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างมืออาชีพ นำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งให้ประชาชนรับทราบ
วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ชี้ว่ารัฐบาลบริหารประเทศผิดพลาดอย่างไร
การทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมือง รัฐมนตรีฝ่ายรัฐบาล
ประการที่สี่
พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอนโยบายประชานิยม นายอัลวาร์เสนอนโยบายประชานิยมหลายอย่าง เช่น รัฐจะอุดหนุนราคาน้ำมัน ไฟฟ้า
น้ำประปา ค่าบริการทางด่วน ทำให้ราคาสินค้าบริการเหล่านี้ลดลง
และให้เรียนฟรีในระดับอุดมศึกษา นอกจากนั้นยังมีข่าวว่าจะออกนโยบายช่วยให้คนมาเลเซียสามารถซื้อรถยนต์ที่ผลิตในประเทศในราคาต่ำกว่าปัจจุบันถึงสองแสนห้าหมื่นบาท (สองหมื่นห้าพันริงกิต) ผู้เสียชีวิตจะได้ค่าทำศพรายละหนึ่งหมื่นห้าพันบาท
ข้อโต้แย้ง ปัญหาและจุดอ่อน:
ในขณะที่สมาชิกแนวร่วมฝ่ายค้านหลายคนคิดว่าพวกเขากำลังแข็งแกร่งขึ้นด้วยเหตุผลข้างต้น
ภายใต้เหตุผลเหล่านั้นมีข้อโต้แย้ง ปัญหาและจุดอ่อนเช่นกัน
ประการแรก พรรคร่วมรัฐบาลปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของตน
หากยกเหตุผลว่าแนวร่วมฝ่ายค้านรวมตัวเข้มแข็งกว่าอดีต
ในทำนองเดียวกันพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลได้เรียนรู้จากความผิดพลาดครั้งก่อน
พยายามแก้ไขข้อบกพร่องของตน หวังจะได้ที่นั่งที่เคยเสียไปกลับคืนมาเช่นกัน
ดังที่นายกฯ นาจิบประกาศเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคร่วมรัฐบาลต้องกลับมาได้เสียงข้างมากสองในสามเช่นเคย
มีการปรับกลยุทธ์หาเสียงกับกลุ่มเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
ประการสอง แนวร่วมฝ่ายค้านมีจุดยืนบางอย่างที่แตกต่างกัน
ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของแนวร่วมฝ่ายค้านคือพวกเขามาจากพรรคที่ตั้งอยู่บนเชื้อชาติ
ค่านิยมที่แตกต่าง ทำให้มีเป้าหมายแตกต่างกันด้วย
ตัวอย่างเช่น DAP ประกอบด้วยคนเชื้อสายจีนเป็นหลัก
เห็นว่ารัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างเท่าเทียม
จึงต้องการต่อสู้เรียกร้องความเท่าเทียมในสิทธิต่างๆ ส่วน PAS เป็นกลุ่มมุสลิมที่ต้องการให้ประเทศใช้กฎหมายการลงโทษแบบอิสลาม (Hudud
laws) ประเด็น Hudud
laws กลายเป็นเรื่องขัดแย้งระหว่าง
DAP กับ PAS ถึงขั้นแกนนำ DAP บางคนประกาศว่าจะไม่ลงคะแนนให้กับผู้สมัครของ PAS บางคนโจมตีว่า
PAS ไม่ได้ร่วมมือกับแนวร่วมฝ่ายค้านอย่างจริงจัง
จากเหตุดังกล่าวพรรคร่วมรัฐบาลจึงหยิบขึ้นมาโจมตีว่าแนวร่วมฝ่ายค้านนั้นเป็นกลุ่มที่เปราะบาง
ประการที่สาม ประโยชน์ของสื่อทางเลือก
ภายใต้มุมมองของแนวร่วมฝ่ายค้านที่เห็นว่าพรรคร่วมรัฐบาลยึดครองสื่อกระแสหลักจึงเน้นการใช้สื่อทางเลือก
แต่ผู้รับสื่อดังกล่าวจำกัดจำเพาะกับคนบางกลุ่ม ส่วนใหญ่คือฐานเสียงเดิมของพรรคกับพวกคนรุ่นใหม่
แม้จะช่วยให้ฐานเสียงมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ยังเป็นที่ถกเถียงว่าสามารถช่วยเพิ่มจำนวนฐานเสียงอย่างเป็นกอบเป็นกำหรือไม่
ประการที่สี่
ข้อวิพากษ์เรื่องนโยบายประชานิยม ในขณะที่สมาชิกแนวร่วมฝ่ายค้านโจมตีว่ารัฐบาลเอาเงินภาษีมาแจกประชาชน
ทำให้รัฐเป็นหนี้จำนวนมาก ต้องขึ้นอัตราภาษี แต่การที่แนวร่วมฝ่ายค้านชูนโยบายประชานิยมเช่นกัน
ทำให้เกิดข้อโต้แย้งว่าฝ่ายค้านชูนโยบายเดียวกับที่ใช้โจมตีรัฐบาลและกลายเป็นว่าเกิดการต่อสู้ว่านโยบายประชานิยมของฝ่ายใดดีกว่า
ในการปราศรัยหาเสียงครั้งหนึ่ง นายกฯ
นาจิบถึงกับกล่าวว่า “นโยบาย BR1M (ของรัฐบาล)
มอบเงินช่วยเหลือโดยตรงแก่ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 พันริงกิตต่อเดือน แต่การอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงของแนวร่วมฝ่ายค้านนั้น
จะเกิดการรั่วไหลจำนวนมากเพราะคนรวยและคนต่างชาติจะได้ประโยชน์ด้วย”
วิเคราะห์ภาพรวมและสรุป:
นักวิเคราะห์หลายท่านเห็นว่าผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่
13 ของประเทศมาเลเซีย
พรรคร่วมรัฐบาลจะได้จัดตั้งรัฐบาลอีกสมัย ประเด็นที่ยังถกเถียงคือแนวร่วมฝ่ายค้านจะได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นหรือลดลง
ในมุมมองของฝ่ายค้านนั้นถ้าได้เสียงข้างมากจะเสมือนหนึ่งปฏิวัติการเมืองประเทศเลยทีเดียว
แต่แม้ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
ถ้าได้ที่นั่งเพิ่มมากขึ้นก็ถือว่าฝ่ายค้านก้าวสู่ความสำเร็จอีกขั้น
ตอกย้ำสถานการณ์การเมืองในประเทศที่เปลี่ยนแปลง
พรรคร่วมรัฐบาลไม่อาจได้คะแนนเสียงข้างมากสองในสาม และยิ่งหากนายกรัฐมนตรีนาจิบ
ราซะก์ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งซ้ำรอยอดีตนายกฯ อับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี ยิ่งเพิ่มความฮึกเหิมแก่แนวร่วมฝ่ายค้าน
แต่ความหวังของฝ่ายค้านใช่ว่าจะไร้อุปสรรค
ทั้งอุปสรรคจากตัวเองและจากคู่แข่งของเขาซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ครองอำนาจปกครองมาตลอด
55 ปี
มีเครือข่ายการเมืองทั้งระดับประเทศระดับท้องถิ่นอย่างหนาแน่นลึกซึ้ง เป็นสถาบันการเมืองที่เข้มแข็งมีประวัติอันยาวนาน
มีนักการเมืองผู้คร่ำหวอดอย่างอดีตนายกรัฐมนตรีหลายสมัยและอดีตหัวหน้าพรรคอัมโน ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด
6 พฤษภาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6026 วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2556
---------------------
บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง:
(อัพเดท 30 เม.ษ.
20.10 น.) นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าหากพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง
หรือไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะขาด ตลาดทุนตลาดเงินมาเลเซียจะเกิดการเทขายทันที
(อัพเดท 1
พ.ค. 20.30 น.) ข้อมูลล่าสุด นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะได้เป็นรัฐบาลอีกสมัย
แต่จะได้เสียงข้างมากในสภาสองในสามหรือไม่ยังเป็นที่สงสัย
(อัพเดท 3 พ.ค.10.10 น.) การเลือกตั้งครั้งนี้นอกจากต้องดู “ผลการเลือกตั้ง”
ยังต้องดู “ผลกระทบ” หลังการเลือกตั้งด้วย
และหวังว่าจะไม่เกิดเหตุวุ่นวายหลังประกาศ “ผลการเลือกตั้ง”
(อัพเดท 6 พ.ค. 00.30 น.) ถ้าผลคะแนนพรรคร่วมรัฐบาลไม่ชนะขาด สังคมอาจเกิดภาวะเสถียรภาพสั่นคลอนชั่วขณะ
บรรณานุกรม:
1. Lee Hock Guan,
Malaysia in 2007: Abdullah Administration under Siege, Southeast Asian Affairs,
Vol. 2008, pp.187-206.
2. Najib Warns
Anwar Malaysia Election Win Spells Disaster, Bloomberg, 17 April 2013, http://www.bloomberg.com/news/2013-04-17/najib-warns-anwar-malaysia-election-win-spells-disaster.html
3. GE13: ‘Hudud if
PR comes to power’, The Star, 24 April 2013, http://thestar.com.my/news/story.asp?file=/2013/4/24/nation/13015200&sec=nation
4. GE13: Don’t
vote for PAS, says DAP man, The Star, 28 April 2013, http://thestar.com.my/news/story.asp?file=/2013/4/28/nation/13037605&sec=nation
5. Transformation
Is Better Than ‘Reform’ – Najib, The Kuala Lumpur Post, 1 May 2013, http://www.kualalumpurpost.net/transformation-is-better-than-reform-najib/
6. Manifesto Rakyat,
Last updated Apr 15, 13:10, http://www.pakatanrakyat.my/files/ENG-Manifesto-BOOK.pdf
----------------------