เกาะติดประเด็นร้อน "การตอบโต้ระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ และพันธมิตร” (5)

สรุปสถานการณ์: (อัพเดท 10 เม.ษ. 7.30 น.) สำนักข่าวระหว่างประเทศสำคัญๆ ยังคงเสนอข่าวรัฐบาลเปียงยางยังคงใช้วาจาคุกคาม ยั่วยุอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับที่ฝ่ายสหรัฐฯ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นปรับกำลังรบ เพิ่มระบบป้องกันขีปนาวุธ
            การที่ไม่มีคนงานเกาหลีเหนือเข้าไปทำงานในนิคมอุสาหกรรมเคซอง และการประกาศเตือนชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเกาหลีใต้ให้รีบหาที่หลบซ่อนหรืออพยพออกจากประเทศ เป็นเหตุการณ์ล่าสุดสอดคล้องกับคำประกาศว่าประเทศอยู่ในภาวะสงคราม พร้อมจะเข้าสู่การรบได้ทุกเมื่อ
            การติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางมูซูดาน (Musudan) พิสัย 3-4 พันกิโลเมตร ที่ชายฝั่งด้านตะวันออกยังอยู่ในการติดตามอย่างใกล้ชิด
คืบหน้าล่าสุด: (อัพเดท 10 เม.ษ. 13.50 น.)
            แหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ทางทหารกล่าวว่า วันนี้เกาหลีใต้กับสหรัฐฯ เพิ่มระดับการเฝ้าระวังการยิงขีปนาวุธจากเกาหลีเหนือ เชื่อว่าในราววันที่ 15 เมษายนจะมีการยิงขีปนาวุธมูซูดานจากชายฝั่งด้านตะวันออก อีกทั้งอาจจะยิงขีปนาวุธอื่นๆ ด้วย แหล่งข่าวรัฐบาลที่ไม่เปิดเผยกล่าวว่า “มีสัญญาณชัดเจนว่าฝ่ายเหนือน่าจะยิงขีปนาวุธมูซูดาน ขีปนาวุธสกั๊ด (Scud) และขีปนาวุธโนดอง (Nodong)” (S. Korea raises surveillance status to monitor NK missile launch, Yonhap)
            ส่วนกรณีคำเตือนให้ชาวต่างชาติอพยพออกจากเกาหลีใต้นั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ให้ความสำคัญ โฆษกกระทรวงต่างประเทศแถลงว่า กระทรวงฯ ยังคงการวิเคราะห์เหมือนเดิม “ไม่ห้ามปรามพลเรือนอเมริกันเดินทางไปเกาหลีใต้” หรือให้เพิ่มการระวังตัวใดๆ ((LEAD) U.S. snubs N. Korea's warning for foreigners to takeshelter, Yonhap)
            ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเอพีรายงานว่าสถานการณ์ในกรุงเปียงยางกับกรุงโซลเป็นปกติ ชาวต่างชาติไม่ได้อพยพออกแต่อย่างไร (Despite talk of imminent launch, a calm in NKorea, AP)
            นายโรเบิร์ต เคลลี ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ความเห็นว่า “หากเกาหลีเหนือต้องการชนะสงครามจริงๆ จะต้องโจมตีแบบไม่ให้รู้ตัว เหมือนอย่างกรณีเพิร์ล ฮาเบอร์” ไม่ใช่มาแจ้งล่วงหน้าเป็นสัปดาห์เช่นนี้ (N. Korea warns foreigners in the South should make plans toevacuate, The Washington Post)
            รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเกาหลีใต้ นายยุน บยอง-เซ (Yun Byung-se) กล่าวว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ได้ข้อให้จีน รัสเซียช่วยกันห้ามปรามพฤติกรรยั่วยุจากเกาหลีเหนือ ในขณะที่แหล่งข่าวทางทหารชี้ว่าในขณะนี้เกาหลีเหนือพร้อมจะยิงขีปนาวุธได้ทุกเมื่อ และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นายจอห์น เคอร์รีจะมาถึงเกาหลีใต้ในวันศุกร์นี้ (12 เมษายน) ((LEAD) S. Korea asks China, Russia to contain N. Korea provocations, Yonhap)
            ด้านทางการจีนเสนอข่าวสอดรับว่า จีนไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมที่สร้างความตึงเครียดต่อคาบสมุทรเกาหลี โฆษกระทรวงต่างประเทศจีนย้ำว่าไม่ควรที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะทำลายสันติภาพและความมั่นคงของคาบสมุทร (China opposes aggravating Korea tensions: FM spokesman, Xinhua)

วิเคราะห์(อัพเดท 10 เม.ษ. 13.50 น.)
            นักวิเคราะห์บางคนให้ความเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลเปียงยางกำลังทำอยู่ขณะนี้มาจากการวางแผนอย่างดี กระทำด้วยความช่ำชอง เกรงแต่ว่าอาจเกิดเหตุไม่คาดฝันแล้วบานปลายควบคุมไม่ได้
            โอกาสที่จะเกิดเหตุไม่คาดฝันนั้นมีแน่นอน แต่การจะบานปลายออกไปนั้นยาก เพราะเกาหลีเหนือตบมือข้างเดียวย่อมไม่ดัง นักวิเคราะห์หลายคนแสดงความเห็นตรงกันว่าสหรัฐฯ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นหรือแม้กระทั่งจีนต่างไม่ต้องการให้เหตุการณ์บานปลาย ดังนั้นทุกฝ่ายจึงตั้งมั่นว่าจะช่วยกันควบคุมสถานการณ์ การเพิ่มระบบป้องกันขีปนาวุธที่ปรากฏเป็นข่าวไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธที่เกาะกวม ที่กรุงโตเกียว หรือสหรัฐฯ ส่งเรือเอจิส (เรือรบที่มีระบบต่อต้านขีปนาวุธ) ไปคาบสมุทรเกาหลี ล้วนเป็นภาพที่แสดงว่าฝ่ายสหรัฐฯ เตรียมป้องกันเต็มที่ (เตรียมเป็นฝ่ายรับ ไม่ใช่ฝ่ายรุก)
            ความจริงข้อหนึ่งที่ชัดเจนคือ ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่สถานการณ์เริ่มตึงเครียด ยังไม่มีประเทศใดยิงกระสุนออกมาแม้สักนัดเดียว ที่พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าเรื่องจะจบด้วยดี ดังที่วิเคราะห์แล้วว่า “ยังอยู่ระหว่างรอคำตอบว่าที่สุดแล้วเรื่องจะลงเอยอย่างไร” ช่วงวันที่ 10-15 เมษายน เป็นช่วงเวลาที่ควรเฝ้าระวัง
            มีโอกาสเป็นไปได้ที่เกาหลีเหนืออาจยิงขีปนาวุธพิสัยกลาง หรือพิสัยใกล้หลายชนิดพร้อมๆ กันเป็นจำนวนหลายสิบลูก เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเช่นกัน แต่ทั้งสองเหตุการณ์ไม่ใช่การโจมตีสหรัฐฯ หรือเกาหลีใต้ เป็นเพียงการแสดงแสนยานุภาพและวาทะกรรม
            การที่เกาหลีใต้เพิ่มระดับการป้องกันประเทศ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธเพิ่มเติม และการที่ทางการเกาหลีใต้ร้องขอให้จีนกับรัสเซียกดดันเกาหลีเหนือชี้ว่าประเทศเหล่านี้มีความกังวลไม่ใช่น้อย และเป็นเรื่องดีที่เกาหลีใต้ร้องขอจีนกับรัสเซีย เพราะส่งสัญญาณอีกครั้งให้หกประเทศกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้ง
10 เมษายน 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
-------------------
บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง: