เกาะติดประเด็นร้อน “จับตาประชุมสุดยอดเซียน 2013” (2)

สรุปสถานการณ์: (อัพเดท 23 เม.ษ. 17.00 น.) ผู้นำ 10 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กำลังอยู่ระหว่างเตรียมตัวเดินทางไปประชุมสุดยอดที่กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน ระหว่างวันที่ 24-25 เมษายนนี้
            หนึ่งประเด็นที่จะหยิบขึ้นมาพูดคุยและเกี่ยวข้องกับอาเซียนโดยตรงคือข้อพิพาททะเลจีนใต้ (หรือทะเลฟิลิปปินส์)
            การเจรจาจัดทำ “แนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้” (code of conduct for the South China Sea หรือ CoC) คือตัวแทนความคืบหน้าการแก้ปัญหา ที่ผ่านมามีความพยายามจัดทำร่างทั้งจากอาเซียนกับจีน กลายเป็นร่างสองฉบับที่ขัดแย้งกัน
            การปรึกษาหารือในบรรยากาศสบายๆ แบบอาเซียนกลายเป็นความขัดแย้ง เมื่อประเทศกัมพูชาเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อปีที่แล้ว (2012) แสดงอาการขัดขวาง ไม่ยอมบรรจุข้อความพูดถึงกรณีความขัดแย้งระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ที่กำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนั้น เป็นเหตุไม่มีเอกสารแถลงการณ์สรุปผลการประชุม
การประชุมสุดยอดผู้นำปีนี้จะมีการหารือเรื่องนี้อีก
คืบหน้าล่าสุด: (อัพเดท 23 เม.ษ. 17.00 น.)
            สำนักข่าวเอพีอ้างข้อมูลจากสำเนาแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่าผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนหวังแก้ปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้โดยสันติวิธี ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ “โดยปราศจากการข่มขู่หรือใช้กำลัง” และอ้างถึงเอกสารแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (CoC) (Sea disputes, NKorea in spotlight at ASEAN summit, AP)
            ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เบนิกโน อากีโนที่ 3 มองการประชุมครั้งนี้ในแง่บวกเชื่อว่าจะมีความคืบหน้าในการเจรจากับจีน เมื่อสัปดาห์ก่อนผู้นำประเทศบรูไน สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ ได้เสด็จได้หารือกับผู้นำฟิลิปปินส์เรื่องวาระการประชุม (Aquino hopeful about talks on West Philippine Sea code ofconduct, Philippine Daily Inquirer)
            ดังนั้น ผู้นำทั้งสองได้ร่วมหารือล่วงหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

วิเคราะห์: (อัพเดท 23 เม.ษ. 17.00 น.)
            ข้อพิพาทระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนกับจีนต่อทะเลจีนใต้เป็นเรื่องที่สืบสาวย้อนหลังหลายสิบปี ที่ผ่านมาต่างฝ่ายต่างยืนยันอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ที่เห็นว่าเป็นของตน เกิดความขัดแย้งใหญ่น้อยหลายครั้ง แต่ที่สุดทุกฝ่ายพยายามรักษาบรรยากาศที่ดีต่อกันไว้
            การเจรจาจัดทำ “แนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้” (CoC) เป็นผลจากความพยายามหลายปีเพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติร่วมกัน แม้ว่าทั้งจีนกับอาเซียนต่างหวังแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ไม่ใช้กำลัง แต่ต่างมีร่าง CoC ของตนเอง กระบวนการเจรจาขั้นต่อไปคือการหารือว่าจะปรับแก้ CoC อย่างไรเพื่อให้ยอมรับด้วยกันได้ทั้งสองฝ่าย
            นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าผลการประชุมไม่น่าจะมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งเห็นว่าจีนจะไม่ยอมรับฉบับร่างของอาเซียน อีกส่วนหนึ่งเห็นว่าความขัดแย้งระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนยังคงอยู่
            เมื่อการเจรจายังไม่อาจบรรลุข้อตกลง หนทางที่ดีที่สุดคือให้ผลการปรึกษาหารือออกมาในรูปแบบที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ รักษาบรรยากาศที่ดีต่อกันไว้ ยังมีผลประโยชน์อื่นๆ อีกมากที่ต้องร่วมมือกัน ส่วนข้อพิพาททะเลจีนใต้ (ฟิลิปปินส์) หากไม่มีใครกวนน้ำให้ขุ่น น้ำก็จะยังคงใสต่อไป
23 เมษายน 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
----------------------
บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง:
-----------