สหรัฐกับอิสราเอลร่วมส่งสาสน์เตือนอิหร่านอีกครั้ง

นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แสดงความพอใจต่อการเยือนอิสราเอลของประธานาธิบดีบารัก โอบามาโดยเฉพาะท่าทีต่อกรณีโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ทั้งที่ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์บางคนไม่คาดหวังผลงานอย่างเป็นชิ้นเป็นอันจากการเยือนครั้งนี้และเห็นว่าคงไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไรนัก
            เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาถ้อยแถลงการณ์ต้องยอมรับว่าไม่มีอะไรแตกต่างจากนโยบายเดิมที่ประธานาธิบดีโอบามายังเห็นว่ามีเวลาสำหรับแก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางการทูตซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่ใช้กับประเด็นความขัดแย้งอื่นๆ พร้อมกับยืนยันไม่ยอมให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง
            ในแง่มุมหนึ่งดูเหมือนว่าประธานาธิบดีโอบามาค่อนข้างใจเย็นเพราะเห็นว่ายังมีเวลาสำหรับการเจรจา ดังที่กล่าวเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า “เราคิดว่าอิหร่านจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1 ปีกว่าจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่ใช้การได้จริง และแน่นอนว่าเราไม่ต้องการหยุดเรื่องนี้เมื่อจวนเวลา” ในขณะที่นายกฯ เนทันยาฮูกลับเห็นว่าต้องหยุดอิหร่านเสียแต่ตอนนี้ เพราะเหลือเวลาอีกไม่นานที่อิสราเอลจะถูกคุกคามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ อาวุธที่อาจทำให้ประเทศเสียหายยับเยินถึงกับล่มจมได้
            ไม่ว่าผู้นำทั้งสองจะตีความอย่างไร บัดนี้ทั้งคู่ได้ส่งสัญญาณเตือนอิหร่านอีกครั้งว่าสหรัฐกับอิสราเอลจะไม่ยอมให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองโดยเด็ดขาด ประธานาธิบดีบารัก โอบามากล่าวเตือนอย่างชัดเจนอีกครั้งว่า หากอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง “อิหร่านจะเป็นภัยคุกคามต่อภูมิภาค ต่อโลก และต่อการคงอยู่ของอิสราเอล ... สหรัฐจะไม่ใช้นโยบายปิดล้อมถ้าอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ นโยบายของเราคือป้องกันไม่ให้อิหร่านครอบครองอาวุธนิวเคลียร์” และ “จะทำทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธที่เลวร้ายที่สุดนี้”
            เป็นไปได้ว่าทั้งสองประเทศกำลังแสดงบทบาทไม้แข็งกับไม้อ่อนพร้อมกัน อิสราเอลแสดงไม้แข็ง ใช้วาจาก้าวร้าว ส่งสัญญาณขู่จะโจมตีอิหร่าน ส่วนประธานาธิบดีโอบามาใช้ไม้อ่อนขอแก้ปัญหาด้วยวิถีทางการทูต ด้วยการคว่ำบาตรไปก่อน จุดที่ทั้งสองประเทศเห็นตรงกันคือยังเชื่อว่า ณ ขณะนี้อิหร่านยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ เพียงแต่ไม่มั่นใจว่าอิหร่านจะมีอาวุธดังกล่าวในอนาคตหรือไม่ ทั้งๆ ที่ทางการอิหร่านประกาศมาโดยตลอดว่าโครงการฯ มีเพื่อใช้ประโยชน์ในทางสันติเท่านั้น
            หากศึกษารากเหง้าปัญหา ความขัดแย้งเรื่องโครงการนิวเคลียร์อิหร่านมีต้นตอจากสองสาเหตุใหญ่
            สาเหตุประการแรกคือ อิสราเอลกับอิหร่านหวาดระแวงต่อกัน
            ความหวาดระแวงความไม่พอใจต่อกันย้อนหลังไปได้ไกลมาก อย่างน้อยตั้งแต่การก่อตั้งรัฐอิสราเอลเมื่อ 65 ปีก่อน เมื่อชาวอาหรับเห็นว่าดินแดนที่ตั้งของรัฐอิสราเอลในปัจจุบันเป็นดินแดนที่บรรพบุรุษของพวกเขาอาศัยมานานแล้วดังเช่นพื้นที่อื่นๆ ของชาวอาหรับ ส่วนพวกอิสราเอลหรือยิวที่กระจัดกระจายอาศัยในยุโรปเห็นว่าดินแดนดังกล่าวเคยเป็นที่ตั้งของชนชาติอิสราเอลในอดีตกาลและฝันที่จะตั้งประเทศบนพื้นที่นั้นอีกครั้ง ต่อมาเมื่อชาวอิสราเอลประกาศสถาปนารัฐอิสราเอลในปี 1948 กลายเป็นชนวนขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับอย่างรุนแรง เกิดสงครามขนาดใหญ่ถึง 5 ครั้ง จนกระทั่งปี 1993 ทุกฝ่ายจึงเริ่มหันหน้าเจรจาเพื่อสันติอย่างจริงจัง แม้ความขัดแย้งได้ทุเลาลงบ้างแต่ไม่ได้สูญหายไปเลยทีเดียว แสดงอาการเป็นระยะๆ และมาหนักอีกครั้งจากโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน
            ครั้งหนึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีอิสราเอล นายเอฮุด โอเมิร์ต กล่าวถึงภัยคุกคามจากอิหร่านว่า เรายังต้องเตรียมรับภัยคุกคามจากอิหร่านและประธานาธิบดีของประเทศนี้ที่เกลียดชังอิสราเอลส่วนประธานาธิบดีอิหร่าน นายมาห์มุด อาห์มาดิเนจาด เคยกล่าวว่า พวกมหาอำนาจโลกสถาปนาระบบไซออนนิสต์ที่ใจกลางโลกมุสลิมเพื่อเป็นฐานสำหรับนโยบายขยายอำนาจ ดังนั้น ไม่ว่าความจริงเรื่องเหล่านี้จะเป็นอย่างไร ทั้งสองประเทศต่างมีความหวาดระแวงต่อกัน เห็นว่าอีกฝ่ายคือภัยคุกคาม
            สาเหตุอีกประการหนึ่งคือโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน ที่ทางการอิหร่านพูดตลอดเวลาว่ามีเพื่อใช้เป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า ใช้งานในทางสันติ แต่เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาผลจากการตรวจสอบของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าโครงการเหล่านั้นมีเพื่อใช้งานในทางสันติจริงๆ จึงเกิดภาวะอึมครึม เป็นเหตุให้อิสราเอลอ้างมาตลอดว่าอิหร่านปกปิดข้อมูลเพราะกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และจะเป็นภัยคุกคามต่อตน
            การที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของสหประชาชาติไม่รับรอง ทำให้อิหร่านตกเป็นเบี้ยล่างในเวทีนานาชาติ ส่งผลให้สหรัฐกับประเทศพันธมิตรคว่ำบาตร ไม่ซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่าน เศรษฐกิจอิหร่านเสียหายอย่างชัดเจน และมีโอกาสถูกนานาชาติกดดันมากขึ้นหากการตรวจสอบจาก IAEA ไม่คืบหน้า
            ในอนาคตหากสหรัฐมีหลักฐานที่น่าเชื่อว่าอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์หรือกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบ เมื่อนั้นมีโอกาสความเป็นไปได้ที่สหรัฐหรืออิสราเอลหรือร่วมกันสองประเทศจะโจมตีอิหร่าน จุดยืนข้อนี้เป็นจุดยืนที่รัฐบาลอเมริกาหลายยุคหลายสมัยประกาศไว้ เป็นไปได้ว่าสิ่งที่รัฐบาลโอบามาต้องการคือหลักฐานที่ชัดแจ้งเพื่อให้นานาชาติเห็นด้วยกับการโจมตี
            ประโยคที่เป็นหัวใจของการเยือนอิสราเอลครั้งนี้ น่าจะเป็นประโยคที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามากล่าวทันทีที่ลงจากเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันว่า “กว่าสามพันปีแล้วที่ชาวยิวอธิษฐานที่นี่ เลี้ยงสัตว์บนผืนแผ่นดินนี้ อธิษฐานต่อพระเจ้าที่นี่ และหลังจากหลายศตวรรษแห่งการอพยพและถูกข่มเหง ผู้ก่อตั้งรัฐอิสราเอลได้ถือกำเนิดอีกครั้ง” และในโอกาสที่รัฐอิสราเอลฉลองวันชาติครบรอบ 65 ปี “สหรัฐอเมริกาภาคภูมิใจที่จะยืนเคียงข้างท่านในฐานะพันธมิตรที่เข้มแข็งที่สุดและเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของท่าน”
            เป็นอีกครั้งที่ผู้นำประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศยืนยันความเป็นรัฐอิสราเอล อันผูกโยงถึงสิทธิต่างๆ รวมถึงการปกป้องอธิปไตยประเทศ ยืนยันพันธะต่างๆ ที่สหรัฐมีต่อประเทศนี้ และหวังว่าประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงจะยอมรับและเข้าใจ นี่คือใจความสำคัญของสาสน์จากอเมริกาที่มีร่วมกับอิสราเอล
21 มีนาคม 2013

ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 5982 วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2556
และได้รับการเผยแพร่ที่ US Watch” โดย กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ
http://uswatch.mfa.go.th/uswatch/th/article/detail.php?article=1516)
-----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
1. แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ นโยบายว่าที่ประธานาธิบดีอิหร่านสมัยหน้า
นับจากนี้อีกราว 8 เดือนก่อนถึงวันเลือกตั้งปธน. น่าติดตามว่าส่งผลต่อนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายต่างประเทศของว่าที่ปธน.คนใหม่อย่างไร
IAEA ไม่มั่นใจว่าโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านจะมีเพื่อใช้ในทางสันติเท่านั้น เป็นที่มาของมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก

บรรณานุกรม:
1. Iran, Syria to dominate Obama's high-stakes trip to Israel, NBCNews, 20 March 2013, http://worldnews.nbcnews.com/_news/2013/03/20/17382317-iran-syria-to-dominate-obamas-high-stakes-trip-to-israel?lite
2. Obama says Iran more than a year away from nuclear weapon, Reuters, 15 March 2013, http://uk.news.yahoo.com/obama-says-iran-more-away-nuclear-weapon-235753061.html
3. Remarks by President Obama and Prime Minister Netanyahu of Israel in Joint Press Conference, The White House, 20 March 2013, http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/03/20/remarks-president-obama-and-prime-minister-netanyahu-israel-joint-press-
4. Olmert orders low-level inquiry into Lebanon war, Reuters/Canada.com, 28 August 2006, http://www.canada.com/story.html?id=7a74cb4f-b8fb-49dd-8a7b-6af351ebf4a3
5. “The existence of the Zionist regime is a threat to the dignity of the Muslim ummah, the believers and the faithful”, 14 February 2006, http://www.president.ir/eng/ahmadinejad/cronicnews/1385/01/25/index-e.htm#b1, accessed 16 February 2006
6. Remarks by President Obama in Arrival Ceremony, The White House, 19 March 2013, http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/03/19/remarks-president-obama-arrival-ceremony
7. T. G. Fraser. The Arab-Israeli Conflict, 2nd Edition (N.Y.: Palgrave Macmillan, 2004).
--------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก