ความร่วมมือสหรัฐกับจีนต้านภัยนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ
ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติที่ 2094 (7 มีนาคม 2013)
ด้วยเสียงเอกฉันท์ 15-0
เป็นความร่วมมือระหว่างสองมหาอำนาจคือสหรัฐกับจีนเพื่อต่อต้านการทดลองนิวเคลียร์ครั้งล่าสุดของเกาหลีเหนือ
ยืนยัน “ขอให้เกาหลีเหนือละทิ้งอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด รวมทั้งโครงการนิวเคลียร์ที่มีอยู่อย่างสิ้นเชิง
โดยจะต้องผ่านการตรวจสอบยืนยันและไม่กลับมาดำเนินโครงการอีก”
เนื้อหาสำคัญของข้อมติคือเพิ่มความเข้มงวดคว่ำบาตรวัสดุอุปกรณ์ที่เกาหลีเหนือสามารถนำไปใช้ในโครงการนิวเคลียร์กับขีปนาวุธข้ามทวีป
ป้องกันการแพร่กระจายสิ่งเหล่านี้
อีกทั้งยังมุ่งควบคุมนักการทูตเกาหลีเหนือที่เกี่ยวข้อง
และที่สำคัญคือข้อมติใหม่จะเอื้อให้ชาติสมาชิกสหประชาชาติบังคับใช้ข้อมติคว่ำบาตรอย่างได้ผลมากขึ้น
สามารถตรวจสอบเรือ ตู้สินค้าต่างๆ ที่ต้องสงสัย เป็นมาตรการที่เดิมจีนกับรัสเซียไม่เห็นด้วย
ความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับจีนต่อข้อมติคว่ำบาตรล่าสุดมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
ประการแรก
สหรัฐกับจีนร่วมมือส่งสัญญาณเตือนเกาหลีเหนืออย่างจริงจัง
ความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐย้อนหลังได้ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 แต่จีนเริ่มสนับสนุน ข้อมติคว่ำบาตรภายหลังจากเกาหลีเหนือทดสอบอาวุธนิวเคลียร์สองครั้ง
คือเมื่อปี 2006 กับ 2009 แม้เผชิญคำเตือนและการคว่ำบาตร
รัฐบาลเกาหลีเหนือภายใต้ผู้นำคนใหม่นายคิม จ็อง-อึน ยังแสดงอาการดื้อดึงแข็งขืนอย่างชัดเจนด้วยการทดสอบปล่อยขีปนาวุธข้ามทวีปเมื่อปีที่แล้วพร้อมกับทดสอบระเบิดนิวเคลียร์เมื่อเดือนที่ผ่านมา
ข้อมติ 2094 จึงเป็นปฏิกิริยาตอบสนองจากสองมหาอำนาจที่เห็นพ้องต้องกันว่าต้องร่วมมือกันเพื่อกดดันรัฐบาลเปียงยาง
ส่งสัญญาณเตือนไปถึงเกาหลีเหนืออีกรอบว่าทั้งสหรัฐกับจีนต่างไม่พอใจ ดังนั้น
เป็นไปได้ว่าหากเกาหลีเหนือยังดื้อดึงต่อไปจะต้องเผชิญแรงกดดันเพิ่มขึ้นอีก
ประการที่สอง
ข้อมติได้ผลจริงเพียงไร
หากยึดหลักฐานที่ว่าเกาหลีเหนือยังคงเดินหน้าทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลกับโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ย่อมต้องประเมินว่าการคว่ำบาตรที่ผ่านมาได้ผลน้อย
นักวิเคราะห์หลายคนจึงตั้งข้อสงสัยว่าข้อมติชุดใหม่จะได้ผลหรือไม่
แม้ว่าเอกอัครราชทูตจีนประจำสหประชาชาติ นายลี่ เป้าตง กล่าวว่าจีนต้องการเห็นว่าข้อมติใหม่ได้รับ
“การปฏิบัติตามอย่างเต็มที่” ก็ตาม เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าจีนคือผู้ให้ความช่วยเหลือแก่เกาหลีเหนือมากที่สุดทั้งด้านอาหาร
พลังงาน การทำธุรกรรมการเงิน และจีนมีผลประโยชน์จากการดำรงอยู่ของเกาหลีเหนือ
แต่เรื่องนี้จีนร้อนใจกว่าสหรัฐ
เพราะจีนไม่ต้องการให้เกาหลีเหนือพัฒนาโครงการเหล่านี้ต่อไป
ในอนาคตหากเกาหลีเหนือทำการทดสอบอีก
จีนอาจจะตัดสินใจด้วยตนเองว่าควรจะเพิ่มการบังคับใช้ข้อมติหรือไม่
รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือในระดับต่างๆ มิติต่างๆ
กล่าวได้ว่าจีนคือผู้มีบทบาทควบคุมมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือที่สำคัญที่สุด
ทั้งในระดับคณะมนตรีความมั่นคงกับระดับทวิภาคี
ประการที่สาม
รัฐบาลโอบามาไม่ตื่นตระหนก
จุดสำคัญอีกประการหนึ่งที่มีผลต่อสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีคือการที่รัฐบาลอเมริกันภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัก
โอบามา ไม่ตื่นเต้นไม่ตื่นตระหนกต่อพฤติกรรมยั่วยุจากเกาหลีเหนือ
ในอดีตรัฐบาลอเมริกันบางชุดแสดงอาการตื่นตระหนก
เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากรายงานของสำนักข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐยืนยันมาโดยตลอดว่าเกาหลีเหนือจะสามารถผลิตขีปนาวุธข้ามทวีปได้ภายในปี 2015 อันหมายถึงประเทศอเมริกาจะตกเป็นเป้าโจมตีทันที แต่งานวิจัยของ RAND เมื่อปี 2012 กลับสวนทางข้อสรุปเก่าโดยชี้ว่าจรวด Unha-3 ของเกาหลีเหนือแม้สามารถปล่อยดาวเทียมขนาด 100 กิโลกรัม
แต่จรวดรุ่นนี้ไม่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ที่มีพิสัยข้ามทวีป “ถ้า (เกาหลีเหนือ)
ต้องการขีปนาวุธข้ามทวีป จะต้องพัฒนาจรวดนำส่งแบบใหม่ ใช้เทคโนโลยีใหม่ [ไม่ใช่พัฒนาจากจรวดเดิม] อันหมายถึงต้องกินเวลาอีกยาวนาน
ต้องทำงานและใช้งบประมาณมหาศาล” นอกจากนี้
ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเกาหลีเหนือกำลังทดสอบติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์กับขีปนาวุธเหล่านี้
รายงานของ
RAND
ฉบับดังกล่าวกลายเป็นข้อมูลสำคัญนำสู่การประเมินภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือเสียใหม่
รัฐบาลอเมริกันภายใต้ประธานาธิบดีบารัก โอบามา
จึงไม่เห็นว่าเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามต่อตนมากเหมือนรัฐบาลอเมริกันบางชุดในอดีต
ประการที่สี่ รัฐบาลโอบามาเน้นแก้ปัญหาด้วยวิถีทางการทูต
เน้นการป้องกันมากกว่าคุกคาม
ประธานาธิบดีบารัก
โอบามาประกาศนโยบายต่อเกาหลีเหนืออย่างชัดเจนว่าจะเน้นการแก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางการทูต
ข้อมติ 2094 เป็นประจักษ์พยานถึงความสำเร็จของนโยบายดังกล่าวอย่างชัดเจน
นโยบายเสริมระบบป้องกันขีปนาวุธแก่เกาหลีใต้กับญี่ปุ่นเป็นอีกส่วนที่ทำให้สหรัฐมีความมั่นใจในการป้องกันภัย
และยังทำให้จีนเห็นว่าควรหยุดโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
นโยบายเน้นการแก้ปัญหาด้วยวิถีทางการทูต
เน้นป้องกันมากกว่าคุกคามเอื้อให้จีนเห็นว่าควรร่วมมือกับรัฐบาลโอบามา
ผลสุดท้ายคือเกาหลีเหนือถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น
ที่สุดแล้วหากมาตรการคว่ำบาตรได้ผลจริงและเป็นอย่างที่นักวิเคราะห์บางคนคาด
เกาหลีเหนือจะขาดวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์
เป็นเหตุให้ไม่สามารถทดสอบต่อไปในที่สุด
หากเป็นเช่นนั้นจริงย่อมถือเป็นความสำเร็จของสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความสำเร็จร่วมระหว่างสหรัฐกับจีน
และเมื่อถึงเวลานั้นรัฐบาลเกาหลีเหนืออาจต้องยอมเข้าร่วมเจรจาหกฝ่ายดังที่ทั้งจีนกับรัสเซียต่างเรียกร้องให้กลับเข้ามาสู่โต๊ะเจรจา
เวลากล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนด้านความมั่นคงมักจะเป็นความขัดแย้งเสียมากกว่าแต่กรณีเกาหลีเหนือเป็นข้อยกเว้น
สองมหาอำนาจสามารถร่วมมือกันได้ ทั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลบารัก
โอบามาเน้นแก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางทูตไม่หวังยกระดับความขัดแย้งและจำกัดกรอบการคว่ำบาตรอย่างชัดเจน
ดังที่ ซูซาน ไรซ์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า “มาตรการคว่ำบาตรในข้อมตินี้จะขัดขวางไม่ให้เกาหลีเหนือสามารถพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์กับขีปนาวุธข้ามทวีป”
ตราบใดที่รัฐบาลอเมริกันไม่มุ่งโค่นล้มระบอบรัฐบาลเกาหลีเหนือ
สองมหาอำนาจสหรัฐกับจีนสามารถร่วมมือกันต่อไป และทั้งสองรัฐบาลกำลังประกาศว่าพฤติกรรมยั่วยุของเกาหลีเหนือแบบที่ใช้อยู่ไม่ได้ผลอีกแล้ว
8 มีนาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 5971 วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2556
และได้รับการเผยแพร่ที่ “US Watch” โดย กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ
http://uswatch.mfa.go.th/uswatch/th/article/detail.php?article=1506)
(ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 5971 วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2556
และได้รับการเผยแพร่ที่ “US Watch” โดย กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ
http://uswatch.mfa.go.th/uswatch/th/article/detail.php?article=1506)
-------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
1. อำนาจต่อรองของเปียงยางที่ร่อยหรอลงทุกที
บรรณานุกรม:
1. อำนาจต่อรองของเปียงยางที่ร่อยหรอลงทุกที
อำนาจต่อรองของเปียงยางในยามนี้ร่อยหรอยลงทุกที และคงต้องเป็นเช่นนี้อีก 4 ปีกว่าที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามาจะหมดวาระ
เมื่อนโยบายความมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง ความเป็นไปในประเทศจึงยึดมั่นอยู่กับแนวทางเดิมของประเทศ โอกาสที่จะติดต่อทางเศรษฐกิจกับนานาชาติอย่างเปิดเผยเป็นทางการไม่อาจทำได้เพราะประเทศกำลังถูกคว่ำบาตร
บรรณานุกรม:
1. Security Council tightens sanctions on DPR Korea in wake
of latest nuclear blast, UN News Centre, 7 March 2013, http://www.un.org/apps/news/story.asp?NewsID=44313&Cr=democratic&Cr1=korea#.UTkvpdZWZmx
2. FACT SHEET: UN Security Council Resolution 2094 on North
Korea, U.S. Mission to the United Nations, 7 March 2013, http://usun.state.gov/briefing/statements/205698.htm
3. Victor Cha and Ellen Kim, UN
Security Council Passes New Resolution 2094 on North Korea, Center for
Strategic and International Studies, http://csis.org/publication/un-security-council-passes-new-resolution-2094-north-korea?
4. Full text: State of the Union Address, USA TODAY,
12 February 2013, http://www.usatoday.com/story/news/politics/2013/02/12/state-of-the-union-obama-text/1914769/
5. North Korea threatens nuclear strike, UN expands
sanctions, Reuters, 8 March 2013, http://uk.news.yahoo.com/north-korea-threatens-nuclear-strike-u-n-expands-161926146.html
6. U.S., China propose tough sanctions against N. Korea, USA
Today/AP, 5 March 2013, http://www.usatoday.com/story/news/world/2013/03/04/north-korea-sanctions/1963755/
7. “North Korea: U.S. Relations, Nuclear Diplomacy, and
Internal Situation,” Congressional Research Service, 4 January 2013, http://www.fas.org/sgp/crs/nuke/R41259.pdf
---------------------