วิกฤตระบบธนาคารไซปรัส
ไซปรัสประเทศเล็กๆ ของกลุ่มยูโรโซนที่มีประชากรเพียง 1.1 ล้านคน กลายเป็นข่าวดังทั่วโลก
เมื่อรัฐสภาลงมติด้วยเสียงเอกฉันท์ปฏิเสธแผนความช่วยเหลือของทรอยกา (คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ธนาคารกลางยุโรป กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) โดยที่ทรอยกาจะให้เงินกู้เพิ่มเติมอีก 1 หมื่นล้านยูโร ด้วยเงื่อนไขว่ารัฐบาลไซปรัสต้องเก็บภาษีเงินฝากจากบัญชีเงินฝากภายในประเทศให้ได้เงินอีก 5.8 พันล้านยูโร ปรับปรุงโครงสร้างระบบธนาคาร เมื่อรวมเงินสองก้อนนี้จะเพียงพอตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไซปรัส
เมื่อรัฐสภาปฏิเสธแผนทรอยกาจึงเสนอ
‘แผนบี’ โดยพยายามระดมเงินจากแหล่งภายในประเทศและกู้ยืมเงินจากรัสเซีย
เช่น รัฐสภาลงมติตั้งกองทุน "national solidarity fund" โดยรวบกองทุนบำเหน็จบำนาญมาเป็นของรัฐ ออกพันธบัตรที่อาศัยกำไรจากก๊าซธรรมชาติในอนาคต
และออกมาตรการควบคุมป้องกันไม่ให้เงินไหลออกจากธนาคารพาณิชย์ ปรับโครงสร้างธนาคารที่มีปัญหา
แต่แผนการกู้เงินจากรัสเซียจำนวน 5 พันล้านยูโรไม่คืบหน้า และเห็นได้ชัดว่าการออกพันธบัตรไม่ใช่แนวทางที่ดี ต้องใช้เวลาระดมเงินหลายเดือนทั้ง
ทั้งไม่มีความแน่นอนว่าจะได้เงินกู้ครบตามจำนวน ดังนั้น
รัฐบาลจะมีเงินใช้เฉพาะหน้าจำนวนหนึ่ง แต่ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับเงินกู้ช่วยเหลือก้อนใหม่
เว้นแต่ทรอยกาจะยอมเปลี่ยนเงื่อนไข
สถานการณ์ล่าสุดค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าทรอยกาไม่ใจอ่อน รัฐบาลไซปรัสจึงกลับมาสู่แผนเก็บภาษีเงินฝากอีกครั้ง เพราะนักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าสถานการณ์ที่แย่สุดคือไซปรัสถูกบีบให้ออกจากยูโรโซน ต้องเผชิญชะตากรรมด้วยตนเอง ซึ่งไม่แน่ว่าจะกลายเป็นเหตุให้ผู้ฝากต่างชาติแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร และไม่หวนกลับมาอีกเลย
สถานการณ์ล่าสุดค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าทรอยกาไม่ใจอ่อน รัฐบาลไซปรัสจึงกลับมาสู่แผนเก็บภาษีเงินฝากอีกครั้ง เพราะนักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าสถานการณ์ที่แย่สุดคือไซปรัสถูกบีบให้ออกจากยูโรโซน ต้องเผชิญชะตากรรมด้วยตนเอง ซึ่งไม่แน่ว่าจะกลายเป็นเหตุให้ผู้ฝากต่างชาติแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร และไม่หวนกลับมาอีกเลย
ความคืบหน้าล่าสุด ประเด็นแผนเก็บภาษีเงินฝากเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก่อนหน้านี้มีข่าวว่ารัฐบาลไซปรัสเห็นชอบกับการเก็บภาษีเงินฝากร้อยละ
15 จากทุกบัญชีที่มีเงินฝากมากกว่า 1 แสนยูโรขึ้นไป ในขณะที่ข่าวล่าสุด (25 มีนาคม)
มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลไซปรัสยอมรับแผนเก็บภาษีเงินทุกบัญชีที่มีเงินฝากมากกว่า 1 แสนยูโรขึ้นไป
โดยจะเก็บร้อยละ 4 จากธนาคารทุกแห่ง และเก็บร้อยละ 20 จากบัญชีเงินที่ฝากเงินกับธนาคาร
‘Bank of Cyprus’ ธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ
หรือกระแสข่าวปิดกิจการธนาคาร ‘Popular Bank of Cyprus’
โดยโอนบัญชีเงินฝากที่มีไม่เกิน 1 แสนยูโรไปยังธนาคาร ‘Bank
of Cyprus’ เพื่อรักษาธนาคาร ‘Bank of Cyprus’
และปิดธนาคาร ‘Popular Bank of Cyprus’ ด้วยมาตรการนี้จะทำให้ผู้ฝากรายย่อย (เงินตั้งแต่ 1 แสนยูโรลงมา) รับได้การคุ้มครองตามกฎหมาย ส่วนเงินฝากที่สูงกว่า 1
แสนยูโรจะต้องแช่แข็งไปก่อนจนกว่าจะมีข้อสรุปว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร
ไม่ว่าแผนสุดท้ายจะเป็นอย่างไร แน่นอนว่าระบบธนาคารไซปรัสถูกกระทบแน่นอน ในขณะที่นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าผลกระทบต่อยูโรโซนมีจำกัดเพราะขนาดเศรษฐกิจไซปรัสเล็กมาก
และยังเห็นได้จากท่าทีของทรอยกาที่ใช้ไม้แข็งกับไซปรัส ปัญหาที่สหภาพยุโรปเป็นห่วงไม่ใช่เรื่องอัตราคนว่างงาน
หนี้สินสาธารณะที่เพิ่มสูง แต่คือเรื่องกิจการรับเงินฝากต่างชาติ อียูหวังใช้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นปรับโครงสร้างระบบธนาคารไซปรัส
ขณะที่มีนักวิเคราะห์อีกส่วนเห็นว่าแนวทางการเก็บภาษีเงินฝากเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจประเทศอาจถูกนำมาใช้กับประเทศอื่นๆ
ที่กำลังประสบปัญหาในอนาคต เช่น กรีซ ไอร์แลนด์ โปตุเกส สเปนและอิตาลี
ในขณะที่รัฐบาลไซปรัสกำลังทำงานหามรุ่งหามค่ำเจรจากับทรอยกา
ด้วยเจตนาที่จะให้ได้ข้อสรุปภายในวันจันทร์ (25 มีนาคม) แต่ไม่ว่าจะได้ข้อสรุปหรือไม่
มีความเป็นไปว่าหลังวันที่ 25 ธนาคารพาณิชย์จะถูกรัฐบังคับให้ปิดทำการต่อไป เพราะต้องรอจนกว่าได้ข้อสรุปหรือเริ่มปฏิบัติตามแผนซึ่งรัฐอาจต้องเข้ามาควบคุมกิจการธนาคาร
ป้องกันเงินฝากไหลออก สถานการณ์วุ่นๆ จึงดำเนินต่อไป เศรษฐกิจประเทศจะฟื้นหรือแฟบนั้นยังต้องรอดูต่อไป
หากเป็นไปตามความต้องการของทรอยกาการปรับปรุงโครงสร้างระบบธนาคารต้องกินเวลาอีกหลายเดือน
รวมความแล้ว
สถานการณ์ไซปรัสคือวิกฤตการเงินที่รัฐบาลไซปรัสกับทรอยกาขัดแย้งในวิธีแก้ไข รัฐบาลพยายามจะแก้โดยไม่ให้กระทบต่อผู้ฝากเงิน
พยายามรักษากิจการรับเงินฝากต่างชาติ ในขณะที่ทรอยกาต้องการฉวยโอกาสนี้ปรับโครงสร้างระบบธนาคารไซปรัส
สถานการณ์ล่าสุด
รัฐบาลไซปรัสจำยอมเก็บภาษีโดยเฉพาะบัญชีเงินฝากที่มากกว่า 1 แสนยูโรขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่คือเงินฝากจากคนต่างชาติ
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจยูโรโซนมีน้อย เพียงแต่อาจส่งผลจิตวิทยาในระยะสั้นนี้ โดยเฉพาะในยามนี้ที่สถานการณ์ยังไม่นิ่ง
เหตุการณ์ยังเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
25 มีนาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ปรับปรุงแก้ไข 25 มีนาคม 10.20 น.)
(ปรับปรุงแก้ไข 25 มีนาคม 10.20 น.)
---------------------------
1. Cyprus scrambles to avert meltdown,
EU threatens cutoff, Reuters, 21 March 2013, http://uk.news.yahoo.com/cyprus-scrambles-avert-meltdown-eu-threatens-cutoff-081929111--business.html
2. Cyprus Bailout: MPs Stumble Towards
Deal, Sky News, 23 March 2013, http://uk.news.yahoo.com/cyprus-mulls-tax-over-10-big-savers-mulled-184354449.html
3. Just when you thought it was safe…, The Economist,
23 March 2013, http://www.economist.com/news/leaders/21573972-bailing-out-cyprus-was-always-going-be-tricky-it-didnt-have-be-just-when-you/print
4. Cyprus in last ditch EU talks to save economy, Reuters,
25 March 2013, http://uk.news.yahoo.com/cyprus-seeks-11th-hour-deal-avert-financial-collapse-021152124--business.html
5. Revamped Cyprus deal to close bank, force losses, Reuters,
25 March 2013, http://uk.news.yahoo.com/cyprus-eu-imf-agree-draft-proposal-rescue-banks-002729652--finance.html
----------------