อำนาจต่อรองของเปียงยางที่ร่อยหรอลงทุกที

เมื่อวันอังคาร (12 ก.พ.) ที่ผ่านมาทางการเกาหลีเหนือประกาศผลสำเร็จในการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ขนาดย่อส่วน เป็นการยืนยันความสำเร็จการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่สาม ก่อนหน้านี้ประสบผลสำเร็จมาแล้วสองครั้ง คือเมื่อปี 2006 กับ 2009
            หลายคนไม่แปลกใจกับการทดลองครั้งนี้ เนื่องจากสามสัปดาห์ก่อนทางการเปียงยางประกาศว่ามีแผนทดลองนิวเคลียร์และทดสอบการปล่อยจรวดเพิ่มเติมโดยมุ่งเป้าที่สหรัฐอเมริกา เพื่อตอบโต้สหประชาชาติขยายการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ เหตุที่คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติขยายมาตรการคว่ำบาตรเป็นผลจากกรณีเกาหลีเหนือปล่อยจรวดขนส่งดาวเทียมที่ทางสหรัฐฯ กับพันธมิตรเชื่อว่าเป็นการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกล
            การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งนี้นอกจากประสบผลสำเร็จยังแสดงถึงความก้าวหน้าตรงที่มีขนาดความแรงถึง 6-7 กิโลตันมากกว่าการทดลองสองครั้งก่อน
            หากผนวกเรื่องนี้กับการปล่อยจรวดขนส่งดาวเทียมอุนฮา-3 (Unha-3) เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมาจะได้ขีปนาวุธพิสัยไกลติดหัวรบนิวเคลียร์ที่ทางการเปียงยางขู่มาโดยตลอดว่ามีไว้เพื่อต่อต้านสหรัฐฯ กับพันธมิตร ความน่าหวาดกลัวเรื่องการทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์ในสมัยสงครามเย็นผุดขึ้นมาทันที และที่น่ากลัวกว่านั้นคือหากเกาหลีเหนือพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ วันหนึ่งอาจเป็นอีกประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองและอาจขายต่อให้ประเทศอื่นๆ ที่ไม่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ รวมทั้งกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ชิงชังสหรัฐฯ
            การวิเคราะห์ข้างต้นชี้ให้เห็นว่าไพ่สองใบในมือของรัฐบาลเปียงยางนั้นทรงอานุภาพ แต่แท้ที่จริงแล้วเรื่องการทหารมีความซับซ้อนมากกว่าที่บางคนเข้าใจ ดังนี้
            ประการแรก ขีปนาวุธพิสัยไกลที่กำลังทดลองอยู่ในขณะนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ไม่มีความแน่นอน การทดสอบยิงในอดีตล้มเหลวหลายครั้ง ยังต้องใช้เวลาพัฒนาอีกหลายปีกว่าจะได้อาวุธที่เชื่อถือได้
            ประการที่สอง ขีปนาวุธรุ่นล่าสุดของเกาหลีเหนือใช้เทคโนโลยีสมัยเก่า ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงเหลว (สองท่อนแรกใช้เชื้อเพลิงเหลว ท่อนที่สามข้อมูลไม่ชัดเจน) จึงต้องใช้เวลาเติมเชื้อเพลิง ใช้เวลาเตรียมการหลายวันกว่าจะปล่อยจรวดได้ เป็นโอกาสให้อีกฝ่ายตรวจจับ หากสหรัฐฯ จับได้ว่าเกาหลีเหนือเตรียมยิงขีปนาวุธเหล่านี้เมื่อนั้นสหรัฐฯ อาจใช้วิธีชิงลงมือก่อน (pre-emptive) โจมตีทำลายขีปนาวุธเหล่านี้ก่อนถูกยิงออกไป
            ประการที่สาม ระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ กับพันธมิตรคาบสมุทรเกาหลีในปัจจุบันมีความก้าวหน้ากว่าอดีตมาก เดิมสหรัฐฯ พัฒนาระบบป้องกันเหล่านี้เพื่อรับมือขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์หลายร้อยลูกจากอดีตสหภาพโซเวียตกับบริวารในยุคสงครามเย็น แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนผ่านสหรัฐฯ ยังคงพัฒนาระบบต่อต้านขีปนาวุธอย่างต่อเนื่องเพราะภัยอาวุธนิวเคลียร์ยังไม่สิ้นสุด ยังมีอีกหลายประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองรวมทั้งขีปนาวุธรุ่นล่าสุดของรัสเซียในปัจจุบัน ขีปนาวุธเหล่านี้มีขีดความสามารถสูงกว่าของเกาหลีเหนือแบบเทียบกันไม่ติด ดังนั้น ระบบป้องกันของสหรัฐฯ จึงน่าจะทำหน้าที่ได้อย่างดี

            ประการที่สี่ หากเกาหลีเหนือยิงใส่สหรัฐฯ จริง รัฐบาลสหรัฐฯ ย่อมต้องประกาศทำสงครามกับเกาหลีเหนือทันที มีความชอบธรรมที่จะทำการรบจนกว่าจะโค่นล้มระบอบอำนาจเปียงยาง หรือแม้กระทั่งหากสหรัฐฯ เห็นว่าขีดความสามารถถึงขั้นเป็นภัยคุกคามแล้ว สหรัฐฯ อาจไม่ปล่อยจนถึงวันที่เกาหลีเหนือเตรียมยิงใส่ประเทศตน สงครามอ่าวเปอร์เซียเมื่อต้นทศวรรษ 1990 เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีว่าอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู.บุชส่งกองทัพโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซ็นด้วยข้อหามีอาวุธนิวเคลียร์ที่จนปัจจุบันยังหาไม่พบ และข้อกล่าวหาอื่นๆ อีกหลายข้อรวมทั้งสนับสนุนผู้ก่อการร้าย
            ดังนั้น ในอีกมุมมองหนึ่งจะเห็นว่าขีดความสามารถด้านอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือนั้นยังไม่เป็นภัยคุกคามสักเท่าไหร่ และรัฐบาลเปียงยางจำต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบหากคิดจะมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองจริงเพราะอาจส่งผลต่อความมั่นคงของระบอบ
            ถ้าพิจารณาฉากทัศน์ที่ใกล้เข้ามา มีความเป็นไปได้ที่จีนจะเข้ามาห้ามปรามเกาหลีเหนือก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายถึงขั้นเกิดสงคราม นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าเป้าหมายของจีนคือต้องการให้คาบสมุทรเกาหลีคงสถานะปัจจุบันอย่างที่เป็นอยู่ ไม่อยากให้เกิดสงคราม ดังที่กระทรวงการต่างประเทศจีนเรียกร้องให้ “ทุกฝ่าย” หลีกเลี่ยงการทำให้ “ปัญหารุนแรงกว่าเดิม” มติขยายการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือล่าสุดของคณะมนตรีความมั่นด้วยคะแนนเอกฉันท์ 15-0 เป็นหลักฐานท่าทีของจีนที่ชัดเจน
            พฤติกรรมยั่วยุที่รัฐบาลเปียงยางสร้างขึ้นมีแต่สร้างความชอบธรรมให้สหรัฐฯ เข้ามายุ่มย่ามในย่านนี้มากขึ้น เช่นเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีสายเหยี่ยวชินโซ อาเบะมีเหตุผลเพิ่มงบประมาณกลาโหม ผลลัพธ์คือจีนถูกปิดล้อมมากขึ้น สหรัฐฯ กับญี่ปุ่นแสดงบทบาทมากกว่าแต่ก่อน จีนเป็นผู้เสียประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด และแน่นอนว่ารัฐบาลเปียงยางเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี
            พฤติกรรมยั่วยุของรัฐบาลเปียงยางจึงไม่เพียงเข้าทางสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น ยังมีผลทำให้จีนไม่พอใจ เรียกว่ายิงธนูดอกเดียวได้นกถึงสองตัว กล่าวคือสามารถสร้างความไม่พอใจแก่ทั้งสหรัฐฯ กับจีนพร้อมๆ กัน
การวิเคราะห์โดยอาศัยข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณชนทั่วไปไม่อาจสรุปว่าเป้าหมายที่แท้จริงของเกาหลีเหนือคืออะไร การวิเคราะห์ชั้นนี้เพียงแค่ชี้ให้เห็นว่าเกาหลีเหนือพยายามสร้างอำนาจต่อรองของตนโดยใช้ไพ่ในมือสองใบเหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา แต่ไพ่สองใบนี้ใช้ไม่ได้ผลเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีบารัก โอบามาตอบสนองโดยไม่ให้น้ำหนัก ไม่เห็นว่าเป็นคุกคามร้ายแรง ทั้งยังเห็นว่าพันธมิตรในย่านนี้มีขีดความสามารถการรบเพียงพอในการป้องปราม
            สุนทรพจน์ล่าสุดของประธานาธิบดีโอบามาในคำแถลงนโยบาย (State of the Union) ประจำปี 2013 (12 ก.พ.) ยืนยันแนวทางเดิมโดยกล่าวว่า “ขอให้ผู้ปกครองประเทศเกาหลีเหนือรู้ว่าพวกเขาจะมีความมั่นคงความมั่งคั่งก็ต่อเมื่อทำตามข้อตกลงที่ให้สัญญากับนานาประเทศ การยั่วยุที่เราเห็น...มีแต่จะทำให้ถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น สหรัฐฯ ยืนยันที่จะยืนข้างพันธมิตรของเรา เสริมความเข้มแข็งระบบป้องกันขีปนาวุธและชี้นำโลกนี้เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถรับมือภัยคุกคามเหล่านี้”
อำนาจต่อรองของเปียงยางในยามนี้จึงร่อยหรอยลงทุกที และคงต้องเป็นเช่นนี้อีก 4 ปีกว่าที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามาจะหมดวาระ หลังสี่ปีจากนี้ประธานาธิบดีคนใหม่อาจมีมุมมอง มีทัศนคติแตกต่างจากปัจจุบัน เมื่อถึงเวลานั้นอำนาจต่อรองอาจเพิ่มมากขึ้น สถานการณ์แตกต่างจากปัจจุบัน
ขีปนาวุธพิสัยไกลกับอาวุธนิวเคลียร์เป็นไพ่สองใบของรัฐบาลเกาหลีเหนือที่สามารถเป็นทั้งโอกาสหรือเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของระบอบคอมมิวนิสต์ประเทศนี้ ทั้งนี้ขึ้นกับตัวแปรอีกหลายตัว เพียงแต่ยามนี้ใช้ไม่ค่อยได้ผล น่าติดตามว่ารัฐบาลเปียงยางจะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องต่อรองในอนาคตหรือไม่
14 กุมภาพันธ์ 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ปรับปรุงแก้ไข 17 กุมภาพันธ์ 2013)  
(ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 5946 วันพฤหัสที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556)
-------------------------------------
บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง:
เกาหลีเหนือที่เปลี่ยนแปลงและคงเดิม
บรรณานุกรม:
1. N.Korea says plans nuclear test aimed at US, AFP, 24 January 2013, http://uk.news.yahoo.com/n-korea-says-plans-nuclear-test-aimed-us-034505175.html
2. N.K. has conducted 3rd nuke test, The Korea Herald, 12 February 2013, http://nwww.koreaherald.com/view.php?ud=20130212000692
3. N.K. erecting last stage of rocket, The Korea Herald, 2012-12-05, http://nwww.koreaherald.com/view.php?ud=20121204001037
4. Andrei Lankov, THE KEYS TO NORTH KOREAN SURVIVAL, DEFENSE DOSSIER, MAY 2012, http://www.afpc.org/files/may2012.pdf
5. DPRK FM Refutes UNSC's "Resolution" Pulling up DPRK over Its Satellite Launch, KCNA, 24 January 2013, http://www.kcna.co.jp/index-e.htm
6. John Powell, Weapons & Warfare (NY: Salem Press, 2010).
7. Benjamin C. Garrett and John Hart, The A to Z of Nuclear, Biological and Chemical Warfare (USA: Scarecrow Press, 2007).
8. Full text: State of the Union Address, USA TODAY, 12 February 2013, http://www.usatoday.com/story/news/politics/2013/02/12/state-of-the-union-obama-text/1914769/
------------------------


โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก