เข้าใจอาเซียน ตอน: ควรเรียกพม่าหรือเมียนมา

หากย้อนอ่านตำราเรียนเมื่อหลายๆ ปีก่อน นักเรียนจะได้เรียนรู้จัก “ประเทศพม่า” หรือ “สหภาพพม่า” ทุกวันนี้สื่อละครโทรทัศน์ รายการวิทยุหลายแห่ง รวมทั้งคนไทยหลายคนยังติดปากกับคำว่า “พม่า” ไม่คุ้นกับชื่อใหม่ “เมียนมาร์”
อนึ่ง ราชบัณฑิตยสถานแนะใช้ "เมียนมา" ไม่ใช่ "เมียนมาร์" ดังนั้น ชื่อที่ถูกต้องที่สุดคือ "เมียนมา"
(ออกรายการ “ACE 2015” ของสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2013
และได้รับการเผยแพร่ผ่าน ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2556
http://www.aseanthai.net/ewt_news.php?nid=448&filename=index_2)
            การสัมภาษณ์ในรายการ “ACE 2015” ของสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2013
       กระทรวงการต่างประเทศไทยให้ข้อมูลว่าประเทศเมียนมาร์มีชื่อเต็มว่า “สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์” หรือ “Republic of the Union of Myanmar ชื่อนี้เกิดขึ้นหลังการประชุมรัฐสภาเมียนมาร์เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554

            แม้ชื่อประเทศจะเปลี่ยนถึงสองปีแล้วหลายคนยังเรียกด้วยชื่อเดิมด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป กรณีที่ควรเอ่ยถึงคือนางออง ซาน ซูจียืนกรานเรียกชื่อเดิมแม้เจ้าหน้าที่รัฐบาลจะเตือนให้ใช้ชื่อใหม่ นางให้เหตุผลว่ารัฐบาลเปลี่ยนชื่อประเทศโดยไม่สอบถามความเห็นของประชาชนก่อน การปฏิเสธเรียกชื่อใหม่ส่อเจตนาต่อต้านอำนาจรัฐบาลที่มีรากเหง้าจากการรัฐประหารยึดอำนาจ ในขณะที่รัฐบาลชี้แจงว่าชื่อเดิมสะท้อนการเป็น “อดีตอาณานิคมอังกฤษ” ส่วนชื่อใหม่แสดงให้เห็นถึงประเทศที่มีเอกภาพ
            กรณีที่น่าสนใจต่อมาคือกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกายังใช้ชื่อ “Burma นายมาร์ค เมมม็อท ผู้สื่อข่าว NPR ให้ความเห็นว่า ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่กับเอกสารของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ยังใช้ชื่อเดิมไม่ใช่เพราะด้วยความเคยชินแต่เป็น “นโยบาย”
            เรื่องน่าสนใจยิ่งขึ้นเมื่อประธานาธิบดีบารัก โอบามาใช้ทั้งสองชื่อ
            นายเบน โรดส์ ผู้ช่วยที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงอธิบายเหตุที่ประธานาธิบดีใช้คำว่า “Myanmar” เพื่อแสดง “มารยาท” ทางการทูต สอดคล้องกับคำอธิบายของนายสก็อต ฮอร์สลีย์ ผู้สื่อข่าว NPR ที่ติดตามทำข่าวประธานาธิบดีอยู่เสมอเล่าว่าท่านประธานาธิบดี “ใช้คำว่าเมียนมาร์เมื่อพบปะกับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และใช้คำว่าพม่าในการกล่าวสุนทรพจน์ร่วมกับผู้นำฝ่ายค้านออง ซาน ซูจี”
            การเรียกชื่อประเทศจึงถูกโยงเข้ากับเรื่องการเมืองในประเทศ การเมืองระหว่างประเทศ
            ด้านรัฐบาลไทยปัจจุบันใช้คำว่า “เมียนมาร์” อย่างชัดเจน เว็บไซต์ “รัฐบาลไทย” ที่จัดทำโดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีพาดหัวข่าวว่า “นายกรัฐมนตรีและคณะ มีกำหนดการเยือนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย” เช่นเดียวกับเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศไทยพาดหัวข่าว “เครื่องบินสายการบินแอร์บากันของเมียนมาร์ลงจอดฉุกเฉิน”
            สหประชาชาติกับสมาคมอาเซียนเรียกด้วยชื่อใหม่เช่นกัน
            การเรียกชื่อประเทศ “พม่า” หรือ “เมียนมาร์” ด้วยชื่อเก่าหรือใหม่จึงสามารถคิดแบบ “ซับซ้อน” หรือ “ธรรมดา”

            สำหรับคนไทยทั่วไปการจะเรียกด้วยชื่อใหม่หรือเก่าย่อมถือเป็นสิทธิอย่างหนึ่งที่พึงมี แต่ควรใช้ชื่อใหม่ด้วยเหตุผลเรียบง่ายว่า “เป็นธรรมดาที่ทุกคนย่อมอยากให้ผู้อื่นเรียกชื่อตนอย่างถูกต้อง”
            การเรียกชื่ออย่างถูกต้องไม่ได้ส่อความหมายว่ารู้จักประเทศนี้อย่างลึกซึ้ง และการเรียกชื่อเดิมก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่รู้จักประเทศนี้เลย แต่การเรียกชื่ออย่างถูกต้องสะท้อนว่าผู้พูดรู้ว่าประเทศนี้ได้เปลี่ยนชื่อใหม่แล้ว สะท้อนถึงการให้เกียรติ โดยเฉพาะประเทศเมียนมาร์ที่เป็นเพื่อนบ้านของไทย เป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน
7 กุมภาพันธ์ 2013

ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ปรับปรุง 16 มิถุนายน 2015)
-----------------
บรรณานุกรม:
1. ทวีปเอเชีย: สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์*, กระทรวงการต่างประเทศ, http://www.mfa.go.th/main/th/world/70/10257, access 5 February 2013.
2. Min Zin, Burma or Myanmar: The name game, July 5, 2012, http://transitions.foreignpolicy.com/posts/2012/07/05/burma_or_myanmar_the_name_game?wp_login_redirect=0
3. Mark Memmott, U.S. Policy Is To Say 'Burma'; Obama Also Uses 'Myanmar', NPR, November 19, 2012, http://www.npr.org/blogs/thetwo-way/2012/11/19/165462038/u-s-policy-is-to-say-burma-obama-also-uses-myanmar
4. นายกรัฐมนตรีและคณะ มีกำหนดการเยือนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย, รัฐบาลไทย, http://www.thaigov.go.th/th/governmental/item/73851, access 5 February 2013.
5. ข่าวสารนิเทศ: เครื่องบินสายการบินแอร์บากันของเมียนมาร์ลงจอดฉุกเฉิน, ศูนย์ข่าว, 25 ธ.ค. 2555, กระทรวงการต่างประเทศ, http://www.mfa.go.th/main/th/media-center/14/30918, access 5 February 2013.
--------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก