การเมืองในประเทศ ขวากหนามโอบามา ขวากหนามอเมริกา

วันที่ 21 มกราคม 2013 กลายเป็นวันประวัติศาสตร์ประเทศสหรัฐอเมริกาอีกวันหนึ่ง เมื่อบารัก ฮุสเซน โอบามา ที่ ประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของอเมริกากล่าวสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองท่ามกลางความยินดีของชาวอเมริกัน
            สุนทรพจน์ครั้งนี้เมื่อเทียบกับครั้งเมื่อสี่ปีก่อนมีทั้งส่วนที่คล้ายกันและแตกต่างกัน โดยรวมแล้วให้ความสำคัญกับหลักประชาธิปไตย ยึดถือการอยู่ดีมีสุขของประชาชนเป็นเป้าหมายการบริหารประเทศ สถานการณ์การการต่อสู้กับการก่อการร้ายกำลังดีขึ้น การเมืองระหว่างประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น สหรัฐฯ ยังคงเป็นชาติมหาอำนาจ เศรษฐกิจประเทศกำลังฟื้นตัว อัตราคนว่างงานน้อยลง ต้องยอมรับว่าหลายเรื่องดีขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับสี่ปีก่อน ส่วนหนึ่งคือผลงานของประธานาธิบดีบารัก โอบามา และเป็นเหตุให้ได้รับการเลือกอีกสมัย
สำหรับสี่ปีต่อจากนี้ ประเด็นสำคัญที่สุดอาจไม่ใช่เฉพาะเรื่องความมั่นคงระหว่างประเทศ ไม่ใช่ปัญหาเศรษฐกิจโลก แต่รวมถึงปัญหาการเมืองภายในสหรัฐฯ ความแตกแยกระหว่างพรรคเดโมแครตกับพรรครีพับลิกัน ไม่สามารถตกลงในหลักการบริหารประเทศ โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณ การบริหารการเงินของภาครัฐ และสะท้อนออกมาเป็นประเด็นขัดแย้งต่างๆ เช่น เรื่อง Fiscal Cliff
            ความสำคัญของ Fiscal Cliff จึงไม่ใช่เพียงเรื่องควรขึ้นภาษีคนรวยลดภาษีคนจน รัฐบาลมีเงินจ่ายเงินเดือนข้าราชการ โครงการสวัสดิการต่างๆ หรืองบประมาณผูกพันอื่นๆ หรือไม่ แต่คือภาพสะท้อนความแตกแยกทางการเมืองที่ยังไม่มีทางออกร่วมกัน เพราะสองพรรคต่างยืนยันยืนหยัดในจุดยืนของตน จุดยืนที่ใช้ในการหาเสียงและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนของแต่ละฝ่าย
            ถ้าคาดการณ์ในทางลบ หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมอันเป็นที่พอใจของสองฝ่าย อาจเป็นเหตุให้สองพรรคแบ่งแยกในประเด็นอื่นๆ ตามมาอีก ประธานาธิบดีโอบามาที่กำลังจะดำรงตำแหน่งอีก 4 ปี อาจมีค่าเท่ากับอีก 4 ปีที่จะสร้างความร้าวฉานทางการเมือง
            พิจารณาตามหลักการพื้นฐาน ระบบการเมืองสหรัฐฯ แม้ให้ประธานาธิบดีมีอำนาจบริหารเต็มที่ สามารถตัดสินใจตอบสนองภัยคุกคามได้รวดเร็วทันสถานการณ์ โดยมีระบบถ่วงดุลเพื่อป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบหรือไม่ก่อผลดีที่สุด ในกรณีที่กำลังกล่าวถึงคือการถ่วงดุลจากระบบรัฐสภา ในแง่มุมหนึ่งความขัดแย้งระหว่างสองพรรคสะท้อนกลไกการถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ ประธานาธิบดีไม่อาจครอบงำรัฐสภา ไม่อาจดำเนินนโยบายใดๆ ตามที่ตนเห็นควรเท่านั้น แต่ก็เกิดภาพของความแตกต่างทางการเมืองในขณะนี้
            ในอีกมุมหนึ่ง กลไกการถ่วงดุลจากระบบรัฐสภายังสะท้อนมุมมองของประชาชนชาวอเมริกันที่คิดเห็นแตกต่างกันด้วย ต่างฝ่ายต่างสนับสนุนพรรคการเมืองของตน (ไม่ได้หมายความว่าสนับสนุนเต็มที่หรือสนับสนุนทุกเรื่อง)
            เมื่อศึกษาในรายละเอียดพบว่าสองพรรคมีอำนาจทางการเมืองก้ำกึ่งกัน ปัจจุบันมีวุฒิสมาชิกสายเดโมแครต 53 คน สายรีพับลิกัน 45 คนและวุฒิสมาชิกไม่สังกัดพรรคอีก 2 คน
            ส่วนสภาผู้แทนราษฎรนั้น มีส.ส.จากพรรคเดโมแครต 200 คน ส.ส.จากพรรครีพับลิกัน 233 คน (ว่าง 2 ตำแหน่ง) แม้รีพับลิกันมีส.ส.มากกว่าแต่ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อน
            ณ วันนี้ สภาบนหรือวุฒิสภาจึงอยู่ในอำนาจของพรรคเดโมแครต ส่วนพรรครีพับลิกันมีเสียงข้างมากในสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎร
            ข้อสังเกตคือ สองพรรคต่างมีคะแนนเสียงก้ำกึ่งในสองสภา เป็นสภาพของความสูสีคู่คี่มาก
            และหากวิเคราะห์ให้ลึกขึ้น จะเห็นความถดถอยของพรรครีพับลิกันที่ได้ส.ส.ลดลง (แม้ยังครองเสียงข้างมากอยู่) ในขณะที่ประธานาธิบดีโอบามาสามารถดำรงตำแหน่งเพิ่มอีกสมัย
            ศึกเลือกตั้งส.ส.กับส.ว.ในปี 2014 จะมีความสำคัญต่อพรรครีพับลิกันมาก หากพรรคได้ส.ส.ลดลงอีก หรือถึงขึ้นสูญเสียเสียงข้างมากในสภาล่าง จะทำให้พรรคเดโมแครตครองทั้งสองสภาพร้อมกับตำแหน่งประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
            สถานการณ์ของพรรครีพับลิกันในยามนี้ที่ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก น่าจะเป็นคำอธิบายว่าทำไมพรรครีพับลิกันจำต้องสู้ในบริบทการเมืองภายในประเทศอย่างหนัก และไม่ปรารถนาให้สี่ปีต่อจากนี้คือเวลาที่ประธานาธิบดีโอบามาสร้างผลงานเพิ่ม การต่อสู้ทางการเมืองนั้นเป็นเกมส์เมื่อคนหนึ่งชนะอีกคนหนึ่งคือผู้แพ้
            ขวากหนามที่สำคัญของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ในขณะนี้คือขวากหนามทางการเมืองภายนั่นเอง
            ในอีกมุมมองที่กว้างขึ้น ความไม่ลงรอยระหว่างสองพรรคสร้างความเบื่อหน่ายต่อชาวอเมริกันมานานแล้วและอาจเพิ่มขึ้นอีก
            ผลสำรวจของแกลลัพ โพล (Gallup Poll) ล่าสุดเมื่อต้นปีชี้ว่าชาวอเมริกันให้คะแนนการทำงานของรัฐสภาสอบผ่านเพียงร้อยละ 14 และให้สอบตกถึงร้อยละ 81 คะแนนสอบผ่านครั้งนี้ต่ำกว่าผลสำรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายนกับธันวาคมปีก่อนที่ร้อยละ 18 คะแนนที่ลดลงเป็นผลมาจากรัฐสภาแก้ปัญหา Fiscal Cliff ด้วยการเลื่อนการตัดสินใจแก้รากปัญหาออกไปอีก 2 เดือน

            สถิติย้อนหลังพบว่าชาวอเมริกันให้คะแนนรัฐสภาต่ำสุดที่ร้อยละ 10 เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว และเคยได้สูงสุดที่ร้อยละ 84 เมื่อเดือนตุลาคม 2001 หลังเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11
            กล่าวได้ว่าการเมืองภายในสหรัฐฯ ในยามนี้คือช่วงเวลาที่ประชาชนไม่พอใจ เพราะนักการเมืองต่างพรรคต่างพูด ต่างจากเหตุการณ์ 9/11 ที่ทุกคนพร้อมใจกันพูดเสียงเดียวกัน ประชาชนพากันให้การสนับสนุนเพื่อต้านภัยร้ายที่คุกคามประเทศ
            ความแตกแยกทางการเมืองในวันนี้ จึงเป็นขวากหนามประเทศ

            แท้ที่จริงแล้ว ความแตกต่างทางความคิดอาจไม่เป็นเหตุความแตกแยก สังคมอเมริกาเป็นสังคมที่ให้ประชาชนคิดโดยอิสระเลือกโดยเสรี มีประเด็นทางสังคมหลายเรื่องที่ถกเถียงแบ่งเป็นฝักฝ่ายมานาน เช่น ควรอนุญาตทำแท้งเสรีหรือไม่ สิทธิเสรีภาพของพวกรักร่วมเพศ รวมถึงเรื่องประเด็นร้อนๆ อย่างกฎหมายการถือครองปืน เรื่องเหล่านี้สังคมยังหาคำตอบที่ลงตัวไม่ได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือสังคมเห็นว่าต่างคนต่างยึดถือความเห็นของตนต่อไปคือข้อสรุปในวันนี้
            แต่ประเด็นหนี้สินประเทศอเมริกาที่กำลังพอกพูนขึ้นทุกวันไม่อาจรอต่อไปได้อีก การละเลยปัญหาคือการปล่อยให้ระเบิดเวลาขยายตัวเป็นระเบิดลูกใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ต้องมีข้อสรุปแก้ไขอย่างไรอย่างหนึ่ง ชาวอเมริกันกำลังเรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองตัดสินใจ ไม่ถ่วงเวลาอีกต่อไป
            ทางออกที่ดีที่สุดคือ สังคมต้องร่วมเสนอทางออกเรื่องดังกล่าวว่าจะประนีประนอมอย่างไร กำหนดรายละเอียดว่าจะปรับลดหรือจะขึ้นภาษีอย่างไร ควรใช้จ่ายงบประมาณในแต่ละเรื่องเท่าใด และต้องตกลงว่าการบรรลุข้อตกลงถือเป็นผลงานร่วมกันของสองพรรค ไม่ใช่ของประธานาธิบดีบารัก โอบามา หรือพรรคใดพรรคหนึ่ง และเป็นความสำเร็จของคนทั้งชาติ
            ระบบการแบ่งแยกอำนาจ การถ่วงดุลซึ่งกันและกันเป็นกลไกสำคัญของระบอบประชาชาติ แต่ระบบหรือกลไกเหล่านี้มีเพื่อประโยชน์ต่อประเทศต่อประชาชน มิควรให้ระบบการเมืองภายในประเทศเป็นขวากหนามการบริหารประเทศ ขวากหนามความก้าวหน้าของชาติ
 23 มกราคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 5924 วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ.2556 )
---------------------------
บทความบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง:
1. Fiscal Cliff: หนังเก่าฉายซ้ำ,17 มกราคม 2013
2. Fiscal Cliff: ปัญหาที่รุนแรงและซับซ้อนกว่าที่คิด, 7 ธันวาคม 2012
3. โอบามาไม่ได้ถือไม้กายสิทธิ์, พฤศจิกายน 2012, 
4. ปัญหาหนี้สินอเมริกา ประเด็นหาเสียงโค้งสุดท้าย, 27 ตุลาคม 2012, 
5. Fiscal Cliff การตัดสินใจครั้งสำคัญของสหรัฐฯ,10 ตุลาคม 2012
--------------------------

บรรณานุกรม:
1. David B. Magleby and Paul C. Light, Government by the People, edition 2009 (USA: Pearson Education, 2009).
2. Full text of President Barack Obama’s inauguration speech, 21 January 2013, http://news.nationalpost.com/2013/01/21/full-text-of-president-barack-obamas-inauguration-speech/
3. Why Did the Republicans Win the House? 11/10/2012 5:51 pm, http://www.huffingtonpost.com/geoffrey-r-stone/why-did-the-republicans-w_b_2110673.html
4. Congress Begins 2013 With 14% Approval, January 11, 2013, http://www.gallup.com/poll/159812/congress-begins-2013-approval.aspx
---------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก