เข้าใจอาเซียน ตอน: ทำไมอาเซียนจึงมีสมาชิกสิบประเทศ
ดังที่ทราบแล้วว่าสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) ที่ก่อตั้งในปี 1967 มีรัฐสมาชิกเริ่มต้น 5 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ด้วยเหตุผลหลักคือต่อต้านภัยคุกคามจากสงครามเย็นเพื่อรักษาระบอบการปกครองเดิม
และมีส่วนสนับสนุนลัทธิทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม
จากนั้นมีประเทศอื่นๆ
อีก 5 ประเทศเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกตามลำดับ ดังนี้
เนการาบรูไนดารุสซาลาม หรือประเทศบรูไนได้เข้าร่วมสมาชิกเป็นลำดับที่ 6 ในปี 1984 หลังได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรไม่ถึง 1 สัปดาห์
บรูไนเป็นประเทศเล็กๆ ปัจจุบันมีประชากรเพียง 4
แสนคน แต่อุดมด้วยทรัพยากรน้ำมัน ในอดีตเป็นแหล่งเพาะปลูกเครื่องเทศแห่งหนึ่ง
การเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนเท่ากับมวลหมู่ชาติสมาชิกอาเซียนซึ่งมีฐานะเป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียงประกาศยอมรับความเป็นชาติอธิปไตยของบรูไน
ได้รับการปกป้องจากอาเซียนภายใต้บริบทโลกยุคใหม่ ต่างจากอดีตที่ต้องยินยอมเข้าอยู่ใต้การอารักขาของสหราชอาณาจักรภายใต้ยุคล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก
ต้องเผชิญแรงกดดันทั้งจากสเปนและฮอลันดา
กรณีของบรูไนเป็นลักษณะเฉพาะแตกต่างจากประเทศอื่นๆ
อีก 4 ประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนดังจะกล่าวต่อไป
เหตุการณ์ที่ถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของอาเซียนอีกครั้งหนึ่งคือ
การเข้าร่วมของประเทศเวียดนามในปี 1995 ถือเป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ประเทศแรกที่เข้าร่วมอาเซียน (ปัจจุบันเวียดนามยังถูกจัดว่าเป็นรัฐคอมมิวนิสต์)
ณ
เวลานั้นถือเป็นเรื่องแปลกใหม่เพราะอาเซียนยอมรับประเทศเวียดนามที่มีระบอบการปกครอง
มีระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างจากประเทศชาติสมาชิกอาเซียนโดยสิ้นเชิง
ก่อให้เกิดคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ถึงเหตุผลการรับเวียดนามเข้ามาอยู่ในอาเซียน
หรือทำไมเวียดนามจึงอยากเข้ามาร่วมกับอาเซียน มีผู้อธิบายด้วยเหตุผลที่หลากหลาย
หากจะอธิบายด้วยเหตุผลเชิงการเมืองระหว่างประเทศ
สามารถอธิบายได้ว่าในช่วงนั้นสงครามเวียดนามสิ้นสุดนานแล้ว
และที่สำคัญกว่าคือสงครามเย็นยุติลงแล้วเช่นกัน การรับเวียดนามเข้ามาเป็นสมาชิกคือการแสดงออกอย่างหนึ่งว่าความขัดแย้งเดิมๆ
ได้หมดไป ไม่มีการแบ่งแยกตามขั้วการเมืองระหว่างประเทศแบบเดิมอีก เป็นกุศโลบายให้ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพวกเดียวกัน
สามารถใช้อาเซียนเป็นเวทีเพื่อเสริมสร้างมิตรภาพ
ความไว้เนื้อเชื่อใจ และและความร่วมมือระหว่างกัน
ส่วนเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ
ในระยะแรกไม่ได้หวังเรื่องการทำการค้าการลงทุนเท่าไหร่นัก แต่การเข้ารวมกลุ่มอาเซียนจะช่วยให้เวียดนามมีโอกาสได้เรียนรู้ประสบการณ์การพัฒนาประเทศแบบทุนนิยมเสรีของชาติสมาชิก
เร่งให้เวียดนามพัฒนาเศรษฐกิจของตนเข้าสู่ระบบตลาดมากขึ้น
ในขณะที่เวียดนามก็อยากมีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นเสรีประชาธิปไตย
ไม่ยึดอยู่กับแนวคิดในสมัยสงครามเย็นอีกต่อไป และอยากมีสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศทุนนิยมมากขึ้น
อาจดูตัวอย่างจากประเทศจีนที่เปิดประเทศบางส่วนต้อนรับการลงทุนจากนานาชาติ
ทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต ประเทศพัฒนาอย่างรวดเร็ว
การที่อาเซียนยอมรับเวียดนามเข้าเป็นสมาชิกจึงถือเป็นก้าวสำคัญครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของอาเซียน
เมื่ออาเซียนรับเวียดนามเป็นสมาชิกจึงไม่มีเหตุผลที่ประเทศลาว
เมียนมาร์และกัมพูชาจะไม่สามารถเข้ามาร่วมกลุ่มด้วย ในเวลาต่อมาทั้งสามประเทศจึงเข้าร่วมเป็นสมาชิกในเวลาไล่เลี่ยกัน
อาเซียนทุกวันนี้จึงมีสมาชิก 10 ประเทศ
เรื่องการเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนของประเทศต่างๆ มีรายละเอียดอยู่มาก
มีผู้ทำการศึกษาวิจัยไว้ สามารถศึกษารายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ได้
รวมความแล้วหากยึดว่าจุดเริ่มต้นของอาเซียนเกิดจากการที่ชาติสมาชิกเริ่มต้น
5 ประเทศอันได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย
ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ประกาศรวมตัวกันเพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากสงครามเย็น
เมื่อความตึงเครียดจากสงครามเย็นคลายตัว บริบทโลกเปลี่ยนไปทั้งด้านการเมือง
เศรษฐกิจ รัฐบาลหรือผู้นำประเทศของทั้ง 5 ประเทศที่โน้มเอียงไปทางทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยกับรัฐบาลของประเทศที่โน้มเอียงไปทางสังคมนิยมคอมมิวนิสต์จึงหันหน้าเข้าหากัน
และรวมตัวกันภายใต้อาเซียน
ถือเป็นการสิ้นสุดสงครามเย็นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบันเป็นยุคที่ภัยคุกคามจากลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์กลายเป็นเรื่องอดีต
และน้อยคนจะเอ่ยถึง ทำให้หลายคนลืมหรือไม่รู้ว่าอาเซียนในปัจจุบันประกอบด้วยชาติสมาชิกที่มีการปกครองหลากหลาย
มีระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ถือเป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของอาเซียนเลยทีเดียว
แต่ภายใต้ลักษณะพิเศษนี้ไม่ได้หมายถึงการมีแต่ประโยชน์หรือข้อดี
เพราะมีอุปสรรคที่เกิดตามมาด้วย
อาเซียนมีประวัติดำรงมาแล้ว 40 กว่าปีและมีวิสัยทัศน์จะก้าวไปสู่ความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นจำต้องตระหนักว่ามวลหมู่ชาติสมาชิก 10 ประเทศมีความแตกต่างกันไม่ใช่น้อย การจะเชื่อมต่อระหว่างกันไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง
เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมจำต้องออกแบบระบบหรือกลไกที่สามารถปฏิบัติได้จริง เพื่อให้การรวมตัวของ 10 ประเทศดังกล่าวเกิดประโยชน์ต่อทุกประเทศต่อประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง
24 ธันวาคม 2012
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ได้รับการเผยแพร่ผ่าน ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2556 http://www.aseanthai.net/ewt_news.php?nid=493&filename=index_2)
(ได้รับการเผยแพร่ผ่าน ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2556 http://www.aseanthai.net/ewt_news.php?nid=493&filename=index_2)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
บทความนี้อธิบายว่าทำไมอาเซียนจึงไม่ขยายจำนวนมากกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งๆ ที่มีประเทศขอเข้าร่วมกลุ่ม
มีผู้ตั้งคำถามว่าติมอร์-เลสเต
จะเป็นสมาชิกอาเซียนลำดับที่ 11 หรือไม่ คำตอบเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับว่าประเทศติมอร์จะสามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขการรับสมาชิกตามกฎบัตรอาเซียนหรือไม่
คำตอบที่ตรงประเด็นกว่านั้นคือขึ้นอยู่กับความพยายามของติมอร์-เลสเตในการสร้างประเทศให้เจริญรุ่งเรือง
สมกับเป็นรัฐสมัยใหม่ที่พร้อมจะก้าวไปกับชาติสมาชิกอาเซียนอื่นๆ
บรรณานุกรม:
2. กวี จงกิจถาวร: มองอาเซียนผ่านมุม ‘ข่าว’ (1) พลวัตในรอบ 45 ปี http://prachatai.com/journal/2012/06/41134
3. The CIA World Factbook 2011 หรือที่ The
World Factbook. https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/
4. Vietnam-ASEAN Co-operation after the Cold War and the
continued search for a theoretical framework. http://sg.vlex.com/vid/vietnam-asean-theoretical-framework-54479563
5. At Cold
War's End — Central Intelligence Agency. https://www.cia.gov/library/center-for-the-study-of-intelligence/csi-publications/books-and-monographs/at-cold-wars-end-us-intelligence-on-the-soviet-union-and-eastern-europe-1989-1991/art-1.html
----------------------------------