ประเด็นโลก ประเด็นร้อน 17 – 23 ธันวาคม 2012

อิตาลีจะเป็นตัวปัญหาประเทศต่อไปหรือไม่ : ตลอดปีสองปีที่ผ่านมาอิตาลีเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มยูโรโซนที่หลายคนกังวลว่าจะเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจยูโรโซนรายต่อไป ดังนั้นเมื่อนายกรัฐมนตรีมาริโอ มอนติประกาศลาออกจากตำแหน่งพร้อมกับมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ในปีหน้ายิ่งทำให้ความกังวลนั้นเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น
นายกรัฐมนตรีมาริโอ มอนติเข้ามารับตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วจากความเห็นชอบของพรรคการเมืองรวมทั้งตัวอดีตนายกฯ ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี ผู้นำพรรค Popolo della Libertà หรือ PdL ที่อยู่ในภาวะวิกฤตศรัทธา อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรพุ่งสูงท่ามกลางหนี้สินประเทศที่สูงกว่าร้อยละ 120 ของจีดีพี
ที่ผ่านมาหลักนโยบายเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีมาริโอ มอนติ คือลดการขาดดุลด้วยการขึ้นภาษี ลดสวัสดิการ ทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น เศรษฐกิจกลับมาอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ หลายคนสนับสนุนแนวทางนี้ในขณะที่ชาวอิตาลีจำนวนไม่น้อยไม่ชอบแนวทางดังกล่าว
นายกฯ มอนติกล่าวปกป้องนโยบายรัดเข็มขัดว่าเป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้ตลาดกลับมามีความมั่นใจต่อเศรษฐกิจประเทศอีกครั้ง พร้อมกับเตือนว่าไม่นโยบายใดที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว
พร้อมกันนี้หลายฝ่ายเริ่มออกมาหาเสียง อดีตนายกฯ ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี เริ่มต้นด้วยการโจมตีนโยบายลดการขาดดุลว่ายิ่งทำให้เศรษฐกิจมีปัญหามากขึ้น และดำเนินนโยบายตามการชี้นำของเยอรมัน

            นายปิแอร์ หลุยจิ แบร์ซานิ จากพรรค Democratic Party (PD) ประกาศว่าจะสนับสนุนการปฏิรูปตามแนวทางของนายกฯ มอนติต่อไป
            ค่อนข้างชัดเจนว่าพรรคที่ลงแข่งขันจะแข่งด้วยแนวนโยบายเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ประกอบด้วยฝ่ายที่มุ่งลดการขาดดุล ใช้มาตรการรัดเข็มขัด กับอีกฝ่ายที่สนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มการใช้จ่าย เป็นสองแนวทางที่ยังไม่มีคำตอบชัดว่าแบบใดดีที่สุด
            ฝ่ายที่สนับสนุนนโยบายรัดเข็มขัดของนายกฯ มอนติ อาจเป็นกังวลว่าเศรษฐกิจอิตาลีอาจแย่กว่านี้หากรัฐบาลใหม่ไม่ดำเนินตามนโยบายเดิม และอาจโจมตีว่าการกู้ยืมเพิ่มเติมจะยิ่งบั่นทอนเสถียรภาพทางการเงินการคลัง
            ในมุมมองที่แตกต่าง การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นแนวทางหนึ่งที่หลายฝ่ายเห็นด้วย หลายประเทศกำลังใช้แนวทางดังกล่าว ประชาชนในประเทศให้การสนับสนุน
            ถ้ายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย อธิปไตยของประเทศอิตาลี ย่อมต้องปล่อยเป็นหน้าที่ของประชาชนชาวอิตาลีที่จะเป็นผู้ตัดสินว่าประเทศของเขาควรดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างไร
            จะดีจะชั่วอย่างไรพวกเขาคือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

            ในบริบทที่กว้างขึ้น แม้อิตาลีมีอธิปไตยทางการเมือง แต่บรรดาชาติสมาชิกอียูอื่นๆ จะไม่ยอมให้อิตาลีกระทำตามอำเภอใจ เชื่อว่าจะต้องชี้นำ กดดันไม่ให้รัฐบาลอิตาลีใช้นโยบายเศรษฐกิจที่ออกนอกลู่นอกทาง เพราะเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้เชื่อมโยงกัน รับผลกระทบร่วมกัน ธนาคารพาณิชย์เยอรมันกับฝรั่งเศสเป็นเจ้าหนี้รายสำคัญของอิตาลี
            ในระหว่างหาเสียงพรรคทั้งหลายย่อมโจมตีนโยบายของอีกฝ่าย อาจพาดพิงถึงนโยบายของธนาคารกลางยุโรป ทำให้เกิดภาพความไร้เสถียรภาพทางการเมืองทางเศรษฐกิจ จึงมีความเป็นไปได้ว่าในช่วงนั้นตลาดทุนตลาดเงินจะพลอยไม่มั่นใจด้วย แม้ว่าทีมงานนายกฯ มอนติจะยังรักษาการณ์อยู่ก็ตามเพราะตลาดย่อมมองไปข้างหน้าก่อนเสมอ
            ณ เวลานั้น ตลาดจะอ่อนไหวต่อดัชนีเศรษฐกิจมากกว่าปกติโดยเฉพาะถ้าเป็นข่าวร้าย ไม่ว่าจะเป็นระดับหนี้สินของประเทศ อัตราการว่างงาน ความสามารถการแข่งขัน ฯลฯ รวมถึงบรรยากาศเศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซนในช่วงนั้นล้วนจะส่งผลกระทบกลับไปกลับมา
            ดัชนีหรือสถิติที่น่าติดตามคือตัวที่ชี้ว่าประเทศกำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เป็นการฟื้นตัวในภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) เพราะคือเครื่องชี้ว่าสุขภาพเศรษฐกิจของประเทศกำลังดีขึ้นอย่างแท้จริง
            ผลการเลือกตั้งครั้งหน้าจะช่วยคาดเดาว่าอิตาลีจะเป็นตัวปัญหาของกลุ่มอียูโซนรายต่อไปหรือไม่ ยิ่งคิดยิ่งเห็นความสำคัญ
14 ธันวาคม 2012
ชาญชัย คุ้มปัญญา
------------------------
บรรณานุกรม:
1. Italy and the EU Debt Crisis. http://jonathanhopkin.blogspot.com/2012/08/italy-and-eu-debt-crisis.html
2. Italy and Greece: Financial crisis as sovereign debt crisis. http://web.uvic.ca/jmc/events/sep2010-aug2011/2010-09-financial-crisis/pdf/Oct2,2010-Panel_C-Lucia_Quaglia,George-Pagoulatos-UVic-Financial_Crisis.pdf
3. The euro zone crisis Its dimensions and implications. http://finmin.nic.in/workingpaper/euro_zone_crisis.pdf
---------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก