1 ปีแห่งการก้าวย่างของผู้นำเกาหลีเหนือใหม่บนรอยเท้าเดิม

หลังการเสียชีวิตของอดีตผู้นำเกาหลีเหนือนายคิม จ็อง-อิลที่นำประเทศราว 3 ทศวรรษ และบุตรชายคือนายคิม จ็อง-อึน ได้ครองตำแหน่งผู้นำประเทศต่อจากบิดา เกิดคำถามว่าเกาหลีเหนือภายใต้การนำของผู้นำคนใหม่จะเป็นอย่างไรเพราะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนเกาหลีเหนือทั้งปวง และเกี่ยวข้องกับอีกหลายประเทศโดยเฉพาะเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และจีน
            ประเทศที่ไม่ค่อยเปิดเผยให้ประชาคมโลกรับรู้ความเป็นไปเมื่อมีความเคลื่อนไหวแม้เล็กน้อยจะถูกจับตาและนำมาวิเคราะห์ต่างๆ นานา เช่น เมื่อสื่อนำเสนอโฉมหน้าของสุภาพสตรีหมายเลข 1 คุณริ โซลจู เคียงคู่กับผู้นำเกาหลีเหนือ ทั้งๆ ที่สังคมภายนอกมีข้อมูลเพียงเล็กน้อยแต่ประวัติทุกอย่างของเธอถูกนำเสนอและวิเคราะห์ แม้กระทั่งเสื้อผ้าที่เธอสวมใส่เพียงไม่กี่ชุดที่ได้ออกสื่อและติดยี่ห้อดังแบบตะวันตก นักวิเคราะห์บางคนถึงกับสรุปว่าผู้นำเกาหลีเหนือคนใหม่ “ต้องการแยกตัวเองออกจากภาพลักษณ์ของบิดา”
            ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติประจำปีนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศนายปั๊ก เคียวยัน ในฐานะตัวแทนประเทศกล่าวถึงแนวนโยบายเศรษฐกิจที่จะติดต่อเชื่อมโยงกับต่างประเทศมากขึ้นเป็นข้อมูลสำคัญอีกชิ้นสนับสนุนแนวคิดเชื่อว่าเกาหลีเหนือกำลังจะเปลี่ยนแปลง
แต่การประกาศปล่อยจรวดพิสัยไกลเพื่อส่งดาวเทียมเข้าวงโคจรในเดือนธันวาคม อันเป็นพยายามครั้งที่สองในรอบปีนี้ หลังจากประสบความล้มเหลวในการปล่อยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตอกย้ำการดำเนินนโยบายความมั่นคงตามแนวทางดั้งเดิม นั่นคือยึดมั่นว่าสหรัฐฯ เป็นปรปักษ์กับเกาหลีเหนือ เป็นต้นเหตุทำให้เกิดการเผชิญหน้าในคาบสมุทรเกาหลี ส่งผลให้คาบสมุทรดังกล่าวกลายเป็นจุดล่อแหลมเสี่ยงต่อการเกิดสงครามนิวเคลียร์ ดังนั้นจึงจำต้องพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลติดหัวรบนิวเคลียร์เพื่อปกป้องอธิปไตยจากลัทธิทุนนิยม
            แม้ทางการเกาหลีเหนือประกาศว่าเป็นการปล่อยจรวดเพื่อกิจกรรมในทางสันติ แต่สหรัฐฯ กับเกาหลีใต้เชื่อว่าเป็นการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลมากกว่า เพราะที่ผ่านมาเกาหลีเหนือได้ดำเนินการทำนองนี้ในปี 1998 2006 และ 2009 และกล่าวว่าได้ส่งดาวเทียมเข้าสู่อวกาศในปี 1998 กับ 2009 แต่ไม่ปรากฏให้เห็นสักดวง

            ทั้งหมดแปลความว่าแม้ประกาศนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับโลกภายนอกมากขึ้น ให้ภรรรยาออกสื่อด้วยชุดแต่งกายตามสมัยนิยมตะวันตก แต่ยังยึดโยงกับนโยบายความมั่นคงแบบดั้งเดิมถอยหลังไปถึงทศวรรษ 1950
            เมื่อนโยบายความมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง ความเป็นไปในประเทศจึงยึดมั่นอยู่กับแนวทางเดิมของประเทศ ความสัมพันธ์กับประชาคมโลกจึงไม่ต่างจากเดิม โอกาสที่จะติดต่อทางเศรษฐกิจกับนานาชาติอย่างเปิดเผยเป็นทางการไม่อาจทำได้เพราะประเทศกำลังถูกคว่ำบาตร ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินอย่างเป็นทางการกับธนาคารต่างชาติ นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าหากมีก็เพียงกระทำผ่านบัญชีในธนาคารจีนเท่านั้น อีกทั้งประเทศส่วนใหญ่คงไม่สนใจอยากมีสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเกาหลีเหนือในยามนี้ นโยบายเศรษฐกิจที่ประกาศว่าจะติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้นจึงมีอุปสรรคจากนโยบายความมั่นคงของตนเอง
            ปฏิกริยาของสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้จะเป็นดัชนีชี้วัดว่าเกาหลีเหนือจะมีสัมพันธ์กับประชาคมโลกอย่างไร
            เรื่องของเกาหลีเหนือจะเข้าใจง่ายขึ้นหากเทียบกับประเทศเมียนมาร์แม้บริบทจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่การที่ประเทศเมียนมาร์เปลี่ยนแปลงนโยบายแม่บท ดำเนินนโยบายปฏิรูปการเมืองให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ไม่ปฏิเสธที่จะสัมพันธ์กับชาติตะวันตก ไม่ปฏิเสธทุนนิยมการค้าเสรีในบางระดับ ดำเนินนโยบายใหม่ที่สอดคล้องกับประชาคมโลกทำให้เห็นภาพชัดว่าประเทศเมียนมาร์กำลังมุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงชัดเจนทั้งด้านการเมืองภายในประเทศ การต่างประเทศ เศรษฐกิจ สังคม
            จีนเป็นอีกตัวอย่างที่ประเทศยังยึดมั่นปกครองตามแนวทางสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ แต่ประเทศเปิดออกบางส่วนต้อนรับการลงทุนจากต่างชาติ รัฐบาลอเมริกาแม้เห็นจีนเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงแต่ไม่ขัดขวางให้นักลงทุนไปทำธุรกิจในจีน สองประเทศมีความสัมพันธ์การค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดความสัมพันธ์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันภายใต้บริบทโลกาภิวัตน์
            หากรัฐบาลเกาหลีเหนือต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จำต้องตัดสินใจด้วยความกล้าหาญเปลี่ยนแปลงนโยบายความมั่นของตน
            ส่วนเท่าที่ปรากฎให้เห็นนั้นสรุปได้ว่า 1 ปีแห่งการก้าวย่างของเกาหลีเหนือภายใต้ผู้นำคนใหม่ยังยึดมั่นในแนวทางดั้งเดิม
ธันวาคม 2012
ชาญชัย คุ้มปัญญา
-----------------------------
บรรณานุกรม:
1. การปรากฏตัวของสุภาพสตรีหมายเลข 1 เกาหลีเหนือ http://chanchaiblogger.blogspot.com/2012/07/1.html
2. เกาหลีเหนือที่เปลี่ยนแปลงและคงเดิม http://chanchaiblogger.blogspot.com/2012/10/blog-post.html
3. N.K. erecting last stage of rocket http://nwww.koreaherald.com/view.php?ud=20121204001037
4. North Korea: U.S. Relations, Nuclear Diplomacy, and Internal Situation
http://www.fas.org/sgp/crs/nuke/R41259.pdf
5. NORTH KOREA'S NUKES RUS - American Foreign Policy Council www.afpc.org/files/may2012.pdf
------------------