โอบามาไม่ได้ถือไม้กายสิทธิ์

และแล้วประธานาธิบดีบารัก โอบามาจะได้ดำรงตำแหน่งต่ออีกสมัย
            การที่สหรัฐอเมริกาได้ประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งต่อสมัยที่สอง มีข้อดีหลายประการ ข้อแรกคือ ได้ผู้นำที่ผ่านงานบริหารประเทศมาแล้ว 4 ปี มีความเข้าใจสถานการณ์โลก ประเด็นปัญหาภายในประเทศ เข้าใจกลไกราชการต่างๆ ที่ซับซ้อน มีความคุ้นเคยกับภาระหน้าที่
            บางคนเห็นว่าข้อดีอีกประการคือแรงกดดันทางการเมืองที่มีต่อผู้นำประเทศจะลดลง เพราะอย่างไรเสียนี่คือ 4 ปีสุดท้ายของท่านแล้ว ประเด็นนี้วิพากษ์กันได้ แต่ข้อได้เปรียบที่แน่ชัดกว่าคือ ณ วันนี้เศรษฐกิจอเมริกาดีขึ้นกว่าเดิมเมื่อเทียบกับตอนเข้ารับตำแหน่งสมัยแรก เรื่องนี้ต้องถือเป็นความดีความชอบของประธานาธิบดีโอบามาด้วย
            ตามการปกครองของสหรัฐอเมริกาที่ให้ความสำคัญกับตำแหน่งประธานาธิบดีสูงมาก ประธานาธิบดีมีอำนาจบริหารเต็ม แต่ความเป็นไปของเศรษฐกิจอเมริกาไม่ขึ้นกับนโยบายหรือการบริหารประเทศของประธานาธิบดีเพียงคนเดียว
            Fiscal Cliff หรือหน้าผาทางการคลัง เป็นกรณีตัวอย่างว่าประธานาธิบดีไม่มีอำนาจสั่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยตนเอง แต่จำต้องรับความร่วมมือจากวุฒิสมาชิกกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองพรรค ที่สองฝ่ายพยายามเจรจาหาทางออกมานานแล้วแต่ยังไม่บรรลุผลทำให้ตลาดทุนตลาดเงินหวั่นไหวมาก
            ล่าสุดทันทีที่ประธานาธิบดีชนะการเลือกตั้ง มีข่าวส.ส.พรรครีพับลิกันขอเจรจาเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง ถือว่าเป็นการเปิดทางเพื่อนำสู่การเจรจาเต็มรูปแบบ
            งานนี้เชื่อว่าประธานาธิบดีโอบามาจะไม่พลาดที่เข้าร่วมกระบวนการเจรจา หลังจากที่ผ่านมาโยนให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส. ส.ว.ทั้งสองพรรคไปเจรจากันเอง ต้องจับตาดูว่าทั้งสองฝ่ายจะยอมถอยคนละก้าวหรือไม่ และจะบรรลุข้อตกลงก่อนสิ้นปีนี้หรือไม่
            เรื่องต่อมาคือประเด็นคนว่างงาน แม้อัตราคนว่างงานรายเดือนประจำเดือนตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ 7.9 ดูเหมือนจะดีขึ้นตามลำดับ แต่หากพิจารณาให้ลึกจะพบว่าปัญหาคนว่างงานเกิดจากหลายสาเหตุ ส่วนที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2009 กำลังดีขึ้นเพราะเศรษฐกิจประเทศค่อยๆ ฟื้นตัว แต่ปัญหาที่เกิดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ ตลาดแรงงานต้องการแรงงานที่มีทักษะฝีมือแบบใหม่ กับพวกแรงงานสูงอายุ กลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นคนว่างงานที่แก้ไขยาก หากพิจารณาร่วมกับประเทศในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จะพบว่ามีปัญหาทำนองนี้เหมือนกัน (ยกเว้นบางประเทศที่กลุ่มคนว่างงานเป็นวัยหนุ่มสาวที่หางานยาก) และมีแนวโน้มว่าอัตราคนว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
            ประธานาธิบดีโอบามามีนโยบายแก้ไขปัญหาคนว่างงานชุดใหม่หลายข้อ แต่จะได้ผลเพียงไรนั้นต้องติดตามต่อไป

            ไม่เพียงแต่ปัญหาเศรษฐกิจภายในที่แก้ยาก ปัญหาเศรษฐกิจโลกยิ่งแก้ยากกว่าและอยู่ไกลจากอำนาจของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ในยามที่เศรษฐกิจยูโรโซนยังไม่เห็นวี่แววว่ากำลังสู่ทิศทางฟื้นตัว โดยเฉพาะประเทศที่มีปัญหาอย่างกรีซ สเปน กอรปกับเศรษฐกิจจีนชะลอตัวและพยายามหาทางออกด้วยการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ สิ่งที่ประธานาธิบดีโอบามาน่าจะทำคือรักษาบรรยากาศทางการเมืองระหว่างประเทศให้เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก รักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก
            แต่ประเทศที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจย่อมมีตัวแปรหรือปัจจัยหลากหลายประการที่ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาของตน รัฐบาลสหรัฐฯ จะส่งกำลังทหารเข้าไปจัดการก็คงไม่ได้
            ประเด็นสุดท้ายที่ควรจะกล่าวถึงคือ การวิเคราะห์ที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูลปัจจุบันมักจะมองข้ามเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ ดังคำกล่าวว่า “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” เหตุไม่คาดฝันเป็นได้ทั้งเรื่องดีและร้าย แต่จำต้องเผื่อใจไว้เสมอหากเกิดเรื่องไม่คาดฝันที่ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจ อยู่นอกการควบคุมของทุกประเทศ
ประธานาธิบดีบารัก โอบามาได้ครองตำแหน่งต่ออีกสมัย ไม่ใช่ประธานาธิบดีมือใหม่ เป็นผู้นำประเทศที่มีฐานะเป็นหนึ่งในมหาอำนาจโลก แต่ใช่ว่าจะสามารถบันดาลทุกเรื่องทุกอย่างให้เป็นไปตามความประสงค์ เพราะผู้เป็นประธานาธิบดีไม่ได้ถือไม้กายสิทธิ์ ตัวท่านเองก็คงทราบดี
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีบารัก โอบามาสมัยที่สองยังคงอยู่บนคลื่นแห่งไม่แน่นอน จำต้องประคับประคองตัวอย่างระมัดระวัง
9 พฤศจิกายน 2012
ชาญชัย คุ้มปัญญา
----------------------
บรรณานุกรม:
1.      What Is the Fiscal Cliff and Why Should We Care?
Read more at 
http://www.thefiscaltimes.com/Articles/2012/07/17/What-Is-the-Fiscal-Cliff-and-Why-Should-We-Care.aspx#6FbbwPO1yAjsQOwM.99 
2.      What Is the Fiscal Cliff? http://www.cfr.org/economics/fiscal-cliff/p28757?cid=ppc-google-grant-fiscal_cliff&gclid=CO_Jhc6hwLMCFQV66wodW0kAaw
3.      The Problem with Structural Unemployment in the U.S. | Reports http://www.cepr.net/documents/publications/structural-unemployment-2012-10.pdf
4.      The long-term unemployed: The ravages of time | The Economist http://www.economist.com/node/21531005
5.      Employment Situation Summary http://www.bls.gov/news.release/empsit.nr0.htm


โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก