ประเด็นโลก ประเด็นร้อน 5 – 11 พฤศจิกายน 2012

เลือกตั้งสหรัฐอเมริกา 2012 ผู้สมัครทั้งสองมีโอกาสชนะทั้งคู่
            การหาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กินเวลาปีครึ่งกับเงินอีกราว 3 พันล้านดอลลาร์มาถึงวันสุดท้าย หนึ่งในคำถามที่ทุกคนสนใจคือใครน่าจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ อเมริกาเป็นสังคมที่สนใจสถิติ ตัวเลขดัชนีต่างๆ ดังนั้น คำถามดังกล่าวจึงสามารถตอบด้วยการดูผลสำรวจประชามติหรือเรียกสั้นๆ ว่าโพลล์
            หากย้อนดูผลโพลล์ตั้งแต่ที่ทำกันมา ณ วันนี้ผลโพลล์มีลักษณะคล้ายภาพรวม คือ ประธานาธิบดีบารัก โอบามาจากพรรคเดโมแครตมีคะแนนนำนายมิตต์ รอมนีย์จากพรรครีพับลิกันอยู่เล็กน้อย ไม่มีใครแพ้หรือชนะแบบขาดลอย
            ที่ผ่านมามีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผลโพลล์ให้นายรอมนีย์เป็นฝ่ายนำ คือเมื่อที่ประชุมใหญ่พรรครีพับลิกันเลือกนายรอมนีย์เป็นตัวแทนพรรค เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผลโพลล์อยู่ฝ่ายนายรอมนีย์
            อีกช่วงที่น่าจดจำคือการอภิปรายรอบแรกระหว่างผู้สมัครทั้งสองเมื่อต้นเดือนตุลาคม ทำให้นายรอมนีย์ได้คะแนนตีตื้นขึ้นมาแบบทำให้ฝ่ายเดโมแครตรู้สึกหายใจไม่ทั่วท้อง
            ณ วันนี้ ผลโพลล์ที่มีผู้กระทำมากมายทั้งสถาบันสำรวจประชามติ สื่อมวลชน มหาวิทยาลัยต่างๆ ล้วนแสดงผลลัพธ์ในทิศทางเดียวกันคือ ปธน.โอบามามีคะแนนนำอยู่เล็กน้อย
            สื่อหลายสำนักแสดงความเห็นว่าประธานาธิบดีโอบามาน่าจะได้ดำรงตำแหน่งต่ออีกสมัย

เมื่อพิจารณาในรายละเอียด ผลสำรวจล่าสุดจาก Pew Research Center ชี้ว่าปธน.โอบามาได้คะแนน popular votes ทั่วประเทศนำนายรอมนีย์ 50 ต่อ 47 (ปธน.โอบามาเป็นฝ่ายนำเล็กน้อยอีกแล้ว) แต่คะแนนดังกล่าวบ่งบอกแต่เพียงว่าทั้งคู่ได้ความนิยมจากชาวอเมริกันพอๆ กัน และนายรอมนีย์อาจชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน popular votes ที่ต่ำกว่า เพราะท้ายที่สุดผู้ชนะการเลือกตั้งจะตัดสินจากคะแนน electoral votes เท่านั้น
The Washington Post ได้ทำการสำรวจผลโพลล์จำนวนมาก พบว่ามี 9 มลรัฐที่มีคะแนนสูสีก้ำกึ่งกัน ได้แก่ โคโลราโด ฟลอริดา ไอโอวา เนวาดา นิวแฮมป์เชียร์ นอร์ทแคโรไลนา โอไฮโอ เวอร์จิเนีย และวิสคอนซิน
มลรัฐเหล่านี้ไม่ใช่ฐานเสียงของพรรคใดพรรคหนึ่งแบบเด็ดขาด ผู้สมัครทั้งสองมีโอกาสชนะทั้งคู่และบางแห่งอาจชนะด้วยคะแนนที่ก้ำกึ่งกันมา หากเป็นนักวิ่งแข่งคือวิ่งแบบหายใจรดต้นคอกันทีเดียว
ดังนั้น 9 มลรัฐดังกล่าวคือกุญแจสู่ชัยชนะการเลือกตั้ง ต้องจับตาผลการเลือกตั้งในมลรัฐเหล่านี้แบบไม่กระพริบตา

นอกจากมลรัฐที่ไม่ฝักฝ่ายพรรคใดพรรคหนึ่งที่ต้องคอยจับตามอง อีกกรณีหนึ่งที่จะพลิกผลการเลือกตั้งคือ กรณีที่ผู้สมัครสามารถได้ชัยชนะเหนือมลรัฐที่เป็นฐานเสียงฐานที่มั่นของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น นายรอมนีย์สามารถชนะบางมลรัฐที่เป็นฐานเสียงเดิมของพรรคเดโมแครต
            เรื่องนี้มีความเป็นไปได้ ผู้ช่วยของนายรอมนีย์แสดงความมั่นใจว่าพวกเขาจะชนะในมลรัฐเพนซิลเวเนียซึ่งเป็นฐานที่มั่นของพรรคเดโมแครต หากเป็นจริงอย่างที่กล่าวผลรวมคะแนน electoral votes ของนายรอมนีย์จะเพิ่มขึ้นแบบเกินคาด
            ในทำนองเดียวกัน ปธน.โอบามามีโอกาสได้คะแนนเช่นนี้เหมือนกัน
            ดังนั้น การพ่ายแพ้ในมลรัฐที่มั่นใจว่าคือฐานที่มั่นของตน คืออีกปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาว่าผลการเลือกตั้งอาจไม่เป็นอย่างที่คาดไว้ก็เป็นได้
            การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2012 น่าจะเป็นอีกครั้งที่ผลการเลือกตั้งสูสีและมีโอกาสพลิกผันจากที่คาดไว้
5 พฤศจิกายน 2012
ชาญชัย คุ้มปัญญา
-------------------


โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก