เลือกตั้งสหรัฐอเมริกา 2012 เศรษฐกิจอเมริกาจะดีขึ้นหรือไม่ หากมิตต์ รอมนีย์คือประธานาธิบดีคนต่อไป
ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนต่อไปต่างต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าและปัญหาระยะยาวคล้ายคลึงกัน
ในระยะสั้น
หากตลาดเงินตลาดทุนไม่ตอบสนองในทางที่ดี ส่งจะผลลบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ทันที
ถ้าประธานาธิบดีบารัก โอบามาชนะการเลือกตั้งได้รับการเลือกอีกสมัย
ตลาดเงินตลาดทุนคงไม่ตื่นเต้นมากนัก เพราะรู้จักกันมา 4
ปีแล้ว ไม่ว่าตลาดจะตอบสนองในทางบวกหรือลบก็คงจะบวกลบไม่มากนัก
แต่หากนายมิตต์
รอมนีย์ได้เป็นประธานาธิบดี คนอเมริกันจะรู้สึกตื่นเต้นมากกว่า โพลล์สำรวจของ Associated Press/GfK ล่าสุดชี้ว่าชาวอเมริกันร้อยละ
47 เชื่อว่านายรอมนีย์จะจัดการปัญหาเศรษฐกิจกับปัญหาขาดดุลงบประมาณได้ดีกว่าประธานาธิบดีโอบามาที่ได้คะแนนร้อยละ
45
นายรอมนีย์ก็เชื่อเช่นนั้น
ครั้งหนึ่งถึงกับกล่าวว่าถ้าเขาชนะการเลือกตั้งในวันที่ 6
พฤศจิกายน “ความรู้สึกแง่บวกต่ออนาคตประเทศจะเกิดขึ้นทันที เงินทุนจะไหลกลับเข้ามา
เศรษฐกิจจะถูกกระตุ้น ทั้งๆ ที่เรายังไม่ได้ทำอะไรเลย”
ในทางเศรษฐศาสตร์คำพูดดังกล่าวไม่เกินจริงเลย เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจอเมริกากำลังมุ่งสู่ทิศทางอันสดใส
แต่ช่วงเวลาแห่งความหวานชื่นทางเศรษฐกิจสำหรับรัฐบาลข้าวใหม่ปลามันจะไม่ยาวนาน
เพราะตัวเลขเศรษฐกิจไม่รอท่า ตัวเลขจีดีพีสิ้นปี 2012
จะออกในไม่ช้า เช่นเดียวกับตัวเลขการจ้างงาน ตัวเลขการส่งออก
และตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ไม่นับตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่จะเดินแถวกันออกมา
ถ้าตัวเลขเหล่านี้ออกมาดีหรือพอรับได้
ประธานาธิบดีคนใหม่พลอยใจชื้นด้วย
แต่ถ้าออกมาตรงข้ามย่อมเดาได้ว่าประธานาธิบดีคนใหม่ต้องสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อตรึงความเชื่อมั่นไว้ก่อน
โดยเฉพาะประเด็นสำคัญๆ อย่างอัตราคนว่างงานที่นายรอมนีย์สัญญาว่าคือหนึ่งในงานเร่งด่วนที่จะทำทันทีหลังสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง
ประเด็นนี้สำคัญ เพราะหากประธานาธิบดีคือนายบารัก
โอบามาย่อมคาดได้ว่าเขาจะเลือกดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่เคยทำ
แต่ถ้าประธานาธิบดีคนใหม่คือนายรอมนีย์ทางแก้อาจแตกต่างไปจากเดิมและจนบัดนี้ยังไม่ได้เผยแนวทางอย่างชัดเจน
ถ้าคิดแบบเข้าข้างนายรอมนีย์
สถานการณ์ที่ดีที่สุดคือทันทีที่เขาชนะการเลือกตั้ง
ตลาดเงินตลาดทุนตอบสนองในทางบวกอย่างรุนแรงเหมือนกับที่ชาวอเมริกันจำนวนมากเชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น
ส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อความเชื่อมั่นของตลาดโลก ทำให้ผู้บริโภคเพิ่มการใช้จ่าย
บริษัทโรงงานเอกชนเพิ่มการจ้างงาน เศรษฐกิจอเมริกาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ความเชื่อมั่นแบบนี้จะช่วยทุเลาข่าวร้ายในกรณีที่ตัวเลขเศรษฐกิจต้นปีหน้าออกมาไม่งาม
ดังนั้นในระยะสั้น
เศรษฐกิจอเมริกาจะดีหรือไม่ขึ้นกับความเชื่อมั่นที่มีต่อนายรอมนีย์เป็นสำคัญ
และคนอเมริกันจำนวนมากเชื่อเช่นนั้น
อีกนโยบายที่นายรอมนีย์สัญญาว่าจะประกาศใช้ทันทีในวันแรกหลังพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง
คือ นโยบายคว่ำบาตรจีนที่ไม่ค้าขายกับสหรัฐฯ อย่างเป็นธรรม
ด้วยการให้กระทรวงการคลังระบุชัดเจนว่ารัฐบาลจีนบิดเบือนค่าเงินหยวน
และให้กระทรวงพาณิชย์ใช้มาตรการเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีนถ้ารัฐบาลจีนไม่ลอยตัวค่าเงินของตน
ย้อนหลังสถิติการค้าสองประเทศเป็นเวลาสิบปี
พบว่าสหรัฐฯ ส่งสินค้าออกไปจีนเพิ่มขึ้นทุกปี
ทำนองเดียวกับที่นำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นเกือบทุกปีเช่นกัน (ยกเว้นปี 2009
ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ)
แต่เมื่อบวกลบกันแล้วพบว่าสหรัฐฯ เป็นฝ่ายขาดดุลทุกปีและขาดดุลเพิ่มขึ้นเกือบทุกปี
(โดยวัดจากปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้น ยกเว้นปี 2009 เช่นกัน) ตัวเลขล่าสุดพบว่าสหรัฐฯ ส่งออกเกือบหนึ่งแสนสี่พันล้านดอลลาร์
นำเข้าเกือบ 4 แสนล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 1 ต่อ 4
ตัวเลขดังกล่าวชี้ว่าความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศนั้นสำคัญไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยที่ประธานาธิบดีมาจากพรรคเดโมแครตหรือรีพับลิกัน
สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้นทุกปี เพียงแต่สหรัฐฯ
เป็นฝ่ายขาดดุลการค้ามาโดยตลอด
ณ วันนี้
ไม่อาจคาดเดาได้ว่ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะเพิ่มภาษีต่อสินค้าจีนมากน้อยเพียงใด
และจีนจะยอมอ่อนข้อหรือตอบโต้กลับรุนแรงเพียงใด เรื่องนี้จะเป็นเพียงวาทะหาเสียงทางการเมืองหรือจะบานปลายกลายเป็นสงครามการค้าระหว่างสองประเทศที่สะเทือนการค้าการลงทุนทั่วโลก
ในประเด็นนี้ ความเชื่อมั่นที่เลือกนายรอมนีย์จะกลายเป็นผลดีหรือผลร้ายเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป
ที่แน่นอนที่สุดคือ นายมิตต์
รอมนีย์ต้องผ่านด่านวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ให้ได้ก่อน
1 พฤศจิกายน 2012
ชาญชัย คุ้มปัญญา
----------------------