ประเด็นโลก ประเด็นร้อน 19 – 25 พฤศจิกายน 2012
เปลี่ยนคณะผู้นำไม่เปลี่ยนเศรษฐกิจจีน สื่อทั่วโลกจับตาการเลือกคณะผู้นำจีนชุดใหม่ในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติครั้งที่
18 พร้อมกับวิพากษ์เศรษฐกิจจีนในหลากหลายแง่มุม
สามทศวรรษหลังจากนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนที่ผ่านมา
ทำให้พลเมืองจีนราวหนึ่งในสามหรือกว่า 500 ล้านคนหลุดจากความยากจน
มีนักศึกษาจบใหม่ปีละกว่า 6 ล้านคน และประชากรอีก 500 ล้านคนที่ใช้อินเตอร์เน็ต
ทำให้จีนผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่สองของโลกและยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก
เช่นเดียวกับที่นักวิชาการตะวันตกสนใจคาดการณ์ความเป็นไปของเศรษฐกิจจีนอย่างต่อเนื่อง
บางคนเสนอภาพอนาคตเศรษฐกิจที่มืดมนของจีน
ชี้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่านโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่
การลงทุนจากภาครัฐในอุตสาหกรรมต่างๆ ก่อให้เศรษฐกิจเติบโต เพิ่มการจ้างงาน แต่ส่งผลลบหลายประการ
เช่น เกิดสนามบินที่ไม่มีคนใช้ สะพานที่ไม่มีรถผ่าน อาคารสำนักงานร้าง
เต็มด้วยกิจการรัฐที่ขาดประสิทธิภาพและมีการทุจริต ประธานาธิบดี หู
จิ่นเทาเพิ่งกล่าวในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติว่าพรรคและประเทศอาจถึงขั้นล่มสลายถ้าไม่สามารถจัดการปัญหานี้
แสดงให้เห็นถึงภัยคุกคามจากคอร์รัปชันที่รุนแรงและฝังลึกในสังคม
ภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวยังก่อให้เกิดความกังวลต่อการจ้างงานในจีนทั้งส่วนที่คนชนบทเข้ามาหางานในเมืองกับแรงงานรุ่นใหม่
ในขณะที่ผลจากนโยบายมีลูกคนเดียวที่ดำเนินมาแล้ว 40 ปี
ในไม่ช้าสังคมจะเข้าสู่ภาวะที่มีคนวัยแรงงานน้อยแต่ผู้สูงอายุมาก
เป็นรูปทรงปิรามิดคว่ำ จินตนาการง่ายๆ ว่าพ่อแม่ 1 คู่มีลูก 1
คนและมีปู่ย่าตายายอีก 4 คน
นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นการบริโภคภายในผ่านผู้บริโภคจะได้ผลต่ำ
เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องแต่ช่องว่างระหว่างคนรวยจนนั้นสูงมาก
คนส่วนใหญ่ยังมีฐานะแบบพอเลี้ยงชีพ
การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจที่กระทบอำนาจการเมืองภายในมีโอกาสเกิดได้ยาก
ฝ่ายที่มองแง่บวกชี้ว่าจีนยังมีช่องทางเติบโตอีกมาก
เช่น การสร้างชุมชนเมืองอย่างต่อเนื่องเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ
ในปี 2011 ประชากรร้อยละ 51.3
ของจีนอาศัยอยู่ในเขตเมือง (เทียบกับปี 2002 ที่ 39.2)
คาดว่าอีก 200
ล้านคนกำลังจะย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง
บริษัทมอร์แกนสแตนลีย์คาดว่าในทศวรรษนี้จะเป็นปีทองการบริโภคภายในของจีน
ก่อนปี 2020 ยอดขายปลีกภายในประเทศจะมีมูลค่าเท่ากับสองในสามของยอดขายปลีกสหรัฐฯ
การที่เศรษฐกิจลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศย่อมทำให้เศรษฐกิจภายในมีเสถียรภาพ
การเมืองสังคมภายในพลอยมีเสถียรภาพด้วย
ในภาพรวมเศรษฐกิจจีนเป็นเศรษฐกิจที่รัฐควบคุมต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับอำนาจการเมืองระดับบนที่มีระบบคัดเลือกส่งต่ออำนาจอย่างเป็นระบบ
ดังนั้น ผู้นำชุดใหม่คือส่วนหนึ่งของผู้นำชุดเก่า
รู้ปัญหารู้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ มีประสบการณ์คลุกคลีกับเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว
การดำเนินเศรษฐกิจขั้นต่อไปคือการดำเนินในกรอบแผนเดิม ยุทธศาสตร์หลักเดิม
จีดีพีที่เติบโตในอัตราเกินร้อยละ 8 ต่อเนื่องหลายปี มาถึงปีนี้ที่รัฐบาลจีนประกาศกำหนดเป้าจีดีพีเหลือเพียง 7.5
เชื่อว่าเป็นระดับที่เห็นแล้วว่าเป็นอัตราการเติบโตที่เหมาะสม ที่สำคัญกว่าคือรัฐบาลปักกิ่งยังควบคุมไว้ได้
ในฉากทัศน์ที่เลวร้าย
หากเศรษฐกิจโลกปีหน้าดิ่งเหว ต่างชาติชะลอการลงทุน จีนส่งสินค้าออกได้น้อยลง
รัฐบาลจีนย่อมไม่วางเฉยปล่อยให้ผู้คนว่างงานอดอยาก จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
ดูแลผู้ยากไร้
เพราะหากไม่กระทำเช่นนั้นจะส่งผลทำให้สังคมวุ่นวายเกิดผลเสียที่ร้ายแรงกว่าเดิม
คาดการณ์ได้อีกว่าองค์กรเศรษฐกิจระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
(IMF)
ธนาคารโลกย่อมเห็นดีเห็นงามกับการรักษาเสถียรภาพประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับที่สองของโลก
เพราะถ้าเศรษฐกิจจีนตกต่ำด้วยแล้วจะยิ่งฉุดให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำลงไปอีก
ไม่เพียงเช่นนั้น ตลอดหลายปีที่ผ่านมาจีนถูกนานาชาติคาดหวังให้มีส่วนช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจของโลก
มีส่วนช่วยกระตุ้น ทั้งหมดเป็นปัจจัยเสริมให้จีนยังคงเป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจโลก
ไม่ว่าจะคาดการณ์อนาคตเศรษฐกิจจีนว่าสดใสหรือมืดมน
ความเป็นไปของจีนจะส่งผลต่อโลกเช่นเดียวกับที่โลกจะส่งผลย้อนกลับสู่จีน เป็นการดีที่เศรษฐกิจจีนจะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพเหมือนอย่างที่เป็นต่อไป
ที่สุดแล้วคณะผู้นำจีนชุดใหม่ย่อมต้องมีทางออกทางหนึ่งทางใดแน่นอน
อย่างน้อยต้องไม่นำประเทศเข้าสู่วิกฤต
17 พฤศจิกายน 2012
ชาญชัย คุ้มปัญญา
----------------------
บรรณานุกรม:
1. China's Power Transition: Massive Challenges for a
Massive Economy, http://www.theatlantic.com/international/archive/2012/11/chinas-power-transition-massive-challenges-for-a-massive-economy/265320/
2. Reform or Perish, FOREIGN POLICY, http://www.carnegieendowment.org/2012/11/07/reform-or-perish/efjy
3. 600 million
middle-class Chinese by 2020, http://bbs.chinadaily.com.cn/thread-803705-1-1.html