ฮิลลารี คลินตัน หญิงแกร่งหญิงเก่ง

ทั่วโลกเริ่มรู้จักชื่อฮิลลารี ร็อดแฮม คลินตันในฐานะสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกาในปี 1993 เมื่อนายวิลเลียม เจฟเฟอร์สัน คลินตัน หรือที่มักรู้จักกันในนามบิล คลินตันได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
            ในฐานะสุภาพสตรีหมายเลข 1 เธอมีหน้าที่ต้องแสดงบทบาทสนับสนุนประธานาธิบดีหลายอย่าง แต่เรื่องที่เป็นข่าวดังทั่วโลกเมื่อเกิดเหตุอื้อฉาวทางเพศระหว่างตัวประธานาธิบดีคลินตันกับนักศึกษาหญิงที่มาฝึกงานในทำเนียบขาวคนหนึ่ง สื่อมวลชนนำเสนอข่าวความระหองระแหงระหว่างคู่สามีภรรยาอย่างต่อเนื่อง
            แต่นั่นไม่เป็นเหตุให้เธอท้อแท้ ฮิลลารี คลินตัน ลงสมัครเลือกตั้งตำแหน่งวุฒิสมาชิกเป็นครั้งแรกและชนะการเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกมลรัฐนิวยอร์กในคราวเลือกตั้งปลายปี 2000 และชนะการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2006 ได้เป็นวุฒิสมาชิกต่ออีกสมัย
            เส้นทางการเมืองของเธอไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ ในปี 2007 เธออาจหาญประกาศลงชิงตำแหน่งผู้แทนพรรคเดโมแครตเพื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2008 เป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของพรรคที่ลงชิงตำแหน่งดังกล่าว และคู่แข่งสำคัญของเธอไม่ใช่อื่นใคร นั่นคือวุฒิสมาชิกบารัก โอบามาหรือประธานาธิบดีคนปัจจุบันนั่นเอง
            ด้วยความสามารถส่วนตัวอันโดดเด่นกับคะแนนนิยมภายในพรรคเดโมแครตที่เป็นรองเฉพาะนายโอบามา เธอจึงได้รับการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเมื่อนายโอบามาชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี และเริ่มฉายความสามารถให้ทั่วโลกได้ประจักษ์
            รัฐมนตรีคลินตันนิยามหลักการทำงานของเธอว่าเป็น “การทูตสาธารณะ” เธอต้องการนำเสนอจุดยืนหลักคิดของอเมริกาผ่านสื่อทุกประเทศ เพราะเธอคือตัวแทนของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ส่งสาสน์จากประเทศตนไปสู่คนทั่วโลก
เช่นกลางเดือนกรกฎาคม เธอได้เดินทางรอบโลกด้วยการเยือน 9 ประเทศ เริ่มจากฝรั่งเศส ต่อด้วยอัฟกานิสถาน ญี่ปุ่น มองโกเลีย เวียดนาม ลาว กัมพูชา อียิปต์ จบที่อิสราเอล แล้วจึงบินกลับประเทศ คิดเป็นระยะทางบิน 43,450 กิโลเมตร (มากกว่าระยะทางรอบโลก 3,220 กิโลเมตร) และเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เยือนต่างประเทศมากที่สุดกว่าร้อยประเทศ
            ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเธอต้องเผชิญหน้ากับผู้นำประเทศต่างๆ อยู่เสมอ ทั้งพวกเห็นด้วยกับนโยบายสหรัฐฯ กับพวกที่คัดค้านต่อต้าน มีวาระที่ต้องเผชิญหน้ากับการโต้แย้ง การไม่เห็นด้วย จากผู้นำเหล่านั้น
            เฉพาะในรอบเดือนที่ผ่านมา เธอต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้งของประเทศอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก ต้องเผชิญกับปัญหาการเผาโจมตีจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายต่อสถานกงสุลสหรัฐฯ ประจำเมืองเบงกาซี ต้องเตรียมการป้องกันสถานทูต สถานที่สำคัญๆ ทั่วโลกจากเหตุมุสลิมลุกฮือประท้วงเพราะภาพยนตร์ลบหลู่ศาสนา จนถึงนายกรัฐมนตรีอิสราเอลออกโรงโจมตีความอ่อนแอของประธานาธิบดีโอบามาต่อนโยบายโครงการพัฒนานิวเคลียร์อิหร่าน
            ประเด็นร้อนแรงที่เธอต้องเผชิญครั้งสุดท้ายน่าจะเป็นเรื่องการเผาโจมตีสถานทูตสหรัฐฯ ประจำเมืองเบงกาซี ประเทศลิเบีย เอกอัครราชทูตพร้อมกับเจ้าหน้าที่ชาวอเมริกันอีก 3 คนเสียชีวิตในบริเวณสถานกงสุล ไม่น่าเชื่อว่ารัฐบาลโอบามาสามารถพลิกเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยการแสดงจุดยืนว่าประชาธิปไตยยังหมายถึงการที่พลเมืองมีเสรีภาพในการพูดสิ่งที่เขากับกลุ่มของเขาคิดเห็นโดยปราศจากความกลัว บนพื้นฐานของหลักนิติธรรมและกระบวนการที่ปกป้องสิทธิของทุกคน แผ่นดินอเมริกาเป็นบ้านของคนทุกความเชื่อทุกศาสนา และรัฐบาลสหรัฐฯ กับลิเบียกำลังเร่งหาตัวผู้กระทำผิดซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนลิเบีย รัฐบาลและชาวลิเบียไม่เห็นด้วยกับการก่อการร้าย
            ไม่ว่าความจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร ความผิดพลาดความสับสนของข้อมูลเหตุการณ์อยู่ตรงไหน ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ นางฮิลลารี คลินตันยืดอกแสดงความรับผิดชอบว่าตนเป็นผู้รับผิดชอบดูแลกระทรวงการต่างประเทศที่มีเจ้าหน้าที่กว่า 6 หมื่นคนในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก 275 แห่ง ส่วนใครจะตีความว่าเป็นการเบี่ยงเป้าไม่ให้โจมตีประธานาธิบดีโอบามาในช่วงหาเสียงโค้งสุดท้ายก็แล้วแต่ว่าใครจะมีมุมมองเช่นไร
            มาถึงบัดนี้ นางฮิลลารี ร็อดแฮม คลินตัน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2 สมัย อดีตวุฒิสมาชิกมลรัฐนิวยอร์ก 2 สมัยและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศประกาศจะไม่ได้รับตำแหน่งสมัยที่ 2 อีกไม่ว่าประธานาธิบดีบารัก โอบามาจะได้รับเลือกอีกสมัยหรือไม่
            รัฐมนตรีคลินตันในวัย 64 ปีตัดสินใจแล้วว่าตนได้มาถึง ณ เวลาที่จะหยุดได้พักจากการงานทั้งปวง แม้ใจนั้นยังตั้งใจแน่วแน่ที่จะรับใช้ชาติตลอดไป
            คนจำนวนมากจะเฝ้ารออ่านหนังสืออัตชีวประวัติของหญิงแกร่งหญิงเก่งคนนี้
            ………..



รัฐมนตรีต่างประเทศฮิลลารี คลินตัน กล่าวสุนทรพจน์สุดท้าย ความตอนสุดท้ายว่า “และมาถึงวันนี้ หลังจากทำหน้าที่มาสี่ปี เดินทางมาแล้วเกือบ 1 ล้านไมล์ เยี่ยมเยือน 112 ประเทศ ทำให้ข้าพเจ้ายิ่งมีความเชื่อมั่นต่อประเทศของเรา เชื่อมั่นว่าอนาคตของเราจะดีขึ้น ข้าพเจ้ารู้ว่ามันเป็นอย่างไรเมื่อเครื่องบินสีฟ้าขาวประทับด้วยคำว่า “สหรัฐอเมริกา” แตะพื้นบนเมืองหลวงบางแห่งที่ห่างไกล ข้าพเจ้าได้รับเกียรติอย่างสูงส่งพร้อมกับความรับผิดชอบในฐานะตัวแทนของประเทศที่สำคัญยิ่งของโลก ข้าพเจ้ามั่นใจว่าผู้รับงานต่อจากข้าพเจ้า ทีมงานของเขา และทุกคนที่ทำงานในตำแหน่งต่างๆ -ที่ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นสิทธิพิเศษ-จะทำหน้าที่นำในศตวรรษนี้ดังเช่นที่เราได้ทำเมื่อศตวรรษก่อน ด้วยความชาญฉลาด ไม่รู้จักเหนื่อยล้า เต็มด้วยความกล้าหาญ เพื่อจะทำให้โลกนี้มีสันติภาพมากขึ้น ปลอดภัยขึ้น มั่งคั่งขึ้น และมีอิสรภาพมากขึ้น และนั่น ข้าพเจ้าขอขอบคุณยิ่ง”
26 ตุลาคม 2012

ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ปรับปรุง 1 กุมภาพันธ์ 2013)
--------------------------
บรรณานุกรม:

1. Remarks on American Leadership at the Council on Foreign Relations, January 31, 2013, http://www.state.gov/secretary/rm/2013/01/203608.htm

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก